แองเจลา หยาง และ โจเซลล์ เอสโคบาร์ นักเขียนรับเชิญ 

สองปีก่อน ฝน ในวัย 20 ปี ตั้งท้องหลังจากลืมกินยาคุมกำเนิดเพียงแค่เม็ดเดียว 

“คิดอยากจะทำแท้ง เพราะเครียดมาก ไม่คิดว่าตัวเองจะท้อง คือไม่ได้วางแผนว่าจะมีลูก” ฝน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าความหลังถึงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ “แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มยังไง ไม่รู้ว่าจะไปถามใครดี ก็เลยถามเพื่อน แล้วเพื่อนบอกว่าเป็นเรื่องปกติ นักศึกษาหรือใครๆ ก็ท้อง”

เพื่อนของฝนพูดถูก จากการศึกษาของยูนิเซฟพบว่า อัตราการเกิดมีชีพในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี เมื่อปี 2556 อยู่ที่ 191.5 รายต่อการเกิด 1 พันราย ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เมื่อเทียบกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเมื่อปี 2561 ถึง 44 เท่าและเมื่อเดือนกันยายนปี 2562 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตั้งเป้าที่จะลดจำนวนการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นทั่วประเทศให้เหลือเพียง 25 ต่อ 1,000 รายภายในปี 2569

จากรายงานของยูนิเซฟ ปี 2558 เรื่องการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2547- 2556 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนอัตราการเกิดมีชีพในวัยรุ่น (อายุ 10-19 ปี) สูงที่สุด

มด นักศึกษาหญิงวัย 24 ปี จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข. เล่าว่า ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมเพื่อนของเธอหลายคนก็ตั้งท้องและเป็นสาเหตุให้ต้องลาออกจากโรงเรียน

“ที่รู้ๆ มีประมาณ 5-10 คน ตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม เพื่อนหลายคนมาจากครอบครัวที่ยากจน แล้วไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษามากนัก” มดเล่า “ก็สงสัยว่าทำไมคนยุโรปหรือคนอเมริกันถึงมีเพศสัมพันธ์กันได้ทั้งที่เรียนหนังสืออยู่ แต่ในไทย วัยรุ่นตั้งท้องกันเยอะ เพราะไม่มีความรู้เรื่องเพศอย่างเพียงพอหรือเปล่า”

ก่อนที่ฝนตั้งครรภ์ เธอเรียนรู้วิธีการคุมกำเนิดจากเพื่อนฝูงและอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

“โรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องการคุมกำเนิดเท่าไหร่ เน้นสอนแต่เด็กผู้ชาย” ฝนกล่าว “ตัวอย่างเช่น ที่โรงเรียนไม่ได้สอนว่าวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ผลควรทำยังไง แต่จะเจาะลึกเฉพาะการสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง โรงเรียนน่าจะเน้นเด็กผู้หญิงมากกว่านี้”

การคุมกำเนิดไม่ได้เป็นเพียงหัวข้อเดียวเท่านั้นที่หลักสูตรการสอนเรื่องเพศศึกษาในไทยให้ความสนใจอย่างน้อยนิด จากรายงานของยูนิเซฟประจำปี 2559 ว่าด้วยเรื่องเพศศึกษาในประเทศไทยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิงจำนวนมากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นวิธีหลักเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ หลายคนไม่รู้ถึงผลกระทบด้านลบของยาคุมฉุกเฉินต่อสุขภาพตัวเอง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเด็กผู้ชายหลายคนระบุไม่เต็มใจที่จะใช้ถุงยางอนามัยและมีนักเรียนหญิงในระดับมัธยมศึกษาเพียงร้อยละ 54 ระบุว่ามั่นใจที่จะกำชับให้คู่นอนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์และได้ผล

นักศึกษาและอาจารย์ มข.ให้สัมภาษณ์ในงานชิ้นว่า ไม่เฉพาะหมู่วัยรุ่นเท่านั้นที่ขาดความรู้และบอกกล่าวเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่ยังรวมถึงนักการศึกษาและผู้ปกครองด้วย

ประเด็นนี้นำมาสู่คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับวิชาเพศศึกษาที่เยาวชนกำลังได้รับอยู่ในตอนนี้

นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังค้นข้อมูลออนไลน์ว่าด้วยหัวข้อ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าถุงยางแตก” ภาพโดย โจเซลล์ เอสโคบาร์

การสอนเพศศึกษาในไทยล้มเหลวหรือไม่

ประเทศไทยเปิดตัวหลักสูตรการสอนเพศศึกษาครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ระหว่างปี 2543- 2557 กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) พบว่ามีเด็ก 1.5 ล้านคนที่เกิดจากแม่วัยใส ซึ่งรายงานของยูนิเซฟเมื่อปี 2557 เปิดเผยว่า การติดเชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมดในประเทศไทยมากถึงร้อยละ 70 เกิดในหมู่คนที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี โดยตัวเลขสถิติเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของวัยรุ่นที่เลือกวิธีไม่ป้องกัน ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความรู้เรื่องสุขศึกษาหรืออนามัยการเจริญพันธุ์

จากการตอบสนองปัญหาดังกล่าวจึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่ง พ.ร.บฉบับนี้กำหนดให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งจัดหลักสูตรการศึกษาเรื่องเพศที่ครอบคลุม (CSE) และฝึกอบรมครูให้สอนเนื้อหาหลักสูตร

วาเลอรี แทตัน รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวในบทความของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระบุว่า เกือบทุกโรงเรียนในไทยหลักสูตรการศึกษาเรื่องเพศที่ครอบคลุม ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวควรจะเป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องเพศที่เน้นเรื่องสิทธิและเพศสภาวะ แต่รายงานที่ยูนิเซฟให้ทุนสนับสนุนเพื่อศึกษาโครงการหลักสูตรการศึกษาเรื่องเพศที่ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2558-2559 พบว่า หัวข้อสำคัญๆ เช่น สิทธิทางเพศสภาพ ความเสมอภาคและความหลากหลายทางเพศสภาวะและการเคารพในสิทธิของผู้อื่น มักเป็นหัวข้อที่ถูกละเลย โดยมีสาเหตุจากไม่มีเวลาเพียงพอและครูผู้สอนไม่ได้รับการฝึกอบรมมากพอ

ส่วน กวาง นักศึกษาหญิงอายุ 24 ปี จากคณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น เล่าว่า จากประสบการณ์เรียนวิชาเพศศึกษาเมื่อในชั้นมัธยมศึกษา “โรงเรียนไม่ได้สอนอะไรเลย มีหนังสือเรียนให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือวิชาพละศึกษา ซึ่งสอนว่าผู้หญิงไม่ควรแสดงความต้องการทางเพศออกมา แม้ว่าจะแต่งงานแล้วก็ตาม คือ ถ้าเอาหนังสือเล่มนี้มาให้เด็กนักเรียนดู คิดว่าเด็กจะไม่เข้าใจว่าเซ็กส์คืออะไร เมื่อไม่เข้าใจว่าเซ็กส์คืออะไร ก็จะแอบมีอย่างไม่เคยได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง”

การมีสองมาตรฐานในเรื่องเซ็กส์ยังเกิดขึ้นกับการซื้อและการใช้สิ่งป้องกันระหว่างมีเพศสัมพันธ์ บ่อยครั้งที่ผู้หญิงมักรู้สึกถูกตัดสินเมื่อเดินเข้าไปซื้อและพกถุงยางอนามัย

ฝนอธิบายว่า เธอและเพื่อนๆ ไม่พกถุงยาง เพราะอาจทำให้คนอื่นคิดว่า “ทำไมถึงพกถุงยางล่ะจะมี [เซ็กซ์] กับใครเหรอ เป็นโสเภณีเหรอ”

“ถ้าเราพกถุงยางอนามัย แล้วเพื่อนๆ รู้ ก็จะพากันคิดกับเราในทางที่ไม่ดี” ฟิล์ม นักศึกษาอายุ 21 ปี จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าว “กลัวว่าเพื่อนจะคิดว่าเรามั่ว แล้วจะไม่คบด้วย”

พนักงานชายประจำร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแห่งหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเมินตัวเลขผู้ซื้อถุงยางอนามัยคิดเป็นชาย 7 ใน 10 คน

 ความกลัวว่าจะถูกตัดสินอาจเกิดจากทัศนคติเชิงอนุรักษ์นิยมต่อบรรทัดฐานทางเพศที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมและสังคมไทย โดย เต้ย นักศึกษาชายวัย 19 ปี จากสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ม.ขอนแก่นระบุว่า “ในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องปกติ ถ้าผู้หญิงจะเดินไปซื้อถุงยางอนามัย เพราะสังคมไทยมองผู้หญิงว่าจะต้องรักนวลสงวนตัวและทำตัวดีๆ”

ความมีสองมาตรฐานเช่นนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้หญิง เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมไทย ซึ่งการห้ามปรามไม่ให้พูดเรื่องเซ็กส์นั้นยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลง

“ไทยยังมีวัฒนธรรมอีกมากมายที่กดขี่และน่าเป็นห่วง เพราะเราไม่ได้พูดคุยกันเรื่องเพศในครอบครัวมากนัก” เก่ง นักศึกษาชายวัย 21  จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าว “คิดว่า ยิ่งพยายามไม่พูดเรื่องนี้ คนก็ยิ่งอยากทำ ยิ่งห้ามก็ยิ่งอยากทำ”

ผู้หญิงมักเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการสอนวิชาเพศศึกษาที่ไม่ดี แต่หลายคนบอกว่า ทัศนคติของผู้ชายเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด โดย ปิยภา เมืองแมน  ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กรุงเทพฯ ระบุว่า “สังคมชายเป็นใหญ่ในไทยถือเป็นสาเหตุของการมีเพศสัมพันธ์โดยผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบ เรามักจะเห็นว่าครอบครัวพากันสอนเด็กผู้หญิงให้รู้สึกอายเกี่ยวกับเรื่องเพศ” “แต่กับเด็กผู้ชาย” เธอกล่าว “ไม่ได้เข้มงวดเลย เลยทำให้เด็กผู้ชายเรียนรู้เรื่องเพศได้มากกว่า ส่งผลให้ผู้หญิงวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ดังนั้นเพศศึกษาจึงควรเริ่มต้นจากครอบครัวที่จะต้องสอนให้เด็กผู้ชายมีความรับผิดชอบมากกว่านี้”

ต้องเปลี่ยนอะไรบ้างและเปลี่ยนอย่างไร

ดรีม นักศึกษาหญิงวัย 22 ปี จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่น เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจะต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้แก่เด็กผู้ชายเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศสภาวะ “เด็กผู้ชายมักจะคิดว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงจึงเลยทำอะไรที่ตัวเองอยากทำ” เธอกล่าว “คนเหล่านี้ต้องเรียนรู้ว่า เราทุกคนมีอำนาจเท่าเทียมกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์กัน หากแฟนของคุณบอกว่าไม่อยากมีเซ็กส์วันนี้ คุณก็ต้องเคารพความต้องการของเธอ อย่าบังคับให้เธอมีเซ็กส์”

ดรีมกล่าวว่า ผู้หญิงจะต้องได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดมากกว่านี้ แต่ผู้ชายเองก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับทัศนคติและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทางเพศสภาวะมากว่านี้ เพื่อต่อสู้กับสองมาตรฐานในสังคมไทย

นอกจากนี้หลายคนยังเชื่อว่า การสอนวิชาเพศศึกษาควรต้องเริ่มกันสอนตั้งแต่เด็กๆ 

“การศึกษาจะต้องเริ่มตั้งแต่ตอนที่นักเรียนยังเด็กๆ” จอย เบลาร์โด อาจารย์ประจำสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว “เราบังคับให้ผู้ปกครองพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเรานำเอาเรื่องนี้มาคุยในห้องเรียน ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติที่นักเรียนจะได้เรียนรู้”

หลายคนที่ให้สัมภาษณ์ต่างเรียกร้องให้มีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาเพศศึกษา ซึ่งควรเป็นหลักสูตรที่สอนนักเรียนเกี่ยวกับข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง เช่น ลักษณะทางธรรมชาติของความสัมพันธ์ทางเพศและการคุมกำเนิดฉุกเฉิน

กวาง นักศึกษาหญิง อายุ 24 ปี ผู้กำลังศึกษาอยู่ในคณะศึกษาศาสตร์ ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมากับเรื่องนี้ว่า “แค่ให้ทางเลือกแก่ผู้เรียนมากกว่านี้ อย่าห้ามไม่ให้พวกเขามีเพศสัมพันธ์ เพราะเราไปบังคับให้คนไม่มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้หรอก” เธอกล่าวว่า “ควรให้ทางเลือกจะดีกว่า หากเขารู้สึกมีความต้องการทางเพศ ก็อาจจะช่วยตัวเองแทน หรือถ้ามีแฟนก็ให้แฟนช่วยใช้มือทำให้ ทำอะไรแบบนั้นก็ได้ แล้วก็เรื่องการคุมกำเนิด ให้สอนพวกเขา แล้วก็สอนบ่อยๆ นักเรียนก็จะควรเปิดกว้างกว่านี้ อย่างน้อยพวกเขาก็จะเรียนรู้วิธีป้องกันตนเอง” 

อย่างไรก็ตาม กวาง ผู้ที่กำลังศึกษาเพื่อเป็นอาจารย์ เชื่อว่า หากให้การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยนั้นคงจะเกิดขึ้นได้ยาก

“จะต้องเข้าใจก่อนว่า บริบทสังคมไทยในโรงเรียนนั้นแตกต่างกันไป ครูรุ่นเก่าไม่ยอมรับสิ่งที่คนรุ่นใหม่พูดในวันนี้” กวางกล่าว “เพื่อนรุ่นพี่หลายคนบอกว่า หนูคงเปลี่ยนระบบไม่ได้หรอก เพราะครูส่วนใหญ่มีอายุแล้ว แถมหัวโบราณ แล้วหนูก็เป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง”

แม้ว่าจะมีความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงระบบ แต่ก็มีหลักฐานยืนยันให้เห็นว่า การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ดีนั้นสามารถช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นและการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากรายงานการทบทวนหลักสูตรเพศศึกษาปี 2558 ในประเทศต่างๆ พบว่ามีหลักสูตรมากถึงร้อยละ 80 ที่รวมการสอนเรื่องเพศสภาวะและอำนาจไว้ด้วยกัน ซึ่งสามารถลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการส่งต่อเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่มีหลักสูตรเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ไม่ได้รวมเอาประเด็นดังกล่าวไว้ในหลักสูตรแต่ให้ผลลัพธ์เดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ก้าวต่อไป…ทำอย่างไร

แล้วจะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เพียงแค่ป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นได้เท่านั้น แต่ยังสามารถมุ่งสู่การสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศสภาวะมากขึ้น สำหรับเก่งแล้ว คำตอบนั้นแสนจะง่ายดาย นั่นคือ การเปิดพื้นที่ให้มีการพูดเรื่องเพศมากขึ้น 

“ผมอยากทำลายกำแพงของวัฒนธรรมนั้นลง เพราะบางครั้ง เราก็ยึดเอาตามสิ่งต่างๆ จากอดีต เราไม่เคยคุยเรื่องการเมืองมาก่อน แต่ตอนนี้เราคุยกันมากขึ้น คิดว่าเรื่องเซ็กส์ก็ควรจะเหมือนกัน” เก่งกล่าว

“ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง และเด็กๆ ควรพูดคุยกันเรื่องนี้ เพราะถ้าคุยกันเรื่องเพศได้ เด็กก็จะเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างเพศสภาพและเพศสภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าใจและเคารพ”

แองเจลา หยาง เป็นนักศึกษาสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา 

โจเซลล์ เอสโคบาร์ เป็นนักศึกษาสาขาวิชารัฐศาสตร์และการปกครอง มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา โดยทั้งสองคนได้ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคปลาย ปีการศึกษา 2562

 

image_pdfimage_print