หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

สิ้นเสียงปืนกลางเดือนมิถุนายน 2538  ลมหายใจของ “บุญรอด ด้วงโคตะ” ที่กำลังไถนาอยู่กลางทุ่งนาบ้านนาไร่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ก็หยุดลง 

ร่างอันไร้วิญญาณถูกพบโดย ภรรยา คือ “สมหมาย บุญโคตร” ในสภาพคอตกทับรถไถนาแบบเดินตาม 

เสียงหึ่งๆ ของรถไถนาที่ทำงานอยู่ ทำให้ภรรยาของบุญรอดเข้าใจว่า ตอนนั้นสามีเพียงแค่ก้มหน้าเท่านั้น 

แต่เมื่อเข้าใกล้ เธอถึงกับผงะกับร่างอันไร้วิญญาณของสามี 

กลางทุ่งนาบ้านนาไร่ ร้างไร้ผู้คน ไร้พยาน ไร้หลักฐาน 

วินาทีนั้นเธอทำได้แค่ร้องไห้และหอบร่างสามีที่ไม่ได้เอ่ยคำร่ำลากลับบ้าน แล้วบอกลูกสาววัย 12 ขวบว่า “พ่อไม่อยู่แล้ว พ่อตายแล้ว” ส่วนลูกชายวัย 9 ขวบ “ความตาย” เป็นคำที่เขาไม่มีทางเข้าใจ 

หลังจัดงานศพสามีแล้วเสร็จ “สมหมาย” บอกทุกคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดไม่ให้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านการสัมปทานโรงโม่หินของบริษัทเอกชนบนภูผาฮวก ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ที่อาจเป็นสาเหตุให้สามีของเธอถูกปลิดชีพ  

“ช่วงนั้นเขาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แล้วก็รวบรวมรายชื่อเพื่อต่อต้านเหมือง”เป็นข้อสังเกตที่เธอเชื่อว่า น่าจะเป็นสาเหตุให้สามีเสียชีวิต 

ถูกยิงตายเหมือนหมา 

ความเสียใจผสมกับความหวาดกลัวที่สามีจากไปอย่างไม่มีวันกลับจากอำนาจมืด ทำให้เธอตัดสินใจฝากลูกไว้กับแม่ แล้วหนีออกจากพื้นที่ไปนานกว่าหนึ่งเดือน 

“เขาถูกยิงตายเหมือนหมา ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด พอถามตำรวจเพื่อให้ตามคดี เขาก็บอกว่ากำลังทำคดีอยู่ จนวันหนึ่งตำรวจมาบอกว่า คดีหมดอายุความแล้ว พวกเราก็ไม่ได้ทำอะไร เอาเงินที่จะจ้างทนายมาเลี้ยงลูกดีกว่า เพราะเราก็ไม่ได้ร่ำรวย”เธอเล่าพร้อมกับเบือนหน้าหนี 

สมหมาย บุญโคตร อดีตภรรยาของ บุญรอด ด้วงโคตะ ผู้ถูกยิงเสียชีวิตเป็นคนแรกจากการต่อต้านการทำเหมืองหินปูน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

มันจบแล้ว ไม่อยากรื้อฟื้น 

นับจากวันที่สามีจากไป ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปตลอดกาล จากที่เคยอยู่อย่างเรียบง่ายก็กลายเป็นคนหวาดระแวง ซึ่งเป็นเหตุผลให้สมหมายหันหน้าเข้าวัดและเป็นสถานที่ที่ทีมงาน The Isaan Record พบเธอ…ที่นั่น  

แรกทีเดียวเธอไม่อยากเอ่ยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้สัมภาษณ์ โดยให้เหตุผลว่า “มันจบแล้ว ไม่อยากรื้อฟื้น และตอนนี้ก็ไม่ได้โกรธแค้นใคร” 

และเป็นเหตุผลที่เธอไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมนุมเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได เพื่อต่อต้านการทำเหมืองของบริษัทเอกชน แม้จะมีเพื่อนบ้านมาชักชวนให้เข้าร่วมหลายครั้ง  

เสียงร้องไห้เงียบๆ ของลูกสาว

ทีมงาน The Isaan Record แวะบ้านของเธอที่บ้านนาไร่ เพื่อพวกคุยกับลูกสาวและลูกชาย แต่ทั้งสองคนยืนยันว่า จำเหตุการณ์ไม่ได้ ระหว่างที่เรากำลังถามข้อมูลจากลูกชายบริเวณข้างบ้าน เราก็แอบเห็นว่า ลูกสาวของ “บุญรอด” ปลีกตัวออกมา แล้วแอบมาร้องไห้อยู่หน้าบ้านอย่างเงียบๆ 

“ตอนนั้นผมเด็กมาก จำอะไรไม่ได้ แค่ 9 ขวบเอง”ลูกชายของบุญรอดที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เล่าความทรงที่ลางเลือน 

“บุญรอด” เป็นคนกว้างขวาง 

ก่อนเสียชีวิต “บุญรอด” เป็นเจ้าของโรงสีข้าวในชุมชนจึงมีผู้คนในนับหน้าถือตา 

“บุญรอดเป็นคนใจใหญ่ เป็นคนกว้างขวาง มีแต่คนนับถือ ตอนนั้นชาวบ้านร่วมลงรายชื่อกันหลายคน แต่พอเขาถูกยิงตาย คนอื่นๆ ก็กลัวไปตามๆ กัน” หนูชาย พลซา วัย 70 กว่าเล่าความทรงจำเกี่ยวกับบุญรอด  

ไม่เพียงการตายของ บุญรอด ด้วงโคตะ เท่านั้นที่ทำให้คนในตำบลดงมะไฟหวาดผวา เพราะห่างกันไม่นาน “สนั่น สุวรรณ” แกนนำที่ต่อต้านเหมืองหินก็ถูกกระสุนปริศนาปลิดชีพไปอีกคน 

แม้การตายของทั้ง 2 คนจะทำให้แรงต่อต้านการสัมปทานเหมืองหินของชาวบ้านแผ่วลง 

ทว่าเมื่อปี 2541 คนในชุมชนก็ผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อปกป้องผืนป่าของชุมชน ด้วยการยื่นหนังสือคัดค้านการขอสัมปทานของบริษัทเอกชน ในขณะที่บริษัทเอกชนกำลังเดินหน้ารังวัดขอบเขตเหมือง 

หลังจากนั้นเสียงต่อต้านจากชาวบ้านก็ดังขึ้นอีกครั้ง กระทั่งมีผู้ถูกสังหารพร้อมกันถึง 2 คน นั่นคือ ทองม้วน คำแจ่ม อดีตกำนันตำบลดงมะไฟ และ สม หอมพรหมา ถูกยิงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 

ปากคำจากอดีตภรรยานักต่อสู้ดงมะไฟ 

สอน คำแจ่ม อดีตภรรยาทองม้วน คำแจ่ม เล่าว่า วันเกิดเหตุได้ชวนสามีไปส่งฌาปนกิจของกลุ่มแม่บ้านที่ตัวอำเภอสุวรรณคูหา แต่ระหว่างเพื่อนสามีได้โทรศัพท์ แล้วเธอบังเอิญรับโทรศัพท์แทน เพราะขณะนั้นกำนันกำลังขี่มอเตอร์ไซต์ไม่สะดวกที่จะรับสาย 

“คนปลายสายบอกให้กำนันไปเจอที่บ้านโนนสง่า เขาจะรออยู่ป่ามะขาม แต่ตอนนั้นพวกเรารีบไปธุระก่อนจึงไปไม่ได้ ขากลับประมาณบ่าย 3 โมง คนที่โทรมาก็ยืนรออยู่บริเวณสี่แยกที่เป็นทางเข้าบ้านแล้ว”สอนเล่าจากความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือน 

เธอยังเล่าอีกว่า ตอนนั้นคนที่มายืนรอบอกให้ชวนสม (หอมพรหมา) ไปด้วย โดยให้เหตุผลว่า ให้รีบไป เพราะเพื่อนๆ รออยู่ 

ก่อนพลบค่ำเธอได้ข่าวจากเพื่อนบ้านที่มาตะโกนอยู่หน้าบ้านว่า “กำนันทองม้วนถูกยิงตาย” ซึ่งเป็นเสียงที่ยังคงดังก้องหูจนถึงวันนี้ 

“เขาบอกว่า กำนันถูกยิงตายที่บ้านหนองเหลือ ต.กุดผึ้ง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปหลายกิโลฯ ตอนนั้นก็ตั้งสงสัยว่า จากป่ามะขามทำไมไปถึงที่นั่น”สอนตั้งคำถาม

หากเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างกำนันทองม้วนกับคนที่โทรศัพท์มาชักชวน ถือได้ว่า เป็นเพื่อนสนิทที่เรียนหนังสือด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา แต่ทั้งสองคนมีความเห็นไม่ลงรอยกัน หลังจากที่มีโครงการสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ ตอนนั้นทองม้วนเป็นกำนันและเป็นประธานบริหาร อบต.ดงมะไฟ ส่วนอีกคนเป็นสมาชิก อบต.ดงมะไฟ  

 เปิดสำนวนผู้ถูกกล่าวหา แต่ไร้ความผิด

รายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ลงวันที่   5 พฤศจิกายน 2542 ระบุว่า การเสียชีวิตของ ทองม้วน คำแจ่ม และ สม หอมพรมมา ได้สอบปากคำทั้งหมด 57 ปาก 

โดยผู้ถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีและใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนมิได้ออกใบอนุญาตให้โดยผิดกฎหมาย พกอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร” คือ “อ่อน หรือ วฤทธิ์ วิเป” ที่เป็นผู้โทรศัพท์นัดแนะทั้งสองคนให้ไปพบในวันเกิดเหตุ 

หลังเกิดเหตุ 27 วัน “วฤทธิ์ วิเป” ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนและประกันตัวชั่วคราว   

จากการสอบสวน “อ่อน หรือ วฤทธิ์ วิเป” ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมกล่าวหาผู้ตายทั้งสองคนว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 

ที่น่าสนใจจากรายงานการสอบสวนหน้า 11 ระบุว่า การสอบปากคำ “ประวัติ วงศ์ชาลี” และ “จ่อย ปานาพุฒ” ผู้ช่วยผู้ใหญ่หมู่ 4 ให้การว่า “ก่อนตายทองม้วนบอกทั้งสองคนว่า ถ้าตายก็คงจะมีสาเหตุจากการคัดค้านโรงโม่หิน” สอดคล้องกับคำให้การของพยานอีก 4 คนที่ร่วมกันต่อต้านโรงโม่หินในช่วงนั้น   

แต่หลังการสอบสวนพยานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวน สภ.สุวรรณคูหา กลับ “สั่งไม่ฟ้อง” และไม่สามารถจับใครมาลงโทษได้ 

ภรรยาของ “อ่อน หรือ วฤทธิ์ ลิเป” อดีตผู้ต้องหามีส่วนร่วมในการจ้างวานฆ่า กำนันทองม้วน คำแจ่ม และ สม หอมพรมมา อดีตผู้คัดค้านโรงโม่หิน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

เรื่องมันแล้วไปแล้ว ไม่อยากรื้อฟื้น

ทีมข่าว The Isaan Record เดินทางไปบ้านพักของ “วฤทธิ์ วิเป” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของ “ทองม้วน คำแจ่ม” แต่กลับพบว่า “อ่อน หรือ วฤทธิ์ วิเป” ในวัย 64 ปีไม่อยู่บ้าน มีเพียงภรรยาที่ไม่ขอเปิดเผยชื่ออยู่บ้านเพียงลำพัง 

เธอบอกว่า สามีย้ายไปอยู่จังหวัดระยองกับลูกชายตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ได้กลับบ้านอีกเลย 

“เรื่องนี้มันนานแล้ว ให้มันแล้วไปเถอะ” เธอตอบคำถามเกี่ยวกับคดีที่สามีถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมผู้ต่อต้านเหมืองแร่ดงมะไฟและบอกว่า “ตอนนี้พ่อใหญ่อ่อนก็อายุ 64 ปีแล้ว แทบจะไม่มีฟันเคี้ยวข้าว ก็ไม่อยากรื้อฟื้น เพราะไม่เคยอยากให้คนในครอบครัวเกี่ยวพันกับการเมือง ไม่เคยอยากให้เป็น อบต. ที่ผ่านมาก็ไม่เคยรับรู้อะไรเกี่ยวกับคดี เพราะมัวแต่เลี้ยงลูก” 

สอน คำแจ่ม อดีตภรรยาทองม้วน คำแจ่ม ยืนใกล้หลุมศพสามี “อยากบอกให้เขาดีใจว่า พวกเราใกล้ชนะแล้ว”

ครอบครัวยังเฝ้ารอความยุติธรรม 

เมื่อสอบถามความคืบหน้าคดีจาก สภ.สุวรรณคูหา เจ้าหน้าที่บอกว่า พนักงานสอบสวนผู้ทำคดี คือ พ.ต.ท.วีระ โพทุมทา ได้ย้ายไปประจำที่อื่นและคดีนี้ได้หมดอายุความ  

 แม้หลายคนอยากจะให้การตายของนักต่อสู้ดงมะไฟทั้ง 4 คนจบลง แล้วให้จางหายไปตามกาลเวลา แต่สำหรับ “สอน คำแจ่ม” อดีตภรรยาทองม้วน คำแจ่ม เธอยังคงเฝ้ารอวันที่คดีจะถูกสะสางและ “ครอบครัวคำแจ่ม” จะได้รับความยุติธรรม 

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอและกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ยื่นหนังสือผ่าน สภ.หนองบัวลำภู ไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อรื้อคดีนักต่อสู้  4 ศพ ที่คัดค้านการสัมปทานเหมืองหินดงมะไฟและถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม แล้วจับมือใครดมไม่ได้ แม้ทีมงาน The Isaan Record จะพยายามติดต่อไปยังบริษัทเอกชนที่เป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ​ โดยตรงเพื่อขอคำตอบถึงเรื่องนี้ แต่ทุกครั้งกลับมีเพียงการปฏิเสธว่า “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”

“อยากได้ความยุติธรรม แต่ถ้าไม่ได้หรือเอาคนร้ายมาลงโทษไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่ปิดเหมืองได้ก็ดีใจแล้ว” สอน คำแจ่ม กล่าวอย่างมีความหวัง  

ดูวิดีโอการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ที่นี่

image_pdfimage_print