ขอนแก่น – สำนักงานโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน Council on International Educational Exchange (CIEE) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกปิดตัวลงและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้พนักงานชาวไทย 8 คน และชาวต่างชาติ 1 คน ตกงานทันที

“CIEE ขอนแก่นเป็นภารกิจชีวิตที่ผมอุทิศตัวเองเพื่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของคนอีสาน” เดวิด สเตร็คฟัสส์ อดีตผู้อำนวยการโครงการ CIEE ขอนแก่น ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

เดวิด สเตร็คฟัสส์ อดีตผู้อำนวยการโครงการ CIEE ขอนแก่น เขียนความรู้สึกบนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า นี่เป็นเรื่องเศร้าเพียงหนึ่งในล้านเรื่องที่เป็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากทำงานร่วมกับ CIEE ในฐานะผู้อำนวยการฯ มาเป็นเวลา 26 ปี แต่วันนี้ศูนย์ฯ ถูกปิดลงหรือเรียกอย่างไพเราะว่าเป็นการ “ระงับโครงการอย่างไม่มีกำหนด” แต่ความจริงก็คือปิดตัว

“ตอนนี้อย่างน้อยพนักงานทุกคนก็ได้รับค่าชดเชยอย่างยุติธรรม ส่วนผมยังไม่เห็นแม้แต่บาทเดียว” อดีตผู้อำนวยการ CIEE ขอนแก่นเขียนบนเฟซบุ๊กส่วนตัว

เขาระบุอีกว่า ตอนที่รู้ว่าศูนย์ฯ ถูกปิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมากกว่าความรู้สึกเสียใจอย่างมหาศาล เป็นความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับคำว่าชีวิตกำลังจะดับสิ้นลง และไม่มีคำอื่นใดที่จะมาใช้อธิบายความรู้สึกดังกล่าวได้ เป็นเหมือนการมองดูงานศพของตัวเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดรวดร้าว

“CIEE ขอนแก่น เป็นภารกิจชีวิตที่ผมอุทิศตัวเพื่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของคนอีสาน” เขาระบุและว่า “ความรู้สึกของผมตอนนี้จึงเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความโกรธ ความเสียใจ และผิดหวัง” 

โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา CIEE ขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เดวิดเป็นผู้อำนวยการคนที่ 2 โดย CIEE เปิดสอนหลักสูตรภาษาไทย วารสารศาสตร์เพื่อคนรากหญ้า การเรียนรู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงการพานักศึกษาลงพื้นที่เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐต่างๆ เช่น เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น 

รูปแบบของหลักสูตรคือนักศึกษาต้องอยู่ประเทศไทยเป็นเวลา 4 เดือน โดยช่วงเดือนแรก นักศึกษาต้องเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคม การเมืองไทย และภาคอีสาน จากนั้นจึงเป็นการเรียนรู้ปัญหาในพื้นที่ภาคอีสานและลงพื้นที่เพื่อศึกษาชีวิตของผู้คนในชุมชนคนอีสานเฉลี่ย 1 สัปดาห์ต่อเดือน

จอห์นมาร์ก​ เบลลาโด (ซ้าย) อดีตหัวหน้าฝ่ายนำนักศึกษาลงพื้นที่และล่ามแปลภาษา และเดวิด สเตร็คฟัสส์ อดีตผู้อำนวยการโครงการ CIEE ขอนแก่น ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

เดวิดให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เป้าหมายของโครงการฯ นี้ต้องการให้ชุมชนอีสานเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และประสบการณ์ของนักศึกษาอเมริกันที่มาศึกษาในภาคอีสาน โดยหลักสูตรการศึกษาเป็นเพียงจุดเชื่อมระหว่างนักศึกษากับชุมชน องค์กรชุมชน นักเคลื่อนไหวทางสังคมอีสานที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชุมชนหรือการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและบริษัทเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน

“เราไม่ได้กำหนดว่านักศึกษาที่มาแลกเปลี่ยนจะต้องได้อะไรหลังจากจบหลักสูตร เราหวังให้เขาเรียนรู้ ถามจากชาวบ้านด้วยตัวเอง” อดีตผู้อำนวยการ CIEE ขอนแก่นกล่าว

เขายังบอกอีกว่า การเรียนรู้ในลักษณะนี้จึงทำให้นักศึกษาบางรุ่นช่วยเหลือชุมชนอีสานในจังหวัดยโสธร ทำหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ และช่วยบันทึกเรื่องราวการสร้างชุมชน รวมถึงการทำคู่มือเรียนรู้ชุมชนเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น 

ไม่เพียงแค่คู่มือเรียนรู้ชุมชน นักศึกษาบางรุ่นยังร่วมเคลื่อนไหวด้วยการระดมทุนต่อต้านโครงการสร้างเขื่อน เหมืองแร่ รวมถึงนโยบายอนุรักษ์ป่าของรัฐที่ไล่รื้อบ้านชาวบ้านออกจากป่าในอีสานอีกด้วย นอกจากนั้นยังช่วยเขียนข่าว แปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ให้ต่างประเทศรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น 

“รายงานข่าวหรือคู่มือชุมชนที่นักศึกษาทำนั้นได้กลายเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินำไปใช้เพื่อเป็นรายงานประกอบการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำต่อชุมชนอีกด้วย” อดีตผู้อำนวยการ CIEE ขอนแก่นกล่าว

เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา นักศึกษาอเมริกันได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนกับผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ และต่อมาได้เปิดระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Gofundme เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือด้านคดีความให้กับชาวบ้านที่ถูกจับจำนวน 14 คน เป็นจำนวนเงินหลายหมื่นบาท

“ผมยังหวังลึกๆ ว่า ในอนาคตจะมีศิษย์เก่าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำปรัชญาการศึกษานี้ไปขยายผลต่อ” เดชา เปรมฤดีเลิศ ที่ปรึกษา CIEE ขอนแก่น ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

ขณะที่ เดชา เปรมฤดีเลิศ ที่ปรึกษา กป.อพช.อีสาน และที่ปรึกษา CIEE ขอนแก่น แสดงความรู้สึกที่ไม่แตกต่างจากเดวิดว่า รู้สึกเสียใจและเสียดายที่ศูนย์การศึกษาแห่งนี้ถูกปิด เพราะไม่เคยเห็นการจัดการศึกษาที่ให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แบบนี้ในประเทศไทยมาก่อน 

“ผมยังหวังลึกๆ ว่า ในอนาคตจะมีศิษย์เก่าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำปรัชญาการศึกษาแบบนี้ไปขยายผลต่อ เพราะเป็นรูปแบบการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจสังคมอย่างแท้จริง” เดชากล่าว

จอห์นมาร์ก​ เบลลาโด อดีตหัวหน้าฝ่ายนำนักศึกษาลงพื้นที่และล่ามแปลภาษา ที่ทำงานกับ CIEE ขอนแก่นมากว่า 10 ปี  ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

ส่วน จอห์นมาร์ก​ เบลลาโด อดีตหัวหน้าฝ่ายนำนักศึกษาลงพื้นที่และล่ามแปลภาษา ซึ่งทำงานกับ CIEE มากว่า 10 ปี กล่าวว่า เสียดายที่โครงการต้องปิดตัวลง เพราะโครงการนี้ให้การศึกษาแก่นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ที่มีในจ.ขอนแก่นหรือในประเทศไทย 

“โครงการฯ นี้เน้นให้นักศึกษาเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากการลงพื้นที่ การพูดคุยกับชาวบ้านในประเด็นปัญหาสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน พูดง่ายๆ เป็นหลักสูตรเน้นในตัวผู้เรียนเป็นหลัก” อดีตหัวหน้าฝ่ายนำนักศึกษาลงพื้นที่กล่าว

จอห์นมาร์ก​กล่าวอีกว่า เท่าที่สรุปจากประสบการณ์การทำงานกับชุมชนและนักศึกษา โครงการฯ นี้มีประโยชน์กับชุมชนอีสานคือ นักศึกษาจะเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ภายใต้สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน 

“นักศึกษาของเรามีส่วนช่วยชุมชนด้วยการช่วยทำสิ่งที่ชาวบ้านทำไม่ได้ เช่น การช่วยรายงานสถานการณ์ รายงานข่าว การเขียนบันทึก การสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ถูกรัฐและเอกชนละเมิดสิทธิเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบ สามารถใช้อ้างอิงได้ ถือว่านักศึกษามีส่วนร่วมในการต่อสู้ของชาวบ้าน” จอห์นมาร์กกล่าว

ขณะที่ ลอรา ฮอลินเจอร์ แอนโทเนลลี ศิษย์เก่า CIEE ขอนแก่น แสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เฟซบุ๊กของเดวิดว่า ถือเป็นข่าวร้ายและการสูญเสียครั้งใหญ่ หวังว่าคุณ (เดวิด) จะรู้ว่าชีวิตของคนหนุ่มสาวที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นนั้น มาจากการทำงานของคุณ (เดวิด) ไม่มีประสบการณ์อะไรในชีวิตคนหนุ่มสาวที่หล่อหลอมให้ได้มากกว่าการศึกษากับ CIEE ขอนแก่น (และการเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยอีกไม่กี่ปีหลังจากเรียนจบวิทยาลัย) 

“หวังว่าหลังจากช่วงเวลาอันเศร้าโศกนี้ไป ชีวิตของคุณจะมีแต่เรื่องราวดีๆ และสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น” ศิษย์เก่า CIEE ขอนแก่น เขียนแสดงความรู้สึก


ทั้งนี้ Council on International Educational Exchange (CIEE) มีสำนักงานใหญ่ที่รัฐเมน (Maine) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ศูนย์แลกเปลี่ยนนักศึกษาในประเทศต่างๆ ถูกปิดตัวทั้งหมด 27 แห่งทั่วโลก 

image_pdfimage_print