ขอนแก่น – กลุ่มนักศึกษาภาคอีสานจาก 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.ขอนแก่น ม.มหาสารคาม ม.ราชภัฎอุดรธานี ม.ราชภัฎสกลนคร ม.ราชภัฎชัยภูมิ และ ม.อุบลราชธานี ในนาม “สมัชชานักศึกษาอีสาน” เชิญชวนผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ร่วมกิจกรรม MobFromHome เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ 

โดยให้ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้ได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ ถ่ายรูป พร้อมป้ายความคิดเห็นของท่านต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ จากนั้นโพสต์ลงสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมติดแฮชแท็ก (#) ยกเลิกพรกฉุกเฉินเดินหน้าเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 29 เมษายน 2563

โดยผู้สนใจสามารถติดตามจากเฟซบุ๊ก สมัชชานักศึกษาอีสาน 

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม MobFromHome จัดชุมนุมยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ออนไลน์

ปองภพ แสงอุบล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสมัชชานักศึกษาอีสานกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้ว่า เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสของรัฐ และต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรการเคอร์ฟิว แล้วใช้เพียงกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แล้วให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ 

“อำนาจในการควบคุมโรคจากกฎหมายโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ก็เพียงพอในการทำงานควบคุมโรคระบาดแล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลจะมีความสามารถในการใช้กฎหมายนี้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่” ปองภพกล่าว 

สำหรับเขาและกลุ่มฯ คิดว่า เหตุผลที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเคอร์ฟิวในการแก้ไขปัญหานี้ มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ การห้ามประชาชนวิจารณ์การทำงานและการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อคณะรัฐบาล

“จึงอยากให้รัฐบาลเปิดเมือง ให้คนกลับมาทำงาน และใช้ชีวิตปกติในแบบใหม่ (new normal) เพราะเกือบ 1 เดือนที่ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และเคอร์ฟิวทำให้คนหลายคนตกงาน ไม่มีรายได้ คนทำงานหาเช้ากินค่ำก็ไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีรายได้ไปใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหา บางคนต้องฆ่าตัวตาย” ปองภพกล่าว    

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ในวิกฤตครั้งนี้ ทุกกลุ่มในสังคมไทยได้รับผลกระทบเหมือนกัน จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสนใจประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่สนใจช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มนายทุน นักธุรกิจ เท่านั้น ประชาชนคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำที่เสียภาษี ก็ต้องการเงินเยียวยาหรือสวัสดิการรองรับเมื่อเกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตช่วงวิกฤตนี้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน หลังจากที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายนนี้ อีกทั้งจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ โดยจะพิจารณาตามความเหมาะสม และสิ่งสำคัญที่สุด คือความปลอดภัยของประชาชน

image_pdfimage_print