ซีรีส์ชุดนี้จะพาผู้อ่านวิเคราะห์ถึงชีวิตของผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชายชาวตะวันตก สิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า “ปรากฏการณ์เมียฝรั่ง” ส่งผลอย่างไรต่อเส้นทางชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ ผู้หญิงที่บ่อยครั้งมีทางเลือกในชีวิตไม่มากนัก แล้วการเป็น “ลูกสาวที่ดีของคนอีสาน” มีหน้าที่ตอบแทนบุญคุณและเปลี่ยนชีวิตครอบครัวของตนเองอย่างไร ปรากฎการณ์นี้ท้าทายบทบาททางเพศภาวะแบบเดิมในสังคมอีสาน ตลอดจนเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคนี้อย่างไร

ปรากฏการณ์เมียฝรั่งเพิ่งมีมาไม่นานนัก จากการศึกษาเกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศในช่วงแรกๆ ช่วงทศวรรษ ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523)โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ไม่ได้กล่าวถึง ในขณะนั้น “การค้าประเวณี” ถือเป็นภาคส่วนที่มีการจ้างงานผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับสอง รองจากภาคเกษตรกรรม การค้าประเวณีถูกมองว่า เป็นอาชีพชั่วคราว ก่อนที่พวกเธอจะเก็บเงินได้มากพอ “แล้วเดินทางกลับไปยังชุมชนบ้านเกิดเพื่อแต่งงานและรับหน้าที่เป็นแม่ เลี้ยงดูลูก”

ก่อน ค.ศ. 1950 (พ.ศ.2493) การแต่งงานกับชาวตะวันตกถูกจำกัดไว้เฉพาะคนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกตีตราเมื่อมีคนอีสานในชนบทส่วนหนึ่ง ถูกตราหน้าว่าเป็นเมียเช่าของทหารอเมริกัน (จีไอ) แต่นับจากนั้นอีก 40 ปี การแต่งงานระหว่างหญิงไทยกับชายตะวันตกกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย จนได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการมากขึ้น ทว่าก็มาพร้อมความกังวลของรัฐบาลและการประณามจากชนชั้นที่มีอภิสิทธิ์อยู่บ่อยครั้ง

การโจมตีหลายครั้งจึงพุ่งไปที่ผู้หญิงอีสานเป็นการเฉพาะ และการโจมตีเมื่อไม่นานมานี้ได้ทำให้ The Isaan Record ต้องมองประเด็นนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังนั้นซีรีส์ ความรัก เงินตรา และหน้าที่ : เมียฝรั่งในอีสาน หรือฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “The Good Daughters of Isaan หรือ ลูกสาวที่ดีของคนอีสาน” จึงเกิดขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราวให้ผู้อ่านได้รับทราบและท้าทายสมมติฐานอันเป็นรากฐานของปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอีสาน

หมายเหตุถึงผู้อ่าน: ขอเชิญผู้อ่านร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีต่อประเด็นดังกล่าว รวมทั้งเรื่องราวในสถานการณ์อื่นๆ ซึ่งเราอาจนำข้อมูลมาเขียนบทความและจัดทำซีรีส์อื่น ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์หรือกล่องข้อความของเฟซบุ๊ก 

บทนำซีรีส์ชุด ความรัก เงินตรา และหน้าที่ : เมียฝรั่งในอีสาน” 

คอลัมน์หนึ่งในมติชนสุดสัปดาห์ เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ได้ปลุกเร้าสร้างความโกรธแค้นในหมู่ผู้อ่านคนอีสานเป็นอย่างมาก โดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ผู้เขียนบทความดังกล่าวตั้งคำถามถึง “คุณลักษณะ” ของผู้หญิงอีสานที่เลือก “ทางรอดมากกว่าศักดิ์ศรี” และใช้ทางลัดเพื่อเลื่อนสถานะไปเป็นชนชั้นกลางด้วยการแต่งงานกับผู้ชายตะวันตก

ปัญหาที่เพ็ญศรีเขียนคือ “ผู้หญิงอีสานเรียนหนังสืออย่างไร้จุดมุ่งหมาย” โดยเธอย้ำถึงผู้หญิงอีสานว่า แม้ “คนไทยทุกคนจะมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน” แต่ผู้หญิงอีสานไม่ได้ “ขยัน อดทน และตั้งใจ” ที่จะคว้าโอกาสจากสิ่งเหล่านี้

แบบอย่างที่ผู้หญิงอีสานอ้าแขนรับคือ การเห็นหญิงอีสานคนอื่นๆ แสวงหาสามีชาวตะวันตก “สาวอีสานพอใจที่จะมีชีวิตง่ายๆ” เพ็ญศรีเขียนไว้ “ไม่ต้องคิดมาก” ผู้หญิงอีสานไม่ตั้งใจเรียน ทำให้ต้องทำงานที่ได้ค่าแรงต่ำ แล้วก็ลงเอยต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐบาล

ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์ความไร้ไหวพริบของ “สาวอีสาน” เพ็ญศรีได้กล่าวอ้างถึงสาวใช้คนอีสานของเธอที่ท่องสูตรคูณไม่ได้เลย

ความไร้ไหวพริบดังกล่าวส่งผลทำให้ผู้หญิงอีสานพึ่งพาตนเองไม่ได้ จึงใช้หลักสูตร “ง่ายๆ” ด้วยการพึ่งพาสามีชาวตะวันตก ผู้เขียนคนนี้ยังกล่าวสรุปว่า การพึ่งพาคนอื่นมากกว่าตนเองได้กลายเป็น “ดีเอ็นเอของสาวอีสาน”

คอลัมน์นี้เผยให้เห็นถึงการเหยียดเพศและการเหยียดเชื้อชาติ ทำให้คนอีสานหลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงออกมาคัดค้านอย่างรุนแรง โดยคณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงข้อสงสัยว่า มติชนสุดสัปดาห์นำบทความที่สะท้อนถึงทัศนคติล้าหลังและมองคนอื่นว่าโง่อย่างไม่น่าให้อภัยได้อย่างไร จนทำให้ พิณทอง เล่ห์กันต์ นักวิชาการอิสระชาวอีสาน ต้องการออกมาฟ้องร้องเพ็ญศรีฐานหมิ่นประมาทสาวอีสาน

กระแสตอบรับจากผู้อ่านชาวอีสานรุนแรงจนทำให้มติชนต้องรีบถอยทันที บทความฉบับออนไลน์ของคอลัมน์นี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม แต่อีก 2 วันต่อมา ทางมติชนก็ออกมาโพสต์ข้อความขอโทษ โดยในคำแถลงของมติชนสุดสัปดาห์กล่าวว่า ทางมติชนรับทราบถึง “ความไม่พอใจและความไม่สบายใจ” ต่อเนื้อหาของคอลัมน์ที่ “สร้างความเสียหายต่อผู้หญิงอีสาน คนอีสาน และสังคมอีสาน”

มติชนสุดสัปดาห์บอกกับ The Isaan Record ว่า ทางมติชนฯ ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

สืบเนื่องจากบทความของเพ็ญศรี รวมทั้งเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากบทความดังกล่าว เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงตัดสินใจเผยแพร่ซีรีส์ชุดนี้ว่าด้วยปรากฏการณ์ “เมียฝรั่ง” ซึ่งคำนี้บางครั้งถือว่าเป็นการใช้คำที่ไม่เหมาะสมในการพูดถึงการแต่งงานข้ามชาติระหว่างหญิงไทยและชายตะวันตก

ก่อนหน้านี้เดอะอีสานเรคคอร์ด ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อดังกล่าวแล้ว พร้อมกับฉายสารคดีเรื่อง Heartbound – A Different kind of Love Story ซึ่งเป็นสารคดีว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงที่แต่งงานกับชายตะวันตกแล้วย้ายไปอยู่ยุโรป

เนื้อหาในซีรีส์ชุดนี้ เราเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงอีสานที่กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดพร้อมกับคู่ครองชาวตะวันตก การเป็นเมียฝรั่งนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงที่ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดกับสามีชาวตะวันตกอย่างไรบ้าง ชายชาวตะวันตกเหล่านี้มาจากไหนและเหตุใดจึงตัดสินใจมาตั้งรกรากในอีสาน รวมถึงปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจนเกิดเป็นวัฒนธรรมย่อยอย่างหนึ่งในอีสานแล้วหรือไม่

ปรากฏการณ์เมียฝรั่งในอีสาน

การเติบโตของปรากฏการณ์เมียฝรั่งในอีสานเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง หากนำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณาดูแล้วก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความพิเศษไม่เหมือนใคร

ในช่วงปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ.2503) และ 1970 (พ.ศ.2513) ถนนมิตรภาพได้นำพาทหารจีไอชาวอเมริกันหลายพันคนเดินทางเข้าสู่ภูมิภาคอีสาน ผู้หญิงจากชุมชนยากจนข้นแค้นถูกดึงดูดให้เข้ามายังพื้นที่ใกล้ฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในบางกรณีทหารจีไอได้แต่งงานกับพวกเธอแล้วพาไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่ในหลายกรณีผู้หญิงเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง พร้อมกับลูกครึ่งอเมริกัน ครึ่งอีสาน ผู้หญิงเหล่านี้และลูก ๆ ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกตีตราทางสังคม

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) ถึงราว ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) ถือเป็นช่วงเวลาของการย้ายถิ่น กล่าวคือ ผู้ชายอีสานได้ย้ายถิ่นไปยังตะวันออกกลางหรือไต้หวัน ผู้หญิงอีสานก็ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศตะวันตกในฐานะเจ้าสาว แล้วส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวตัวเอง ส่วนผู้ชายตะวันตก แม้จะมาจากชนชั้นกลางระดับล่าง แต่ก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าและมักจะมีอายุค่อนข้างมากกว่าด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านสไตล์ตะวันตกขนาดใหญ่ ซึ่งก่อสร้างจากเงินที่ส่งมาจากต่างประเทศพบเห็นได้ตามหมู่บ้านชนบทต่างๆ ทั่วอีสานมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ภรรยาอีสานที่อยู่ต่างประเทศกลับต้องเผชิญอุปสรรคอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านการสื่อสาร บางครั้งก็ถูกจำกัดให้อยู่แต่ที่บ้าน รวมทั้งขาดการติดต่อจากแวดวงผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้มีจำนวนผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกเมื่อปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) ก็ไม่ได้น้อยเลย ข้อมูลจากการวิจัยของรัฐบาลพบว่า ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติมีมากกว่า 17,000 คน 

ในขณะที่กระแสของผู้หญิงอีสานที่แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่ยุโรปกับสามียังคงดำเนินไปนั้น ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างผู้หญิงอีสานกับผู้ชายตะวันตกก็ปรากฏออกมาให้เห็นตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) เห็นได้จากการที่ผู้หญิงอีสานวัยทำงานอายุน้อยเลือกที่จะแต่งงานกับชาวตะวันตกที่อยู่ในวัยทำงานและอายุใกล้เคียงกันมากกว่า

ข้อมูลสำมะโนประชากรแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของผู้ชายตะวันตกที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในอีสาน เมื่อปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ.2503) นั้น จำนวนชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของประชากรทั้งหมด ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513) มีจำนวนเพียงร้อยละ 3 แต่จำนวนดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าใดนักจนถึงปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรพบว่า เป็นปีที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยรวม 445,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.73 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานในขณะนั้นมีไม่มากนัก ซึ่งข้อมูลสำมะโนประชากรแสดงข้อมูลไว้ว่า ผู้ชายชาวตะวันตกอาจมีเพียง 1,000 คน ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้

ตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ.2543) เป็นต้นมา สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดใจเพื่อการเกษียณอายุและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองฉบับใหม่ก็เอื้ออำนวยให้ชาวต่างชาติที่มีฐานะดีขอวีซ่าได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยของ พัชรินทร์ ลาภานันท์ และทอมป์สันระบุว่า การสำรวจข้อมูลของรัฐบาลเมื่อปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) พบว่า ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกมีมากกว่า 17,000 คน โดยปี ค.ศ. 2010 (2553) จำนวนชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้น 13 เท่า คิดเป็นร้อยละ 0.41 ของประชากรทั้งหมด จากที่เคยมีน้อยกว่า 20,000 คน เมื่อปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) เพิ่มขึ้นราว 271,000 คน แต่ความเป็นจริงแล้ว จำนวนของชาวต่างชาติมีร้อยละ 4.49 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระหว่างปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) ถึง 2010 (พ.ศ.2553) จำนวนประชากรไทยมีเพิ่มมากขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่จำนวนชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 670 และจำนวนชาวตะวันตกมีเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 1,300 

อัตราส่วนระหว่างเพศชายกับเพศหญิงก็เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเมื่อปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513) มีชายชาวตะวันตกอาศัยอยู่ในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 55 ต่อมาปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรแสดงให้เห็นว่า จำนวนชาวตะวันตกที่เป็นผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 74 อาจเป็นไปได้ว่าคู่แต่งงานมีแนวโน้มที่จะย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น แต่อัตราส่วนระหว่างชาวต่างชาติทั้งชายและหญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่เป็นชาวเอเชียกลับมีจำนวนเท่าๆ กันโดยประมาณ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคเหนือ

ในภาคอีสาน ประชากรหญิงชาวต่างชาติที่เป็นชาวเอเชียมีจำนวนมากกว่าชาวต่างชาติที่เป็นผู้ชายระหว่างร้อยละ 57 กับร้อยละ 43 แม้ว่าจำนวนผู้ชายชาวตะวันตกในกรุงเทพฯ จะมีมากถึงร้อยละ 62 และในภาคเหนือมีร้อยละ 80 กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนผู้ชายชาวตะวันตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากถึงร้อยละ 90 ของจำนวนชาวตะวันตกทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอีสาน ซึ่งบทความล่าสุดที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าวสดอิงลิช ระบุว่า ผู้ชายชาวตะวันตกเกือบทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานแต่งงานกับผู้หญิงอีสาน

ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้จำนวนชาวตะวันตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 2010 ในจังหวัดขอนแก่น มีชาวตะวันตกอาศัยอยู่ถึง 3,470 คน และ 10 ปีต่อมา จำนวนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า เมื่อไม่นานมานี้ The Love Clinic ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ กล่าวกับ The Isaan Record ว่า ในจังหวัดขอนแก่นเพียงแห่งเดียวนั้นมีการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยกับชาวตะวันตกถึง 7,447 คน

จำนวนความสัมพันธ์ระหว่างคนอีสาน-ตะวันตกในภูมิภาคแห่งนี้มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่านี้มาก งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุไว้ว่า ความสัมพันธ์เหล่านี้มีมากถึงร้อยละ 44 ที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส นั่นหมายความว่า ในจังหวัดขอนแก่นอาจมีความสัมพันธ์ระหว่างคนอีสานกับคนตะวันตกมากกว่า 10,000 คน

ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิชาการหลายคนได้การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงอีสานกับชาวตะวันตกเป็นจำนวนมาก สืบเนื่องจากการเข้าประจำการของกองทัพสหรัฐฯ และประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวทางเพศอันดับต้นๆ ร่วมกับประเทศฟิลิปปินส์

แต่เมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว ประเทศฟิลิปปินส์ไม่ได้มีจำนวนชาวตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานใกล้เคียงกัน จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) ประเทศฟิลิปปินส์ แม้จะมีประชากรทั้งหมด 92 ล้านคน แต่ก็มีชาวตะวันตกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศจำนวนค่อนข้างน้อยกว่ามาก แม้ว่าจำนวนชาวตะวันตกที่มีจะคิดเป็นร้อยละ 71 ของชาวต่างชาติทั้งหมดในฟิลิปปินส์ แต่ประเทศนี้ยังคงมีชาวตะวันตกน้อยกว่าประเทศไทยถึงร้อยละ 53 และมีจำนวนชาวตะวันตกคิดเป็นร้อยละ 0.14 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) จำนวน 270,731 คน คิดเป็นร้อยละ 0.41 ของประชากรทั้งประเทศ จากข้อสรุปของทีมวิจัยทีมหนึ่งสรุปว่า “มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น” ที่เคยมีความเกี่ยวข้องกับทหารจีไอชาวต่างชาติและมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางเพศที่เฟื่องฟูที่ “นักท่องเที่ยวดังกล่าวจะมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในระดับที่พบเห็นในภาคอีสานและประเทศไทยเช่นนี้”

ข้อมูลประชากรของผู้ชายตะวันตกกับเมียฝรั่งในอีสาน

ข้อมูลต่อไปนี้ได้มาจากผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ.2561) และผลงานล่าสุดที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับปรากฏการณ์เมียฝรั่ง หนังสือชื่อ “Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village” หรือ ความรัก เงินตรา และหน้าที่: การแต่งงานข้ามชาติในหมู่บ้านไทยอีสาน โดย พัชรินทร์ ลาภานันท์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผลงานการวิจัยทั้ง 2 ชิ้นมีการค้นคว้าและศึกษานานกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว

ข้อมูลโดยรวมของเมียฝรั่งในอีสาน ได้แก่

  • มีลูกที่เกิดจากความสัมพันธ์กับผู้ชายอีสานหรือผู้ชายไทย: 80%
  • ช่วงอายุ: 20 ถึง 70 ปี
  • อายุเฉลี่ย: 39.5 ปี
  • สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือน้อยกว่า: 66%
  • สำเร็จการศึกษาระดับ ม. 3: 20%
  • สำเร็จการศึกษาระดับ ม.ปลายหรืออนุปริญญา: 6%
  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป: 3%

ข้อมูลโดยรวมของผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงอีสานและบางครั้งก็ตั้งถิ่นฐานในอีสาน ได้แก่

  • เป็นผู้ใช้แรงงาน: 40%
  • เป็นนักศึกษา วัยทำงาน หรือรับจ้างอิสระ: 25%
  • ผู้รับบำนาญ: 13%
  • เคยแต่งงานมาก่อน: 3 ใน 4
  • มีลูกจากการแต่งงานครั้งก่อน: เกือบทั้งหมด
  • ช่วงอายุ: 28 ถึง 80
  • อายุเฉลี่ย: 60 ปี
  • อายุมากกว่า 50 ปี: 75%
  • มีลูกกับภรรยาชาวอีสาน: 1 ใน 3
  • มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ: 50%
  • มีรายได้จากเงินเกษียณหรือทุพพลภาพ: 50%

จังหวัดในอีสานที่มีสามีชาวตะวันตกเปรียบเทียบมากที่สุดถึงน้อยที่สุด

ข้อมูลโดยรวมเกี่ยวกับปรากฏการณ์เมียฝรั่ง ได้แก่

  • จังหวัดในอีสานที่มีสามีชาวตะวันตกอาศัยอยู่มากที่สุด (2,000 คนขึ้นไป): บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุดรธานี
  • จังหวัดที่มีจำนวนน้อยที่สุด: อำนาจเจริญ (49)
  • จังหวัดในอีสานที่มีสามีชาวตะวันตกอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด (154 คนต่อประชากร 100,000 คนขึ้นไป): บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี สุรินทร์
  • จังหวัดที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด: บึงกาฬ (17 ต่อประชากร 100,000 คน)
  • จังหวัดที่มีอัตราส่วนชายตะวันตกมากกว่าหญิงตะวันตกสูงสุด (93% ขึ้นไป): มหาสารคาม อุดรธานี นครพนม ยโสธร บุรีรัมย์
  • จังหวัดที่มีอัตราส่วนชายตะวันตกมากกว่าหญิงตะวันตกต่ำสุด: ชัยภูมิ (78%)
  • สามีชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในชนบทอีสาน: 54%
  • จังหวัดที่มีสามีชาวตะวันตกอาศัยอยู่ในชนบทมากที่สุด (70% ขึ้นไป): มหาสารคาม สกลนคร สุรินทร์ ยโสธร เลย
  • สัญชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทสูงสุด (65% ขึ้นไป): รัสเซีย เม็กซิกัน นอร์เวย์ อิตาลี และสวิส

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 (พ.ศ.2503) ถึงปัจจุบัน ผู้หญิงอีสานจำนวนมากได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ไปยังภาคกลางของประเทศไทยและต่างประเทศมากขึ้น แม้ว่าการย้ายถิ่นออกจากภูมิภาคจะยังคงดำเนินต่อไป แต่แนวโน้มการย้ายถิ่นแบบใหม่ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้ชายชาวตะวันตกหลายพันคน (และผู้หญิงไม่กี่คน) เลือกที่จะปักหลักอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซีรีส์ชุดนี้จะพาผู้อ่านพิเคราะห์ถึงการขยายตังของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอีสานว่าท้าทายแบบแผนเกี่ยวกับลักษณะของผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกอย่างไรบ้าง และที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังเปลี่ยนสถานะของ “ลูกสาวที่ดี” ของคนอีสานและกำลังก่อให้เกิดวัฒนธรรมย่อยใหม่เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้อย่างไรบ้าง

ในซีรีส์ชุดนี้จะนำเสนอบทความเจาะลึก บทความคิดเห็น รวมทั้งภาพวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเมียฝรั่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์ของปรากฏการณ์ดังกล่าว ตลอดจนทัศนคติที่เปลี่ยนไป ความหมายทางวัฒนธรรมและสังคมวิทยาของการเป็น “ลูกสาวที่ดี” ปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ รวมทั้งเหตุใดตัวเลือกในการแต่งงานกับชาวตะวันตกจึงยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้หญิงอีสานบางคน สาเหตุบางประการว่าทไมผู้ชายตะวันตก (และผู้หญิงไม่กี่คน) ถึงเลือกที่จะปักหลักอยู่ในอีสาน อีกทั้งประเด็นลูกครึ่งอีสาน-ตะวันตกที่ถูกข่มเหงรังแกยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล รวมถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการ “ช่วยเหลือ” ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกเหล่านี้ว่าเป็นผลมาจากความเข้าใจผิดอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตามมีหลายประเด็นที่เราไม่ได้พิจารณาในเชิงลึก เราไม่ได้มองลึกเข้าไปในชีวิตของเมียฝรั่งหรือผู้ชายฝรั่งที่อาศัยอยู่ในอีสาน อีกทั้งเราไม่ได้เจาะลึกถึงความสัมพันธ์ของชาวตะวันตกที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) และผู้ชาย ผู้หญิง หรือชาวอีสานที่มีเพศวิถีอื่นๆ รวมทั้งผู้ชายอีสานที่อาศัยอยู่กับคู่ครองที่เป็นผู้หญิงชาวตะวันตก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราหวังว่า ซีรีส์เรื่องเมียฝรั่งในอีสานจะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่า เมียฝรั่งหมายถึงอะไร และจะยังคงมีความหมายอย่างไรต่อไปในภาคอีสาน

ในตอนต่อไป เรื่อง “ความท้าทายต่อมุมที่มองเมียฝรั่งว่าเป็น ‘เหยื่อ’”จะพาผู้อ่านสำรวจดูว่า สถานะของเมียฝรั่งได้รับความสนใจจากรัฐอย่างไรบ้าง ตั้งคำถามถึงเรื่องที่ว่า ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกนั้นตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตของตัวเอง และสถานะภาพบทบาทของผู้หญิงอีสานเมื่อเชื่อมต่อเข้ากับสามีชาวตะวันตกจะเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างไร

งานวิจัยที่อ้างอิงถึง:

Keyes, Charles F., “Mother or Mistress but Never a Monk: Buddhist Notions of Female Gender in Rural Thailand,” American Anthropologist (1984), 11 (2), pp. 223–41.

Pasuk Phongpaichit, Rural Women in Thailand: From Peasant Girls to Bangkok Masseuses (Geneva: International Labour Office, 1980).

Patcharin Lapanun, Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village (National University of Singapore Press, 2019).

Patcharin Lapanun and Thompson, Eric C., “Masculinity, Matrilineality and Transnational Marriage,” Journal of Mekong Societies (2018) 14 (2), pp. 1-19.

Sirijit Sunanta & Leonora C. Angeles, “From rural life to transnational wife: agrarian transition, gender mobility, and intimate globalization in transnational marriages in northeast Thailand,” Gender, Place & Culture: A Journal of Feminist Geography (2013) 20 (6), pp. 699-717.

Thompson, Eric C., Pattana Kitiarsa, and Suriya Smutkupt, “Transnational Relationships, Farang-Isan Couples, and Rural Transformation,” Journal of Sociology and Anthropology (2018) 37 (1) , pp. 95-126.

 

image_pdfimage_print