เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เรื่อง

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน เมื่อปี 2538 บุญรอด ด้วงโคตะ และ สนั่น สุวรรณ แกนนำคัดค้านเหมืองหินบน ‘ภูผายา’ ซึ่งถือว่าเป็นนักต่อสู้คัดค้านเหมืองหินปูนรุ่นแรก ถูกลอบยิงเสียชีวิต และต่อมาเมื่อปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม และ สม หอมพรมมา แกนนำคัดค้านเหมืองหินปูนบน ‘ภูผาฮวก’ ถูกลอบยิงเสียชีวิตอีกครั้ง ทั้ง 2 กรณียังไม่สามารถจับคนร้ายมาลงโทษได้เลยจนถึงปัจจุบัน

ภายใต้สถานการณ์การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในการคัดค้านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) เนื้อที่ 175 ไร่ และโรงโม่หิน เนื้อที่อีก 50 ไร่ ตามประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัดมากว่า 26 ปีนั้น

ปี 2563 จึงเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ เพราะบริษัทดังกล่าวกำลังจะหมดอายุใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนและใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน โดยบริษัทเอกชนพยายามผลักดันต่ออายุใบอนุญาตทั้งสองใบอีกครั้ง เพื่อดำเนินการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หินต่อไปอีก 10 ปี

แต่ถูกชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ คัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนและใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน อย่างหนัก จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ เพื่อสอบสวนให้ออกจากราชการ 

เนื่องจากมีการนำวาระการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ เพื่อทำเหมืองแร่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ และมีมติเห็นชอบให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่บนบกบนภูผาฮวก-ผาจันได โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งยังไม่มีการทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นของราษฎร 6 หมู่บ้านในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินก่อนบรรจุระเบียบวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภาฯ ทำให้บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ไม่สามารถใช้เอกสารมติเห็นชอบของสภาฯ ในการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ เพื่อทำเหมืองหินปูน ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภูได้ จนต้องหยุดชะงักกระบวนการในการต่ออายุใบอนุญาตทั้งสองและยังไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าเจรจาและยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) ปิดเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน

(2) ฟื้นฟูภูผาป่าไม้

(3) พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี

แต่ทว่าการเจรจากลับไม่เป็นผลจนทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ต้องปักหลักชุมนุมตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ถนนทางเข้าเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน เพื่อดำเนินการปิดและฟื้นฟูเหมืองหินปูนและโรงโม่หินด้วยสองมือสองเท้า

รวมทั้งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาเป็นวันที่ใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน สิ้นสุดอายุใบอนุญาตลง 

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเข้าทวงคืนภูผาป่าไม้ บน ‘ภูผาฮวก’ เนื้อที่ 175 ไร่ เพื่อเปลี่ยนเขตเหมืองหินให้เป็นเขตป่าชุมชน 

นอกจากนี้ในวันที่ 24 กันยายน 2563 ซึ่งจะเป็นวันที่ใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนจะสิ้นสุดอายุใบอนุญาตลง ซึ่งทำให้สิทธิในการทำเหมืองแร่ของบริษัทดังกล่าวสิ้นสุดลงตามไปด้วยและไม่มีสิทธิในการทำเหมืองแร่ในพื้นที่อีกต่อไป ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงจะทวงคืนภูผาป่าไม้ในพื้นที่โรงโม่หินอีก 50 ไร่ คืนมา และขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตป่าชุมชนของราษฎร 6 หมู่บ้าน และดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

จากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงระลอก 3 เหมือนเมื่อครั้งปี 2538 และปี 2542 ซึ่งสถานการณ์ยังคงคุกรุ่นอยู่ในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุการณ์ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ถูกข่มขู่คุกคามจากการออกมาชุมนุมปิดเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน จะเห็นได้ว่ามีลักษณะ กระบวนการ วิธีการ และรูปแบบใกล้เคียงกันกับสองกรณีแรกอย่างชัดเจน โดยตัวละครเบื้องหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับทั้งสองกรณีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นฝีมือของแกนนำหนุนเหมืองหินปูนและโรงโม่หินที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน

บรรยากาศการชุมนุมด้านหน้าทางเข้า-ออกเหมืองหินของ บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่พบว่า แกนนำหลักที่หนุนเหมืองเป็นผูุ้คอยชักใยอยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้เกิดการทำเหมืองแร่หินปูนในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ และรวมตัวกันเข้าต่อรองผลประโยชน์กับเจ้าของเหมืองหินปูนที่เป็นเอกชนจากจังหวัดอุดรธานีให้เข้ามาผลาญทรัพยากรธรรมชาติทำลายภูผาป่าไม้ของชุมชน มีด้วยกัน 6 คน ดังนี้

  1. ประคอง (นามสมมุติ) เป็นอดีตผู้บริหารท้องถิ่น เคยเป็นแกนนำหนุนเหมืองหินปูนรุ่นแรก ซึ่งเป็นคนชักชวนนายทุนจากจังหวัดอุดรธานีให้มาลงทุนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ในการทำเหมืองหินปูน ปัจจุบันย้ายไปอยู่จังหวัดระยอง
  2. รุน (นามสมมุติ) เป็นเพื่อนสนิทกับประคอง เคยเป็นทหารผ่าศึกมาด้วยกัน และมีลูกน้อง คือ แก่น (นามสมมุติ) เป็นผู้คอยปล่อยข่าวสร้างสถานการณ์ก่อกวนชาวบ้านฝ่ายคัดค้านเหมืองหิน 
  3. คุ้ม (นามสมมุติ) เป็นเพื่อนสนิทกับ ประคอง และยังเป็นคู่เขยกับ สุนา (นามสมมุติ) 
  4. สุนา (นามสมมุติ) ปัจจุบันเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เป็นคนสำคัญที่ผลักดันให้มีเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน 

      5.เงาะ (นามสมมุติ) เป็นคนงานเหมืองหินปูน เคยเช่าที่ดินนายทุนจากจังหวัดอุดรธานีทำนาก่อนยังไม่ตั้งเหมืองหินและโรงโม่ 

      6.อำคา (นามสมมุติ) เคยเป็นอดีตผู้นำชุมชน แต่โดนไล่ออกจากตำแหน่ง

ตัวละครเหล่านี้เป็นตัวบงการสำคัญในการลอบยิงแกนนำชาวบ้านผู้คัดค้านเหมืองหินทั้ง 4 คน ครั้งแรกเกิดเมื่อปี 2538 และครั้งที่ 2 เกิดเมื่อปี 2542 อีกทั้งยังคอยปฏิบัติการข่มขู่คุกคามชาวบ้านผู้คัดค้านเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยังคนมายุยง ปลุกปั่น และสร้างสถานการณ์ให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวและหวั่นเกรงต่อภัยอันตรายในการออกมาคัดค้านเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน

ปฏิบัติการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจาก “รุน” ร่วมกับ “อำคา” ซึ่งรับเงินมาจาก “สุนา” ที่เป็นคนผ่านเงินจากเสี่ยเมืองอุดรธานี แล้วรวมหัวกันจ้างวานชาวบ้านบางส่วนไม่ให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน 

ชาวบ้านที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวเล่าว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา “รุน” และ “อำคา” ได้ขี่รถจักรยานยนต์ตระเวนรอบหมู่บ้านและแจกเงินให้ชาวบ้านคนละ 200 บาท แล้วบอกชาวบ้านว่า ไม่ให้ไปศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภูร่วมกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ โดยขอให้อยู่เฉยๆ ห้ามออกไปคัดค้านเหมืองหินและโรงโม่ เพราะเหมืองสามารถต่ออายุใบอนุญาตได้แล้ว

นอกจากนี้ “รุน” กับ “อำคา” ยังร่วมหัวกับลูกน้องอีก 2 คน คือ แก่นและคำสิงพยายามเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านให้เกิดหวาดกลัวในการออกมาคัดค้านเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน โดยเข้าไปหาชาวบ้านถึงบ้านพัก พร้อมทั้งปล่อยข่าวลือว่าจะมีการสลายการชุมนุมชาวบ้านที่มาปิดถนนทางเข้า-ออกเหมืองหิน ใครที่มาชุมนุมจะถูกจับดำเนินคดี ถูกยิง และถูกวางระเบิดสถานที่ชุมนุม โดยให้หยุดการเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่ให้ออกมาชุมนุม หากไม่หยุดจะมีการฆ่าแกนนำคัดค้านเหมืองเป็นศพที่ 5

นอกจากนี้ สุนา อำคา และ รุน ยังส่งลูกน้องเข้ามาสร้างสถานการณ์ รวมทั้งก่อกวน ปั่นป่วน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ออกมาชุมนุมบริเวณถนนทางเข้า-ออกเหมืองอยู่บ่อยครั้ง  

เหตุการณ์สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 06.18 น. โดยมีชายวัยกลางคนไม่ทราบชื่อ ขับรถจักรยานยนต์ Honda click 125i สีน้ำเงิน ป้ายทะเบียน จ.อุดรธานี มาจอดตรงบริเวณหน้าสถานที่ชุมนุม และเข้ามาพูดจาข่มขู่คุกคามชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่า “ใครให้มาชุมนุม ใครเป็นคนหนุนหลังให้มาชุมนุมอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวจะมาพังสถานที่ชุมนุม รื้อเต้นท์ หากไม่หยุดชุมนุมก็จะมีคนตายอีก”

ต่อมาเวลาประมาณ 08.33 น. ชายคนดังกล่าวได้ขับรถจักรยานยนต์คันเดิมมาวนเวียนรอบบริเวณถนนหน้าสถานที่ชุมนุมอีกถึง 3 รอบ ต่อมาทราบว่า ชายคนดังกล่าวเป็นคนงานร้านวัสดุก่อสร้างในพื้นที่

นอกจากนี้วันที่ 31 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 19.00 น. คนงานเหมืองหินยังมาก่อกวนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ บริเวณหน้าสถานที่ชุมนุม อีกทั้งมีท่าทีคุกคาม โดยถามว่า “ใครเป็นแกนนำ ใครให้มาชุมนุม” ซึ่งชาวบ้านตอบว่า “ไม่มี” แต่คนงานคนดังกล่าวก็ยังไม่ยอมกลับและนั่งอยู่บริเวณด้านหน้าที่ชุมนุม 

เมื่อสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งเดินทางกลับไปทำธุระส่วนตัว คนงานดังกล่าวจึงขับรถจักรยานยนต์ตามประกบและขับรถจักรยานยนต์ปาดหน้า พร้อมทั้งบีบแตรใส่รถยนต์ของสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ คนดังกล่าว

ส่วนเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563 เวลา 22.10 น. มีรถจักรยานยนต์จำนวน 5 คัน ขับรถมาวนเวียนหน้าสถานที่ชุมนุมถึง 2 ครั้ง โดยได้เร่งเครื่องเสียงดัง เพื่อก่อกวนชาวบ้านที่กำลังนอนหลับอยู่

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 10.00 น. สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ คนหนึ่งถูกบุกประชิดตัวถึงหน้าบ้าน โดยมีคนชื่อ “เงาะ” เดินเข้ามายืนประกบทางด้านหลังของสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ คนดังกล่าว ขณะกำลังทำความสะอาดรถยนต์ แต่ไม่มีการทักทายใดๆ แถมยังมีท่าทีคุกคาม สร้างความตกใจแก่สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ คนดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยทราบภายหลังว่า เงาะเป็นคนงานเหมืองหินปูน 

ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 16.00 น. แสวง (นามสมมุติ) คนงานเหมืองหิน ได้มาแฝงตัวมาในสถานที่ชุมนุม เพื่อหาข่าวจากสถานที่ชุมนุมด้วยการนับจำนวนคนร่วมชุมนุม 

และเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ญาติของชาวบ้านนาหนองบง กลุ่มคัดค้านเหมืองทองคำ จ.เลย ได้รับโทรศัพท์จากคนใกล้ชิดว่า ในวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่จะเป็นการเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังจากใบประทานบัตรของเหมืองหินหมดอายุ “อย่าให้พี่น้องนาหนองบงมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพราะมีการจ้างมือปืนสั่งเก็บแกนนำที่เป็น NGO แล้ว” 

ตัวบ่งชี้ที่ปรากฏขึ้นตลอดการชุมนุมของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ตั้งแต่ปักหลักชุมนุมบริเวณทางเข้า-ออกเมืองได้สร้างเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล โดยมีกลิ่นอายที่อาจนำพาไปสู่ความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นสถานการณ์ที่กำลังพาย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์สังหารแกนนำเมื่อปี 2538 และปี 2542 ก็เป็นได้

ตัวละครที่ปรากฏในบทความนี้ล้วนมีตัวตนจริง แต่เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องหมิ่นประมาท ผู้เขียนจึงขอใช้นามสมมุติเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print