แอนโทนี คัสเธอร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น – นักเขียนรับเชิญ 

บึงแก่นนคร นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นและถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการแล้ว บึงแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นอีกประการหนึ่ง คือ น้ำในบึงเป็นสีเขียว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล ซึ่งตอนนี้ปัญหา “บุปผาสาหร่าย”  ต้นตอที่ทำให้น้ำในบึงเป็นสีเขียวได้กลายเป็นปัญหาอันตรายที่เกิดขึ้นยาวนาน ทุกปี ทั้งในบึงแก่นนครและบึงแห่งอื่นทั่วจังหวัด และการที่มีสาหร่ายในระดับสูงเช่นนี้เรียกว่า “ปรากฏการณ์น้ำเขียว” (eutrophication) หรือการที่บุปผาสาหร่ายแตกตัวเติบโตจำนวนมาก จนทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในอีสานแห่งเดียว แต่ยังพบเห็นได้ทั่วไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก

การแก้ไขปัญหานี้เทศบาลนครขอนแก่นได้ใช้เวลานานหลายเดือนระหว่างปี 2561 และ 2562 ด้วยการคอยสูบน้ำออกจากบึง แล้วขุดเอาดินตะกอนไปกองไว้ใกล้กับสวนสาธารณะบึงทุ่งสร้าง วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยและอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม

ทว่าสิ่งที่เทศบาลท้องถิ่นควรทำก็คือ จะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ผมขอเสนอนโยบายแก้ไขปัญหานี้ 3 ประการ ซึ่งผมเชื่อว่า หน่วยงานรัฐท้องถิ่น (ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล) ควรนำมาปฏิบัติ ได้แก่ 1. กำหนดเขตพื้นที่ชุ่มน้ำและให้ความคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำที่กำหนด 2. ขยายขอบเขตการใช้กฎหมายการแบ่งเขตพื้นที่และนำเอาแนวคิดการพัฒนาผลกระทบน้อยมาปฏิบัติใช้ และ 3. จัดทำโครงการจัดการสารอาหารในน้ำสำหรับพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ผมจะขอแบ่งปันวิธีการเยียวยาบำบัดแหล่งน้ำเพิ่มเติม ถือเป็นวิธีที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในแง่การฟื้นฟูบึงและแหล่งน้ำในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นวิธีที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้

ปรากฏการณ์บุปผาสาหร่ายที่เป็นอันตรายที่พบเห็นในบึงหนองโคตร ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถือปรากฏการณ์ที่พบเห็นตามหนองน้ำและบึงหลายแห่งทั่วอีสาน

เข้าใจสาเหตุน้ำในบึงเปลี่ยนเป็นสีเขียว

น้ำในบึงเป็นสีเขียว (หรือปรากฏการณ์น้ำเขียว) เกิดจากคลอโรฟิลล์ที่มีความเข้มข้นสูง คลอโรฟิลล์นั้นเป็นสารเคมีที่มีอยู่ในพืชทุกชนิดที่สังเคราะห์แสง ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายและแพลงก์ตอนพืชอื่นๆ (พืชลอยน้ำขนาดเล็กแทบทุกชนิด)

สาหร่ายที่ว่านี้มีอยู่ตามธรรมชาติเกือบทุกหนแห่ง แต่ระดับการเปลี่ยนแปลงของสีของสาหร่ายมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นสำคัญ (ไม่ว่าจะเป็นระดับความอบอุ่น แสงแดด และสารอาหาร) 

ในประเทศไทย สภาพภูมิอากาศ ความอบอุ่นและแสงแดดล้วนเป็นสิ่งแทบจะไม่เคยขาดหายไปไหน เมื่อไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเท่าใด สาหร่ายก็จะยิ่งมีสารอาหารมาสังเคราะห์แสงและแตกขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น สารอาหารจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียว

แต่การได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรือเกินความสามารถของสาหร่าย เพราะสาหร่ายเก่งกาจเหลือเกินในการสรรหาสารอาหารที่จำเป็นมาป้อนให้กับตัวเอง สาหร่ายบางชนิดอาจแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการนำไนโตรเจนจากชั้นบรรยากาศมาใช้โดยตรง (ก็เพราะไนโตรเจนเป็นก๊าซที่มีมากที่สุดในอากาศบนโลกใบนี้)

ทว่าการได้รับฟอสฟอรัสมาป้อนตัวเองอย่างเพียงพอต่างหากที่ดูจะเป็นปัญหาหรือข้อจำกัดที่เจ้าสาหร่ายพวกนี้จะต้องเผชิญ เพราะฟอสฟอรัสนั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของสาหร่าย

แล้วฟอสฟอรัสจำนวนมากที่ทำให้เจ้าพวกบุปผาสาหร่ายเหล่านี้เติบโตในบึงหนองต่างๆ หลายแห่งทั่วขอนแก่นมาจากไหนกัน 

ผมขอสรุปสั้นๆ อย่างนี้ครับ ฟอสฟอรัสที่เป็นสารอาหารและพร้อมจะจับตัวกับแร่โลหะในดินธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย ส่วนใหญ่แล้วเมื่อฝนตก น้ำฝนมักจะชะล้างเอาเจ้าฟอสฟอรัสลงสู่บึงหรือแหล่งน้ำต่างๆ 

เมื่อน้ำฝนชะผ่านพื้นที่เกษตรกรรมหรือสถานที่ก่อสร้างที่ปราศจากการควบคุมป้องกันการชะล้าง น้ำที่พัดผ่านก็จะชะเอาสารตกตะกอนไปด้วย ตามธรรมชาติแล้ว เจ้าสารตกตะกอนพวกนี้ล้วนมีฟอสฟอรัสอยู่ในตัวจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะมีสารอาหารอื่นๆ จากปุ๋ยกับสารปนเปื้อนที่ปะปนมาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนัก เป็นต้น

การแพร่กระจายของมลพิษประเภทนี้เรียกว่า “มลพิษที่ไม่สามารถระบุแหล่งกำเนิดได้ชัดเจน” ซึ่งเป็นมลพิษที่ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งกำเนิดเพียงเดี่ยวๆ ได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นมลพิษที่เกิดขึ้นเมื่อฝนตกลงมาและชะล้างมลพิษออกจากพื้นผิวดิน เช่น ทุ่งนา พื้นที่การเกษตรหรือท้องถนน ตัวอย่างของมลพิษที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิดที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ น้ำที่ชะไหลผ่านพื้นที่การเกษตร รวมทั้งน้ำฝนท่วมขังรอการระบายด้วย

เมื่อมีฟอสฟอรัสในบึงมากเกินไป สาหร่ายและไซยาโนแบคทีเรียที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์แสงชนิดหนึ่งระหว่างสาหร่ายและแบคทีเรียจึงทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียวอย่างเห็นได้ชัด

ทำไมเราต้องกังวลเมื่อน้ำในบึงเปลี่ยนเป็นสีเขียว

นอกจากจะเป็นภาพที่ไม่สวยงามแล้ว ปรากฏการณ์น้ำเขียวยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หลายประการ 

เมื่อสาหร่ายสังเคราะห์แสง พวกมันจะดึงเอาออกซิเจนในน้ำไปใช้ อย่างรุนแรง ระดับออกซิเจนในน้ำจะลดปริมาณต่ำลงและส่งผลลัพธ์อันเลวร้ายจนทำให้ปลาขนาดใหญ่ตายได้ น้ำที่มีกลิ่นเหม็นก็จะพาลทำให้ผู้คนไม่ต้องการมาใช้พื้นที่รอบบึงและสวนสาธารณะ ไม่ว่าจะเพื่อสันทนาการและผ่อนคลาย อีกทั้งปริมาณปลาที่ลดน้อยลง เพราะปริมาณออกซิเจนลดลง ขณะเดียวกันก็จะทำให้ชาวบ้านที่ดำรงชีพด้วยการหาปลาก็จะหาปลาไปจำหน่ายได้น้อยลงด้วย

ส่วนสารไซยาโนทอกซินที่เป็นสารประกอบพิษ อันเกิดจากโดยไซยาโนแบคทีเรียขนาดเล็ก (สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่มีอยู่จำนวนมากที่เกิดจากแบคทีเรียและสาหร่าย) ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพผู้คนอย่างรุนแรงได้ด้วย โดยไซยาโนทอกซินบางชนิดสามารถขับสารพิษที่เป็นอันตรายใส่คน ขณะเดียวกันก็สามารถดื่มเอาน้ำที่มีสารประกอบพิษนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากพอ โดยมีข้อมูลยืนยันว่า ไซยาโนแบคทีเรียทำให้สัตว์เลี้ยง รวมถึงมนุษย์เสียชีวิตมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การสัมผัสกับไซยาโนทอกซินอยู่บ่อยๆ ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกทั้งเพิ่งมีการค้นพบว่า โรคเบาหวานกับโรคไตเรื้อรังมีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับไซยาโนทอกซินจำนวนหนึ่งด้วย

พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นกุญแจสำคัญสู่การปรับปรุงคุณภาพน้ำ

ปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่เมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาเมืองที่ขยายพื้นที่เข้าไปยังเขตพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าในจังหวัดขอนแก่น

พื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ มีหน้าที่สำคัญในการปรับปรุงคุณภาพน้ำอยู่แล้ว โดยจะช่วยทำให้เกิดกลไกทางกายภาพและชีวภาพตามธรรมชาติ ซึ่งกลไกที่ว่านี้จะกำจัดเอาสิ่งปนเปื้อนออกจากน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น นอกจากนี้พื้นที่ชุ่มน้ำยังสามารถดูดซับปริมาณน้ำจำนวนมาก ถือเป็นแนวกันชนตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม

การตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญที่พื้นที่ชุ่มน้ำมีต่อการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำนั้น สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องปกป้องและส่งเสริมให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีในไทย นั่นคือ โครงการ “แก้มลิง” โครงการนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ มากมายและนโยบายสาธารณะก็พากันกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง 

โครงการแก้มลิงนี้ได้แนวคิดมาจากโครงการ Ruimte voor de Rivier หรือ “พื้นที่สำหรับแม่น้ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการพัฒนาและดำเนินการปฏิบัติจริงในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเลือกพื้นที่บางแห่งและกำหนดให้เป็นพื้นที่น้ำท่วม เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยหรือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อื่น 

ในประเทศไทยโครงการนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก จนจะกลายเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพนโยบายหนึ่ง ทั้งนี้สิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจคือ ธรรมชาติได้สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้วและพื้นที่ชุ่มน้ำก็มีอยู่ในพื้นที่เขตเมืองเช่นกัน แม้ว่าจะมีขนาดเล็ก แต่ก็ถือว่ามีค่ามากต่อการบำบัดน้ำ 

ขั้นตอนแรกในการปกป้องและส่งเสริมให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำคือ จะต้องกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นทางการ โดยหลายรัฐทั่วสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้จัดทำกรอบการดำเนินงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ระบุ จำแนก และกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ของตน แต่ในบริบทของประเทศไทย ดูเหมือนว่าแรงกดดันสาธารณะในระดับท้องถิ่นดูจะมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำได้มากกว่า ดังนั้นสมาชิกในแต่ละชุมชนท้องถิ่นควรเห็นคุณค่าของที่ดินที่ยังไม่พัฒนา (undeveloped land) 

ลดผลกระทบจากการพัฒนาเพื่อให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกเหนือจากการปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแล้ว รูปแบบการพัฒนาเมืองก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยแนวคิด “การพัฒนาผลกระทบต่ำ” (Low Impact Development) บางครั้งเรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว คือ ชุดระบบและปฏิบัติการที่มุ่งเน้นเลียนแบบหรือรวมเอากระบวนการทางธรรมชาติที่พื้นที่ชุ่มน้ำมีอยู่แล้ว เช่น การไหลซึมและการระเหย ไว้ในการออกแบบเมือง ตัวอย่างของการออกแบบตามหลักการ แนวคิดการพัฒนาผลกระทบขั้นต่ำ ได้แก่ การทำสวนบนดาดฟ้าของตึกและการเลือกใช้วัสดุถนนที่น้ำซึมผ่านได้

แต่การพัฒนาในประเทศไทยนั้นตรงกันข้ามกับแนวคิดการพัฒนาผลกระทบขั้นต่ำ กล่าวคือ การพัฒนาในประเทศไทยมักจะทำให้น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้หรือใช้วัสดุปกคลุมผิวดินที่ทำให้น้ำซึมผ่านไม่ได้ เป็นผลให้ปริมาณน้ำชะไหลเข้าสู่ตัวเมืองจำนวนมหาศาลและในการแก้ปัญหาเหล่านี้ก็มักจะแก้ด้วยการออกแบบการจัดการน้ำฝนที่เร่งรีบเพื่อส่งออกไปจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นการผลักปัญหาไปยังพื้นที่ปลายน้ำและพลาดโอกาสที่จะเยียวยาบำบัดน้ำในพื้นที่

การกระตุ้นส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลกระทบขั้นต่ำจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปที่สมเหตุสมผลที่สุด คือ การให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบังคับ กำหนดแบ่งเขตพื้นที่ต่างๆ ภายในพื้นที่ตนเอง โดยเมื่อไม่นานมานี้กรุงเทพมหานครได้ประกาศใช้นโยบายการแบ่งเขต ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นจะต้องออกแบบและบังคับใช้กฎเกณฑ์การแบ่งเขตที่ส่งเสริมให้ลดการใช้พื้นผิวที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ รวมถึงการจัดการน้ำฝนในพื้นที่และการปฏิบัติตามแนวคิดการพัฒนาผลกระทบขั้นต่ำ

ระบบการจัดการน้ำของสำนักงานประปาแห่งเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา คือตัวอย่างหนึ่งในการกระตุ้นการพัฒนาในรูปแบบดังกล่าวที่สามารถปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งสำนักงานแห่งนี้เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างและดำเนินการทั้งระบบน้ำประปาและการบำบัดน้ำเสียในเมือง สิ่งที่สำนักงานทำคือ สำนักงานเปลี่ยนวิธีการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าผู้ใช้น้ำ แทนที่จะเรียกเก็บเงินตามปริมาณการใช้น้ำเท่านั้น แต่สำนักงานยังเรียกเก็บเงินตามลักษณะพื้นผิวของที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้ใช้น้ำที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนไหลเข้าสู่ท่อระบายน้ำของการประปาโดยตรงมากขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้เมืองแห่งนี้ยังให้การสนับสนุนทางเทคนิคด้านระบบการพัฒนาผลกระทบขั้นต่ำแก่พลเมืองด้วย ทำให้ผู้คนเริ่มทำการปรับเปลี่ยนบ้านและที่อยู่อาศัยของตนด้วยระบบการพัฒนาผลกระทบขั้นต่ำมากขึ้นและการพัฒนาหรือการก่อสร้างใหม่ๆ ก็มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แนวคิดเดียวกันนี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนี้กรุงเทพฯ เป็นเพียงเขตเมืองแห่งเดียวที่เรียกเก็บเงินค่าการจัดการน้ำเสีย แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากประชาชนเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่การจัดการน้ำเสีย ควรอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกับหน่วยงานจัดการระบบน้ำประปา เนื่องจากน้ำประปาที่ใช้แล้วจะถูกส่งกลับไปยังระบบการบำบัดน้ำเสีย ดังนั้นการจัดการน้ำประปาและน้ำเสียจึงไม่ควรแยกจากกันนั่นเอง

เมื่อมีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างน้ำเสียกับน้ำประปา ก็จะสามารถทำให้การเรียกเก็บค่าน้ำตามขนาดลักษณะพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านไม่ได้นำมาปฏิบัติได้จริง โดยผู้ใช้น้ำก็อาจจะกลัวว่าจะไม่ได้ใช้น้ำ จึงทำให้หน่วยงานน้ำประปามีอำนาจมากพอที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทั้งสองอย่างได้

การจัดการด้านสารอาหารในน้ำในพื้นที่ชนบท

สุดท้ายนี้ พื้นที่ชนบทเป็นพื้นที่ที่จะต้องตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำผิวดินที่ชะไหลผ่านพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สารอาหารปะปนเข้าสู่ทางน้ำในปริมาณมากเกินไป

ทางออกหนึ่งของการลดสารอาหารในน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ทางการเกษตรคือ การจัดการสารอาหารในน้ำ โดยจุดมุ่งหมายของแผนการจัดการสารอาหารในน้ำก็เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยในปริมาณมากเกินไป โดยจะต้องปรับปริมาณปุ๋ยที่ใช้กับดินและพืชให้มีความสมดุลกัน พร้อมกันนี้ยังควรใช้มาตรการควบคุมการกัดเซาะผิวดินด้วย

ตัวอย่างของโครงการจัดการสารอาหารในน้ำนี้ เห็นได้จากโครงการที่รัฐเพนซิลวาเนีย (ประเทศสหรัฐอเมริกา) นำมาใช้ ซึ่งประสบกับปัญหาคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมมานานมีสาเหตุมาจากปริมาณสารอาหารส่วนเกินที่ชะไหลผ่านพื้นที่ทางการเกษตร (เช่น ฟอสฟอรัสและไนโตรเจน) ถูกปล่อยเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2540 ขณะนั้นรัฐเพนซิลเวเนียจำเป็นต้องควบคุมการดำเนินการด้านปศุสัตว์ที่มีความหนาแน่นสูง (ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มปศุสัตว์ บริเวณขุนอาหารสัตว์ ฯลฯ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามแผนการจัดการสารอาหารตามที่อนุมัติ ซึ่งแผนการเหล่านี้จัดทำขึ้นเพื่อรองรับปุ๋ยคอกที่ได้จากสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ โดยหวังว่าจะสามารถจำกัดการใช้ปุ๋ยคอกไม่ให้เกินขีดความสามารถในการรองรับของดินและพืชที่เพาะปลูก และกระตุ้นให้มีการป้องกันไม่ให้สารอาหารส่วนเกินที่มากับปุ๋ยคอกไหลลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง

ต่อมากฎระเบียบเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงเมื่อปี 2549 ให้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติเพนซิลวาเนีย 38 ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรและอาสาสมัครจำนวนมาก ได้ยื่นความประสงค์เพื่อขออนุมัติแผนการจัดการสารอาหารตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งแผนการนี้เน้นทำให้สารอาหารที่เกิดขึ้นในฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีความสมดุลตรงกับความต้องการของพืชในพื้นที่ แผนที่ว่านี้ยังกำหนดแนวทางการจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำชะเอาสารอาหารลงสู่แหล่งน้ำด้วย ทำให้แผนเหล่านี้กลายเป็นส่วนสำคัญของการปรับปรุงคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำลำธารทั่วรัฐเพนซิลวาเนีย และจะเป็นส่วนขยายของบริการต่างๆ ที่สหกรณ์เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยจะต้องมี 

เจ้าหน้าที่เทศบาล ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น นำโดยคณะนักวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังเติมอลูมิเนียมซัลเฟตลงในบึงกี เพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำครั้งแรกในประเทศไทย

แร่ธาตุเสริมเพื่อฟื้นฟูสภาพน้ำในบึง

แม้นโยบายที่ข้างต้นจะถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทว่าความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำหลายแห่งไปเสียแล้ว แม้ว่าแหล่งกำเนิดฟอสฟอรัสจากภายนอกจะถูกกำจัดไป แต่ฟอสฟอรัสที่สั่งสมอยู่ในดินตะกอนก้นบึงก็ยังอยู่และยังทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวไปอีกนานหลายปีหรือหลายสิบปี ซึ่งจะทำให้นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จช้าลง

สิ่งสำคัญจำเป็นที่จะต้องทำก็คือ การทำให้ฟอสฟอรัสที่สั่งสมอยู่ในดินตะกอนหมดสภาพลง เพื่อเร่งให้กระบวนการฟื้นฟูบึงน้ำประสบความสำเร็จ ในช่วงปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับเทศบาลตำบลบ้านเป็ด เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวคิดนี้ใช้ได้ผลจริง

บึงกี ซึ่งเป็นบึงที่เต็มไปด้วยสาหร่ายแตกตัวจำนวนมาก ถูกนำมาใช้เป็นบึงนำร่องในการปฏิบัติการครั้งนี้ โดยเราได้เติมอลูมิเนียมซัลเฟตหรือสารส้ม ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดเดียวกันที่ใช้ในโรงบำบัดน้ำดื่มส่วนใหญ่ โดยเจ้าสารอลูมิเนียมที่เติมลงไปในบึงจะจับตัวอย่างถาวรกับฟอสเฟตส่วนเกินที่มีอยู่ในน้ำและในดินตะกอน ทำให้ไซยาโนแบคทีเรียและสาหร่ายอื่นๆ ขาดแคลนสารอาหารในน้ำ จึงเป็นการจำกัดการเติบโตของพวกมัน แนวคิดนี้เรียกว่า “วิศวกรรมทางภูมิศาสตร์” (geo-engineering) เพื่อการฟื้นฟูบึงหรือแหล่งน้ำ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2562 เราได้เติมสารส้มจำนวน 4,300 กิโลกรัม ลงสู่บึงแห่งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ ประมาณช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เทศบาลตำบลบ้านเป็ดก็ได้สานต่อโครงการด้วยตัวเองอย่างเต็มตัว กล่าวคือ เทศบาลบ้านเป็นได้กลายเป็นผู้จัดหาเงินแหล่งทุนเพื่อจัดซื้อสารส้มและดำเนินการเติมสารส้มเอง โดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ ทางเทศบาลได้ดำเนินการเติมสารส้มเพิ่มลงไปในบึงอีกกว่า 2,500 กิโลกรัม

วิธีดังกล่าวได้รับการปฏิบัติในแถบตอนกลางและตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเหนืออยู่บ่อยครั้ง โดยครั้งนี้ถือเป็นการเติมสารส้มเพื่อฟื้นฟูบึงน้ำเขียวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ว่าได้

ก้าวไปข้างหน้า

ปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ถือเป็นปัญหาของทุกคน เราทุกคนต่างมีส่วนร่วมก่อให้ปัญหานี้เกิดขึ้นและเราทุกคนต่างเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ขั้นตอนแรก เราจะต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพน้ำที่ไม่ดี (รวมถึงน้ำท่วม) กับการพัฒนาเมือง การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ การทำการเกษตร และคุณภาพน้ำไม่ดี 

ขั้นตอนต่อไป เราจะต้องค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุของปัญหามากกว่าที่จะรักษาอาการหลังเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ตัวอย่างการแก้ปัญหา ได้แก่ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ การพัฒนาผลกระทบขั้นต่ำหรือการพัฒนา “พื้นที่สีเขียว” และแผนการจัดการสารอาหารในน้ำ เป็นต้น

อำนาจและความสามารถในการแก้ปัญหาเหล่านี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดเจตจำนงทางการเมืองเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม ตราเป็นกฎหมาย และจัดการภายในพื้นที่ท้องถิ่น ซึ่งการจัดการแบบด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางไม่สามารถนำมาปรับใช้กับท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันได้

หากไม่มีการปรับเปลี่ยนดังที่กล่าวไว้…ประเทศไทยก็จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมมากขึ้นและแหล่งน้ำก็จะมีการปนเปื้อนมากกว่าเดิม

image_pdfimage_print