เครติภาพ istock.com/TommyIX

แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่อง 

ตั้งแต่ปี 2545-2560 ภายใต้นโยบายการเกษตรของหลายรัฐบาลที่ต้องการจะผนวกภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่อุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงนโยบายการเกษตรที่ชี้นำทางเศรษฐกิจสูง ด้วยระบบการผลิตเพื่อการค้า การส่งออก และเกษตรพันธสัญญา 

แต่ช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้ว่า เกษตรกรในภาคอีสานสูญเสียที่ดินไปมากกว่าครึ่ง โดยเกษตรกรที่มีที่ดินได้นำที่ดินไปจำนองกับคนอื่น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการหลุดมือในอนาคตถึง 8.4 ล้านไร่ และได้นำที่ดินไปฝากขายแล้วจำนวน 6,434 ไร่ ส่วนการสูญเสียที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ฯ อยู่ที่ 28.3 ล้านไร่ หรือร้อยละ 56.8 ของเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ฯ ทั้งหมดในภาคอีสาน  

ข้อสังเกตจากตารางสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินระบุว่า พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรลดลงจาก 64.4 ล้านไร่ เหลือ 63.8 ล้านไร่ หรือลดลงประมาณ 6 แสนไร่ สอดคล้องกับการที่พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น  635,414 ไร่ จากสถิติของกรมพัฒนาที่ดิน 

ดังนั้นจำนวนเนื้อที่ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรที่ลดลงจึงสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง สะท้อนว่าที่ดินติดจำนอง 8.4 ล้านไร่ ที่ดินฝากขาย 6,434 ไร่ และจำนวนการสูญเสียที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ฯ จำนวน 28.3 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นการเป็นการเปลี่ยนมือจากที่ดินเพื่อทำการเกษตรไปอยู่กับนายทุนด้านการเกษตร

รวมถึงการสูญเสียที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ฯ 28.3 ล้านไร่ ยังสะท้อนถึงจำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงจาก 31.6 ล้านไร่ เหลือ 15.7 ล้านไร่ หรือลดลง 15.9 ล้านไร่ เมื่อช่วงปี 2516-2561 สอดคล้องกับพื้นที่ที่เกษตรกรได้ทำเกษตรฟรี โดยไม่มีกรรมสิทธิ์หรือจ่ายค่าเช่า จำนวน 15.4 ล้านไร่ หมายถึง ที่ดินในเขตป่าสงวน ที่สาธารณะ ที่ดินที่บุคคลอื่นอนุญาตให้ทำประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน

พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรไม่ได้ลดจำนวนลง แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น 9.4 ล้านไร่ ได้แก่ พื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น 4 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 5.2 แสนไร่ และพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านไร่

แม้จะไม่สามารถชี้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรจากประเภทหนึ่งไปเป็นอีกประเภทหนึ่งได้อย่างชัดเจน แต่สถิติจากทั้ง 2 หน่วยงานระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมที่ดินที่มีข้อขัดแย้งกันเองก็ยังสะท้อนถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ วิกฤตที่ดินหลุดมือ หนี้สินจากที่ดินติดจำนอง และการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรสูง 

30 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาทางวิชาการที่ชี้ว่า การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรมีปัจจัยหลักที่เกิดจากภาระหนี้สิน เชื่อมโยงกับสภาพทางกายภาพของที่ดินและสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและประเทศ

มนู ศรีขจร และคณะ (2533) เคยศึกษาการสูญเสียธาตุอาหารในลุ่มน้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบว่า ใน 1 ปี จะมีธาตุไนโตรเจนสูญเสียไปจํานวน 18,896 ตัน ฟอสฟอรัสจํานวน 1,212 ตัน และโปแตสเซียมจํานวน 91,644 ตัน โดยสาเหตุที่ทําให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงคือ การนําธาตุอาหารจากดินไปใช้โดยพืชชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องการธาตุอาหารสูงและมีการไถเปิดหน้าดินทุกปี 

ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่า ความเสื่อมโทรมของดินในภาคอีสานจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในอนาคต จากปัญหาหลัก 2 ประการ ได้แก่ การชะล้างพังทลายของดินและการแพร่กระจายของดินเค็ม โดยการประเมินสถานการณ์การชะล้างพังทลายของดินในภาคอีสานเมื่อปี 2543 (กรมพัฒนาที่ดิน, 2544) 

ขณะที่อัตราการสูญเสียดินจะอยู่ที่ 0-4 ตัน/ไร่/ปี ความรุนแรงของการสูญเสียดินจะกระจายไปตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยมีพื้นที่การสูญเสียดินเกินกว่าที่ยอมรับได้ หรือพื้นที่ที่มีปัญหารวม 17.86 ล้านไร่ แบ่งเป็นระดับปานกลาง 14.39 ล้านไร่ ระดับรุนแรง 2.94 ล้านไร่ ระดับรุนแรงมาก 0.2 ล้านไร่ และระดับรุนแรงมากที่สุด 0.32 ล้านไร่ 

ส่วนการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ วิเชียร เกิดสุข และคณะ (2546) เมื่อช่วงปี 2536-2541 พบว่า ในขณะที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว จะมีพื้นที่ที่ถูกชะล้างพังทลายโดยสูญเสียหน้าดิน 20-100 ตัน/ไร่ จำนวน 42.9 ล้านไร่ หรือร้อยละ 40 ของภาค แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทะลายของดินระดับปานกลาง 7.34 ล้านไร่ ระดับรุนแรง 12.73 ล้านไร่ และระดับรุนแรงมาก 22.88 ล้านไร่ 

สาเหตุที่สําคัญที่ทําให้พื้นที่ถูกชะล้างพังทลาย คือการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และลักษณะพื้นที่ที่มีความลาดชัน ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถทนอยู่ได้เพราะดินตื้นและคุณสมบัติของดินเหมาะสมต่อการพังทะลาย รวมทั้งมีปริมาณฝนตกหนักในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ดังนั้น ดินบริเวณเหล่านี้จะมีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีไม่เหมาะสม ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงอย่างรวดเร็ว

ด้าน ดร.อาทิตยา พองพรหม ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปที่ดิน ได้ศึกษาสาเหตุการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยในปัจจุบันว่า สาเหตุการสูญเสียที่ดินที่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากโดยไม่ปรับปรุงดินจนทำให้ดินเสื่อม การขาดต้นทุนในการผลิต การขาดแรงงานและการขาดน้ำในการทำเกษตร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับต้นทุนที่สูงขึ้นในการทำเกษตรและทำให้เป็นหนี้สินมากขึ้นจนทำให้ที่ดินหลุดจำนองหรือนายทุนยึด รวมถึงราคาที่ดินสูงขึ้น และการกว้านซื้อที่ดินจากนายทุน 

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประชากรร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกร ที่ดินเป็นต้นทุน ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญขั้นพื้นฐานต่อสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินและสิทธิการถือครองที่ดินที่มั่นคง

การที่เกษตรกรสูญเสียที่ดินไปมากกว่าครึ่งในระยะเวลา 15 ปี คือวิกฤตเร่งด่วนที่ต้องหาทางแก้ ถ้านโยบายภาคเกษตรและนโยบายที่ดินยังคงไม่ให้ความสำคัญต่อการสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างเหมาะสม รวมถึงละเลยการคุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมเพื่อเป็นฐานการผลิตในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศและลูกหลานบนที่ราบสูงก็คงจะไม่เหลือทรัพยากรที่ดินเอาไว้ให้พัฒนาในอนาคต

อ้างอิง

  1. สถานการณ์ผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม, แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา กลุ่มวิจัยนโยบายสาธารณะ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. 2546. การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการทําการเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : การทบทวนวรรณกรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. วิเชียร เกิดสุข และคณะ



image_pdfimage_print