ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ อดีตผู้สื่อข่าว The Isaan Record เรื่องและภาพ

แว่วเสียงหายนะ 

เสียงเม็ดฝน ตกกระทบหลังคาสังกะสีที่พักตั้งแต่เช้ามืดกลางเดือนกันยายน ปี 2563 กลิ่นไอดิน ไอหญ้าป่าหอมสดชื่นพัดมาพร้อมกับลมเย็นเอื้อยๆ ในช่วงปลายฤดูฝน 

เสมือนของขวัญต้อนรับผู้มาเยือนให้หลงใหลกับวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ป่า เขา แม่น้ำ ของหมู่บ้านแห่งนี้ที่ตั้งในหุบเขา

บรรยากาศยามเช้าที่หมู่บ้านกลาง หมู่ 8 ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย หมู่บ้านชาวชาติพันธ์ุไท (ลาว) พวนที่ตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขา

แต่ช่วงเวลาเช้าตรู่วันนี้ แตกต่างจากเช้าตรู่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

“ช่วงนั้น ตื่นเช้ามาจะได้ยินเสียงเขาระเบิดหินและเจาะหิน เสียงมันจะดังตั้งแต่ก่อนเช้ามืด และเวลาหกโมงเช้าเป็นต้นไปก็จะได้ยินเสียงประชาสัมพันธ์ข้อดีของโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก หรือสำหรับชาวบ้านเรียกว่า เขื่อนศรีสองรัก” ธนูศิลป์ อินดา ผู้ใหญ่บ้านกลาง หมู่ 8 ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย เล่าย้อนความหลังเมื่อ 8 ปี 

แม้โครงการก่อสร้างจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านกว่า 8 กิโลเมตร แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่า เขา เงียบสงบทำให้ทั้งเสียงระเบิดหิน เจาะหินดังไกลมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ ของเขา

เสียงดังกล่าวไม่ได้แค่สร้างความรำคาญให้กับเขาและคนในหมู่บ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเท่านั้น แต่มันยังสร้างความกังวลใจว่า หากโครงการดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จ “หายนะอาจเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน”

พื้นที่ก่อสร้างโครงการประตูน้ำศรีสองรัก อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านกลางประมาณ 4 – 5 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้วประมาณร้อยละ 8 ของทั้งหมด

แก้ภัยแล้ง น้ำท่วม 

ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และปัญหามวลน้ำไหลมาจากทั่วทุกสารทิศที่ไหลจากลำห้วยต่างๆ ลงแม่น้ำเลยท่วมขังในพื้นที่จังหวัดเลย คือเหตุผลที่กรมชลประทาน ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2534 และศึกษาความเหมาะสมของโครงการเรื่อยมา จนเริ่มเปิดเวทีชี้แจงทำความเข้าใจโครงการกับคนในพื้นที่เมื่อปี 2556 และต้นปี 2561 กรมชลประทานจัดเวทีขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) เพื่อการก่อสร้างโครงการฯ และกำหนดการสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2566 

แบบจำลองโครงการประตูน้ำศรีสองรัก ภาพโดยกรมชลประทาน

ประตูน้ำจะทำหน้าที่ปิดกั้นเส้นทางน้ำระหว่างลำน้ำเลยกับลำน้ำโขง 

โดยช่วงฤดูน้ำหลากประตูจะทำหน้าที่เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเลยลงแม่น้ำโขง ส่วนช่วงน้ำโขงหนุนสูง ประตูจะทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำโขงไม่ให้ไหลเข้ามาในแม่น้ำเลยซึ่งจะทำให้น้ำในแม่น้ำเลยเพิ่มสูง อีกทั้งประตูน้ำยังจะทำหน้าที่เก็บกักน้ำในแม่น้ำเลยไว้ใช้ในฤดูแล้ง

กรมชลประทานชี้แจงว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรในฤดูแล้ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 44 หมู่บ้าน 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลเชียงคาน นาซ่าว ปากตม หาดทรายขาว เขาแก้ว จอมศรี และตำบลธาตุ อ.เชียงคาน ใน จ.เลย 

เหมือนจะเป็นเพียงภาพฝันที่สวยหรูของคนที่อาศัยและทำเกษตรอยู่บนที่สูงเท่านั้น ไม่ใช่คนในหมู่บ้านกลาง ซึ่งหมู่บ้านตั้งอยู่ในลักษณะภูมิประเทศราบลุ่มต่ำคล้ายกับแอ่งกระทะ โอบล้อมด้วยภูเขากับแม่น้ำ

น้ำอาจท่วมหมู่บ้านชาติพันธุ์ไทพวน

“บ้านกลาง” หมู่บ้านชาวชาติพันธุ์ลาวพวน เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไท ที่ใช้ภาษาพวน (คล้ายกับภาษาลาวในพื้นที่แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว) ในการสื่อสาร ปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด  403 ครัวเรือน รวมแล้วมีประชากรทั้งหมด 1,085  คน 

วิถีชีวิตเช้ามืดภายในบ้านชาวไทพวนในบ้านกลาง ที่ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อนึ่งข้าวเหนียว

“ตามประวัติหมู่บ้านที่เล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น คือ พวกเราเป็นชาวอพยพหนีสงครามจีนฮ่อมาจากบ้านเตาไห่ แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว เพื่อหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ที่มีแหล่งน้ำ ที่ดินเพาะปลูก เรามาที่นี่ก็เพราะมีแม่น้ำเลย บรรพบุรุษมาตั้งหมู่บ้านที่นี่” ธนูศิลป์เล่า

ที่ตั้งหมู่บ้านกลางรายล้อมด้วยภูเขา ในช่วงฤดูฝนบางปีฝนจะตกหนัก จนน้ำป่าจากภูเขาไหลหลากลงลำห้วยกลางหมู่บ้าน และทำให้น้ำท่วมหมู่บ้าน สวนยาง นาข้าวนี่จึงเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านกลางกังวลน้ำท่วมหมู่บ้านหากมีประตูน้ำ

บรรยากาศก่อนรับประทานอาหารเย็นของคนในชุมชนบ้านกลาง จ.เลย

แม้ธนูศิลป์ จะไม่ได้บอกว่า เมื่อสร้างประตูน้ำแล้วเสร็จจะเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านทันที แต่เพียงเขาแค่กังวลว่า ในช่วงฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก หากน้ำในอ่างเพิ่มสูงขึ้น และโครงการเกิดระบายน้ำไม่ทัน น้ำอาจล้นออกจากอ่างไหลมาสมทบกับน้ำป่าที่อยู่ในลำน้ำห้วยกอก ลำห้วยที่ตัดผ่ากลางหมู่บ้าน 

ในที่สุดน้ำอาจไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน ที่นา สวนยางพาราของชาวบ้านได้ 

“เรากังวลว่า ถ้าโครงการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด หายนะอาจจะเกิดกับหมู่บ้านของพวกเรา”ธนูศิลป์ กล่าว 

“ผมและชาวบ้านไม่ได้จินตนาการเอาเอง เราได้จากปากของหัวหน้าฝ่ายก่อสร้างโครงการกรมชลประทานที่ตอบคำถามชาวบ้านเรื่องน้ำจะท่วมว่า “คำตอบอยู่ที่คำถามอยู่แล้ว” เขากล่าวเพิ่ม

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการลุกฮือคัดค้านโครงการอย่างหนักของคนในบ้านกลาง  

พาข้าวหรือสำรับอาหารของชาวบ้านกลาง ที่มีน้ำพริกและผักลวก ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้าน

เคลื่อนไหวคัดค้าน

เมื่อความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดในหมู่บ้านมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ปี 2558 เป็นต้นมา ธนูศิลป์ ในฐานะผู้ใหญ่บ้านก็กลายเป็นแกนนำชาวบ้านบ้านกลางนำชาวบ้านไปร่วมกัน “กลุ่มฮักแม่น้ำเลย” กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านภายในตำบลปากตมที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ 

ช่วงนั้นเขาและคนในหมู่บ้านได้ยินเสียงตามสายที่ไซต์ก่อสร้างมักบอกแต่ข้อดีของโครงการ โดยอ้างว่า นี่คือโครงการพระราชดำริของในหลวงที่จะมาช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ชาวบ้านจะมีรายได้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะมีน้ำให้เพาะปลูก ผลผลิตจะดี 

“คำว่าพระราชดำริ ได้ถูกนำมาอ้างถึงความชอบธรรมเพื่อผลักดันโครงการ ผมมองว่า มันคือการโฆษณาชวนเชื่อว่า โครงการมีแต่สิ่งดีๆ ช่วงนั้นพวกผมไปร้องเรียนที่สำนักงานก่อสร้างว่าให้หยุดการประชาสัมพันธ์นี้” ธนูศิลป์กล่าว

นับตั้งแต่นั้นมา “กลุ่มฮักแม่น้ำเลย” ตระเวนยื่นหนังสือร้องเรียนขอรายละเอียดโครงการทั้งหมดทั้งข้อดีและผลกระทบด้านชุมชน สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้ง นายอำเภอเชียงคาน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, อธิบดีกรมชลประทาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น  

เพราะนอกจากความกังวลน้ำท่วมพวกเรามีอาชีพทำนาข้าว ทำสวนยางพารา ทำไร่ถั่วลิสง หากินทั้งหาอาหารและพืชตามลำห้วยกอกลำน้ำสาขาของลำน้ำเลยเป็นหลัก ส่วนทำงานรับจ้างทั่วไปและค้าขาย รับราชการส่วนน้อย

เขาเล่าอีกว่า ลำห้วยกอกจึงสำคัญกับชุมชนเรา เพราะเป็นแหล่งหากินช่วงน้ำลด ตาม เกาะ แก่ง สันดอน โขดหิน ชาวบ้านสามารถหาปลาโดยวิถีประมงพื้นบ้านได้ เรือหาปลาขนาดเล็กสัญจรได้

“ความกังวลนอกจากน้ำท่วมคือระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นชาวบ้านหากินลำบาก อีกทั้งน้ำไม่ไหลตามธรรมชาติ เพราะมีประตูน้ำปิดกั้นทางน้ำไหล ปลาลดลง ระบบนิเวศพัง นี่คือสิ่งที่เรากังวล”ธนูศิลป์ กล่าว

เมื่อปี 2561 จังหวัดเลยได้ตั้ง “คณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย” กลุ่มฮักแม่น้ำเลยเป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันแต่ดูเหมือนว่าความกังวลต่อผลกระทบของคนบ้านกลางยังไม่หมดไป

“กรมชลประทานไม่เคยยืนยันเลยว่า หากโครงการสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการ น้ำจะไม่ท่วมหมู่บ้านพวกเรา มีแต่บอกว่าไม่ท่วมแน่นอน แต่ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน” ธนูศิลป์กล่าว

น้ำท่วมใหญ่บาดแผลในจิตใจ

เหตุผลที่ชาวบ้านกลางกังวลน้ำท่วมหมู่บ้านเพราะพวกเคยเป็นผู้ประสบภัยและรับรู้ถึงความยากลำบาก การสูญเสียบ้านและผลผลิตทางการเกษตรมาแล้ว ทำให้พวกเขาไม่อยากเผชิญชะตากรรมเช่นนั้นอีก

“ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังหมู่บ้านเราเคยเกิดน้ำท่วมหนัก 2 ครั้ง ปี 2521 ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากมาแรง ท่วมหมู่บ้าน 3 วัน ปี 2545 ฝนตกหนัก 3 วัน 3 คืน น้ำป่าไหลหลาก ระดับน้ำในลำน้ำห้วยกอกเพิ่มสูง ไหลท่วมหมู่บ้าน น้ำมาแรงจนบ้าน 7 หลังที่อยู่ริมน้ำหายไปในพริบตา” ธนูศิลป์เล่า

เหตุน้ำป่าไหลหลากลงลำห้วยกลางหมู่บ้านกลาง เมื่อปี 2560 ทำให้เศษไม้ เศษขยะปิดกั้นทางไหลของน้ำที่สะพาน จนทำให้เกิดน้ำท่วมหมู่บ้าน ภาพโดยกลุ่มฮักแม่น้ำเลย

ชลประทานศึกษามาดี น้ำไม่ท่วม

ยุทธนา มหานุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 กล่าวในที่ประชุมเวทีสาธารณะชี้แจงโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก ที่ ศาลากลาง จ.เลยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ว่า หลังจากนี้ทางกรมชลพร้อมลงพื้นที่ตรวจวัดระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำและจะกักเก็บไว้เพื้อหน้าแล้งไว้ที่หมู่บ้านกลาง เพื่อยืนยันว่า น้ำจะไม่ท่วมหมู่บ้านกลางช่วงการกักเก็บอย่างแน่นอน เพราะเก็บน้ำอยู่ระดับลำน้ำธรรมชาติ

ส่วนความกังวลว่าช่วงฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากแล้วประตูระบายน้ำจะเปิดระบายน้ำไม่ทันนั้น กรมชลประทานยืนยันจะเปิดประตูระบายน้ำก่อนน้ำจะท่วมแน่นอนโดยจะมีการจัดเวรเจ้าหน้าที่ดูแลประตูระบายน้ำ 24 ชั่วโมง 

“เรายืนยันว่า โครงการของเราศึกษาทั้งข้อดีและผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมมาดีแล้ว อีกทั้งก็มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นทุกฝ่ายก่อนการดำเนินโครงการ” ยุทธนา กล่าว

“จำได้ว่า ช่วงที่น้ำท่วมปี 2545 ต้องขนย้ายของขึ้นที่สูง ในที่สุดน้ำก็ท่วมบ้าน นาข้าว ไร่มันสำปะหลัง สวนยางพาราแม่ เพราะบ้านและสวนอยู่ที่ที่ต่ำสุดของหมู่บ้าน” มุด อุ่นทุม หนึ่งในคณะกรรมการกลุ่มฮักแม่น้ำเลย หมู่บ้านกลาง ที่บ้านและไร่นาเคยถูกน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2545

มุด อุ่นทุม ชาวบ้านกลางที่เคยผ่านประสบการณ์อันโหดร้ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่บ้านและไร่นาเมื่อปี 2545

ความฝันที่ได้จับเงินเกือบแสนบาทหลังฤดูเก็บเกี่ยวของมุดหยุดลงกระทันหัน เพราะสวนยางพารากว่า 20 ไร่ของและนาข้าวกว่า 18 ไร่ แหล่งสร้างรายได้ให้ครอบครัวกว่า 70,000 – 80,000 บาทถูกน้ำท่วมเสียหาย ทำให้เป็นเหตุผลที่เธอและครอบครัวลุกขึ้นมาเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโครงการประตูน้ำ

“ที่นา ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข่าวโพด สวนยางพาราแม่อยู่ที่ต่ำที่สุดในหมู่บ้าน ตอนนั้นน้ำท่วมผลผลิตเน่าตาย สวนยางก็ถูกน้ำท่วม กรีดยาง” มุดเล่า

ไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่อยากย้ายออก 

สำหรับมุด หากกรมชลประทานยังยืนยันจะก่อสร้างโครงการฯ แล้วค่าชดเชยที่ดินทำกินและบ้านที่น้้ำอาจถูกจะท่วม เธอและครอบครัวคงไม่ยอมรับเงื่อนไข เพราะเธอและครอบครัวยืนยันจะอยู่ที่เดิม ที่ๆ เธอคุ้นเคย

“ถ้าย้าย อาจได้อยู่ในเมือง ห้องเช่าหรือบ้านจัดสรรก็คงอยู่ไม่ได้ ไม่คุ้นเคย ถ้าไม่ทำนา ทำไร่ จะไปทำมาหากินอะไร ให้ไปทำงานโรงงานหรือรับจ้างก็คงทำไม่ไหว เพราะแก่แล้ว” มุดกล่าว

“ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้สร้างเลย ให้หยุดเพราะว่าถ้าสร้างอาจเกิดผลกระทบต่อชุมชน” 

ธนูศิลป์ อินดา ผู้ใหญ่บ้านกลาง หมู่ 8 ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย ขณะเล่นกับหลาน

เช่นกันกับธนูศิลป์ หลายคนในหมู่บ้านที่ไม่ยอมอพยพไปอยู่ที่ใหม่ พวกเขาอยากมีชีวิตเหมือนเดิม มีบ้าน มีไร่นา ไว้ทำมาหากินมากกว่า “เงินค่าชดเชย”

“ถ้าได้เงินแสน เป็นล้านก็ต้องไปซื้อบ้านข้างนอก เงินก็หมดอีกทั้งไม่มีที่นา ที่ไร่ทำกิน หมดก็เดือดร้อน ต้องหายืมเป็นหนี้สิน ครอบครัวแตกแยก” ธนูศิลป์กล่าว

“แม่ก็คิดว่า เรามีที่ดิน ที่นา สวนยางพารา มีนาปลูกข้าวกิน ลงหาปลาในลำห้วย ก็มีความสุข อุดมสมบูรณ์แล้ว ไม่อยากอพยพทิ้งบ้าน ทิ้งคนรู้จัก ญาติพี่น้อง” มุดกล่าวเสริม  

ชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านจะไม่ยอมอพยพไปอยู่ที่ใหม่ หากกรมชลประทานยืนยันจะสร้างประตูระบายน้ำที่อาจทำให้หมู่บ้านพวกเขาน้ำท่วม

image_pdfimage_print