นครราชสีมา – เดอะอีสานเรคคอร์ดออนทัวร์ จัดฉายหนังสารคดีเรื่อง ”Heartbound-Adifferent Kind of Love Story” “รักเอย” เสวนาเรื่อง “การแต่งงานข้ามแดน: ชีวิตความคาดหวัง ความกดดัน” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่บ้านดอนอีลุ่ม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวละครเอกในหนังสารคดี 

สมหมาย คำสิงห์นอก หญิงอีสานในเดนมาร์กและตัวละครเอกในหนังสารคดี ”Heartbound-Adifferent Kind of Love Story” กล่าวว่า คำว่าเมียฝรั่งไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย พูดง่ายๆ คนที่เป็นเมียฝรั่งถูกมองในอีกแง่มุมที่แตกต่างจากคนที่ไปอยู่ในต่างประเทศในลักษณะไปเรียนหนังสือ 

“คำว่าเมียฝรั่ง เป็นคำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย ขณะที่ในหมู่บ้านก็มีหลายมุมมอง แต่ชาวบ้านดอนอีลุ่มรู้อยู่แล้วว่า ดิฉันเป็นมาอย่างไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร และด้วยเหตุใดจึงต้องเป็นแบบนี้” สมหมายกล่าว 

สมหมายเริ่มต้นเล่าชีวิตว่า ตนเกิดในครอบครัวยากจน ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและการแต่งงาน ชีวิตมีความลำบากและเห็นว่าเมียฝรั่งคนอื่นมีเงินมีทองจุนเจือครอบครัว จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นแบบนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นให้ไปอยู่พัทยา 

“เมื่อไปพัทยาก็เจอฝรั่ง ถ้าอยู่บ้านดอนอีลุ่มก็คงไม่ได้เจอ แต่ไปตอนอายุเยอะแล้วจึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด ถ้าเป็นสาวหรือวัยรุ่นไปก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง พอไปตอนอายุ 30 กว่าๆ มีลูก 4 คนและมีอุปสรรคทางภาษา จึงเริ่มจากงานบาร์ ล้างแก้ว งานเสิร์ฟ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เจอฝรั่ง” หญิงชาวโคราชเล่าประวัติความเป็นมา  

“ไม่ว่าชุมชนไหนก็มีเมียฝรั่ง แต่ชีวิตอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” สมหมาย คำสิงห์นอก หญิงอีสานในเดนมาร์ก

หลังจากนั้น เธอได้พบสามีผู้เป็นนักท่องเที่ยวที่พัทยาและพัฒนาความสัมพันธ์กัน กระทั่งย้ายไปอยู่ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งการย้ายไปอยู่ต่างถิ่นนั่น ความกดดันที่สุดคือ ภาษา วัฒนธรรม อาหาร และอากาศ  

สมหมายยังกล่าวถึงความคาดหวังและความกดดันจากครอบครัวว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่บรรดาเมียฝรั่งต้องเผชิญ เพราะชาวตะวันตกไม่มีวัฒนธรรมในการดูแลครอบครัวใหญ่ แต่เมืองไทยมีวัฒนธรรมแตกต่างกันทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน จนนำไปสู่การแยกทางในบางครอบครัว บางคนหากอยากส่งเงินกลับบ้าน แทนที่จะบอกสามีตรงๆ ก็ใช้วิธีลักลอบหรือหลบซ่อน

“บางกรณี ทางบ้านอยากได้รถยนต์เหมือนเพื่อนบ้าน เมื่อไปปรึกษาสามี สามีบอกไม่สามารถช่วยได้ ฝ่ายภรรยาก็ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำหรือทำงานหนักขึ้นจาก 8 ชั่วโมงเป็น 10-20 ชั่วโมง จากนั้นก็ไม่มีเวลาดูแลครอบครอบและสามี ก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน สาเหตุก็มาจากทางบ้านกดดัน ร้อยละ 90 เป็นแบบนี้หมด” สมหมายกล่าว 

“การมีสามีฝรั่งถือเป็นโอกาสของผู้หญิงท่ีเกิดมาในครอบครัวยากจน ถือเป็นโอกาสสูงสุด ถ้าเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะก็อาจจะไม่ต้องดิ้นรนขนาดนี้” หญิงวัย 60 กล่าว 

เธอยังเล่าเหตุผลถึงการเป็นแม่สื่อให้หญิงไทยอีกหลายคนได้แต่งงานกับชาวเดนมาร์กว่า เมื่อไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งสภาพสังคม สวัสดิการ การดูแลด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย รัฐบาลดูแลทั้งหมด เธอเห็นว่าผู้คนมีความสุข จึงอยากช่วยเหลือญาติพี่น้อง 

“ทุกวันนี้ ไม่ว่าชุมชนไหนก็มีเมียฝรั่งอยู่ทั่วไป แต่ชีวิตอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบางคนอาจเจอในสิ่งที่ไม่ดีหรืออาจต้องไปทนในสิ่งที่ไม่เคยทน และมีหลายคนที่ไม่ประสบความสำเร็จเจอปัญหาที่ใหญ่หลวงถึงขั้นหย่าร้างจนต้องฆ่าตัวตายก็มี” สมหมายกล่าว

ส่วน พัชรินทร์ ลาภานันท์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับหญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ กล่าวว่า เคยศึกษาการแต่งงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.อุดรธานีและจ.ขอนแก่น โดยหมู่บ้านที่ศึกษาใช้ชื่อสมมติว่า หมู่บ้านนาดอกไม้ เป็นหมู่บ้านที่มีผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายฝรั่งทั้งหมด 159 คน ซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกันแต่ภายหลังแตกออกเป็น 5 หมู่บ้าน มีเขยจาก 21 ประเทศ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป 

“ถ้าถามว่าเมียฝรั่งถูกมองอยางไร ส่วนหนึ่งคนที่พูดถึงผู้หญิงที่เป็นเมียฝรั่งเขามองว่า ผู้หญิงเหล่านี้แต่งงานกับคนต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งเพราะเงิน ไม่ได้รักจริงหรือบอกว่าไม่อยากทำนาอยู่บ้านแล้ว เป็นภาพคนท่ัวไปที่มองเมียฝรั่ง แต่ถ้าถามพ่อแม่ของผู้หญิงเหล่านั้นก็จะบอกว่า ลูกสาวเป็นคนกตัญญูมาก ส่งเงินมาประจำ และไม่เคยทอดทิ้งทางบ้าน” นักวิชาการผู้นี้กล่าว 

 

“การแต่งงานกับคนต่างชาติไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกกรณี” พัชรินทร์ ลาภานันท์ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับหญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ

พัชรินทร์บอกอีกว่า จากการศึกษาที่ได้พูดคุยกับกำนันหรือสมาชิกเทศบาล พบว่าเมียฝรั่งกับสามีชาวต่างชาติเป็นทรัพยากรที่สำคัญของหมู่บ้านในการพัฒนาชุมชน ถ้าไม่มีผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ ก็จะไม่ได้เห็นบ้านนาดอกไม้เจริญแบบนี้ ไม่ได้เห็นบ้านหลังใหญ่สวยงาม และรถเก๋งขับผ่านไปมาบนถนนหมู่บ้าน เมียฝรั่งจึงมีหลายภาพที่ซ้อนกันอยู่

“ภาพของเมียฝรั่งจะเป็นแบบไหน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าถามหรือพูดกับใคร” นักวิชาการ ม.ขอนแก่นกล่าวและว่า “จากการพูดคุยเมียฝรั่งทั้งหมด 26 คน พบว่าแรงจูงใจหลักที่ทำให้ตัดสินใจแต่งงานกับชาวต่างชาติ ทุกคนบอกว่าอยากทดแทนบุญคุญพ่อแม่ อยากหาเงินเลี้ยงลูกและพ่อแม่” พัชรินทร์กล่าว

ประเด็นที่นักวิชาการผู้นี้ตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยคือ การแต่งงานกับคนต่างชาติไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกกรณี มีคนที่ไม่ประสบผลสำเร็จเป็นจำนวนมาก บางคนไม่ประสบความสำเร็จแต่งงานก็เหมือนถูกหลอก มีบางคนถูกหลอกไปค้ามนุษย์หรือถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ ดังนั้นการจะตัดสินใจต้องศึกษาข้อมูลให้ดี 

image_pdfimage_print