ชลธิชา ทักษิณาเวศน์ เรื่อง
เครดิตรูปภาพ เฟซบุ๊ก อบจ.ขอนแก่น

ศึกการเลือกตั้ง นายก อบจ.จบลงแบบไม่สะเด็ดน้ำ เพราะรอผลจาก กกต.อย่างเป็นทางการ ก่อนที่นักการเมืองท้องถิ่นจะแต่งตัวเข้าสภาจังหวัด The Isaan Record ชวนสำรวจใครไป ใครมาในสนาม (ท้องถิ่น)อีสาน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา คือ ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การรอคอยการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคเพิ่งจบลงหมาดๆ รายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้งและผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเป็นที่รับรู้กันทั่วประเทศ รอเพียงการประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เท่านั้นในรอบ 6 ปี หลังการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นสิ้นสุดลง The Isaan Record ชวนสำรวจควันหลงเลือกตั้งท้อนถิ่นในอีสานว่า ใครไป ใครมา

เลือกตั้งท่ามกลางวันหยุด

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดนี้มี 46,610,759 คน กกต. ประกาศว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 29,016,536 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.25 ลดลงจากการใช้สิทธิเลือกตั้งระดับชาติเมื่อปี 2562 ที่มีผู้ใช้สิทธิถึงร้อยละ 74.69

กกต. ออกปากขอบคุณผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่มากนักอาจไม่ได้มีที่มาจาก COVID-19 เท่านั้น

เพราะวันเลือกตั้ง (วันที่ 20 ธันวาคม 2563) เป็นวันที่ถูกประกบด้วยวันหยุดทั้งอาทิตย์ก่อนหน้าและหลังจากนั้น ไม่เพียงติดกับช่วงสิ้นปีที่มักจะได้หยุดงานตามปกติเท่านั้น

วันเลือกตั้งท้องถิ่นยังติดกับวันรัฐธรรมนูญผสมกับการหยุดราชการกรณีพิเศษในวันที่ 10 – 13 ธันวาคม ซึ่งเป็นมติ ครม. ด้วยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ วันหยุดที่รายล้อมวันเลือกตั้งเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คนอาจลำบากที่จะต้องเดินทางกลับบ้านในวันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ กกต. ยังไม่ได้ประกาศการเลือกตั้งล่วงหน้า และไร้การเลือกตั้งนอกเขต มีเพียงการให้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงเพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิ 2 ปีเท่านั้น

คณะก้าวหน้าปักธง นายก อบจ.อีสานไม่สำเร็จ

เมื่อสำรวจผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการพบว่า คณะก้าวหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) ส่งผู้สมัครนายก อบจ. ที่ภาคอีสานทั้งหมด 14 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด หนองคาย หนองบัวลำภู อุบลราชธานี สุรินทร์ สกลนคร นครพนม อำนาจเจริญ และอุดรธานี

การลงสนามท้องถิ่นครั้งแรกทำให้คณะก้าวหน้าไม่สามารถปักธง นายก​ อบจ.ในอีสานได้แม้แต่จังหวัดเดียว อย่างไรก็ดีคณะก้าวหน้าไม่ได้คว้าน้ำเหลว เพราะท้ายที่สุดแล้วก็คว้าชัยชนะ ส.อบจ. ถึง 30 คน ใน 20 จังหวัดอีสาน จากทั้งประเทศได้ 57 คน ประกอบไปด้วย อุดรธานี 10 คน ยโสธร 7 คน หนองคาย 5 คน ร้อยเอ็ด 3 คน สกลนคร 2 คน หนองบัวลำภู 2 คน บึงกาฬ 1 คน

พรรคเพื่อไทยแต่งตัวรอนายก อบจ.อีสาน 4 จังหวัด

พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครนาย กอบจ. ทั้งหมด 25 จังหวัด และได้รับเลือกตั้ง 9 จังหวัด พวกเขาได้รับชัยชนะไม่ถึงครึ่ง และหนึ่งในพื้นที่หลักที่ได้รับชัยชนะ คือ พื้นที่ภาคอีสาน

พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครนายก อบจ. ที่ภาคอีสานทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ มหาสารคาม หนองคาย หนองบัวลำภู กาฬสิทธุ์ นครพนม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร และมุกดาหาร

และจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยชนะในภาคอีสานมีทั้งหมด 4 จังหวัด คือ อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร และมุกดาหารแม้จะไม่ชนะในทุกจังหวัด แต่ผลคะแนนสะท้อนความเหนียวแน่นและอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยที่ยังไม่ได้หายไป เช่น ชัยชนะของวิเชียร ขาวขำ ในฐานะนายก อบจ. อุดรธานีสมัยที่ 2 ซึ่งวิเชียรยังเคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. อุดรธานี สังกัดพรรคเพื่อไทย มาก่อน

เครือข่ายรัฐบาล

นอกจากกลุ่มของนักการเมืองฝ่ายค้านแล้ว ยังมีฝ่ายรัฐบาลในสนามการเลือกตั้งนี้ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ได้ลงสมัครในนามของพรรคใดโดยตรง แต่ผู้สมัครนายก อบจ. จำนวนมากถูกมองว่า มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ หรือ ภูมิใจไทย

สำหรับภาคอีสาน มีผู้ได้รับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างน้อย 4 คนที่อาจมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายรัฐบาล ส่วนมากมาจากพรรคภูมิใจไทย

ได้แก่ ศุภพานี โพธิ์สุ ว่าที่นายก อบจ. นครพนม ลูกสาวของ ศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย หรือ ยลดา หวังศุภกิจโกศล ว่าที่นายกอบจ. เป็นภรรยารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย

ส่วนแว่นฟ้า ทองศรี ว่าที่นายก อบจ. บึงกาฬ เป็นภรรยาของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นอีกหนึ่งสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ตลอดจน ภูษิต เล็กอุดากร ก็มีศักดิ์เป็นหลานของเนวิน ชิดชอบ ที่เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย

แชมป์เก่า-ใหม่

แชมป์เก่าและหน้าใหม่ลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ. อีสานเป็นจำนวนมาก และชัยชนะนายกอบจ. ในแต่ละจังหวัดมีทั้งที่เปลี่ยนหน้าใหม่และนายกฯ หน้าเดิม อย่างน้อย 6 จังหวัดในภาคอีสานที่นาย กอบจ. รายเดิมยังคงเอาชนะใจคนในพื้นที่ได้

หลายคนเข้าสู่สมัยที่ 2 บางคนรับตำแหน่งสมัยที่ 6 วิเชียร ขาวขำ นายก อบจ. อุดรธานี คือ หนึ่งในผู้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. สมัยที่ 2 นอกจากนี้ยังมี ชัยมงคล ไชยรบ ที่ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. สกลนครสมัยที่ 4 และ พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ กำลังก้าวสู่การดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ขอนแก่นสมัยที่ 6 นอกจากนี้ยังมีนายก อบจ. อุดรธานี เลย หนองคาย ที่มีนายก อบจ. หน้าเดิม

ในขณะที่สถานการณ์​จังหวัดนครพนมไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนายก อบจ. คนเก่าที่ดำรงตำแหน่งมาถึง 2 สมัยต้องพ่ายแพ้ โดยชัยชนะได้ไปตกอยู่กับ ศุภพานี โพธิ์สุ ลูกของนักการเมืองชื่อดัง

อัตราผู้หญิงนายกอบจ อีสาน

จาก 20 จังหวัดภาคอีสาน มีเพียง 5 จังหวัดเท่านั้นที่มีนายก อบจ. เป็นเพศหญิง หรือคิดเป็นร้อยละ 25 มาจากจังหวัดบึงกาฬ นครพนม นครราชสีมา มหาสารคาม และอำนาจเจริญ

บึงกาฬ – แว่นฟ้า ทองศรี ภรรยาของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยใต้ร่มเงาพรรคภูมิใจไทย

นครพนม – ศุภพานี โพธิ์สุ ลูกสาวรองประธานสภาผู้แทนราษฎรราษฎร

นครราชสีมา – ยลดา หวังศุภกิจโกศล ภรรยารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

มหาสารคาม – คมคาย อุดรพิมพ์ ภรรยาอดีตนายก อบจ. มหาสารคาม

และดำรงตำแหน่งนายก อบจ. สมัยที่ 2 อำนาจเจริญ – วันเพ็ญ ตั้งสกุล ลูกนักธุรกิจร้อยล้าน

image_pdfimage_print