วีรวรรธน์ สมนึก เรื่อง

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

เย็นวันที่ 30 ตุลาคม 2563 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมการเมือง ขึ้นปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิว่า “ชัยภูมิที่เป็นบ้านเกิดของผม เป็นจังหวัดที่มีเขื่อนมากที่สุดในประเทศ แต่ทำไมจังหวัดนี้จึงมีปัญหาขาดแคลนน้ำแทบทุกปี” ถือเป็นข้อสงสัยว่า ในบรรดาโครงการเกี่ยวกับน้ำมากมายมหาศาลของภูมิภาคนี้ ที่ตั้งต้นมาจากภัยแล้ง กลายเป็นปัญหาอันน่าเคลือบแคลงของวาทกรรมแล้งที่ซ่อนอยู่

ความจริงจะเป็นเช่นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2530 อย่าง โครงการโขง ชี มูล ที่ส่งผลให้พื้นที่ภาคอีสานมีเขื่อนเพิ่มมากถึง 14 แห่ง แต่การณ์กลับยิ่งแย่ลง เมื่อปัญหาการขาดแคลนน้ำไม่ได้หมดไป หนำซ้ำยังนำพาปัญหามาให้ชาวบ้านและรัฐต้องร่วมกันแก้ไขอย่างไม่จบไม่สิ้น

นั่นจึงเป็นข้อใคร่ครวญและคำถามที่ภาคประชาชนด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต้องส่งเสียงออกไปถึงรัฐให้มากที่สุด เมื่อโครงการผันน้ำโขง- เลย- ชี -มูล เฟสแรก มีเป้าหมายเพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่บางส่วนของโขงอีสานและชี แล้วเติมน้ำลงเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจะมีการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 6 สาย เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.69 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด เลย ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ มูลค่าลงทุนประมาณ 157,045 ล้านบาท ระยะเตรียมการ 3 ปี ก่อสร้าง 6 ปี รวม 9 ปี

มาถึงวันนี้ จึงมีคำถามที่ว่า การสร้างความคุ้มค่าหรือปัญหาในระยะยาวมากกว่ากัน

โขง-ชี-มูล: บทเรียนจากวันวาน

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เล่าว่า โครงการโขง ชี มูล เป็นการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำภาคอีสาน ลุ่มน้ำชีกับลุ่มน้ำมูล รวมทั้งหมดประมาณ 14 เขื่อน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน จึงต้องมีการจัดการน้ำโดยใช้เขื่อนกั้นในลำน้ำ เช่น น้ำชี 6 เขื่อน อยู่ในส่วนของแม่น้ำมูลและลุ่มน้ำมูลรวมอีก 14 เขื่อน แต่แล้วนโยบายการจัดการน้ำ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โครงการโขง ชี มูล กลายเป็นบทเรียนการจัดการน้ำที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่

ความน่ากลัวของโครงการโขง ชี มูล สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายที่นักการเมืองผลักดันเข้ามาเพียงเพราะมองว่า อีสานแห้งแล้ง จากนั้นก็ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามา แบ่งเป็น 3 ระยะ สำหรับระยะแรก คือ การสร้างเขื่อนในน้ำชีและน้ำมูล ระยะที่ 2 เริ่มผันน้ำโขงเข้ามาเติมในเขื่อนอุบลรัตน์ แล้วกระจายไปยังน้ำชีกับน้ำมูล ส่วนระยะที่ 3 คือ การใช้น้ำสำหรับภาคการเกษตรภายในประเทศ นั่นก็คือการทำนา ทั้งหมดเป็นความพยายามในการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ 

“ผลที่ตามมา คือ ชาวบ้านที่อาศัยใกล้เขื่อนราษีไศลที่สู้มากว่า 30 ปี สูญเสียที่ดินทำกิน อีกทั้งป่าทาม ซึ่งเป็นมดลูกของการเพาะพันธุ์ปลาของลุ่มน้ำมูลส่วนกลางก็เสียหายไปด้วย”สิริศักดิ์ บอก 

เขายังบอกอีกว่า ล่าสุดมีโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ขึ้นมาใหม่ ถือเป็นโครงการที่เพิ่มแม่น้ำเลยเข้ามา ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรสรุปบทเรียนโครงการโขง ชี มูล เดิมก่อนว่า แท้จริงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากแนวคิดของนักการเมืองในภาคอีสาน ก่อนพิจารณาว่า โครงการ โขง เลย ชี มูล เป็นอย่างไร

การจับปลา ถือเป็นวิถีของคนทาม ริมแม่น้ำมูล ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

น้ำควรเป็นของมวลชน

สิริศักดิ์ กล่าวถึงความคุ้มค่าทางด้านการลงทุนว่า ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่สร้างเขื่อน แต่ลุกลามไปถึงพื้นที่ทำการเกษตรกรรมโดยรอบเขื่อนของชาวบ้าน เช่น การหาปู ปลา เห็ด หน่อไม้ เป็นต้น หากเกิดโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ขึ้นอีกนั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กระบวนการผันน้ำหลากไม่ใช่น้ำแล้ง เนื่องจากน้ำโขงมีเขื่อนกั้นแล้ว ปัจจุบัน การขึ้น-ลงของน้ำโขงไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล อีกทั้งจีนยังเป็นประเทศที่มีอำนาจในการกำหนดการเปิด-ปิด

อนาคตอาจเกิดคำถามว่า จะมีการแย่งชิงทรัพยากรน้ำหรือไม่ คนในพื้นที่เข้าใจว่า ถ้าเกิดในช่วงฤดูแล้งจะมีวิธีการใช้น้ำอย่างไรให้ไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ ในส่วนนี้ภาคเกษตรกรอาจหาวิธีการในการจัดการได้ แต่ถ้าหากมีปัจจัยที่ไปเกี่ยวพันกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำตลอดนั้น อาจก่อให้เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตรกรกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น โครงการโขง เลย ชี มูล อาจช่วยให้มีการผันน้ำเข้าไปยังพื้นที่ภาคเกษตร แต่เกษตรกรอาจเข้าไม่ถึงน้ำและกลายเป็นว่าภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงน้ำมากที่สุด

หนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ควรทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า “น้ำเป็นของประชาชน” ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำโดยที่ไม่มีข้อกฎหมายมาควบคุม แต่ปัจจุบัน กลับมีข้อกำหนดและเงื่อนไขกำกับเกี่ยวกับการใช้น้ำของประชาชน และในอนาคตดูเหมือนว่าประชาชนจะเข้าถึงน้ำได้ยากลำบากขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าเงื่อนไขในการใช้น้ำต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 

การกระจายน้ำที่ไม่กระจายอำนาจ

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวว่า (1) การจัดการน้ำของประเทศไทยรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางเป็นหลัก ส่งผลให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นชุมชนหรือชาวบ้านในลุ่มน้ำต่าง ๆ ในอีสาน น้ำโขง หรือน้ำมูล น้ำชี ขาดหาย สิ่งที่ควรทำคือการกำหนดแผนนโยบายการจัดการน้ำที่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านและครัวเรือนตามที่ระบุไว้ในข้อกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงมักเป็นการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับต้นๆ ด้วยการใช้ข้ออ้างว่า ด้อยการพัฒนาเพื่อสร้างความชอบธรรม เช่น อ้างว่าจะผันน้ำเข้ามาในแม่น้ำเลยแล้วเอาน้ำไปเติมที่เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อสร้างเขื่อนปากชมกั้นแม่น้ำโขงเพื่อให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ ทั้งนี้การที่จะได้ประโยชน์นั้นคนในพื้นที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำมาใช้

(2) มีการสร้างวาทกรรมโดยรัฐที่ว่า อีสานมีความแห้งแล้ง ทั้งที่ภาคอีสานก็มีสภาพภูมิอากาศไปตามฤดูกาลที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในประเทศ เช่น ช่วงฤดูฝนคือฝนตก เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ก็คือฤดูแล้ง ฤดูหนาวก็คือฤดูหนาว ดังนั้นการบอกว่า อีสานเป็นพื้นที่แห่งความแห้งแล้งเป็นความพยายามตอกย้ำให้เข้าใจไปว่าคนในพื้นที่ต้องการน้ำ

และ (3) การปลูกพืชเพื่อส่งเสริมการลงทุนของรัฐ เช่น การปลูกอ้อยแปลงใหญ่ ซึ่งต้องใช้น้ำปริมาณมาก อีกทั้งการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งยังลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อีกด้วย

โดยสรุป คือ หากมีน้ำมาหนึ่งแก้ว ใครเป็นคนแบ่งกติกาว่า การดื่มน้ำตรงนี้ใครจะเป็นคนดื่มก่อน ซึ่งสุดท้ายแล้วรัฐเป็นคนตัดสิน เช่น ภาคตะวันออกแถวระยอง ชลบุรี หากมีวิกฤตน้ำ รัฐจะมีคำสั่งประกาศให้นำน้ำไปกับภาคอุตสาหกรรมก่อนภาคเกษตรกรรม

ที่ผ่านมา โครงการโขง ชี มูล เกิดช่วงปี 2532-2533 จนปี 2534-2535 มีการอนุมัติกันที่ขอนแก่น หลังการรัฐประหาร ยุคนั้นยังไม่มีการทำ EIA ทำให้คนในพื้นที่ต้องออกมาเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบ นับตั้งแต่รัฐบาล คสช.รัฐประหารก็อนุมัติโครงการเป็นจำนวนมากโดยไม่ได้สำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทำประชาพิจารณ์ การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐดำเนินงานไม่โปร่งใส

ความน่ากลัวของโครงการผันน้ำโขง

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า โครงการ โขง ชี มูล เดิมที่มีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี เพื่อแปรสภาพหนองน้ำในภาคอีสานให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำสร้างผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะการไปเปลี่ยนสภาพระบบนิเวศจากป่าบุ่ง ป่าทาม ให้กลายเป็นทะเลสาบที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบนิเวศอื่น เช่น การปิดประตูน้ำทำให้ปลาจากปลายน้ำไม่สามารถอพยพขึ้นมาได้ รวมทั้งการสูญเสียพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง

เขายังบอกอีกว่า โครงการที่เกิดขึ้นยังสร้างปัญหาตามมาอีกมาก ทั้งจากน้ำท่วม การแพร่กระจายของดินเค็ม การระบาดของต้นไมยราบยักษ์และวัชพืชทำให้โครงการไม่สัมฤทธิ์ผล เนื่องจากมีผลกระทบหลายทางจนไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ กระทั่งคนในพื้นที่ออกมาเรียกร้องต่อสู้อย่างยาวนาน ตั้งแต่เขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา โครงการหนองหาน กุมภาวปี ฯลฯ 

นักวิชาการ ยังกล่าวอีกว่า การจะนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ผ่านโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า คือ การตั้งปั๊มหรือสถานีสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากน้ำโขงเข้ามาปรับคันดินให้สูงขึ้นและทำฝายเป็นระยะเพื่อที่จะกักเก็บน้ำไว้ ส่งผลให้เกิดการตัดขาดระหว่างแม่น้ำเดิมกับแม่น้ำโขง เนื่องจากถูกกั้นด้วยเครื่องสูบน้ำ ท่อสูบ ปั๊มน้ำ ปลาขึ้นมาไม่ได้ การระบายน้ำก็ไม่ดี เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำโขงลดต่ำลงในฤดูแล้ง จนบางครั้งไม่สามารถสูบน้ำได้ แม้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โครงการที่ว่านี้ไม่เป็นผลดี แต่ก็กลับพบว่า มีคนบางกลุ่มพยายามรื้อฟื้นโครงการเหล่านี้ออกมาอยู่เสมอ

“ที่ผ่านมาภัยแล้งในอีสานถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำโครงการขนาดใหญ่ แล้วใครเป็นคนได้ประโยชน์”ประดิษฐ์ โกศล แกนนำสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลเขื่อนหัวนา ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

เขื่อนราษีไศล : บทเรียนซ้ำซากที่ถูกเล่าไม่รู้จบ

ประดิษฐ์ โกศล แกนนำสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลเขื่อนหัวนา กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานรัฐพยายามที่จะพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ แต่เอาเข้าจริงแล้ว การบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กให้ประโยชน์กับประชาชนมากกว่าการไปสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท 

“ที่ผ่านมาภัยแล้งในอีสานถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำโครงการขนาดใหญ่ แล้วใครเป็นคนได้ประโยชน์ หากไม่เป็นผู้อนุมัติโครงการ หรือผู้รับเหมา ชาวบ้านไม่ได้อะไร มีแต่เสียกับเสีย”ประดิษฐ์ตั้งคำถาม 

เขาบอกอีกว่า การสร้างเฟส 2 ของโครงการโขง เลย ชี มูล อย่างกรณีเขื่อนราษีไศล ผ่านมากว่า 20 ปีก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ การจ่ายค่าชดเชยให้กับคนในพื้นที่ก็ดำเนินการไปด้วยความล่าช้า เงินที่ได้มาก็เล็กน้อยไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

“ตอนนี้ชาวราษีไศลต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ล่าสุดทราบว่า มีการอนุมัติงบศึกษาเพื่อจะทำเขื่อนปากชมและดำเนินการสร้างประตูน้ำศรีสองรัก อีกทั้งยังไม่ติดตามกรณีที่ลาวจะสร้างเขื่อนสานะคามจะมีผลกระทบต่อไทยหรือไม่อย่างไร”ประดิษฐ์ ตั้งคำถามทิ้งท้าย

image_pdfimage_print