สมาคมคนทามถอดบทเรียนความสูญเสียจากเขื่อนราษีไศลและการต่อสู้ของคนอีสานในการจัดการน้ำ ย้ำชัดชาวบ้านถูกหลอกด้วยวาทกรรมอีสานแล้งต้องมีอีสานเขียว แต่กลับต้องไร้ที่ดินทำกิน

Citizen Reporter of The Isaan Record เรื่องและภาพ

ศรีสะเกษ – เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 (วานนี้) สมาคมคนทาม เขื่อนราษีไศล ราษฎรโขง ชี มูน ได้เสวนาถอดบทเรียนจากกรณีเขื่อนราษีไศลหัวข้อ “จากโขง ชี มูน สู่ปัญหาการจัดการน้ำและกระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” โดยมีตัวแทนจากสมาคมคนทาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องการเยียวยาผลกระทบจากโครงการของรัฐที่มาในรูปแบบเขื่อนราษีไศลมากว่า 29 ปีเข้าร่วม 

จากเริ่มสู่เพียงหนึ่งกลายเป็นกลุ่ม 

ส่วนปราณี มัคนันท์ หนึ่งในแกนนำของกลุ่มสมาคมคนทาม เล่าถึงที่มาของการกลุ่มว่า การจัดตั้งองค์กรที่มีตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม เพียงไม่กี่คนในนามคณะศึกษาปัญหาน้ำ เมื่อปี 2535 และร่วมกับสมัชชาคนจนเมื่อปี 2539 หลังจากรัฐสร้างวาทกรรมอีสานเขียว อีสานแล้ง มีน้ำแล้วดี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลไม่รอบด้านทำให้เกิดการลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อน ปรากฏว่า ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนรับรู้รับทราบข้อมูลในเชิงผลกระทบจากเขื่อนที่เพียงพอ

“นี่จึงนำมาสู่โครงการทามมูน ด้วยการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนในพื้นที่ กระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของป่าบุ่งทาม ผ่านชิ้นงานวิจัย ผ่านการลงพื้นที่ ใช้ความรู้ตอบสนองงานเคลื่อนไหวเพื่อ ทลายความกลัวของชาวบ้านในพื้นที่”  

เธอกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมด้านกฎหมาย อบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักและรับรู้ถึงสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสมัยก่อนที่การสื่อสารยังมีช่องทางไม่มาก ประกอบกับกระแสอีสานเขียวทำให้ชุมชนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นกลุ่มที่ ต้องการเขื่อน และ กลุ่มที่ไม่ต้องการเขื่อน จึงจำเป็นต้องใช้การพูดคุย คลุกคลี แลกเปลี่ยนข้อมูล และนำทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกันพร้อมกับลงพื้นที่จริง

แกนนำของกลุ่มสมาคมคนทาม กล่าวอีกว่า เมื่อมีการเคลื่อนไหว ผลที่เกิดขึ้นจึงนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการสำรวจผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูน และโครงการอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและออกความเห็นต่อโรงการของรัฐ พร้อมทั้งมีสิทธิ์ในการรับการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากโครงการของรัฐ และนำไปสู่การศึกษาผลกระทบ หรือ EIA ซึ่งกลายมาเป็นบรรทัดฐานในการคัดค้านโครงการที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างและอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุนของรัฐ

กลุ่มสมาคมคนทามมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อถอดบทเรียนความสูญเสียจากการสร้างเขื่อนราษีไศล 

บ่ได้เคียดแต่จำบ่ลืม

ส่วนวิทย์ (ขอสงวนนามสกุล) หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า ได้รับไม้ต่อจากพ่อ ซึ่งเป็นแกนนำรุ่นแรกที่ออกมาเรียกร้องในปี 2535 แต่การเคลื่อนไหวเป็นด้วยความลำบาก จากความพยายามขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีทั้งอำนาจและกฎหมายอยู่ในมือ บวกกับที่ได้รับผลกระทบจากน้ำของเขื่อนราษีไศล ที่น้ำจะท่วมบ้านพ่อก่อนบ้านอื่นและ ระดับน้ำลดทีหลังบ้านอื่น 

“ตอนนั้นบ่เคยมีการมาเยียวยาใดๆ จากทางรัฐเลย มันเป็นสิ่งที่บ่ได้เคียด แต่จำบ่ลืม”วิทย์ กล่าว 

นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า ข้อมูลที่รัฐนำเสนอต่อชุมชนมีการบิดเบือนว่า จะสร้างฝายยาง แต่ความเป็นจริง คือ เขื่อนคอนกรีต ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลที่นำเสนอมา รวมถึงไม่มีการนำเสนอข้อมูลผลกระทบต่อระบบนิเวศที่จะตามมาจากโครงการโขง ชี มูน

เขื่อนราษีไศลสร้างความแตกแยก

วิทย์ บอกว่า การเกิดขึ้นของเขื่อนราษีไศล นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างป่าบุ่งป่าทามและวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำมูนยังกระทบถึงบริบทชุมชนที่เปลี่ยนไป มีความแตกแยกมากขึ้น 

“ในชุมชนแตกแยกกันเรื่องเขื่อนระหว่างคนสองฝ่ายถึงขนาดว่าตายไม่เผาผี ต่อมาข้อมูลข้อเท็จจริงของเขื่อนมีมากขึ้นทำให้ความแตกแยกดังกล่าวยุติลงด้วยดี และกลุ่มที่เคยเห็นด้วยกับเขื่อนได้ร่วมเรียกร้องให้มีการชดเชยจากภาครัฐ เพราะผลกระทบมาจากโครงการของรัฐ ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ก็ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะกลับมาร่วมพูดคุยกันโดยไร้ซึ่งอคติต่อกัน”เขากล่าว 

ทูล (ขอสงวนชื่อ-นามสกุล) หนึ่งในแกนนำ แต่ก่อนชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องสิทธิชุมชน การเข้ามาของกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างโครงการทามมูน นำมาซึ่ง 3 องค์ประกอบ คือ ความรู้ พันธมิตร ข่าวสาร ท้ายที่สุดนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรในการคัดค้านโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยตรงและเรียกร้องให้มีการชดเชยและเยียวยาผลกระทบ

แผนการสรุปบทเรียนที่ได้จากการประชุมของสมาคมคนทาม 

รัฐบาล “ชวลิต” เรียกเงินเยียวยาคืน 

ผา กองธรรม สมัชชาคนจนรุ่นแรก เล่าว่า หลังจากได้ค่าชดเชยชุดแรกเมื่อปี 2540 มาแล้ว รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาแทนรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นั้น ได้พยายามเรียกเงินทั้ที่จ่ายชดเชยเยียวยาคืน เพราะถือว่ารับเงินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร แต่ถือว่าเป็นที่ดินสาธารณะจึงเกิดการรวบรวมข้อมูลของผู้ถูกคุกคามทั้งหมายเรียก ถูกดำเนินคดี มีจำนวนกี่คน กี่กลุ่ม และนำไปสู่การชุมนุมบนสันเขื่อนราษีไศลเมื่อปี 2552 ซึ่งเรียกร้องความเป็นธรรมว่าเงินที่ได้รับชดเชยมานั้น ไม่ผิด และเรียกร้องให้การศึกษาผลกระทบเร่งดำเนินการให้เสร็จหลังจากยืดเยื้อมาตั้งแต่ ปี 2542 ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี

“การชุมนุมที่ยาวนานกว่า 189 วัน บนสันเขื่อนราษีไศลเต็มไปด้วยความคึกคัก บนสันเขื่อน มีการจัดตั้งการ์ด ตั้งองค์กรอาสาสมัคร คอยดูแลผู้ร่วมชุมนุม มีการนันทนาการเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น แสดงดนตรี โดยวงดนตรีคนทาม ที่ตั้งขึ้นมาจากคนในชุมชน การแสดงหมอลำการเมือง รวมไปถึงหนังบักตื้อหรือหนังตะลุงอีสาน เป็นต้น”เธอย้อนอดีต 

เขื่อนทำลายระบบนิเวศ – ทำลายครอบครัว

นวรัตน์ แสงสนั่น เจ้าหน้าที่สมาคมคนทาม กล่าวว่า ทุกๆการต่อสู้มีการสูญเสีย บางคนเป็นวีรบุรุษ เป็นแกนนำ เป็นนักเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ชีวิตเบื้องหลัง ชีวิตครอบครัวกลับต้องล่มสลาย จากที่เคยมีชีวิตอย่างเรียบง่าย มีทรัพย์สิน มีที่ดินทำกิน พอมวลน้ำได้ท่วมเข้าไปยังที่ทำกิน นาทาม ระบบนิเวศริมน้ำมูนได้รับผลกระทบจนยากที่จะฟื้นฟูก็จำต้องขายทรัพย์สินมาเป็นทุนในการต่อสู้ ต้องแตกแยกกับญาติพี่น้อง ครอบครัว 

“ในที่สุดการที่เขื่อนยังคงมีอยู่ในจุดนี้ นอกจากจะสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงกับระบบนิเวศแล้ว เขื่อนยังทำลายวิถีชีวิตและสังคมครอบครัวในชนบทแตกสลายไปจนยากที่จะฟื้นฟูคืนมาได้”นวรัตน์ 

ส่วนสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานจึงสรุปบทเรียนที่ได้จากกรณีเขื่อนราษีไศลว่า ในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องจะต้องมีความชัดเจนในข้อเรียกร้องและจุดยืน มีความอดทน พร้อมทั้งไม่หยุดแค่ข้อเรียกร้องที่ได้รับการตอบสนองหรือชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ หากแต่ต้องมีพัฒนาการก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ เพื่อเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ยั่งยืนและมั่นคงถาวร 

image_pdfimage_print