เครดิตภาพ: Suriya Sonsura

การรวบอำนาจไว้ส่วนกลางมักสร้างปัญหารื้อรัง แต่ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง การแก้ไขปัญหารถติดรอบพื้นที่ ม.มหาสารคามคงเสร็จได้เร็ววัน ผู้เขียนจึงเสนอให้มองการแก้ไขปัญหาแบบญี่ปุ่นเพื่อสางปัญหานี้

พงศธรณ์ ตันเจริญ เรื่อง

จากป่าโคกหนองไผ่สู่การเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทป่าโคกหนองไผ่ คือ ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขต ม.ใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลขามเรียงและตำบลท่าขอนยาง 

ข้อมูลจากกองทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2564 ระบุว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีจำนวนนิสิต ประกอบไปด้วย ป.ตรี ป.โท ป.เอก มากถึง 41,357 คน 

เมื่อดูข้อมูลของ สำนักงานสถิติจังหวัดมหาสารคาม ปี 2563 พบว่าพื้นที่ตำบลขามท่าขอนยางมีจำนวนประชากรทั้งหมด 8,720 คน และตำบลขามเรียงมีจำนวนประชากรทั้งหมด 16,430 คน 

หากนำจำนวนประชากรทั้ง 2 ตำบลมารวมกันแล้วเท่ากับว่า ในพื้นที่ 2 ตำบลมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 25,150 คน 

เมื่อนำจำนวนนิสิตมารวมกันกับประชากรในพื้นที่ตำบลขามเรียงและตำบลท่าขอนยางจะทำให้เห็นภาพจำนวนประชากรเกินครึ่งแสนที่อยู่ในเขตพื้นที่ 2 ตำบล แต่การพัฒนากลับไร้ทิศไร้ทางในการพัฒนา โดยเฉพาะปัญหาการจราจร ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มักเจอปัญหารถติด อุบัติเหตุ การสูญเสียชีวิต เพราะผู้คนที่อาศัยใน 2 ตำบลนี้ใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นจำนวนมากทำให้ถนนที่มีอยู่แต่เดิมและตัวโครงสร้างระบบการขนส่งสาธารณะไม่สามารถรองรับจำนวนประชากรที่อาศัยสัญจรไปมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อันเป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางกรุงเทพฯ ส่งผลให้ท้องถิ่นอีสานอยู่ภายใต้ระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากส่วนกลางที่คอยกำกับชี้นำการพัฒนาของท้องถิ่นและยังมีความทับซ้อนทางอำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หากอำนาจการจัดระบบการขนส่งสาธารณะเกิดจากการกระจายอำนาจให้กับเทศบาลตำบลท่าขอนยางเทศบาล ตำบลขามเรียงและประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในเวทีสาธารณะเพื่อสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ อาจจะทำให้เทศบาลทั้ง 2 แห่งนำความเห็นของประชาชนไปปรับปรุงบริการขนส่งสาธารณะ 

นอกจากการจัดเวทีสาธารณะแล้วท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่สามารถร่วมกันประชุมโดยใช้สภาเทศบาลตำบลเพื่อวางแผนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งกระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะสอดคล้องกับหลักการเสริมพลังอำนาจ (Empower) ให้กับประชาชนเพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น 

แนวคิดกระบวนการเสริมพลังอํานาจ (Empower) เป็นกระบวนการที่ให้ความสําคัญกับการพัฒนาตามสํานึกที่แท้จริงของมนุษย์(Conscientization)  ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหาในชีวิตจริง (Paulo Freire, 1974) เพื่อยกระดับจิตสํานึกของปัจเจกบุคคลทำให้เกิดจิตสํานึกร่วมเพื่อนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชนซึ่งเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายมิติ (Multi-dimension Social Process) 

ต้นแบบท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ได้รับอำนาจในการจัดบริการสาธารณะอย่างเต็มที่ คือ ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการให้อำนาจและอิสระในการทำงานแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ 

จึงกล่าวได้ว่า รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่นบริหารจัดการภารกิจในปริมาณมากกว่าประเทศอื่น โดยมีงบประมาณในการจัดการดูแลพื้นที่จากการจัดเก็บภาษีในพื้นที่ของตนเอง 

หน้าที่ของท้องถิ่นญี่ปุ่นนั้น แบ่งความรับผิดชอบระหว่างจังหวัดกับเทศบาลชัดเจน จังหวัดจะให้บริการสาธารณะในส่วนที่เทศบาลดำเนินการไม่ได้ ส่วนเทศบาลจะให้บริการสาธารณะที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประชาชนและมีบทบาทหน้าที่สำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน จังหวัดจะมีหน้าที่ในจัดการศึกษาและบริหารโรงเรียนมัธยมตอนปลาย รวมทั้งจ่ายเงินเดือนครู ซึ่งส่งผลให้จังหวัดเสียค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้จังหวัดยังต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ด้านเกษตรกรรม ป่าไม้และการประมงมากกว่าเทศบาล 

จากรายงานเรื่องประวัติความเป็นมาของการปฏิรูปการณ์กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา” ของกรมปกครองท้องถิ่นปี 2548 ระบุว่า ยอดรายจ่ายสุทธิของรัฐบาลท้องถิ่น (ยอดรวมของทั้งจังหวัดและเทศบาล) อยู่ที่ 89 ล้าน 4 แสนล้านเยน ซึ่งมากกว่าเป็นจำนวน 1.5 เท่าของยอดรายจ่ายของรัฐบาลกลางที่มีจำนวน 61  ล้าน 2 แสนล้านเยน 

จึงกล่าวได้ว่า รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่นเป็นผู้บริหารจัดการภารกิจในวงเงินถึงกว่า 60% ของยอดรวมรายจ่ายของรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งหมด  รัฐบาลท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นมีอิสระในการจัดการและการบริหารพื้นที่ของตนเอง

สำนักงานเทศบาลตำบลขามเรียง เครดิตภาพ : เว็บไซต์ตำบลขามเรียง

เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรปกครองท้องถิ่นไทย จึงมีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า เทศบาลตำบลท่าขอนยางและเทศบาลตำบลขามเรียงมีปัญหาทั้งในแง่ของการตัดสินใจในการบริหารพื้นที่ยังมีการกำกับดูแลจากข้าราชการรัฐส่วนกลาง อย่างการสัมปทานเส้นทางการเดินรถสาธารณะท้องถิ่นก็ไม่สามารถจัดการได้ต้องให้กรมขนส่ง กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นราชการส่วนกลางเป็นผู้จัดการ 

หากเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการบริการขนส่งสาธารณะ ท้องถิ่นก็ยังไม่มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการจัดการ นอกจากนี้ยังมีการทับซ้อนทางอำนาจกับหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางซึ่งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการเตือนและเสนอปลดผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งราชการส่วนภูมิภาคยังมีอำนาจในการเห็นชอบร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น  ทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการทำงานและเกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา

การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงเป็นแนวทางที่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจในการดูแลเรื่องต่างๆ และงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นต้องได้รับมากขึ้นตามภาระงานที่รับผิดชอบมากขึ้นขององค์กร 

ถ้าต้องการให้ปัญหานี้แก้ไขได้จริงๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นองค์กรนำ โดยริเริ่มการเปิดพื้นที่ให้กับคนในท้องถิ่นและนิสิตที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของท้องถิ่นเพื่อร่วมกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของเทศบาลทั้ง 2 ตำบลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม อีกทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มีบทบาทวางแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของท้องถิ่นให้เกิดการยกระดับการพัฒนาในท้องถิ่นอย่างครบวงจร 

ส่วนมหาวิทยาลัยมหาสารคามเองก็ควรมีบทบาทเสริมสร้างฐานองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเพื่อการบูรณาการทางความรู้ไปพร้อมกันกับการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของการสัญจรไป-มาของยานพาหนะบนท้องถนนที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง 

  • มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 
  • ลิขิต ธีรเวคิน (2548). การเมืองการปกครองของไทย. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • Paulo Freire. (1974). Pedagogy of the Oppressed. Bangkok: Charoenvit Printing. [In Thai].

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print