เอาเขื่อนราษีไศลออกไป เอาธรรมชาติคืนมา (7)

แม้มหากาฬการเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าชดเชยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษที่สูญเสียที่ดินทำกินจากโครงการฝายราษีไศล (เขื่อนราษีไศล) นานกว่า 30 ปี จะจบลงด้วยการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอนุมัติเงินกว่า 600 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มสุดท้ายเมื่อปี 2562 

แต่สำหรับ ประดิษฐ์ โกศล หนึ่งในผู้สูญเสียที่ดินทำกินกว่า 50 ไร่ ใต้เขื่อนราษีไศล บริเวณบ้านห้วย อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กลับบอกว่า ที่ดินทำกินสำคัญกว่าเงินชดเชย

“จริงๆ ไม่ได้อยากได้ค่าชดเชย แต่อยากได้ที่ดินทำกินกลับคืนมา”ประดิษฐ์กล่าว 

ไร่ปอ ถือเป็นหนึ่งในพืชที่ชาวบ้านที่ทำมาหากินในที่ดินที่ปัจจุบันกลายเป็นเขื่อนราษีไศลนิยมปลูกเพื่อขายกัน ภาพโดย ลุก ดักเกิลบีย์

เงินค่าชดเชยหายวับในหนึ่งปี

เงินชดเชยที่ประดิษฐ์ได้จากรัฐบาลจำนวนหนึ่งล้านกว่าบาท เมื่อปี 2552 ถูกนำไปใช้หนี้และไถ่ถอนที่ดินที่ติดจำนองคืน ทำให้เงินที่ได้มาหมดไปภายในปีแรก 

สำหรับประดิษฐ์แล้ว เงินชดเชยจำนวนนี้น้อยนิด หากเทียบกับนาข้าว ไร่ปอที่เขามีกว่า 50 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและรายได้ถึงปีละ 40,000 – 50,000 บาทให้กับเขาและครอบครัวมานานกว่า 20 ปี 

“ถ้าผมยังมีที่ดินจนถึงทุกวันนี้ ผมเชื่อว่า ชีวิตผมจะดีกว่านี้” ประดิษฐ์กล่าวและกล่าวต่อว่า “ที่ดินจำนวนมากขนาดนี้ผมสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ แม้ไม่มากแต่ก็มีกิน มีใช้ตลอดทั้งปี” 

แม้ปัจจุบันประดิษฐ์และครอบครัวจะไม่มีที่ดินทำกิน แต่ครอบครัวเขาก็มีรายได้จากการทำงานของลูกที่ไปทำงานกรุงเทพฯ 

ประดิษฐ์ เล่าว่า ยังมีอีกหลายคนที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเขา บางคนสูญเสียที่ดินจนต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ไปรับจ้างที่กรุงเทพฯ หรือย้ายที่อยู่อาศัยเลย

“บางคนที่สูญเสียที่ดินแล้วย้ายไปทำงานที่อื่น ถ้าตกงานแล้วกลับมาบ้านก็ไม่มีอาชีพ เพราะพ่อ แม่ พี่ น้อง ไม่มีที่ดินทำกินแล้ว” ประดิษฐ์กล่าว

“น้าชาติ” กับโครงการโขงชีมูล 

ปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในภาคอีสานเป็นเหตุผลที่รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผลักดันโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ด้วยการสร้างฝายยางภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐบาลเพื่อกักเก็บน้ำ 

“เสียดาย พวกเราน่าจะต่อต้านโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มแรก”

ผา กองธรรม อายุ 69 ปี กล่าว เธอเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เคยสนับสนุนให้รัฐบาลสร้างโครงการ แต่หลังจากนั้นเธอได้กลายมาเป็นแกนนำต่อต้านเขื่อนคนสำคัญ  

เธอกล่าวอีกว่า ไม่ใช่เพียงแค่เธอเท่านั้นที่เปลี่ยนจากผู้สนับสนุนมาเป็นผู้ต่อต้าน แต่ยังมีชาวบ้านอีกกว่า 200 หมู่บ้านในจังหวัดศรีสะเกษ และสุรินทร์ร่วมด้วย

“ช่วงปี 2532 นั้นเชื่อผู้นำ เขาบอกว่าโครงการนี้จะทำให้เราทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง เพราะมีน้ำในการทำนา ซึ่งเราก็ดีใจ เพราะช่วงนั้นทำนาได้ปีละครั้ง เพราะไม่มีน้ำเขายังบอกว่าถ้ามีน้ำก็จะมีปลามากขึ้น แต่สุดท้ายน้ำท่วมที่นา ปลาก็หายากขึ้น เพราะน้ำลึก” ผากล่าว

เธอกล่าวว่า ผู้นำหมู่บ้านไม่พูดข้อเสียของโครงการนี้ให้ฟัง อีกทั้งรัฐก็โกหกชาวบ้าน โดยเปลี่ยนแปลงโครงการจากที่จะบอกว่า จะสร้างแค่ฝายยางก็เปลี่ยนเป็นสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่แทน (rubber dam body)* จึงกักเก็บน้ำก็เปลี่ยนเป็นสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่

*ฝายยาง (rubber dam) คือฝายกั้นลำน้ำชนิดหนึ่งที่มีการสูบลมใส่ในยาง ให้พองตัว เพื่อขวางลำน้ำ น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้

สภาพเขื่อนราษีไศลในปัจจุบัน ภาพโดย ลุก ดักเกิลบีย์

เขื่อนมาพาเดือดร้อน 

ในที่สุดเมื่อปี 2536 เขื่อนคอนกรีตก็ตั้งตระหง่านด้วยบานประตูระบายน้ำ 7 บาน กั้นแม่น้ำมูลที่บ้านห้วย-บ้านดอน 

“พอปิดประตูเขื่อน น้ำก็ท่วมขังที่นาและที่เลี้ยงควาย อีกทั้งน้ำกลายเป็นน้ำเน่าเสีย อีกทั้งมีวัชพืชในช่วงที่น้ำขัง”ผา กล่าว

ผาเล่าอีกว่า หลังจากเขื่อนเริ่มเปิดทำการเมื่อปี 2535 ต่อมาปี 2536-2537 ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเริ่มปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วมที่นา ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นต้น 

“วิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยน ที่นาถูกน้ำท่วม ป่าที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายก็ถูกท่วม ที่ๆ เราเคยหาปลา หาหอย หว่านแหก็ถูกน้ำท่วม เมื่อน้ำลึกเราก็หาปลาไม่ได้ เพราะมีแค่เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่หาได้จากน้ำตื้นเท่าน้ัน”ผากล่าว

นอกจากนี้ งานวิจัยผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนของ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ระบุว่า บริเวณพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนราษีไศลยังมี ป่าบุ่ง ป่าทาม (Lowland floodplain forest) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งในภาคอีสาน โดยมีระบบนิเวศที่สำคัญต่อการเพาะพันธุ์ของปลาน้ำจืดถูกทำลายจากน้ำท่วมสูงไปด้วย 

“มีพันธุ์ปลากว่า 115 ชนิด  ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่น 79 ชนิด และปลาอพยพจากแม่น้ำโขง 33 ชนิด เป็นต้น ปัจจุบันปลาหลายสายพันธุ์สูญหายไป เพราะน้ำในเขื่อนท่วม เกาะแก่ง หนองขนาดเล็ก ที่เป็นที่วางไข่ของปลา อีกทั้งเขื่อนปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงที่มักจะอพยพมาวางไข่บริเวณนี้”

ส่วนหนึ่งในงานวิจัยผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนของ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ระบุ 

ผา กองธรรม หนึ่งในชาวบ้านที่ลุกออกมาต่อต้านการสร้างเขื่อนราษีไศลนานกว่า 20 ปี ภาพโดย ลุก ดักเกิลบีย์

จากความเรียบง่ายสู่ความสูญเสีย 

ก่อนที่จะมีเขื่อน วิถีชีวิตของผาและชาวบ้านระแวกนี้อยู่กันอย่างเรียบง่าย มีความสุข โดยเฉพาะช่วงหลังเกี่ยวข้าว แม่น้ำมูลจะแห้งเห็นหาดทรายมูลที่สวย ควายลงนอนน้ำ ชาวบ้านก็ลงจับหอย หาปลามาไว้เป็นอาหาร หรือไปเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย หาปู ปลา เก็บผัก หาฟืนมามาสะสมไว้ใช้ก่อไฟประกอบอาหาร

“แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว หาดทรายก็ไม่เห็น ควาย วัว ก็ไม่มี เปลี่ยนแปลงไปหมดเลย ผักที่เราเคยหาได้ หอยที่เราเคยหาได้ก็ไม่ได้แล้ว”ผากล่าว

ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนราษีไศลรวมตัวกันที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ในอำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2538 ภาพโดย สมาคมคนทาม

เรียกร้องค่าชดเชยจากผลกระทบ

ปี 2538 เริ่มมีผลกระทบจากการปิดประตูเขื่อน เช่น น้ำท่วมขังที่ทำกิน ขยายตัวไปหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอ ในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์​ ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ไม่พอใจจนเกิดการรวมตัวต่อต้าน

ผากล่าวว่า ตอนแรกเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มเล็กๆ ด้วยการไปยื่นหนังสือต่อทางอำเภอว่า กรมชลประทานโกหกชาวบ้านว่า จะสร้างฝายยาง แต่กลับสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่

แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่สามารถเรียกร้องให้เขื่อนหยุดได้ เพราะขณะนั้นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งและข้าราชการท้องถิ่นอีกหลายพันคนยังเชื่อว่า การมีเขื่อนดีต่อชีวิตพวกเขา

“เขื่อนทำให้น้ำท่วมที่ดินทำกิน เราต้องการที่ดินทำกินกลับคืนมา หากไม่ได้ที่ดินคืน รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียที่ดินทำกินให้พวกเรา” ผาย้อนเล่าถึงข้อเรียกร้องเมื่อ 20 ปีที่แล้ว  

แต่ในที่สุดทางการก็ไม่รับข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยอ้างว่า ที่ดินเหล่านั้นไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายจึงเป็น “ของหลวง”   

เมื่อทางการไม่มีวี่แววที่จะทุบเขื่อนทิ้ง ปี 2539 ผาและชาวบ้านกว่า 1,000 ครัวเรือนจึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ของรัฐในนาม “สมัชชาคนจน” กรณีเขื่อน 

กระทั่งปี 2540 รัฐจึงพิจารณาจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกินทำให้ผาและชาวบ้านได้รับรับค่าชดเชยเป็นครั้งแรก 

ปราณี มัคนันท์ หัวหน้าโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ภาพโดย ลุก ดักเกิลบีย์

รัฐต้องชดเชยค่าสูญเสียรายได้

แม้ปัจจุบันชาวบ้านจะได้ค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดินทำกิน แต่สิ่งที่รัฐยังไม่ได้จ่ายค่าสูญเสียโอกาสทำมาหากินนานนับ 10 ปี  

ปราณี มัคนันท์ หัวหน้าโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลของสมาคมคนทาม กล่าวว่า ขณะนี้ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังศึกษาข้อเท็จจริงจากสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์ป่าบุ่ง ป่าทามที่ถูกน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อนว่า สูญเสียไปมากน้อยแค่ไหนและจะให้รัฐชดเชยอย่างไร 

“ใครจะได้รับค่าชดเชยบ้าง ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อวางเงื่อนไขว่า จะจ่ายให้ใครบ้าง”ปราณี กล่าว

นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับภาคประชาชนในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของคนที่หากินในที่ดินทำกินใต้เขื่อนและรอบเขื่อนให้กลับคืนมา ​ 

“แม้ตอนนี้สถานะการครอบครองที่ดินใต้เขื่อนจะเป็นของรัฐ เพราะรัฐจ่ายค่าชดเชยแล้ว แต่พวกเราต้องการให้รัฐอนุญาตให้ที่ดินบริเวณนี้กลายเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้คนในชุมชนเข้าไปดูแลรักษา หาอาหาร ของป่าและเลี้ยงสัตว์เหมือนเดิม”ปราณี กล่าว

การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีต่อต้านเขื่อนราษีไศล ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2539 ภาพโดย สมาคมคนทาม

เอาเขื่อนออกไป เอาธรรมชาติคืนมา

ปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี โครงการเขื่อนราษีไศลยังคงเปิดทำการตามวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำช่วงหน้าแล้งไว้ให้ประชาชนทำการเกษตร แต่ก็มีชาวบ้านเรียกร้องให้มีการทุบเขื่อนทิ้งเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติให้กลับมาดังเดิม

“รัฐสร้างเขื่อนเก็บน้ำ แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ฉันอยากให้เอาเขื่อนออก เอาที่ดินเราคืน เอาธรรมชาติของเราคืนมา”ผากล่าว 

ผาบอกว่า หลังการสร้างเขื่อนชาวบ้านไม่ได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างที่ทางการกล่าวอ้าง ทั้งที่ก่อนจะมีเขื่อน ชาวบ้านก็มีระบบกักเก็บน้ำตามธรรมชาติตามกุด ตามหนอง ทำเป็นร่องน้ำเล็กๆ ที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ได้ 

“หนอง กุด บึง ที่มันเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ เวลาจะเอาน้ำขึ้นทำการเกษตรก็ใช้การวิดขึ้นมาใช้ พอน้ำระดับสูงขึ้น คนมีเงินก็ซื้อเครื่องสูบน้ำมาใช้ ก็สามารถทำนา ทำเกษตรได้ตลอดปีอยู่แล้ว” ผากล่าว 

การหาปลาเป็นอาหารและขายสร้างรายได้เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำมูลที่อำเภอราษีไศล ปัจจุบันปลาหลายสายพันธุ์สูญหายไป เพราะน้ำในเขื่อนราษีไศลท่วม เกาะแก่ง หนองขนาดเล็ก ที่เป็นที่วางไข่ของปลา อีกทั้งเขื่อนปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงที่มักจะอพยพมาวางไข่บริเวณนี้ ภาพโดย ลุก ดักเกิลบีย์

image_pdfimage_print