หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

เริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยโลโก้ใหม่ของ The Isaan Record ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อ่านและผู้ติดตามเพจของเรา 

ถือเป็นการระดมสมองสาธารณะที่ต้องการให้ผู้ติดตามได้มีความใกล้ชิดกับทีมงานและรู้สึกเป็นเจ้าของ The Isaan Record “สื่ออีสาน เพื่อคนอีสาน” อย่างแท้จริง 

แม้การระดมสมองสาธารณะ เราจะพยายามปรับเปลี่ยนโลโก้ในรูปแบบใหม่ แต่ดูเหมือนผู้ติดตาม The Isaan Record จะรู้สึกผูกพันกับรูปแบบนี้เสียแล้ว 

เอ๊า ว่าไง…ว่าตามกัน 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ปีที่ผ่านมายอดผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ The Isaan Record ก็เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการแสดงออกแบบนี้ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบของทีมงานที่ต้องทำงานหนักขึ้น นำเสนอข่าวให้น่าเชื่อถือขึ้นและหนักแน่นขึ้น 

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การเมืองเชี่ยวกราก มีการติดตาม ข่มขู่ คุกคาม นักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการติดตามเกาะติดความเคลื่อนไหวของผู้คิดต่างทางการเมืองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้มีแนวคิดการ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” 

ปีที่แล้ว ทีมงานฯ ก็มีส่วนในรายการข่าวและนำเสนอปรากฎการณ์นี้ รวมทั้งได้สัมภาษณ์บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้ แม้ว่า การแตะเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันกษัติรย์จะนำมาซึ่ง “ความเสี่ยง” ต่อการถูกคุกคาม แต่พวกเราก็ได้ทำหน้าที่โดยสุจริตและยืนยันว่า “พวกเราจะทำต่อไป” 

นอกจากนี้ปีที่แล้วก็ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ที่หลายคาดไม่ถึง ผู้คนทุกหัวระแหงต้องอยู่กันด้วยความระแวดระวัง โดยเฉพาะจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างโรคโควิด-19 

แม้ผ่านเข้าสู่ปีใหม่แล้ว แต่คนไทย ก็ยังต้องเผชิญกับโรคนี้จนกว่าจะมีวัคซีนมารักษา ซึ่งปีที่ผ่านมา ทีมงาน The Isaan Record ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ไว้ ทั้งวิดิโอ สารคดีเชิงข่าว และข่าว (สามารถอ่านย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์) 

เรื่องราวของ ไพวัน ชะหล้า แรงงานชาวขอนแก่นที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินในช่วงการระบาดของโควิด-19 จนตกงานและกลายเป็นคนไร้บ้านกลางกรุงฯ เป็น 1 ใน 10 คลิปวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเรา มียอดการเข้าถึง 4.9 ล้านคนและยอดดูย้อนหลังถึง  2.2 ล้านครั้ง 

และยังมีแรงงานอีสานอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับไพวัน ทั้งที่นอกพื้นที่และในพื้นที่อีสาน 

นอกจากนี้ปีที่แล้วทีมงาน The Isaan Record ยังได้ผลิตซีรีส์ หรือ การทำข่าวแบบเป็นตอนๆ ออกมาทั้งหมด 5  ซีรีส์

เริ่มจากซีรีส์ชุด “ลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ” ที่นำเสนอเนื้อหาทั้งหมด 19 ตอน แม้ว่าช่วงเวลาที่เผยแพร่เรื่องราวจะเป็นช่วงการระบาดหนักของโรคโควิด-19 ที่ผู้คนไม่มีกะจิดกะใจรับฟังเสียงดนตรี แต่ด้วยเนื้อหา “ความมักม่วน” ของชาวอีสาน ซีรีส์ชุดนี้ก็ได้รับความนิยมแบบเกินคาด 

ต่อมาเป็นซีรีส์ชุด “1  ทศวรรษ พฤษภาฯ เลือดปี’53” ที่มีทั้งหมด 35 ตอน แม้จะผลิตเนื้อหาออกมาจำนวนมาก แต่ก็ยังคิดว่า ไม่ครอบคลุม เพราะมีหลายเรื่องที่ตกหล่นตามรายทาง อย่างไรก็ตามต่อมาเราได้รวบรวมงานเขียนตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 

ถัดมาเป็นซีรีส์ “ความรัก เงินตราและหน้าที่ :  เมียฝรั่งในอีสาน” ที่มีต้นทางจากการบทคามของ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ที่มีถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์การแต่งงานของหญิงอีสานกับชายชาวตะวันตกว่า “เป็นความต้องการขุดทอง อยากรวยทางลัด ฯลฯ” 

คำวิพากษ์วิจารณ์นี้อีกทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะหลังจากที่เรานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ “เมียฝรั่งในอีสาน” ได้รับเสียงตอบรับทั้งในด้านบวกและด้านลบ ยิ่งไปกว่านั้นคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในซีรีส์ชุดนี้ก็เป็น  2 ใน 10 คลิปวิดีโอที่มีผู้ชมมากที่สุดของ  The Isaan Record 

นั่นคือ สำรวจหมู่บ้านเขยฝรั่ง จ.อุดรธานี  ที่เป็นเหตุผลของหญิงอีสานตัดสินใจหญิงแต่งงานข้ามชาติ ส่วนอีกคลิปวิดีโอ คือ สางปมลูกครึ่งในอีสานสู่หลักสูตรเรียนรู้ความแตกต่าง เป็นเรื่องราวของลูกครึ่งไทย-ยุโรปที่ถูกเพื่อนรังแก เพราะมีความแตกต่างทางอัตลักษณ์และเชื้อชาติ ต่อมามีผู้เห็นความสำคัญของแตกต่างเหล่านี้และคิดเป็นหลักสูตรเพื่อสร้างความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมใน อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี 

แม้ว่า สองคลิปวิดีโอจะเผยแพร่ตั้งแต่เดือนเมษายน แต่จนถึงตอนนี้ยังมีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่า การนำเสนอเรื่องเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงและได้รับความสนใจไม่รู้จบ 

จากนั้นก็นำเสนอซีรีส์ชุด “โขงเลยชีมูล : สายน้ำแห่งชีวิต” ที่ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการน้ำของรัฐบาลที่มีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้วิธีการเดิม คือ “การสร้างเขื่อน” เพื่อไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งในอีสาน โดยอ้างวาทกรรม “อีสานแล้ง” เป็นชนวนการปลุกผีโครงการที่เคยทำลายระบบนิเวศในภาคอีสานมาผลิตซ้ำ โดยคราวนี้ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านเพื่อปลุกโครงการใหม่ที่ชื่อใกล้เคียงกัน “โขงเลยชีมูล” 

ถัดมาเป็นซีรีส์ “พลังคนรุ่นใหม่แห่งที่ราบสูง” ที่เป็นปรากฏการณ์ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ตื่นตัวทางการเมืองทั่วประเทศ​ แต่เราได้เน้นเฉพาะการตื่นตัวในภาคอีสาน ซึ่งเห็นความเบ่งบานเกือบทุกจังหวัด ซึ่งซีรีส์นี้ยังคงเสนออย่างต่อเนื่อง เพราะยิ่งนำเสนอยิ่งมีเรื่องใหม่ให้ศึกษา ซึ่งเป็นการนำเสนอควบคู่ไปกับการเติบโตของการเมืองภาคพลเมือง 

ส่วนซีรีส์สุดท้ายเป็นการพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศได้ใช้สิทธิในพื้นที่ของสื่อทางเลือกเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ถูกหมางเมินและความเข้าใจ ซึ่งเราพบว่า ซีรีส์ทั้งสองชุดสุดท้ายก่อนสิ้นปีมีความเหมือนกันเกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะกลุ่มหนึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกร้องสิทธิอันพึงมี 

ทั้งสองเรื่องจึงเดินมาในทิศทางเดียวกัน คือ “สิทธิ ความเท่าเทียม ในสังคมประชาธิปไตย” ซึ่งในปีนี้ซีรีส์ทั้งสองชุดนี้ก็จะยังถูกพูดถึงและให้คุณค่าบนทุกแพลทฟอร์มของ The Isaan Record 

จากผลงานที่ปรากฏในห้วงปีที่ผ่านมา จึงทำให้เรามั่นใจว่า ยังคงมีคนเฝ้ารอติดตามผลงานของ The Isaan Record ดังนั้นพวกเราจึงจะทำงานให้หนักขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อเสรีเพื่อสังคมแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

image_pdfimage_print