อุดรธานี – ศาลจังหวัดอุธรธานี มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” ขอนแก่นพอกันที และหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร2563 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 หลังโดนจับกุมในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีขึ้นปราศรัยในกิจกรรม “บุญกฐินราษฎร ตลาดหลวง” จัดขึ้นที่อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายให้กับอรรถพลได้ยื่นคัดค้านการฝากขังและยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในทันที หลังพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

“ประเด็นในคดีมีเพียงคลิปวิดีโอ ซึ่งในคลิปวิดีโอผู้ต้องหาไม่สามารถเปลี่ยนเนื้อหาได้ และในการสอบสวนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุมขังผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จึงเป็นเหตุผลที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”ทนายอธิบาย

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่ กลุ่มขอนแก่นพอกันที” หลังได้รับการปล่อยตัวจากศาลอุดรธานี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เครดิตภาพกลุ่มขอนแก่นพอกันที

ใช้ตำแหน่ง ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นหลักทรัพย์

การประกันตัวครั้งนี้ใช้ตำแหน่งของ อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นหลักทรัพย์และศาลนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้คดีนี้เป็นคดีแรกสำหรับกิจกรรมดังกล่าวใน จ.อุดรฯ

ด้านอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” ผู้ต้องหาในคดีนี้กล่าวว่า ได้เตรียมใจไว้พอสมควร ไม่ว่าจะเกิดอีกกี่กรณี กี่ข้อหา ก็ยังยันว่าจะต่อสู้ต่อไป

“เรายังต้องสู้กันอีกยาว ความเหนื่อย ความล้า บาดแผล ความเจ็บช้ำ ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้เราหยุด และเราจะไม่หยุดจนกว่าความฝันนั้นจะสำเร็จ”อรรถพล กล่าว

ศาลอุบลฯ ปล่อยตัว “โตโต้” หลังนอกคุก 2 คืน

ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานี ศาลอุบลราชธานีได้ปล่อยตัว ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ หัวหน้าการ์ดคณะราษฎร 63 หลังจากที่นำตัวมาดำเนินคดี สภ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ตามความผิด ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังปราศรัยในงาน “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563

ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ หัวหน้าการ์ดคณะราษฎร 63 พร้อมทีมทนาย หลังถูกปล่อยตัวที่ศาลอุบลราชธานี เครดิตภาพ คณะอุบลปลดแอก

โดยศาลให้เหตุผลว่า ผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้หลบหนีและผู้ถูกดำเนินคดีร่วมกันก่อนหน้านี้ 2 คน คือ ฉัตรชัย แก้วคำปอด หรือ “ทนายแชมป์” และ วิศรุฒ สวสดิ์วร ก็ได้รับการประกันตัว ดังนั้นคราวนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว

อย่างไรก็ตามการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ปิยรัฐ ถูกขังเพื่อรอประกันตัวที่ สภ.อุบลราชธานีเป็นเวลา 2 คืน

ทั้งนี้มีคนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งเดียวกัน ทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย โตโต้ , ฉัตรชัย แก้วคำปอด หรือ “ทนายแชมป์” วิศรุฒ สวสดิ์วร และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน

กลุ่มเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตยได้จัดกิจกรรม “SURIN DEMOCRACY ปลุกความเป็นราษฎรในตัวคุณ III” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เครดิตภาพกลุ่มเยาวชนสุรินทร์ฯ

เยาวชนสุรินทร์จัดกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย

ส่วนที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตยได้จัดกิจกรรม “SURIN DEMOCRACY ปลุกความเป็นราษฎรในตัวคุณ III” ณ สวนใหม่ หรือ สวนเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุรินทร์ 

ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนท์” ดาวดิน เวทีปราศรัยว่า ในฐานะที่เป็นคน จ.สุรินทร์ ขอใช้เวทีนี้เพื่อตอบแทนบ้านเกิด ซึ่งในยุคของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่ คุกคามคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่งไม่ว่าคดี 116 ยุยงปลุกปั่นหรือคดี 112 โดยกล่าวหาว่า คนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิคือ คนที่หมิ่นสถาบันกษัตริย์

“พระพุทธเจ้ามีคนศรัทธามา 2500 กว่าปี ไม่เคยเห็นต้องใช้มาตรา 112 บังคับ เพราะคนมันจะรัก ปั่นจักรยานเขาก็รัก และที่ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพราะสถาบันกษัตริย์ตอนนี้อยู่ห่างไกลจากคำว่า ประชาธิปไตยจึงต้องปฏิรูปไม่ใช่ล้มล้าง เพื่อให้สถาบันกัตริย์เข้าใกล้กับคำว่าประชาธิปไตยและประชาชนมากขึ้น เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน”ไนท์ ดาวดิน กล่าว

ภานุพงษ์ ยังเน้นย้ำให้รัฐปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของคณะราษฎร 2563 ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย 

กิจกรรมดังกล่าวยังมีการเปิดเวทีให้ผู้ชุมนุมร่วมปราศรัยบนเวที เพื่อสะท้อนถึงปัญหาของตน โดยมีนักเรียนปราศรัยถึงระบบการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำว่า การศึกษาที่ดีกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกระเทพฯ ทำให้เด็กต่างจังหวัดต้องเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับเด็กต่างจังหวัด

“ทำไมการศึกษาจึงไม่เท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาไทยไม่ได้ตอบโจทย์กับผู้เรียน”ผู้ปราศรัยตั้งคำถาม

ป้ายข้อความเชิญร่วมกิจกรรม “SURIN DEMOCRACY ปลุกความเป็นราษฎรในตัวคุณ III” ของกลุ่มเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย

ปฏิรูปการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม 

ส่วนแยม (นามสมมุติ) หนึ่งในนักเรียนผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นปราศรัยโดยตั้งคำถามถึงรัฐสวัสดิการว่า ทำไมสวัสดิการที่ดีจึงมีเฉพาะอาชีพข้าราชการ แต่ไม่มีในทุกอาชีพ ทั้งที่เราก็เรียนมาเหมือนกันและจ่ายค่าเทอมเท่ากัน อีกทั้งคนที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นเด็กเรียนเก่ง คือ คนที่เรียนสายวิทย์-คณิต เท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ล้าหลัง ทั้งที่เด็กมีความสามารถไม่เท่ากัน ทำให้เด็กเหล่านั้นถูกปิดกั้นการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดี

เธอยกตัวอย่างว่า อย่างกรณีที่เด็กคนหนึ่งต้องการสอบเข้าคณะสถาปัตย์ฯ แต่ไม่มีสอนในโรงเรียนว่า ต้องวาดรูปอย่างไรถึงจะสอบเข้าสถาปัตย์ฯ ได้ ทำให้เด็กต้องเสียเงินเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มทักษะ ซึ่งทำให้ตนรู้สึกผิดหวังกับระบบการศึกษาไทยมาก

 “ตอนนี้เด็กไทยหลายคนมีปัญหา เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร พอปรึกษาพ่อ แม่ ก็มีคำได้รับคำแนะนำให้เป็นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการดีและเงินเดือนมั่นคง นี่จึงเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย”เธอปราศรัย

ทั้งนี้หลังจากการปราศรัยฟรีเวทีของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเสร็จสิ้น ผู้จัดได้กล่าวปิดกิจกรรม แล้วร่วมกันเก็บขยะในพื้นที่ชุมนุมและยุติการชุมนุมเวลา 22.30 น.

ก่อนจัดกิจกรรมสมาชิกกลุ่มกลุ่มเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตยได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่จัดกิจกรรมกับองค์การบบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ (อบจ.) เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ดูแล และทาง อบจ. ได้ขอให้ทางผู้จัดกิจกรรมเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการชุมนุม จากกิจกรรมประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ให้เป็น ดนตรีวัฒนธรรมเพื่อสังคม และเจ้าหน้าที่ อบจ. ได้สั่งให้แก้ไขข้อความถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่าไม่อยากให้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเมือง จนผู้จัดงานยอมให้แก้วัตถุประสงค์จึงสามารถขอใช้พื้นที่ได้

image_pdfimage_print