ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสังคมไทย โดยเฉพาะการใช้ชีวิต 

รัฐไทยได้ออกนโยบายเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เริ่มตั้งแต่การประกาศปิดเมือง การจำกัดเวลาการค้าขาย การคัดกรองคนก่อนเข้า-ออกพื้นที่ การใช้กลไกของรัฐเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงตามหมู่บ้าน การเปิดศูนย์การรักษาผู้ป่วยและให้บริการคำปรึกษา เช่น สายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค การรณรงค์ให้อยู่ห่างกัน (social distancing) การให้พนักงานและข้าราชการทำงานที่บ้าน (work from home) 

รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เช่น การขอรับค่าประกันไฟฟ้า หรือ การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ให้กับแรงงานที่ไม่ได้มีประกันสังคม และการลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น

นโยบายและมาตรการของรัฐที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะครอบคลุมและช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการ พ่อค้า-แม่ค้า แรงงาน นายจ้าง (ไม่ได้หมายความว่านโยบายนั้นมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโรคระบาด)

แต่ในความเป็นจริง มีคนอีกกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการดูแลเยียวยาจากมาตรการของรัฐมากนัก คนกลุ่มนั้นคือ กลุ่มนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยและต้องทำงานพิเศษเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว 

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้โรงเรียนในประเทศในทวีปเอเชียหลายแห่งปิดเรียน ภาพจาก : istock.com/sengchoy

ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาของนักศึกษา ม.อุบลราชธานี เพื่อเป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของนักศึกษาภาคอีสานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของอีสาน

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดตั้งขึ้นเป็นวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2530 สังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากนั้น พ.ศ.2533 ภาครัฐก็ผลักดันให้ก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมและให้บริการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเขตอีสานทางตอนใต้ ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี (ตอนนั้นจังหวัดอำนาจเจริญยังสังกัดเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลฯ) จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีษะเกษ 

นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้ามาศึกษาใน ม.อุบล จะเป็นผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดอีสานตอนใต้ นอกจากนั้นมีบางส่วนมาจากจังหวัดอื่นในอีสาน เช่น นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ บุรีรัมย์ เป็นต้น มีส่วนน้อยที่มาจากภาคอื่น 

จากการที่ผู้เขียนได้สอนและเคยเป็นผู้ช่วยสำนักงานกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ เป็นเวลา  5 ปี รวมถึงเคยเป็นกรรมการในการจัดกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในระดับมหาวิทยาลัย และกรรมการทุนให้เปล่า พบว่า มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่กู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ.เป็นจำนวนมาก บางปีมีจำนวนนักศึกษาที่ต้องการกู้ยืมเงินมากกว่าจำนวนทุนที่ทางรัฐบาลจัดให้เสียอีก 

การสัมภาษณ์นักศึกษาเพื่อขอรับทุนต่างๆ พบว่า นักศึกษาที่ขอรับทุนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานและมีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ราคาพืชผลการเกษตรไม่มีราคา ครอบครัวมีหนี้สิน หรือบางครอบครัวมีปัญหาภายใน ส่งผลให้นักศึกษาต้องทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียน เป็นต้น  

อย่างไรก็ตาม ทุนที่ได้นั้นครอบคลุมเพียงค่าเทอมเท่านั้น แต่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น 

นอกจากนี้ นักศึกษาบางส่วนที่ไม่ได้ทุนกู้ยืม เพราะทุนมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ นักศึกษากลุ่มนี้ต้องหางานพิเศษ ทั้งบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยหรือในเมือง เพื่อเก็บเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนและการดำรงชีพ 

โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมทั้งการออกมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาด ยิ่งส่งผลกระทบรายได้ของต่อนักศึกษาและเป็นอย่างมาก 

ประการที่หนึ่ง งานพิเศษที่เคยทำอยู่หายไป เพราะการออกมาตรการของรัฐส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ ปิดตัว รวมทั้งการปิดตัวของผับ บาร์ ร้านอาหาร การงดจัดอีเวนต์ การปิดโรงภาพยนตร์ และการปรับเปลี่ยนวิธีการขายของร้านอาหาร กล่าวคือเน้นให้ลูกค้าซื้อกลับไปกินที่บ้านมากขึ้น 

ผลที่ตามมาคือ นักศึกษาบางส่วนที่ทำงานพิเศษ อาทิ นักดนตรี พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารหรือตามอีเวนต์ต่างๆ พนักงานขายของตามร้านค้า ต้องตกงานและขาดรายได้ลง 

อาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งรายได้ที่นักศึกษานิยมทำระหว่างที่ไม่มีเรียนหรือในช่วงการปิดภาคฤดูร้อน

ประการที่สอง ร้านค้าบางแห่งปิดร้านเร็วขึ้นทำให้รายได้ของนักศึกษาลดลง ยกตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11 เมื่อก่อนเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง  แต่ช่วงที่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมีคำสั่งให้ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ต้องปิดช่วงเวลา 22.00 น. – 05.00 น. และต่อมารัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิวเริ่มตั้งแต่ 22.00-04.00 น. ส่งผลให้ชั่วโมงทำงานลดลงและค่าตอบแทนที่ได้รับก็ลดลงตามไปด้วย

ประการที่สาม นักศึกษาบางส่วนที่ยังต้องหางานทำเพื่อหาเงินไว้ใช้ในการเรียน หันไปทำงานเป็นพนักงานส่งอาหาร เช่น Grab UbonHero และ Food Panda เป็นต้น เพราะมาตรการของรัฐที่ไม่ต้องการให้ประชาชนรวมกลุ่มกันและให้อยู่บ้านตามโครงการ  Work From Home และ Stay Home Save Lives ส่งผลให้ด้านหนึ่งคนก็หันมากักตุนอาหารและทำอาหารกินกันเอง แต่อีกส่วนหนึ่งมีการสั่งอาหารทางออนไลน์ ส่งผลให้ธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์เติบโตมากเป็นพิเศษ ประกอบกับงานพิเศษที่เคยทำอยู่ต้องยุติลง ตามมาตรการของรัฐที่กล่าวมา ส่งผลให้นักศึกษาที่ต้องการหารายได้พิเศษหันมาทำงานเป็นพนักงานส่งอาหารมากขึ้น

นักศึกษาที่ออกมาหารายได้พิเศษในการเป็นพนักงานส่งอาหารนั้นกลายเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสติดเชื้อโรคมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะคนที่ส่งอาหารต้องเผชิญและเจอกับคนจำนวนมาก สวนทางอย่างมากกับนโยบายรณรงค์ของรัฐ 

หลายคนอาจจะสงสัยและถามว่า ทำไมนักศึกษาเหล่านั้นไม่อยู่บ้านตามที่รัฐประกาศ ไม่กลัวติดโรคหรืออย่างไร 

คำตอบที่ได้จากนักศึกษาที่ต้องทำงานพิเศษคือ “เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจของทางบ้าน ส่งผลให้ไม่สามารถอยู่บ้านได้ตามมาตรการของรัฐ จำเป็นต้องออกมาหางานทำ เพื่อให้มีเก็บเพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป ถ้าไม่ทำงานก็กลัวไม่มีเงินเรียนหนังสือ”

ประการสุดท้าย ครอบครัวของนักศึกษาบางคนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งที่เกิดก่อนหน้านี้และระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อร้าย ครอบครัวของนักศึกษาบางคนประสบปัญหากับเศรษฐกิจตกต่ำ พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ หรือบางคนค้าขายไม่ดี 

แม้พ่อแม่ของนักศึกษาจะมีทางออกอื่นในการหารายได้ เช่น ออกไปรับจ้างแรงงาน หรือหางานพิเศษอื่นๆ ทำงานเป็นแม่บ้าน ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับรถขนส่ง หรือรับงานต่างๆ มาทำที่บ้าน ฯลฯ แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดทำให้งานพิเศษที่เคยทำก็หายไป 

แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท ซึ่งต่อมาขยายเป็น 6 เดือน รวมเป็น 30,000 บาท แต่เงินเหล่านั้นก็ไม่เพียงพอสำหรับครอบครัวขนาดใหญ่ ทั้งค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูก ประกอบกับการขาดรายได้จากการทำงานพาร์ตไทม์ของลูกชายและลูกสาวในช่วงเรียนหนังสือหรือช่วงปิดภาคฤดูร้อน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาทางการเงินของครอบครัวให้ย่ำแย่ลงไปอีก

เราอาจคาดการณ์กันได้ทันทีว่า เมื่อถึงช่วงเปิดเทอม 1/2563 ปัญหาค่าเทอมและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของนักศึกษาจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของทางบ้านนักศึกษาที่ต้องหาเงินมาจ่ายค่าเทอมให้กับลูกและค่าใช้จ่ายของลูกในช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ได้รับการอุดหนุนเงินด้านการศึกษาจากรัฐ และมีระบบการเหมาจ่ายค่าเทอม ไม่ใช่คิดตามหน่วยกิตที่นักศึกษาลงเรียนเหมือนแต่ก่อน ส่งผลให้ค่าเทอมของนักศึกษามีอัตราที่สูงกว่าเดิมถึง 2-3 เท่า 

ในอดีต นักศึกษาบางคณะเคยจ่ายค่าเทอมเพียง 6,000-7,000 บาท แต่ตอนนี้ค่าเทอมปรับเปลี่ยนเป็น 16,000-17,000 บาท 

เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ปกครองและนักศึกษา (ในกรณีที่ไม่ได้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา)ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อร้ายจะต้องแบกรับในช่วงเปิดเทอมที่จะมาถึงภายในมิถุนายนนี้

ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

แม้การออกมาตรการของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ที่ติดเชื้อเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน แต่การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นสิ่งที่รัฐมิอาจละเลยได้ 

สำหรับมาตรการและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นในมหาวิทยาลัยนั้น รัฐเพียงสั่งให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์และสั่งให้ยกเลิกการฝึกงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำความสะอาดตึก จัดจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือให้นักศึกษา รณรงค์ให้นักศึกษาใส่ผ้าปิดจมูก รวมถึงการตรวจอุณหภูมินักศึกษาก่อนเข้าห้องสอบปลายภาค แต่รัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางด้านการเงินแก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคนี้ 

ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคือ หลังจากนี้ เราจะดูแลและเยียวยานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ไม่เพียงแค่นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หรือนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น แต่เป็นนักศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส เพราะนักศึกษาบางคนหารายได้พิเศษเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน บางคนสามารถทำงานพิเศษส่งตัวเองจนเรียนจบ มากไปกว่านั้น นักศึกษาเหล่านี้คือกำลังสำคัญและอนาคตของชาติ ซึ่งรัฐและมหาวิทยาลัยต้องให้ความดูแลช่วยเหลือ

ตอนนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เริ่มรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้พวกเขาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้จากการรณรงค์ #คืนค่าเทอมให้นักศึกษา เพราะหลายมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ ทำให้มหาวิทยาลัยลดภาระค่าใช้ต่างๆ ลง เช่น ค่าไฟฟ้า แต่นักศึกษากลับต้องแบกรับค่าอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนออนไลน์เอง 

ที่สำคัญคือ นักศึกษายังต้องจ่ายค่าเทอมเท่าเดิม ไม่มีการลดค่าเทอม 

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำเงินส่วนต่างมาช่วยเหลือพวกเขา หรือบางมหาวิทยาลัยที่ล้ำหน้าไปกว่านั้นคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการทำประกันสุขภาพกรณีติดโรคโควิด-19 ให้นักศึกษา รวมทั้งให้ทุนช่วยเหลือและการออกไปพูดกับผู้ประกอบการหอพักรอบบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อลดค่าเช่าให้นักศึกษา เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น หลายมหาวิทยาลัยของไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ระบบการประกันคุณภาพและต้องการนำมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แต่วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในครั้งนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของรัฐและมหาวิทยาลัยของไทยในการบริหารจัดการศึกษาและการดูแลนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายแต่กลับไม่มีมาตรการใดๆ ดูแลนักศึกษาเลย               

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด     

image_pdfimage_print