วีรวรรธน์ สมนึก เรื่อง

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ

“ทุกวันนี้ไม่มีแดด ไม่มีพื้นที่โล่งเตียนเหมือนเมื่อก่อน มันส่งผลกระทบให้เราต้องเลี้ยงควายน้อยลง”

“หอยขม หอยปัง ที่เคยกินมันหายไปหมดเลย อยากกินหอยสิตาย กะบ่ได้กิน”

“ทั้งสองเป็นคนสุดท้ายที่ต้มเกลือในหมู่บ้านนี้ ก่อนจบอาชีพก็พยามหาที่ดินบนโคกทำเกลือ แต่ก็กินแล้วรสชาติไม่ดี เพราะขม ไม่เหมือนเดิม”

เป็นเสียงสะท้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล 

คำว่า ‘Buffet Cabinet’ ถูกบรรจุในสารานุกรมการเมืองไทย เมื่อรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (2531 – 2534) ถูกข้อครหาว่า เป็นรัฐบาลคอร์รัปชั่นและแบ่งเค้กเงินก้อนโตผ่านโครงการขนาดน้อยใหญ่ที่ตัวเงินมักผันไปถึงบุคคลในรัฐบาลจนหลายคนร่ำรวยผิดปกติ

สิ่งละอันพันละน้อยในหลากโครงการที่รัฐบาลยุค “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นั่นคือ การอนุมัติโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล อันเป็นเมกะโปรเจคต์ เกี่ยวกับแหล่งน้ำในภาคอีสาน ซึ่งวางแผนตั้งแต่ปี 2535 – 2576 รวม 42 ปี เป็นเม็ดเงินมหาศาลกว่า 228,8000 ล้านบาท

ปี 2536 เขื่อนคอนกรีตตั้งตระหง่านเป็นประตูระบายน้ำ 7 บาน กั้นแม่น้ำมูลที่บ้านห้วย – บ้านดอน อำเภอราษีไศล คือ หนึ่งจาก 22 เขื่อนของการลงทุน 

ตอนแรกใครต่อใครในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลต่างได้รับข้อมูลเพียงว่า รัฐจะเข้ามาสร้างฝายยางเพื่อเป็นฝายยางเก็บน้ำไม่เกินตลิ่ง แต่เมื่อก่อสร้างจริง กลับเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก 

หลังรถแม็คโครคันแรกขุดเจาะลงพื้นดินเพื่อขยายขนาดความลึก วิถีของลูกแม่น้ำมูลในป่าทาม ในอำเภอราษีไศลและบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งอำเภอรัตนบุรีและท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอโพนทราย ร้อยเอ็ด อันเป็นรอยต่อ ติดเขื่อนราษีไศลก็เปลี่ยนผันไปตลอดกาล

หลายเสียงหลากชีวิตต่างบอกเล่าถึงวันวานอันขมขื่นและแฝงเร้นด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ แม้จะผ่านไปนานแต่ความทรงจำยังตราตึงเป็นภาพติดตายากจะลืม เพราะเป็นสิ่งที่คนลูกแม่น้ำมูลไม่อยากให้เกิดกับใคร ที่ไหนอีก

เกลือที่เกิดจากการต้มของครอบครัว “เกตุศิริ” อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

คนต้มเกลือ 2 คนสุดท้ายแห่งลุ่มน้ำมูล

ลี เกตุศิริ วัย 84 ปี เล่าด้วยสำนวนอีสาน-สุรินทร์ว่า เดิมอาศัยอยู่ที่บ้านโนนกลาง ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ก่อนมาแต่งงานกับพุฒ เกตุศิริ ตอนที่ตัวเองอายุ 30 ปี แล้วก็อาศัยอยู่หมู่บ้านดอนแรดนับตั้งแต่ตอนนั้น 

“อาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ คือ การทำนา ก่อนจะลงเกี่ยวข้าวต้องต้มเกลือเป็นอาชีพเสริม”ลีบอก  

พุฒ เกตุศิริ วัย 67 ปี กล่าวเสริมว่า เธอรู้จักอาชีพต้มเกลือตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เป็นอาชีพของครอบครัว นอกจากนี้ยังหากินกับป่าบุ่งป่าทามตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะไม่มีนาโคก มีแต่นาทามที่ติดกับน้ำ อาศัยไปทำนาทามและต้มเกลือ แล้วหาหน่อไม้ หามัน หาผือ หาหอย หากบ หาปลา สารพัดอย่าง เพราะที่นี่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์  

“พูดง่ายๆ ว่า ที่นี่เป็นตู้กับข้าว ตู้เย็น อยู่ที่ทาม ยิ่งปีไหนน้ำท่วมที่นาก็หาอาหารไปแลกข้าวกินและทำเสื่อจากผือ เก็บกกไว้ทอเสื่อ”พุฒเล่าถึงความทรงจำในอดีต 

ลีเล่าต่อว่า เมื่อก่อนคนที่นี่จะหากิน 2 ฤดู คือ หน้าน้ำจะทำนา ส่วนหน้าแล้งจะต้มเกลือ แล้วเก็บผักหักฟืนในป่าทาม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว พอสร้างเขื่อนราษีไศลตั้งแต่ปี 2535 ทุกอย่างก็หายหมด ทั้งพืชและสัตว์ เพราะใบไม้เน่าจากน้ำท่วม ทำให้พืชพันธุ์และสัตว์ที่เคยหาได้ตายหมด 

“คงเป็นเพราะน้ำมามากเกินไป แล้วระดับน้ำก็ไม่คงสภาพเดิม เปลี่ยนเป็นน้ำเค็ม น้ำกร่อย พอน้ำหลากมาก ใบไม้ก็เน่าและน้ำในป่าทามก็เสียหาย”ลีเล่าถึงผลกระทบยาวเป็นหางว่าว 

ไม่เฉพาะเพียงการต้มเกลือเท่านั้นที่ทำให้วิถีชีวิตของคนที่นี่เปลี่ยนไป หากลองเดินจากหมู่บ้านดอนแรด ไปบริเวณริมเขื่อนด้วยระยะทางหนึ่งกิโลเมตร คือ พื้นที่ต้มเกลือของชาวบ้าน 

“เมื่อก่อนต้มเกลือทีละ 10-20 คืน ได้มาครั้งละ 30-40 ปุ๋ย จากนั้นก็นำไปแลกข้าวหรือขายตามหมู่บ้านที่ไม่ได้ต้มเกลือ เริ่มขายตั้งแต่ราคาถ้วย (ตราไก่) ละ 1 สลึง 4 ถ้วย 1 บาท ก็เอาเร่ไปขายถึงอำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้วันละ 4-5 บาท”ลีเล่าวิถีของคนขายเกลือย้อนไป 40 ปีก่อน 

พุฒ (ซ้าย) และ ลี เกตุศิริ (ขวา) คู่สามีภรรยา อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล ทั้งคู่สูญเสียอาชีพการต้มเกลือ 

28 ไร่ที่สูญไป…หลังเขื่อนมา 

ชายวัย 84 ปียังบอกอีกว่า สมัยก่อนไม่ต้องไปรับจ้างที่ไหน เพราะนาทามมีทุกอย่าง ไม่ต้องซื้อของกิน ลูกๆ ก็อยู่บ้านไม่ต้องไปไหน 

ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 6 คน เสียชีวิตไป 2 คน ตอนลูกคนแรกเกิดพวกเขายังคงต้มเกลือและทำเรื่อยมากระทั่งเมื่อ 2562 เพราะพื้นที่บริเวณที่เรียกว่า “บ่อห้วยไผ่” ที่ชาวบ้านลงไปทำเกลือก็ถูกทำลาย เพราะสภาพเกลือไม่เหมือนเดิม 

ทั้งคู่สลับกันเล่าอีกว่า เมื่อก่อนจะไปช่วงแล้งประมาณปลายมีนาคมถึงปลายเมษายน โดยไปตั้งแคมป์อยู่บ่อห้วยไผ่เป็นเดือนๆ พอฝนตกมาประมาณเดือนพฤษภาคมก็เก็บกลับ มีคนที่ทำได้ 100 กระสอบก็มี เพราะต้มทั้งกลางวันและกลางคืน ที่ตอนนี้ทำเป็นฝายเป็นสถานีผ่านน้ำทำให้เกลือหายไป

ในตำบลดอนแรด มีหมู่บ้านที่ต้มเกลือ คือ บ้านหนองน้ำใส หนองหิน และโนนกลาง  3 หมู่บ้าน  มีประมาณ 20-30 ครอบครัวได้ ส่วนมากเป็นครอบครัวที่ไม่ได้มีที่นาพอที่จะทำกินได้

“ตอนที่รัฐจะสร้างเขื่อนที่ฝั่งอำเภอรัตนบุรี พวกเราไม่ได้มีข้อมูลอะไรเลย เพราะเขาทำประชาคมในฝั่งตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล ถ้ารู้ก็คงไปทักท้วงแล้ว เพราะสุดท้ายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเยอะที่สุด คือ อำเภอรัตนบุรีกับอำเภอท่าตูม แต่เวลาสร้างเขาคุยกันที่ราษีไศล”เป็นคำบอกเล่าของลีที่ยังพอจะจำขั้นตอนก่อนสร้างเขื่อนได้ 

ตอนที่สร้างเขื่อน ที่ดินของพุฒิประมาณ 28 ไร่ ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ทำให้พวกเขาไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้  

ทั้งสองเป็นครอบครัวสุดท้ายที่ต้มเกลือในหมู่บ้านแห่งนี้ ก่อนจบอาชีพก็พยายามหาที่บนโคกเพื่อทำเกลือ แต่พอลองชิมแล้วรสชาติกลับไม่ดี เพราะขม ไม่เหมือนเดิม เกลือทามและเกลือโคกนั้นแตกต่างกันมาก สาเหตุจากการเป็นเอือด แร่โโพแทสเซียมน้อยกว่าเกลือทาม

หลังจากนั้นลีและพุฒิต้องใช้เกลือตลาดมากินใช้ในครัวเรือน แต่สำหรับคนเคยต้มเกลือก็ต้องขวนขวายหาเกลือทามมากิน เพราะเคยชินกับเกลือทามมากกว่า เช่นเดียวกับคนที่นี่ก็มีความรู้สึกไม่ต่างกัน มีบางคนที่มาขอซื้อ ขอแบ่ง เพราะครั้งสุดท้ายที่ต้มไว้ยังคงเหลืออยู่ 2 ไห 

 “บางคนกินเกลือตลาดแล้วคัน หลักๆ คือ ก็เอาไปประกอบอาหาร ใส่เกลือทามเพื่อชูรสอาหารไม่ว่าจะเป็นตำรับแกงต่างๆ ไม่ต้องใส่น้ำปลา เพราะเมื่อก่อนไม่มีน้ำปลา รสชาติก็จะไม่เค็มจัด เค็มพอๆ”ลีบอก 

ส่วนลูกๆ ก็ช่วยกันต้มเกลือมาตั้งแต่เด็กๆ โดยไม่ต้องไปทำงานรับจ้างที่อื่น แต่พอมีเขื่อนมทุกคนก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหางาน ทั้งรับเหมา กรรมกร เป็นต้น ถ้าไม่มีเขื่อนก็คงไม่มีใครต้องไปใช้ชีวิตที่อื่น เพราะหาอยู่หากินง่าย”ลีโอดครวญ 

“ค่าชดเชยที่ไดเมื่อปีรอบที่ 3 ปี 2552 (ขณะนี้ปี 2563 จ่ายไปแล้ว 9 รอบ) ไร่ละ 32,000 บาท ก็แบ่งให้ลูกๆ หลานๆ ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ไปหมด ลูกๆ ก็รู้ว่าเราอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวในนามสมัชชาคนจนปี 2538 เขาก็อยากต่อสู้ด้วย ถ้าเราเข้ากรุงเทพฯ เขาก็แวะไปหา ไปส่งน้ำ ส่งข้าว”พุฒิกล่าว

ผู้เฒ่าทั้งสองยอมรับว่า ทุกวันนี้ หากินลำบากมาก เพราะปลากิโลกรัมละ 40 บาท ต้องซื้อทุกอย่างกิน ไม่สามารถหาอะไรได้ในธรรมชาติแบบเดิม อาหารแพงขึ้น เครื่องมือทำการประมงแพงขึ้นด้วย ตอนนี้พวกเขาทำได้เพียงรอเงินจากลูกที่ค้าแรงงานที่กรุงเทพฯ และรับเบี้ยคนชราที่ได้เพียงน้อยนิด และต้องเลี้ยงหลานอีก 2 คน แต่พวกเขาก็พยายามดิ้นรนด้วยการปลูกผัก อย่าง มะเขือ มะละกอ ที่สร้างรายได้ไม่ถึง 100 บาทต่อวัน แต่ก็พอได้เงินให้หลานไปโรงเรียน

ฝูงควายของชาวบ้าน จ.ร้อยเอ็ด กำลังลงดื่มน้ำในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้าน แต่ถูกน้ำท่วมหลังจากการสร้างเขื่อนราษีไศล

จากป่าทามถึงเขื่อนราษีไศล

ส่วนจัด จิตรัมย์ วัย 78 ปี ชาวบ้านหนองตอ ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ บอกว่า ตั้งแต่เรียนจบชั้น ป.4 ก็ทำนาในป่าบุ่งป่าทามที่มีกว่า 30 ไร่ มาโดยตลอด ชีวิตของเขามักใช้ประโยชน์จากป่าทามด้วยการเก็บผัก หาปลาและปลูกข้าวไว้กิน ถ้าเหลือจึงแบ่งปันในหมู่เครือญาติ พี่ น้อง 

กระทั่งมีการสร้างเขื่อนเมื่อปี 2535 ก็ทำให้ชีวิตของครอบครัวเปลี่ยนไปตลอดกาล จากที่เคยหากินในป่าบุ่ง ป่าทาม ได้ง่ายดายก็เริ่มลำบากขึ้น เขามีลูก 5 คน (เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน) พอลูกๆ โตก็เข้าไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ เพราะไม่มีที่ทำกิน 

“ตอนที่เขาสร้างเขื่อน เขา (รัฐ) ก็มาถามว่าเดือดร้อนไหม จะให้บอกว่ายังไงล่ะ เขาก็บอกว่าจะแก้ไข แต่มันก็แก้ไขไม่ได้แล้ว ตอนแรกเจ้าหน้าที่มาบอกว่า แค่สร้างฝายยาง พอสร้างเสร็จกลับกลายเป็นเขื่อนคอนกรีต 7 ประตู หอยขม หอยปัง ที่เคยกินมันหายไปหมดเลย อยากกินหอยสิตาย กะบ่ได้กิน”จัดบ่นจ่มไปตามความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น 

“หลังเขื่อนมาชาวบ้านก็อยู่อย่างลำบาก คนที่เคยหากินตามป่าทาม ต้องซื้อกับข้าวจากรถเร่ รถพุ่มพวง ปลาดุกและกบที่เคยหาได้จากธรรมชาติก็กลายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงแล้วเอามาขาย”เป็นความลำบากอีกอย่างหนึ่งที่จัดประสบพบเจอ  

เมื่อป่าทามหายไปพร้อมกับการสร้างเขื่อน พืชพันธุ์และสัตว์น้ำหายไปเกลี้ยง 

“ผมอยากกินหอยขม (หอยจุ๊บ) จะตายก็หาไม่ได้ แต่ก่อนไปกินข้าวอยู่ป่าทาม นี่ได้กินตลอด ทุกวันนี้แม้แต่หาซื้อยังจะยากเลย เพราะมันไม่มี ทุกวันนี้ต้องคอยให้ลูกๆ ที่ไปทำงานกรุงเทพฯ ส่งเงินมาให้มัน”เขากล่าว

น้ำท่วมนา…ไม่เหลือมรดกให้ลูกหลาน 

สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว “จิตรัมย์” มากที่สุด คือ เมื่อมีเขื่อน สมาชิกในครอบครัวแทบไม่ได้เห็นหน้ากัน ทำให้ขาดความอบอุ่น 

“ปกติลูกเต้าก็ต้องอยู่กับพ่อกับแม่ แต่ทุกวันนี้ต้องอยู่กันแค่ 2 ผู้เฒ่า อย่างเหงาๆ เมื่อก่อนก็เคยไปร่วมคัดค้านเขื่อนบ้าง อยากไปบอกเขาว่า มันมีปัญหาและอยากให้ทางรัฐบาลเยียวยาบ้าง”ชายวัย 78 บอกเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อน  

จัดมีที่นาจำนวน 31 ไร่ หลังเขื่อนราษีไศลถูกสร้างขึ้น ที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดก็หายวับไปกับ แม้ต่อมาปี 2552 เขาจะได้รับเงินเยียวยาไร่ละ 32,000 บาท แต่หากเทียบกับคุณค่าทางจิตใจแล้วเขาบอกว่า 

“มันไม่คุ้มค่า พวกเราอยากได้ค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพและอยากให้ฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนมา เพราะมันไม่ได้สูญเสียแค่รุ่นพ่อรุ่นแม่เท่านั้น แต่มันเสียไปจนถึงรุ่นลูกหลานเลย”ผู้เฒ่าวัย 78 ปีกล่าวและว่า “ถ้ามีที่ดินไว้ทำกินจนถึงทุกวันนี้ เราไม่ต้องไปซื้อเขากิน ครอบครัวไม่ต้องแยกย้ายกันไปที่อื่น ถ้าเลือกได้ อยากให้นาทามที่สมบูรณ์แบบเดิมกลับมาดีกว่า ปูปลา นาน้ำ ไม่ได้ซื้อเลย”

เขาบอกอีกว่า ก่อนจะสร้างเขื่อนราษีไศลเจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่า เขื่อนแห่งนี้จะสร้างเจริญให้กับชุมชน ถ้ามีความเสียหายในป่าบุ่ง ป่าทามก็จะชดเชยให้ ทำให้ตอนแรกที่เจ้าหน้าที่มาอธิบาย เขาและครอบครัวไม่ได้ออกจากพื้นที่ทันที แต่สุดท้ายก็ต้องย้ายออก เพราะน้ำท่วม 

“ความรู้สึกตอนที่ต้องทิ้งที่นาข่อยรู้สึกเลยว่า มันไม่มีโอกาสจะเหลือไว้เป็นมรดกไว้ให้ลูกหลานอีกแล้ว”จัดกล่าวด้วยเสียงแผ่วเบา 

พื้นนาของจัดห่างจากหมู่บ้านหนองตอไปประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้กลายเป็นท้องน้ำ 

“ตอนนั้นก็ทำใจเลยว่า ไม่มีที่ทำกินแน่ๆ ถ้าจะมานั่งเฉยๆ คงไม่ได้อะไร คนเราต้องดิ้นรนต่อ แม้ตอนนั้นจะมีหนี้จากการทำนา แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพราะลูกๆ ให้เลิกทำ”

นับจากวันนั้น “จัด” ก็ไม่ได้ไปผืนนาที่ถูกน้ำท่วมอีกเลย 

“ค่าชดเชยที่ได้มันไม่คุ้มค่า อยากได้ป่าทามกลับมา” ลัดดา พันธุ์ไพร ชาว จ.ร้อยเอ็ด ที่มีอาชีพเลี้ยงควายในป่าทาม 

วันที่แสงแดดส่องไม่ถึงทาม คนเลี้ยงควายต้องเคลื่อนย้ายวิถี

ส่วน ลัดดา พันธุ์ไพร ชาวบ้านเหล่าข้าว ตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด วัย  66 ปี อาชีพเลี้ยงควาย เล่าว่า อยู่หมู่บ้านนี้มาตั้งแต่เกิด อาชีพแรก คือทำนาและต้องใช้ควายไถนา เพราะไม่มีเครื่องจักร พอได้มรดกเป็นควายจากครอบครัว 1 ตัวเป็นตัวเมียจึงเลี้ยงมาเรื่อยๆ  

ปกติเธอจะนำควายไปเลี้ยงในป่าทาม หน้านาชาวบ้านละแวกนี้จะทำนาที่ป่าทามหมด ส่วนควายก็จะกินหญ้าในป่าทาม เวลาไถนาเสร็จก็จะผูกควายไว้ แล้วทำนาต่อและย้ายที่ให้มันไปเรื่อย

กว่า 27 ปีที่เลี้ยงควาบในป่าทาม ลัดดาเคยมีควายสูงสุดถึง 84 ตัว 

การหาอยู่ หากินในป่าทาม นอกจากการเลี้ยงควาย คือ การนำแหไปปลา โดยไม่ต้องซื้อหาของกิน 

เทียบกันกับสมัยก่อนสร้างเขื่อน คนเลี้ยงควายก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะพื้นที่ที่เคยเลี้ยงควายถูกน้ำท่วมหมด และไม่สามารถเลี้ยงควายได้ เพราะควายมันเข้าไปไม่ได้ 

“ตอนนี้ไม่มีพื้นที่ให้หญ้างอกขึ้น ไม่มีพื้นที่โล่งเตียนเหมือนเมื่อก่อน มันทำให้เราต้องเลี้ยงควายน้อยลง และต้องหาหญ้าเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่มีอาชีพอื่น ตอนนี้คนเลี้ยงควายก็น้อยลง ทั้งหมู่บ้านเหลือเพียง 3 คอกเท่านั้น มีบ้านเราที่มีเยอะที่สุด คือ 10 ตัว”  

หลังพื้นที่ป่าทามถูกน้ำท่วม เธอต้องเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงควาย ด้วยการเดินต้อนควายห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3-4 กิโลเมตร เพื่อหาหญ้า ให้เพียงพอกับจำนวนควายที่มี 

นอกจากผลกระทบจากพื้นที่การเลี้ยงควายแล้ว ที่นากว่า 3 ไร่ของเธอยังหายไปพร้อมกับการสร้างเขื่อน แม้จะได้รับค่าชดเชยจากรัฐ แต่คำตอบที่ปากลัดดาคงไม่แตกต่างเพื่อนบ้านคนอื่นๆ คือ 

“ค่าชดเชยที่ได้มันไม่คุ้มค่า อยากได้ป่าทามกลับมา”เธอกล่าวอย่างไร้ความหวัง  

image_pdfimage_print