“วิทยากร โสวัตร” ชู “ผู้มีบุญ” เป็นปรากฎการณ์ชาวบ้านลุกฮือเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากการกดขี่  ส่วน“ธำรงศักดิ์” ชี้ทุ่งสังหารผีบุญ 300 ศพ รัฐสยามฆ่าเพื่อยึดครอง 

The Isaan Record และกลุ่มพลังคลับจัดเสวนาผ่านคลับเฮาส์ หัวข้อ “เล่าเรื่องบ้านสะพือ-ทุ่งสังหารผีบุญ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนเพื่อทำบุญที่หมู่บ้านสะพือ อ.ตระกาลพืชผล จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2565 

วิทยากร โสวัตร นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย จ.อุบลราชธานี้ กล่าวว่า ข้อสังเกตที่ 1 ถ้าดูจากเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับขบวนการผู้มีบุญ ซึ่งเขาไม่ได้เรียกตัวเองว่า ผีบุญ เขาเรียกตัวเองว่า ขบวนการผู้มีบุญหรือองค์บุญต่างๆ ซึ่งคนที่เรียกว่า ผีบ้า ผีบุญคนแรก คือ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ แล้วคนที่ตราหน้าว่า เป็นผีบุญผีบาป คือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

“การตีตราให้เป็นกบฏมันเริ่มจากการเปลี่ยนวาทกรรมนี้ของทั้ง 2 พระองค์ ที่ทำให้เกิดการลดทอนความเป็นมนุษย์ลง ถ้าเราดูจากชื่อองค์ต่างๆ หรือขบวนการที่เข้าร่วม จะเห็นได้เลยว่า มันเป็นการลุกฮือขึ้นของประชาชนหรือราษฎรจริงๆ ที่มีสำนึกอยากปลดปล่อยตัวเองออกจากราชสำนัก ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม จะเห็นได้จากการสอบสวนในเอกสารถ้าเกิดชนะ ใครบ้างจะได้นั่งเมืองไหน เช่น ไปนั่งเวียงจันทน์ก็เป็นคนธรรมดา ไม่มีเชื้อเจ้าของเวียงจันทน์หรือหลวงพระบางเลย”นักเขียนเมืองอุบลฯ กล่าว 

“การลุกฮือขึ้นของขบวนการผู้มีบุญมันเป็นการลุกฮือขึ้นของประชาชนที่สำนึกในเรื่องของการปลดปล่อยตนเอง”วิทยากร โสวัตร

วิทยากร กล่าวต่อว่า ข้อสังเกตที่ 2 คนที่มานั่งอุบลราชธานีเป็นพระรูปหนึ่งชื่อว่า สมเร็จลุน แต่ว่าคนสยามไม่เข้าใจตำแหน่งสำเร็จซึ่งเป็นตำแหน่งที่ชาวบ้านแต่งตั้งขึ้นให้กับพระที่เขาเห็นว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่นับหน้าถือตา เอกสารทางไทยจึงเรียกว่า สมเด็จ ซึ่งองค์นี้อยู่ๆ หายไปและไปปรากฏบางตอนในหมู่บ้านสะพือ โดยชาวบ้านที่เข้ามาร่วมยึดโยงสิ่งเดียว คือคำทำนายหรือหนังสืออินทร์ตก ซึ่งเป็นพุทธทำนาย หนังสือนี้มักจะมาจากทางดอนโขงไล่ขึ้นไปทางเหนือและยังมีร่องรอยอยู่ ตรงนี้เองพูดถึงสังคมยูโทเปีย สังคมพระศรีอารย์ในยุคที่จะมาถึง ไม่ได้เกี่ยวโยงเลยกับราชสำนักไม่ว่าจะสยามหรือลาว ถ้าอ่านประวัติของสำเร็จลุนซึ่งคนลาวอีสานหรือพระไทยเองก็ไม่ค่อยได้พูดถึงเลยนั้น ก็จะมีลักษณะมีความเป็นชาติพันธุ์นิยมว่า ตัวเองเป็นลาวไม่อยากอยู่ภายใต้สยาม และฝรั่งเศส  

“2 ส่วนนี้ยืนยันได้ว่า การลุกฮือขึ้นของขบวนการผู้มีบุญมันเป็นการลุกฮือขึ้นของประชาชนที่สำนึกในเรื่องของการปลดปล่อยตนเองและการไปสู่สังคมอุดมคติโดยไม่ได้ยึดโยงกับราชสำนักใดๆ”วิทยากร กล่าว 

เก็บส่วยหนักหลัง ร.5 ประพาสยุโรป 

วิทยากร กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการเก็บส่วยนั้นเพิ่มขึ้นจากปีละ 3 บาทกว่ามาเป็น  4 บาท ในช่วง พ.ศ. 2440 เป็นต้นมา บางทีมันอาจจะมีลักษณะลอยๆ ว่าทำไมเก็บส่วยเพิ่ม อยากให้โยงไปถึงทางราชสำนักกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2440 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยุโรปน่าจะสูงมาก ซึ่งพยายามจะมองว่า ราชสำนักกรุงเทพฯ หรือรัฐสยามมีค่าใช้จ่ายอะไรหรือถึงต้องมาเบียดเบียนราษฎรและการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นขนาดนั้น ค่าใช้จ่ายใหญ่ๆ น่าจะเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ที่ต้องเดินทางไปยุโรปใช่หรือไม่ หลังจากนี้ประมาณ 1-2 ปีขบวนการผู้มีบุญก็ออกจดหมายลูกโซ่ ต่อต้านเรื่องการเก็บภาษี ต่อมาไม่นานปี 2450 หลังการปราบกบฏผู้มีบุญก็ไปอีก พอกลับมาปีถัดมาก็สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือหลังจากปราบกบฏผู้มีบุญเสร็จ ปีต่อมาก็ตรากฎหมายที่บังคับใช้เฉพาะในอีสาน 9 ข้อ โดย 1 ใน 9 ข้อนั้น ก็คือถ้าใครประชาชนคนอีสานคนไหนก็ตามที่ไม่เสียภาษีในปีนั้น จะเพิ่มจาก 4 บาท เป็น 8 บาท หนึ่งเท่าตัว แต่ถ้ายังไม่เสีย 8 บาทอยู่อีกปีต่อมาคุณต้องเสีย 30 บาท นึกดูเอาว่าชาวบ้านคนอีสานมันจะรู้สึกอย่างไร

วิทยากร ระบุต่อว่า ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่าเพราะการสูญเสียดินแดนจึงทำให้เกิดขบวนการฆ่าล้างแบบนี้ ในเอกสารของอาจารย์ไพฑูรย์ มีกุศล นักวิชาการ ม.ราชภัฏสุรินทร์  บอกได้เลยว่า ฝรั่งเศสที่อยู่ฝั่งลาวตะวันออกหรือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็ยินดีให้รัฐสยามไปฆ่าผีบุญ ให้รุกเข้าไปในเขตปกครองได้เลย แต่ว่าให้ยิงเฉพาะผีบุญเท่านั้น 

“จึงมองว่าจริงๆ แล้วขบวนการผู้มีบุญคำนวณผิดคิดว่า ก่อการแล้วหากเกิดความผิดพลาดบางอย่างก็จะถอยไปพิงหลังกำแพงของฝรั่งเศสได้ แต่ไม่ใช่ฝรั่งเศสเอาด้วยให้ฆ่ามันเลยกบฏพวกนี้ เพราะอยู่ในช่วงการขีดเส้นดินแดนเขาคงไม่อยากให้เกิดการต่อต้านหรือความไม่สงบเรียบร้อยระหว่างการแบ่งเขตแดน”เขากล่าว 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อยากให้เห็นภาพว่าอีสานและลาวตอนใต้มันเหมือนที่ว่างขนาดใหญ่ โดยรัฐสำคัญคือรัฐของกรุงเทพฯ รัฐของเวียงจันทน์ รัฐของเว้ รัฐของพนมเปญ มันมีอำนาจที่มาไม่ค่อยถึง มันเป็นพื้นที่ครึ่งล่างของลาวภาคใต้และอีสานในบริเวณนี้มันถูกจำกัดกรอบไว้ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ ถ้าเราลองคิดถึงว่ามันมีเทือกเขาดงพญาเย็น ดงพญาไฟ  เทือกเขาเพชรบูรณ์ และมีเทือกเขาบรรทัด เทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวปราการที่สำคัญ แม้ระหว่างอีสานกับกัมพูชาจะมีช่องเขาในการเดินทางบางช่องที่สะดวกสบาย แต่กำแพงทางธรรมชาติมันก็ทำให้อีสานโดยรวมค่อนข้างปลอดอำนาจ  ส่วนอำนาจของเวียงจันทน์และหลวงพระบางนั้นมันเป็นอำนาจที่ไม่ได้เข้มแข็งสักเท่าไร  พื้นที่อีสานโดยทั่วไปชุมชนเมืองต่างๆ จึงค่อนข้างมีอิสระมาอย่างยาวนาน

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ อธิบายว่าประเทศไทยแท้ มีขนาดเท่าไรนั้น ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์มาจนถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 5 เขาอธิบายว่าประเทศไทยแท้ ภาคเหนือสุดอยู่ที่อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เท่านั้น แต่ถ้าเลยขึ้นไปเริ่มขึ้นภูเขา มันจะเป็นพวกผีภูเขา พวกนั้นเป็นลาวหมดเลย ดังนั้นภาคเหนือของกรุงเทพฯ เวลาเขาบอกไปหัวเมืองภาคเหนือก็คือไปแค่อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชรเท่านั้น ส่วนด้านตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยแท้ จนกระทั่งไปถึงแถวปอยเปต แล้วก็มีเทือกเขาตรงนั้นเป็นแค่ไทยแท้ ถ้าเลยตรงนั้นไปก็กลายเป็นเขมรแล้ว  ในขณะที่ทางด้านตะวันออกด้านสระบุรี กรุงเทพฯ รู้จักอย่างเดียวคือโคราช เลยออกไปแทบไม่รู้จักอะไรเลย เพราะมันเป็นแผ่นดินลาว มันเป็นคนลาว คนเขมรเต็มไปหมดเลย ส่วนภาคใต้ของกรุงเทพฯ ไกลสุดอยู่แค่สงขลาเท่านั้นเอง พอเลยลงไปเขาเรียกว่าเป็นเขตรัฐบรรณาการแล้ว ด้านภาคตะวันตกมันมีแนวปราการด้านเทือกเขาขวางกั้นระหว่างเมืองมอญ กระเหรี่ยง ไทยใหญ่

“ดังนั้นกรุงเทพฯ ก็คิดเป็นประเทศไทยแท้มีเท่านี้เอง ถ้าเราลองคิดดูว่าประเทศไทยแท้ของกรุงเทพฯ อยู่ที่สุโขทัย อุตรดิตถ์ ล่างสุดอยู่ที่สงขลา ตะวันออกอยู่แค่โคราช และปราจีนบุรีเท่านั้น ถ้าเราเอาประเทศไทยปัจจุบันมาวางทับกับประเทศไทยแท้เดิมของกรุงเทพฯ เราก็จะเห็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ปัตตานี สตูล เพิ่มเข้ามา สรุปถ้าอย่างสั้นๆ จากงานศึกษาของผมก็คือจากประเทศไทยแท้ที่มีขนาดเล็ก ขยายมาเป็นประเทศไทยปัจจุบัน กรุงเทพฯ ได้ดินแดน ไม่ได้เสียดินแดน วาทกรรมเสียดินแดนนั้นมันจะถูกผลิตเพื่อรักษาสถานะของความเป็นผู้นำของสมบูรณายาสิทธิราชย์ สืบต่อมาด้วยรัฐทหารในระยะหลัง แผนที่ที่บอกว่าประเทศไทยเสียดินแดนเพิ่งสร้างแผ่นแรกในปี 2482 โดยกรมแผนที่ทหาร กองทัพบก ในสมัยหลวงพิบูลสมคราม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้างวาทกรรมเสียดินแดน แต่ก่อนหน้านั้นกรุงเทพฯ ได้ดินแดน”ธำรงศักดิ์กล่าว

กวาดต้อนลาวเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ

ธำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ดินแดนในเขตอีสานและลาวใต้เป็นดินแดนที่ค่อนข้างเป็นช่องว่างของอำนาจ ซึ่งสิ่งที่กรุงเทพฯอยากได้จากคนในเขตแดนอีสาน คือ ส่วย แรงงาน เช่น การสร้างกรุงเทพฯ มีการกวาดคนอีสานไปประมาณ 5,000 คน ไปสร้างกำแพงเมือง กำแพงวังในกรุงเทพฯ ในปีแรกๆ ของการสร้างเขากวาดคนเขมรไป 1 หมื่นคนไปเป็นแรงงานขุดคูคลองที่เขาเรียกว่าคลองคูเมืองต่างๆ ใช้แรงงานลาวกับเขมรเป็นหลัก 

นอกจากนั้นกรุงเทพฯ ยังอยากได้ของป่าจากดินแดนแถบนี้ ที่จะนำไปขายส่งออกทางเรือไปยังเมืองจีน  พอหลายปีผ่านไปมีระบบเงินตราเข้ามากรุงเทพฯ ก็เริ่มอยากได้เงินจากคนเหล่านี้ มันมีบันทึกการเดินทางในลาวขอเอเจียน แอมอนิเย ชาวฝรั่งเศสและคณะ ที่ต้องการสืบหาจารึกต่างๆ ที่อยู่ตามเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา เมื่อช่วงปี 2426 ก่อนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ทุ่งสังหาร 18 ปี โดยเดินทางจากกัมพูชาล่องตามแม่น้ำโขงขึ้นมาจนกระทั่งถึงหนองคาย เป็นเดินทางเกือบทั่วอีสาน สิ่งหนึ่งทีเราเห็นช่วง 18 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ บันทึกของแอมอนิเยทำให้เห็นว่าเมืองต่างๆ เริ่มถูกฝ่ายสยามรุกเข้ามาในเชิงของการส่งหน่วยกำลังทหาร ส่งเจ้านายผู้ปกครองมาเพื่อเก็บเงินภาษีรายปีมากยิ่งขึ้น และพยายามที่จะเข้ามาเป็นผู้ที่มีอำนาจในการแทรกแซงการตั้งผู้สืบทอดการเป็นเจ้าเมือง คนที่ได้รับการสนับสนุนแต่งตั้งก็จะกลายเป็นคนที่ภักดีต่อกรุงเทพฯ

“18 ปีก่อนเกิดเหตุทุ่งสังหารกรุงเทพฯ ยังไม่ได้เคร่งครัดต่อการเก็บภาษี จนกระทั่งมีการส่งกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มาเป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ การตั้งข้าหลวงใหญ่ คือ วิธีการที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์  ใช้ในการปกครองอาณานิคม เพราะว่าดินแดนตรงนั้นมันยังไม่เป็นของคุณ ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อต้องแย่งชิงดินแดนนี้กับฝรั่งเศส ดังนั้นกรุงเทพฯ ก็เลยต้องคิดใหม่ว่าหากยังเป็นลาวฝรั่งเศสก็อ้างเอาไปได้หมด เพราะฝรั่งเศสได้ลาวไปแล้ว”นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าว  

เขากล่าวอีกว่า ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงบอกว่าดินแดนนี้ไม่ใช่ลาว แต่เป็นไทย และเปลี่ยนใหม่ต่อไปไม่เรียกลาว จากมณฑลลาวกาวที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่อุบลฯ ก็เปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน ลาวพวนก็กลายเป็นมณฑลอุดร ลาวกลางก็กลายเป็นมณฑลโคราช ลาวเฉียงก็กลายเป็นมณฑลพายัพไป และในที่สุดจากมณฑลอีสานคำมันก็เคลื่อนมาเป็นภาคอีสานในยุคของเรา

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมถูกกระตุ้นให้เห็นว่า เหตุการณครั้งนี้มีคนถูกฆ่าพร้อมกัน 300 กว่าคน นี่เป็นการตายครั้งสำคัญในการผนวกอีสานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนกรุงเทพฯ นี่เป็นการฆ่าเพื่อยึดครองจริงๆ” ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า จากช่วง 18 ปีขอแอมูนิเยมาถึงช่วงของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ กรุงเทพกระชับอำนาจในการจัดเก็บเงินทุกปีอย่างเข้มข้น การที่กรุงเทพฯ จัดการอย่างนี้มันได้อธิบายว่าดินแดนอีสานนั้นมันเป็นดินแดนของกรุงเทพฯ ไปแล้วจากข้อตกลงของสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับกรุงเทพฯ ในปี 2436 ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงกระชับอำนาจเหนือดินแดนอีสานที่บอกว่านี่เป็นของตนแล้ว โดยมีเอกสารที่กรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ส่งไปยังเจ้าเมืองต่างๆ ในอีสานให้อธิบายว่าหากฝ่ายฝรั่งเศสถามมาว่าดินแดนแถวเมืองอีสานเป็นของกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อไร ซึ่งงานวิทยานิพนธ์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ของสุมิตรา อำนวยศิริสุข เมื่อปี 2524 เรื่องกบฏผู้มีบุญในมณฑลอีสาน 2444-2445 กรุงเทพฯ ให้เจ้าเมืองอธิบายว่าหากถูกถามให้ตอบว่าเมืองต่างๆ เหล่านี้เป็นของกรุงเทพฯมาเป็นร้อยกว่าปีแล้ว เขาเรียกว่าเป็นการโมเมประวัติศาสตร์ เป็นการตอบเพื่อสร้างความชอบธรรมในท่ามกลางความขัดแย้งในการแย่งชิงดินแดนอีสานจากฝรั่งเศส

ธำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามบันทึกของแอมอนิเยระบุว่าคนลาวสำนึกว่าตนเคยเป็นอิสระมาก่อนไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของพวกบางกอก ตนคิดว่าเป็นแนวคิดว่าด้วย Independent ในคำกลอนของขบวนการต่อสู้ มีคำหนึ่งที่บอกว่าหากเราสามารถที่จะหลุดพ้นจากการกดขี่ครั้งนี้มันก็จะบ่มีเจ้าบ่มีนายอีกต่อไป ตนคิดว่าเป็นอุดมการณ์สูงสุดคือมองเห็นความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน คือตอนนี้กลายเป็นว่าชาวบ้านลาวนอกเหนือจากการที่มีเจ้าเมืองของตัวเองแล้วยังถูกกรุงเทพฯเป็นเจ้าเมืองเหนือขึ้นอีกกดซ้ำเข้าไปอีก คือเขาเรียกว่า 2 ซ้ำ ตนคิดว่าแนวคิดที่ว่าด้วยการเป็นอิสระทางการเมืองของตนเอง ของคนลาวมันมีความสำคัญที่จะปลดปล่อยและทำลายความทุกข์ยาก ที่เริ่มถูกกดดันตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่กรุงเทพฯ กำลังแย่งชิงดินแดนอีสานกับฝรั่งเศส และ แย่งชิงดินแดนลาวแต่ชิงไม่ได้เพราะฝรั่งเศสชิงได้ก่อน กรุงเทพฯ ก็พยายามรักษาชิงดินแดนอีสานให้เป็นของตนเอง

สร้างทางรถไฟเข้าสู่อีสานเพื่อกดลาว

เขากล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำอย่างแรกเลย คือ สร้างทางรถไฟเข้าสู่อีสาน ทางรถไฟสายแรกที่เริ่มต้นจากหัวลำโพงที่กรุงเทพฯ ตัดสินใจสร้างคือมุ่งไปยังอีสานให้ได้ ทำไมไม่ไปเชียงใหม่ หรือภาคใต้เพราะอีสานนั่นกำลังกลายเป็นดินแดนที่กรุงเทพฯ ต้องการ หลักฐานยืนยันว่ากรุงเทพฯ ต้องการส่งกองกำลังเข้าสู่อีสานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วงชิงดินแดนตรงนี้มา โปรเจ๊กการสร้างรถไฟจากหัวลำโพงเริ่มเมื่อปี 2433 ก่อนสิ่งที่เราเรียกว่าการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 อยู่ 2 ปี ทำอย่างไรให้ระยะทาง 250 กม.จากกรุงเทพฯ ถึงโคราชเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ต้องคำนึงว่าทำอย่างไรจะส่งหน่วยทหารเข้าไปในอีสานได้เร็ว เพราะกรงเทพฯ ปรับปรุงกองทัพเป็นกองทัพสมัยใหม่ มีปืนใหญ่แบบทันสมัยแล้ว ทางรถไฟเปิดใช้ปีแรกปี 2443 ในเดือน ธันวาคม พอถึงเมษายน ปี 2445 กรุงเทพฯ สามารถส่งกำลังทหารเข้าสู่โคราชได้อย่างรวดเร็วมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงด้านการทลายปราการเทือกเขาดงพญาเย็น  ดงพญาไฟให้กลายเป็นอดีต

ธำรงศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนั้นกรุงเทพฯ ยังต่อสายโทรเลข ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งข่าวของหน่วยงานรัฐบาลไปยังพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นกรุงเทพฯ ก็ต่อสายโทรเลขไปยังอีสานพุ่งไปยังอุบลฯ หนองคาย ทำให้ตอนนี้สามารถส่งข่าวจากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ไปยังกรุงเทพฯ เพื่อคอยฟังการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทางรถไฟและสายโทรเลข ที่กลายเป็น 2 เครื่องมือสมัยใหม่ที่ทำให้กรุงเทพฯ สามารถเข้าสู่อีสานได้อย่างรวดเร็ว จากงานศึกษาของสุมิตราชี้ว่าข่าวคราวของการเคลื่อนไหวของผู้วิเศษหรือผู้มีบุญมันถูกส่งไปยังกรุงเทพฯ ครั้งแรกเมื่อราวเดือน 12 ประมาณเดือน พ.ย.  รศ.120  จนถึงเดือนอ้าย จากนั้นทำให้กรุงเทพฯเริ่มประสานและจับตามองและในที่สุดกรุงเทพฯ ก็ส่งกองกำลังทั้งหมดเข้าสู่อีสานรวมทั้งหมด 4 กองพันด้วยกัน เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ออกจากกรุงเทพฯ วันเดียวกันนั้นก็มาถึงโคราชแล้วก็แยก 4 กองพันออกเป็นหลายเส้นทาง และนี่ก็คือเป็นการส่งกองกำลังทหารสมัยใหม่เข้าไปยังอีสานครั้งสำคัญ

ธำรงศักดิ์ เล่าต่อไปว่า กรณีของทุ่งสังหารของเรา บ้านสะพือ โนนโพธิ์ สิ่งที่น่าตกใจ คือ หน่วยทหารหนึ่งกองร้อยของกรุงเทพฯ ที่เข้ามา นอกจากหน่วยทหารแล้วฝ่ายเจ้าเมืองของอุบลราชธานีก็ถูกสั่งให้มาช่วยกองร้อยนี่ด้วย ซึ่งในข้อมูลไม่ได้บอกว่าฝ่ายเจ้าเมืองที่นำพลเรือนมานั้นมาจำนวนเท่าไร แต่แน่นอนก็เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทำการโอบปีกกาเป็นยุทธวิธีของกองทัพไทยสมัยใหม่ ที่จะหลอกล่อและโจมตีข้าศึก ในที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการยิงคนที่ไม่มีอาวุธที่เท่าเทียม มันเป็นการสังหารจริงๆ ในขณะที่ฝ่ายผู้มีบุญก็เชื่อว่าตัวเองจะรอด แล้วบอกว่าอย่ายิงหรือทำอะไรให้นั่งภาวนา บันทึกนี้เป็นเอกสารของหอจดหมายเหตุ  มีการบันทึกคำของฝ่ายผีบุญว่า ใครอย่ายิง อย่าทำอะไรหมด ให้นั่งภาวนา ฝ่ายเราซึ่งหมายถึงฝ่ายเจ้าเมืองและ กรุงเทพฯ ก็ยิงแต่ข้างเดียว ในที่สุดผู้คนก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก 300 คนเศษ มันเป็นทุ่งสังหารจริง

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมถูกกระตุ้นให้เห็นว่า เหตุการณครั้งนี้มีคนถูกฆ่าพร้อมกัน 300 กว่าคน นี่เป็นการตายครั้งสำคัญในการผนวกอีสานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนกรุงเทพฯ นี่เป็นการฆ่าเพื่อยึดครองจริงๆ ผมคิดว่าผมมองข้ามเหตุการณ์นี้มา คือไม่เคยถูกบอกเล่ามาก่อน”ธำรงศักดิ์ กล่าว

ปัจจัย 5 สังหารคนอีสาน 

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวว่า การเกิดเหตุการณ์ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือที่เป็นทุ่งสังหารนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ และไม่ได้มีความเป็นเอกเทศ เพราะคนที่อยู่ในบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำโขงนั้นมีมโนทัศน์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมการเมืองในดินแดน 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่  1.การรุกเวียงจันทน์ การเผาเวียงจันทน์ของกองทัพสยามเป็น 2.การจับและขังเจ้าอนุวงศ์ 3.เหตุการณ์โนนโพธิ์ บ้านสะพือที่เป็นทุ่งสังหาร 4.การส่งทหารเข้าไปในเวียดนามและสงครามลับในลาว 5.สไนเปอร์ที่วัดปทุมวนาราม เรียกตรงนี้ว่าเป็นเบญจสังหาร ซึ่งก็คือ 5 สังหารนั่นเอง

ชัชวาล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การปฏิบัติทางอำนาจรัฐของสยามถือว่าเป็นการปฏิบัติการทางอำนาจที่รุนแรง ทำให้เห็นเจตนาและวิธีการที่ชัดเจนมาก เหตุการณ์นี้เราก็รู้อยู่เกิดจากความพยายามในการกระชับอำนาจ  ช่วงแรกในมณฑลอีสานกำหนดให้มีข้าหลวงใหญ่ ช่วงที่ 2  

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวอีกว่า เมื่อปี 2440 ก็มี พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่.. มีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งมีการเปลี่ยนจากการมีอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร  ซึ่งเป็นลักษณะของล้านช้าง เวียงจันทน์ เมื่อเกิดการปฏิรูปทำให้เกิดการกระชับอำนาจเข้ามา มีการเก็บเงินส่วยปีละ 3.50 บาท มีทั้งการเก็บและยกเว้น ผู้ที่ได้รับการยกเว้นก็คือผู้มียศศักดิ์และคนร่ำรวย ตนคิดว่ามันเป็นลักษณะศักดินา อภิสิทธิ์ชนที่มีมาตั้งแต่ตอนนั้น ถามว่าใครที่เป็นคนจ่ายก็คือคนที่ไม่มีตำแหน่งแห่งหนในเชิงอำนาจรัฐเลย ก็คือเป็นชาวนา ชาวไร่ ทำให้เกิดแรงกดดัน ซึ่งมีตำนานเล่าที่สืบต่อกันเขาเรียกว่ามลาง คือการหนีไปอยู่ในภาคกลางเพื่อไม่ต้องเสียเงิน หรือบางทีก็มีเรื่องเล่าว่าบรรพบุรุษปู่ย่าตายายของบางคนต้องหาบไก่

หมายเหตุ : ร่วมระดมทุนเพื่อผีบุญที่ ธ.กรุงเทพเลขที่ 521-4-40594-5 มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน หรือทางเว็บไซต์ GoFundMe หัวข้อ Recovering the lost history of Thailand

image_pdfimage_print