ภาพหน้าปกจาก Henrik Bohn Ipsen / Heartbound – A Different Kind of Love Story

คนไทยชนชั้นกลางและคนกรุงเทพฯ มักดูถูกผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตก ในขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคนชายขอบในอีสาน แต่นักวิชาการบางคนกลับโต้แย้งว่า แท้จริงแล้วการแต่งงานกับชาวตะวันตกทำให้ผู้หญิงอีสานมีอำนาจ เพราะทำให้พวกเธอเข้าถึงประสบการณ์ระหว่างประเทศ รวมถึงมีเงินทองดูแลครอบครัว สถานะ “ระหว่างประเทศ” นี้คุกคามความแตกต่างทางเพศและชนชั้นในประเทศไทยหลายด้าน แล้วสถานะการเป็นเมียฝรั่งเปิดทางให้ผู้หญิงอีสานคุกคามสถานะของผู้ชายอีสานอย่างไร และช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดเรื่องความรักได้อย่างไร 

การแต่งงานกับชายชาวตะวันตกเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้หญิงอีสานหรือไม่?

การแต่งงานของหญิงอีสานและชายชาวตะวันตกเป็น “การแลกเปลี่ยนสถานะ” อย่างหนึ่ง โดยฝ่ายผู้ชายได้รับการยืนยันสถานะชายเป็นใหญ่อีกครั้ง จากการเป็นผู้เลี้ยงดูครอบครัวและสร้างครอบครัวในภาคอีสาน บ่อยครั้งจะต้องช่วยเลี้ยงดูลูกติดของฝ่ายหญิงที่เกิดจากความสัมพันธ์ครั้งก่อนกับผู้ชายอีสาน ผู้ชายตะวันตกที่แต่งงานด้วยอาจเติมเต็มจินตนาการแบบตะวันออกในการแต่งงานกับภรรยาชาวเอเชีย ผู้ซึ่งมีอุดมคติที่ต้องการคู่ครองที่ดูแลเอาใจใส่และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

การแต่งงานกับผู้ชายตะวันตกทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงหลายทางเลือกจากที่มีอยู่อย่างจำกัดในประเทศของตน บ่อยครั้งที่การแต่งงานเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทำให้พวกเธอมีสถานะทางกฎหมายและการเงินที่ช่วยให้พวกเธอมีบทบาทสำคัญในครอบครัวและชุมชนที่ให้ความสำคัญแก่ฝ่ายหญิง รวมทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นระหว่างประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ พอล สเตแธม ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของการแต่งงานระหว่างคนอีสานกับคนตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกที่มีอายุมากกว่า เขาชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอีสานนั้น ได้ “เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของท้องถิ่นข้ามชาติอย่างมีนัยสำคัญ” รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็น “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของหมู่บ้านหลายแห่งในชนบท ตลอดจนเปลี่ยนแปลงปณิธานของผู้หญิงอีสานในการขยับสถานะทางสังคมให้สำเร็จได้”

งานวิจัยของสเตแธมที่ศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงอีสานที่มีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกมานานกว่า 7 ปีนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากร แม้ว่างานวิจัยที่จัดทำขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลาย ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) จะพบว่า ผู้หญิงเหล่านี้มีเพียงร้อยละ 9 ที่เรียนจบมัธยมปลายและมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัย แต่การวิจัยล่าสุดกลับพบว่า ผู้หญิงที่แต่งงานกับชายชาวตะวันตกกว่าครึ่งหนึ่งสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

แม้ว่าเมียฝรั่งหลายคนจะเป็นข้าราชการระดับกลาง ครู หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล แต่ยังมีผู้หญิงชนชั้นกลางระดับล่างหรือฐานะยากจนที่ “โอกาสขยับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้นในสังคมไทยนั้น ‘ถูกปิดกั้น’ เพราะปัจจัยการเลือกทางเดินชีวิต รวมทั้งภาวะความกดดันทางการเงินและครอบครัว” สำหรับผู้ที่หย่าขาดจากผู้ชายอีสานและมีลูกติดนั้น แนวโน้มการแต่งงานใหม่ก็ดูจะแทบจะไร้ความหวัง

สเตแธมชี้ให้เห็นว่า การแต่งงานแบบนี้ทำให้ “โครงสร้างอำนาจมีความไม่สมดุลอย่างชัดเจน” เนื่องจากผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงความมั่งคั่งได้มากกว่า ในขณะเดียวกันผู้ชายก็ยังได้ประโยชน์จาก “ความปรารถนาที่อยากจะมี ‘ภรรยาไทย’ ที่เป็นขับเคลื่อนจินตนาการว่า ผู้หญิงเอเชียมีความเป็นผู้หญิงสูง อ่อนน้อม แปลกใหม่ ดูเซ็กซี่ อยู่ง่าย และเอาใจใส่ดูแล” 

แต่สเตแธมก็ระบุว่า ผู้หญิงอีสานที่ว่านี้อยู่ห่างไกลจาก “การเป็นเหยื่อผู้สิ้นหวัง” แม้ว่าพวกเธออาจจะยังอยู่ใน “ภาวะความไม่สมดุลย์ของอำนาจที่ฝังอยู่อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ชาย” และยังต้องขึ้นอยู่กับเพศภาวะและความคาดหวังทางวัฒนธรรมบางประการ แต่เมียฝรั่งมีอำนาจในการตัดสินใจที่เกิดจาก “ความปรารถนาทางอารมณ์ ความรู้สึกและคุณค่าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย…ควบคู่ไปกับแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ”

โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีภูมิหลังที่ยากจน การแต่งงานกับชาวตะวันตกนั้นจึงมาพร้อมกับ “สิทธิที่อาจช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ตัวเอง” จากนั้นผู้หญิงก็จะตระหนักถึง “สิทธิส่วนบุคคลในการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ในการทำงาน รวมทั้งการอยู่ในต่างประเทศและในฐานะคู่สมรส อาจหมายถึงการเข้าถึงสวัสดิการสังคม เงินบำนาญและสิทธิด้านสุขภาพในระยะยาว” ดังนั้นเมียฝรั่งจึงได้รับสิทธิเหนือเงินทุนและทรัพย์สินของสามีในประเทศไทย รวมทั้งสิทธิในการรับมรดกอย่างถูกต้องตามกฎหมายในระดับหนึ่ง

ว่าด้วยเรื่องของผู้ชายอีสานกับผู้ชายชาวตะวันตก

เนื่องจากเมียฝรั่งประมาณร้อยละ 80 เคยแต่งงานกับผู้ชายอีสานมาก่อน ดังนั้นบทบาทของผู้ชายอีสานจึงไม่ควรถูกมองข้าม ไม่เช่นนั้นปรากฏการณ์เมียฝรั่งอาจจะไม่แพร่หลายมากขนาดนี้ ก่อนหน้านี้ผู้หญิงอีสานอาจจะรู้สึกว่า พวกเธออาจพึ่งพาสามีเก่าคนอีสานได้ แล้วสิ่งนี้จะช่วยอธิบายประเด็นทางวัฒนธรรมของปรากฏการณ์เมียฝรั่งได้อย่างไรบ้าง

พัชรินทร์ ลาภานันท์ และทอมป์สัน เอริค ได้วิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์ทางสังคมที่โดดเด่น” ของเมียฝรั่งนี้ว่า ส่วนใหญ่มีการละเว้นที่จะกล่าวถึงผู้ชายไทย (คนอีสาน บางครั้งก็คนไทย) ได้อย่างไร

เมียฝรั่งชาวอีสานคนหนึ่งเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชายตะวันตกกับชายไทยไว้ไม่ค่อยน่าสนใจ 

“อยากได้คนดี ใจกว้าง อบอุ่น มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ยอมรับและช่วยเหลือลูกติดได้ แล้วก็ช่วยดูแลพ่อแม่ ความสัมพันธ์ที่ผ่านมา [กับสามีคนไทย] สอนให้รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ถ้าผู้ชายคนนั้นไม่ให้ความสำคัญกับครอบครัว”

ส่วนชายที่ถูกภรรยาทอดทิ้งไปแต่งงานกับคนญี่ปุ่นก็ดูเหมือนจะบ่งบอกว่า เขารู้สึกว่าตัวเองเทียบกับผู้ชายต่างชาติไม่ได้เลย 

“ผมรู้สึกเสียใจที่หาเงินได้ไม่เยอะพอที่จะทำให้ภรรยามีความสุข แล้วก็มากพอที่จะเอามาใช้จ่ายดูแลลูก…โชคดีที่ภรรยาดูแลลูกสาวได้ ลูกจะได้มีการศึกษาที่ดีและมีชีวิตที่ดี ก็ดีสำหรับตัวภรรยาด้วย เธอจะได้ในสิ่งที่อยากได้ เครื่องประดับ เสื้อผ้าสวยๆ บ้าน กับรถยนต์…ผมไม่โทษเธอหรอก”

ผู้ชายหลายคนรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงอีสานกับชายชาวตะวันตกเหล่านี้ “ถูกกำหนดโดยตรรกะทางวัตถุมากกว่าความรักความเสน่หา” พวกเขาพูดถึงผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติว่าเป็นการแต่งงาน “เพียงเพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ” และมองข้ามสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ล้มเหลวในแง่ของ “อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์” หรือ “พฤติกรรมของผู้ชายไทย/อีสานที่มีต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว” ด้วยเหตุนี้ผู้ชายไทย/อีสานบางคนจึง “รู้สึกว่าถูกคุกคาม เพราะการแต่งงานข้ามชาติมอบทางเลือกให้ผู้หญิงแทนรูปแบบความสัมพันธ์ดั้งเดิม”

แล้วทำไมผู้หญิงอีสานหลายคนถึงไม่รู้สึกแบบนั้น หญิงอีสานวัย 48 ปีคนหนึ่งบอกกับนักวิจัยว่า “การมีสามีฝรั่งก็เหมือนกับการมีตู้เอทีเอ็มส่วนตัว” และบอกอีกว่า “ผู้หญิงบางคนยินดีที่จะหย่ากับสามีคนไทย แล้วไปพัทยา พัฒน์พงษ์ หรือภูเก็ต ไปทำงานบาร์ แล้วก็หาคนรักหรือสามีฝรั่ง”

นักวิชาการหลายคนยอมรับว่า แรงจูงใจของเมียฝรั่งนั้น “มีหลายอย่างและซับซ้อนเกินกว่าที่จะเป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์ทางวัตถุและความรักแบบโรแมนติก”

คนอีสาน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีมุมมองทางเพศภาวะที่เน้นชายเป็นใหญ่ ทำให้ “อุดมคติทางวัฒนธรรมของคนที่หาเลี้ยงครอบครัว/คนหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวจึงเป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดเรื่องความเป็นชาย” บางครั้งอาจเป็น “พื้นฐานสูงสุดของอัตลักษณ์ความเป็นชาย” และเป็นแกนหลักสำคัญของ “จุดยืนและชื่อเสียงของผู้ชาย”

ผู้ชายอีสานที่ยากจนและมีการศึกษาน้อย ไม่ต่างจากผู้หญิงอีสานจึงเผชิญกับความท้าทายในการหารายได้ที่มั่นคง หลายคนมีทางเลือกไม่มากนัก จึงต้องทำงานขายแรงงานในอีสานหรือย้ายไปทำงานที่ภาคกลางหรือต่างประเทศ สำหรับผู้ชายที่อยู่ในชุมชนชนบท มีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่จะหารายได้มากพอจนทำให้มีคนอยากแต่งงานด้วย

ผู้ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 70 กิโลเมตร กล่าวอย่างโศกเศร้าว่า

“ผมหาเงินได้ไม่เยอะ แทบจะหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ การหางานที่ได้เงินเดือนดีๆ นั้นไม่ง่ายเลย…ผมออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เกือบทุกวัน…การได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน [มีงานไม่มั่นคง/ไม่มีงานทำหรือรายได้น้อย/ไม่มีรายได้] ทำให้รู้สึกดีขึ้นมาหน่อย…ถ้าจะแต่งงาน เราจะต้องมีงานที่มั่นคง แล้วก็มีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงดูภรรยาและครอบครัว แต่เราไม่ได้มีตรงนั้น”

ผู้ชายอีสานที่อายุมากกว่าและเลี้ยงดูครอบครัวได้สำเร็จ กลับรู้สึกเห็นใจผู้ชายอีสานยุคหลังที่มีอายุน้อยกว่า เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในยุคที่มีความเป็นวัตถุนิยมมากกว่าในอดีต

ด้วยเพราะไม่อาจทำตามสถานะของ “ผู้ชายที่หาเลี้ยงครอบครัว” ได้สำเร็จ ชายหนุ่มอีสานบอกว่า การที่จะแข่งขันกับชาวตะวันตกที่มีช่องทางเข้าถึงเงินทองมาเลี้ยงดูครอบครัวได้นั้นเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน พวกเขาจึง “รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศภาวะจากการแต่งงาน” ที่เกิดขึ้นจากการเลือกแต่งงานกับชาวต่างชาติ แต่การรับรู้ดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิด “ความกังวล” และ “ความกดดันที่ลึกซึ้ง” 

สำหรับเมียฝรั่งหลายคน การแต่งงานข้ามชาติก็ไม่ได้เป็นทางเลือกที่เสรี เพราะการแต่งงานดังกล่าวยังเป็นการ “ผลิตซ้ำอภิสิทธิ์แห่งอำนาจของความเป็นชาย” โดยที่ชาวตะวันตกรับบทบาทเป็น “ผู้ให้” จึงทำให้ทั้งผู้ชายอีสานและผู้ชายตะวันตกปรารถนา “ความสัมพันธ์ที่เน้นเพศภาวะแบบชายเป็นใหญ่” และ “อภิสิทธิ์ความเป็นชายที่มีอำนาจนำ”

แต่ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่ทำให้ทั้งชายชาวต่างชาติและชาวอีสานต้องตกอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าในอีสาน ในระดับหมู่บ้านยังคงยึดถือปฏิบัติตาม “ระบบเครือญาติที่ให้ความสำคัญกับฝ่ายหญิงและธรรมเนียมการย้ายเข้าบ้านครอบครัวฝ่ายหญิง” อยู่ 

สำหรับชายชาวอีสานที่ย้ายเข้ามาอยู่บ้านของภรรยา อย่างน้อยหลังแต่งงานใหม่ “กฎและแนวปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวฝ่ายหญิง…เป็นแหล่งอำนาจทางสังคมของผู้หญิงในระดับหมู่บ้าน” ผู้หญิงมี “อำนาจควบคุมทรัพยากรและงบประมาณในครัวเรือน” เพราะผู้ชายที่แต่งงานเข้ามาอยู่ด้วยจะไม่สามารถ “ใช้อำนาจในครอบครัว” เพราะพวกเขา “จำเป็นต้องพึ่งพาครอบครัวของภรรยาและอำนาจสั่งการของพ่อแม่ภรรยา”

อย่างที่ แคทเธอรีน โบวี่ กล่าวเกี่ยวกับสังคมไทยภาคเหนือที่มีรูปแบบคล้ายๆ กันว่า ผู้ชายมักต้องทนทุกข์ทรมาน “จากความโดดเดี่ยวและความกดดัน” และหันไปดื่มเหล้าเพื่อรับมือกับ “ความกดดันและความขัดแย้งกับญาติฝ่ายครอบครัวภรรยา” เพราะการย้ายเข้ามาอยู่กับครอบครัวฝ่ายภรรยา (matrilineality) “ต้องยกย่อง” ดูแลภรรยาและครอบครัว เมื่อเทียบกับภาวะความเป็นชายที่สร้างขึ้นโดย “สถานภาพ” ของสังคมที่เน้นครอบครัวฝ่ายชาย 

ผู้ชายในท้องถิ่นจึงมีความขีดความสามารถที่จำกัดในการเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวที่ดี ซึ่งทำให้บทบาทของความเป็นผู้ชายในฐานะผู้หาเลี้ยงลดลงและไม่เพียงพอตาม “อุดมคติทางวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวฝ่ายหญิง”

“ความรักหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” หรือ “ความรักและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

พัชรินทร์ ลาภานันท์ ได้ทำให้คิดใหม่ว่า ในเชิงวัฒนธรรมของปรากฏการณ์เมียฝรั่ง ประเด็นเรื่อง “ความรัก” นั้นควรเข้าใจอย่างไร เธอเขียนว่า ภาพจำของการแต่งงานด้วยความรักในแบบฉบับของชาวตะวันตกคือ การที่ความรักโรแมนติกเป็นสิ่งที่มิอาจซื้อและขายได้ ความรักมิอาจคำนวณเป็นตัวเลขได้” แต่ความรักที่แท้จริงนั้นจะต้องเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและบริสุทธิ์ ลึกลับ ซับซ้อน และไม่อาจต้านทานได้ แนวความคิดนี้จึงก่อให้เกิด “ความคิดแบบคู่ตรงข้ามระหว่างความรักโรแมนติกกับแรงจูงใจทางวัตถุ” และส่งผลต่อวิธีที่เรามองการแต่งงานข้ามชาติ

พัชรินทร์ แนะนำว่าควรดูกระบวนการที่มีความซับซ้อน ซึ่งผู้ชายและผู้หญิงสัมผัสรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง แล้วก็ตัดสินใจภายในขอบเขตบริบทของความสัมพันธ์ข้ามชาติ ดังนั้นการดูความสัมพันธ์เหล่านี้ผ่านปริซึมของ “ตรรกะแห่งความปรารถนา” นั้น ควรหลีกเลี่ยงการทำให้เข้าใจผิดและเข้าใจดีว่า “อารมณ์/ความรู้สึกปรารถนา แรงจูงใจทางวัตถุ และการแต่งงานต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างไร”

แท้จริงแล้วความรักที่เป็นเกิดขึ้นภายหลัง แทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์นั้นสะท้อนจากประสบการณ์ของเมียฝรั่งชาวอีสานหลายคน ซึ่งมีคนหนึ่งเล่าไว้ว่า “ความสัมพันธ์ของฉันกับสเวน [สามีชาวตะวันตก] เริ่มต้นด้วยเงิน ฉันต้องเลี้ยงลูก 2 คน แล้วก็ใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจ่ายค่าดำเนินการให้สามีเก่าไปทำงานที่ต่างประเทศ แล้วความสัมพันธ์ของฉันกับสเวนก็ลงเอยด้วยความรัก”

พัชรินทร์เขียนว่า เมื่อเมียฝรั่งพูดถึง “ความปรารถนาและความรัก” พวกเธอหมายถึง “การดูแลเอาใจใส่ ความไว้วางใจ และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางการเงินจากสามีตัวเอง” ดังนั้นความเข้าใจของวัฒนธรรมที่มีต่อ “เรื่องเงินตราและความรัก” จึงมีความแตกต่างกันไป ในสังคมตะวันตก “มองเรื่องความรักและเงินตราเป็นคนละเรื่อง แยกออกจากกัน ขณะที่สังคมไทย ความรักและเงินตราเป็นเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่บ้าง” ซึ่งสังคมไทยมองว่า “ความห่วงใย การดูแลเอาใจใส่ และความรัก” ดำรงอยู่ร่วมกันกับความต้องการทางการเงิน

สำหรับผู้หญิงอีสานแล้ว ค่านิยมของสังคมไทยเรื่องของ “บุญคุณ” เป็นค่านิยมที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ผู้หญิงอีสานแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ ด้วยการดูแลพวกเขาในยามแก่เฒ่า สำหรับเมียฝรั่ง หน้าที่ของลูกสาวคือ การตอบแทนพ่อแม่ด้วยการแต่งงานกับชายชาวตะวันตก สำหรับความช่วยเหลือเกื้อกูลที่ได้รับจากสามี ผู้หญิงอีสานก็จะแสดงความขอบคุณด้วยการเอาดูแลใจใส่ สร้างความไว้วางใจ และแสดงความรักและความเคารพต่อสามี และเมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกดังกล่าวก็จะเติบโตกลายเป็นความรัก

ด้วยเหตุนี้ทำให้พัชรินทร์กล่าวสรุปไว้ว่า

“การกล่าวโดยทั่วไปว่าผู้หญิงอีสานแต่งงาน เพราะผลประโยชน์ทางด้านวัตถุและการที่ผู้ชายแต่งงานกับพวกเธอด้วยความรักโรแมนติก จึงเป็นการตัดสินใจด้วยวิธีการที่ง่ายเกินไป ซึ่งไม่ได้พิจารณามองถึงแรงจูงใจที่หลากหลายและซับซ้อนที่ส่งผลให้เกิดตรรกะของความปรารถนาสร้างทางเลือกในการแต่งงาน รวมทั้งการตัดสินใจของผู้หญิงและผู้ชายที่เกี่ยวข้องในการแต่งงานนั้น ๆ”

ผู้ชายจากประเทศตะวันตกที่ขาดดุลการดูแลสู่อีสานที่เกินดุลการดูแล?

ผู้ชายตะวันตกที่แต่งงานกับผู้หญิงอีสานยังคงถูกมองว่าภรรยาชาวไทยของพวกเขาคอยดูแลเอาใส่ใจพวกเขาเป็นอย่างดี

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่ซ้ำๆ และบ่อยๆ ก็คือ “ผู้หญิงไทยเอาใจและดูแลสามีเก่ง” ชายชาวนอร์ดิกคนหนึ่งกล่าวว่า ภรรยาคนอีสานของเขาดูแลเขาเป็นอย่างดีเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เขาประสบปัญหาด้านสุขภาพ เขากล่าวว่า “ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีเธอได้อย่างไร ถ้าไม่มีเธอคอยดูแล ผมคงตายไปแล้ว”

แต่ความเป็นจริงแล้ว เมียฝรั่งเองก็เน้นย้ำถึงบทบาทของพวกเธอในฐานะผู้ดูแล “เนื่องจากเป็นวิธีการหนึ่งที่จะตอบแทนสามีที่ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทอง”

แล้วจริงหรือไม่ที่ผู้ชายตะวันตกย้ายจากประเทศตะวันตกที่ “ขาดดุลการดูแล” มายังประเทศไทยที่ “เกินดุลการดูแล” การถอยหลังสักก้าว แล้วดูเส้นโค้งของเศรษฐกิจด้านการดูแลที่มีขนาดยาวขึ้นอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยในการเข้าถึงปัญหาได้

แนวโน้มที่เกิดขึ้นล่าสุด ไม่ได้เป็นเพียงการที่ผู้ชายชาวตะวันตกแต่งงานกับผู้หญิงไทยเท่านั้น แทนที่ผู้ชายตะวันตกจะพาภรรยาของตนกลับไปยังประเทศตัวเองถาวร แต่พวกเขากลับกำลังตัดสินใจที่จะย้ายและมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สังเกตการณ์ได้พากันชี้ให้เห็นถึง “ภาวะการขาดดุลการดูแล” หรือ “วิกฤตการดูแล” ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยนักวิชาการคนหนึ่งออกมาให้คำจำกัดความการขาดดุลดังกล่าวว่าเป็น “ภาวะไร้กำลังในประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังตกต่ำในด้านการให้การดูแลที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน” ซึ่งเกิดจากการที่มีผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ในขณะเดียวกันกับที่ประชากรภายในประเทศก็กำลังมีอายุมากขึ้น ปัญหานี้จึงมีความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงที่ต้องดิ้นรนหาหนทางในการเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว พร้อมกับดูแลครอบครัวของตน ตลอดจนพ่อแม่ที่ชราภาพในเวลาเดียวกัน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศยังชี้ว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐของโลกตะวันตกกำลังหาทาง “จำกัดภาระทางการเงินของรัฐ” ในด้านการดูแล

ผู้ชายชาวตะวันตกหลายคนที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย เล่าถึงชีวิตแต่งงานกับผู้หญิงตะวันตกที่ล้มเหลว โดยคนหนึ่งเล่าว่า ภรรยาของเขาทำงานยุ่งมากจนไม่มีเวลาดูแลเขา

จากการสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) พบว่า ชายชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนหนึ่ง “มีจำนวนค่อนข้างมาก” (สัดส่วนจำนวนในอีสานเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศบ้านเกิด) ได้แก่ นอร์เวย์ (มากกว่าสัดส่วนของประชากรบ้านเกิดถึง 7 เท่า), สวิตเซอร์แลนด์ (มากกว่าเกือบ 7 เท่าตัว), เดนมาร์ก (มากกว่า 6 เท่า), สวีเดน (มากกว่า 5 เท่า) และสหราชอาณาจักรมากกว่า 4 เท่า)

แล้วผู้หญิงอีสานมอบ “ความใกล้ชิดและการดูแล” ที่เกินดุลแก่ผู้ชายตะวันตก โดยเฉพาะผู้ชายตะวันตกที่มีอายุมากกว่าที่มาจากประเทศที่ “การดูแล” กำลังขาดดุลอยู่หรือไม่?

บทสรุป

บทความแรกของเราเน้นถึงขนาดของปรากฏการณ์เมียฝรั่ง ด้วยการทำให้เห็นภาพในแง่ของประชากรและทางสังคมวิทยาของผู้หญิงอีสานและผู้ชายตะวันตกที่เกี่ยวข้อง แม้ข้อมูลอาจจะล้าสมัย แต่ทว่าชัดเจนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เรายังแสดงข้อมูลตัวเลขชัดเจนเพื่อช่วยแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของการย้ายถิ่นฐานผ่านการแต่งงานที่นำพาผู้หญิงอีสานไปยังโลกตะวันตกกับแนวโน้มล่าสุดที่ผู้ชายตะวันตกมาตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพร้อมกับภรรยาของตน

ส่วนบทความตอนที่สองของเรา ได้แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐแสดงความกังวลปรากฏการณ์ที่ไม่หยุดนิ่งนี้และได้ทำบางอย่างที่ดูจะผิดที่ผิด แต่การศึกษางานวิชาการเกี่ยวกับเมียฝรั่งก็ยังได้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่านั้น ผู้หญิงอีสานเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเหยื่อน้อยลง รวมทั้งได้รับการมองเห็นว่าเป็นผู้ที่จะมีอำนาจใจการตัดสินใจในชีวิตของตนเอง พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตลอดจนเติมเต็มหน้าที่ในฐานะลูกสาวที่คอยเลี้ยงดูพ่อแม่ได้

ในบทความตอนที่สามและเป็นตอนสุดท้ายของบทนำ เราได้ทบทวนถึงปรากฏการณ์เมียฝรั่งว่ามีบทบาทอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมอีสาน ตั้งแต่สถานะของผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวตะวันตกที่สูงขึ้น รวมทั้งการมีอำนาจมากขึ้นในความสัมพันธ์จากการสมรส จากความสัมพันธ์ในฐานะผู้หญิงที่เป็นผู้นำ และเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในชุมชน จากบทความทั้งสามตอน เราได้เห็นแล้วว่า ความสัมพันธ์ทางเพศภาวะระหว่างผู้หญิงอีสานและชายชาวตะวันตกเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งทำให้เกิดการพิจารณาใหม่ว่า จะเข้าใจ “ความรัก” ได้อย่างไร และเราจะจบบทนำด้วยการสะท้อนถึงสาเหตุของการที่ชายชาวตะวันตกจำนวนมากย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทยที่อาจอธิบายได้จากการมองการขาดการดูแลของตะวันตกเมื่อเทียบกับ“ การดูแลเกินดุล” ของประเทศไทย

เราหวังว่าบทนำเหล่านี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจพื้นฐานต่อบริบทที่จะเผยแพร่ในซีรีส์ชุดนี้

ในวันพรุ่งนี้ เราจะนำเสนอบทความของ พิณทอง เล่ห์กันต์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ผู้ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทผู้เขียนคอลัมน์บทความดูถูกเย้ยหยันผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชายต่างชาติที่เผยแพร่ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งบทความของพิณทองจะกล่าวถึงการตีตราที่เธอประสบมาตลอดชีวิตในฐานะผู้หญิงอีสานคนหนึ่ง

งานวิจัยที่อ้างถึง

Bowie, Katherine, “Standing in the shadows: Of matrilocality and the role of women in a village election in Northern Thailand,” American Ethnologist (2008), 40 (1), pp. 136-53.

Patcharin Lapanun, Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village (National University of Singapore Press, 2019).

Patcharin Lapanun and Thompson, Eric C., “Masculinity, Matrilineality and Transnational Marriage, Journal of Mekong Societies (2018) 14 (2), pp. 1-19.

Statham, Paul, “Living the long-term consequences of Thai-Western marriage migration: the radical life-course transformations of women who partner older Westerners,” Journal of Ethnic and Migration Studies (2020) 46, pp. 1562-87.

image_pdfimage_print