หลังออกจากคุกในข้อหากบฏแล้ว “วิทิต จันดาวงศ์” ได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านจังหวัดสกลนคร ทว่าก็ไม่วายจะต้องถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด แต่แล้วบทบาทการเป็นนายกสมาคมผู้ใช้น้ำชลประทานสว่างแดนดินก็พลิกชีวิตเขาให้ได้รับการยอมรับจากมวลชนและหน่วยงานราชการมากขึ้น

วิทิต จันดาวงศ์​ เรื่อง

ผมพาครอบครัวกลับไปอยู่สว่างแดนดินจริงๆ คือ เมื่อประมาณต้นปี 2512 ปัญหาตอนนั้นก็คือบ้านเดิมที่ชาวบ้านช่วยสร้างให้ตั้งแต่ปี 2498 นั้น น้าสาวและน้าชาย (คุณเครือวัลย์และครูสมคิด) ได้ขายบ้านหลังนั้นไปหลายปีแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เมื่อไม่มีคนอยู่หากเก็บไว้เกรงว่า พวกเจ้าหน้าที่จะไปเผา ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับบ้านคนที่หลบหนีการจับกุมหลายคน หลายหลังผมเองก็ไม่มีเหตุผลจะโต้แย้งจำต้องยอมรับสภาพเช่นนั้นแต่ก็ยังดีหน่อยที่เหลือเรือนครัวสองห้องไว้ก็ต้องอาศัยครัวเล็กๆ เป็นที่ซุกหัวนอนไปพลางก่อน 

ท่ามกลางความห่วงใยในความปลอดภัยจากเพื่อนบ้าน แต่ผมคิดว่า ท่ามกลางความหวาดกลัวของเพื่อนบ้านนี้ เราต้องแสดงความกล้าหาญไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น เพื่อเรียกขวัญเพื่อนบ้านกลับคืนมาให้ได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ในขณะเดียวกันก็คิดถึงคำสอนของพ่อบอกไว้ว่า “เราจะต้องเป็นคนของประชาชน มีมวลชนอยู่ล้อมรอบตัวเราจะไม่มีวันตาย หากโดดเดี่ยวเมื่อใด เมื่อนั้นคือจุดจบของนักต่อสู้เพื่อประชาชน” คาถาบทนี้ผมจำขึ้นใจและก็ใช้เป็นท่วงทำนองในการสัมพันธ์ผู้คนและใช้ได้ผลมาแล้วในตอนต่อสู้คดี สามารถทำให้กลุ่มจำเลยที่เป็นคู่ขัดแย้งในคดีกลับมาให้การยอมรับภายในเวลาเพียง 6 เดือนและได้ใจคนเหล่านี้จนถึงปัจจุบัน

ผลของการวางตัวเช่นที่กล่าวผ่านไประยะหนึ่งทำให้เกิดความรู้สึกของเพื่อนบ้านแถวนั้นยอมรับถึงความกล้า ทั้งทำให้พวกเขาเริ่มคลายความหวาดกลัวลงที่ละน้อย ผมมีเรื่องเล่าที่เป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับผมที่เข้าใจถึงความจำเป็นในเรื่องปัจจัยเวลา ไม่หุนหันพลันแล่นไปตามอารมณ์ คือ เมื่อผมกลับมาบ้านไปพบผู้คนเพื่อนบ้านเห็นแต่ละคนต่างก็ดีอกดีใจกันพอสมควรแต่เมื่อวันหนึ่งผมขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยปลูกบ้านใหม่แทนหลังเก่าที่ถูกขายไปในช่วงเช้าทุกคนมากันพร้อมและก็ช่วยอย่างเต็มอกเต็มใจ แต่พอตกตอนบ่ายประมาณบ่าย 3 โมงเศษๆ  ต่างคนก็ต่างขอตัวกลับบอกว่ามีธุระ ผมพยายามขอร้องว่าทานข้าวด้วยกันก่อนค่อยกลับ ทุกคนต่างบอกว่ าไม่เป็นไรและก็ไม่มีใครอยู่ร่วมทานข้าวเย็นเลย ตอนแรกผมรู้สึกไม่พอใจมาก คิดว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ เมื่อก่อนนั้นไม่เคยเกิดลักษณะแบบนี้เลย พูดให้ตรงก็คือโกรธมากทีเดียว แต่ก็ไม่แสดงอะไรออกไป การปลูกบ้านทำต่อกันอยู่ 2 – 3 วัน ทำได้เพียงยกโครงมุงหลังคา ใช้เวลาอีกประมาณเดือนได้ปูพื้นแต่ยังไม่มีฝาบ้านก็ใช้ฝาครัวเก่าๆ กั้นห้องไว้ห้องหนึ่งพอได้นอน  

เมื่อทำบ้านพออยู่แล้ว ผมใช้เงินที่เหลืออยู่บ้างตอนนั้นประมาณ 2 – 3 พันบาทไปซื้อเป็ดมาเลี้ยงเพื่อขายไข่ พอให้มีเงินหมุนเวียนซื้อข้าวสารประทังชีวิตได้บ้าง มีครั้งหนึ่งเงินขาดมือ ผมไปขอยืมเงินเพื่อนบ้าน (พ่อสมพงษ์ที่ถูกจับไปด้วยกัน) เพราะผมเห็นเขาพึ่งขายวัวสองตัวได้เงินหลายพันบาท ผมขอยืมเพียง 500 บาท เขาตอบว่า ไม่มี ผมรู้สึกน้อยใจและไม่พอใจมาก ผมคิดว่า ครอบครัวนี้เมื่อก่อนยากจนมาก ในขณะที่ครอบครัวเราถูกจับกุมก็ให้เขาทำนาเราหลายปี จนมีอยู่มีกิน มีฐานะดีขึ้น แต่เมื่อเราขอยืมเงินแค่ 500 บาทเขากลับบอกว่าไม่มี เกือบจะต่อว่ารำเลิกบุญคุณ แต่ก็อดทนไว้โดยไม่แสดงอาการอะไรออกมา จนวันหนึ่งผมไปนั่งกินเหล้ากับพวกเพื่อนบ้านเหล่านี้ มีชายคนหนึ่งที่นับถือกันมาตั้งแต่พ่อ ผมเรียกเขาว่า “อาว์”  ชื่อนายกา คนบ้านหัน แกกระซิบบอกผมว่า “แกอย่าโกรธเขานะที่เขาไม่ให้ยืมเงิน เพราะเขากลัวถูกจับ รู้ไหมว่า ตั้งแต่แกกลับมาอยู่บ้าน ทางเจ้าหน้าที่เขาออกข่าวว่า เขาปล่อยนกต่อมาล่อเอาหมู่ (เป็นคำพังเพยทางอีสาน หมายความว่า ปล่อยวิทิตมาเพื่อดูว่า มีใครให้การช่วยเหลือบ้าง แล้วก็จะจับเข้าไปคุมขังอีก) จำได้ไหมเมื่อตอนที่แกปลูกบ้าน ทำไมคนถึงหนีกลับตั้งแต่บ่ายสามโมงก็เพราะเหตุนี้  ฉะนั้นแกอย่าไปโกรธไปโทษเขาเลยนะ” ผมถึงบางอ้อทันที ความขุ่นเคืองที่เก็บงำไว้ในใจเกือบปีหายเป็นปลิดทิ้งและเท่าที่สังเกต บรรดาคนใกล้ชิดเมื่อก่อนมานั่งกินเหล้าที่บ้านผม พอเวลา 4 โมงเย็นจะมองหน้ามองหลังแล้วก็ขอตัวกลับ แม้จะมานั่งกัน 4 – 5 คนก็ตาม

เมื่อผมเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ผมตั้งใจจะต่อสู้ให้บรรยากาศเก่ากลับคืนมาให้ได้ แม้สถานการณ์ในขณะนี้จะดูเหมือนอยู่ในภาวะสงคราม เสียงปืนใหญ่ดังในทิศทางเทือกเขาภูพานก็ตาม โดยเริ่มที่เด็กวัยรุ่นในบ้านหวาย   ใช้สวาท ราศรีเป็นตัวเชื่อม เมื่อเด็กเหล่านี้มาอยู่ใกล้ชิดผมนานวัน ชาวบ้านก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง คือ   นิสัยใจคอ กิริยามารยาทเด็กเรียบร้อยดีขึ้น รู้จักให้ความเคารพผู้เฒ่า ผู้แก่ ทำให้พ่อแม่ของเด็กหนุ่มอีกหลายคน เมื่อเจอผมก็ขอร้องให้เอาลูกเขามาอยู่ด้วย ตอนนั้นจะมีเด็กหนุ่มมาห้อมล้อมอยู่ที่บ้านวันหนึ่งประมาณ  5 – 6   คนไม่ขาด มาช่วยงานที่บ้านบ้าง ตกเย็นมาก็เลี้ยงเหล้าอาหารบ้างตามมีตามเกิด เขาก็อยู่ร่วมกับพวกเราดึกๆ ได้ ไม่ช้านักพวกผู้ใหญ่เพื่อนบ้านก็เริ่มหายความหวาดกลัว กล้ามานั่งคุย กินเหล้ากันมืดค่ำได้ บ้างครั้งไปเที่ยวงานบุญกลางคืน ผมก็ไปตามปกติมีพวกเด็กไปเป็นเพื่อนบ้าง ไม่มีบ้าง ชาวบ้านเห็นเราไม่กลัว เขาก็เริ่มไม่กลัวด้วย

มีครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวงานกาชาด จัดที่โรงเรียนสว่างวิทยา (อนุบาลสว่างแดนดินปัจจุบัน) ผมโดนนายใส กลางบุญเรือง เป็นสายข่าว พ.ต.ท. (พลเรือน ตำรวจ ทหาร) ไล่ให้กลับบ้านบอกว่า “คุณไม่เหมาะที่จะอยู่ในงานนี้เพื่อความปลอดภัยกลับบ้านไปเสีย” ผมไม่ตอบโต้อะไรยังเดินเที่ยวงานต่อกับพวกเด็กหนุ่ม 7 – 8 คน แต่ไม่ได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้เด็กฟัง เพราะไม่แน่ใจว่า นายใสเขาหวังดีหรือหวังร้าย ประกอบกับในอดีตครอบครัวเขากับครอบครัวผมสนิทสนมกันมาก พ่อนายใสก็เป็นหัวคะแนนให้ครูครอง ตอนเป็นผู้แทนครูครองก็รับพ่อนายใสไปรักษาโรคที่กรุงเทพฯ พักอยู่ที่บ้านด้วยกัน เป็นไปได้หรือที่เขาจะรังเกียจครอบครัวเรา ผมเองก็ยังไม่ชัดเจนในเจตนาของนายใส แต่ต่อมาไม่นานนักนายใสก็ถูกยิงตายที่บ้านต้าย

ผ่านไปหนึ่งปี ผมก็อยู่ที่บ้านโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังมีผู้คนไปมาหาสู่มากขึ้นเป็นปกติเหมือนในอดีต ทำให้ผมมั่นใจมากขึ้นว่า เรามีมวลชนห้อมล้อมมากขึ้นไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นง่ายๆ แม้จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ – อส. พูดจาถากถางบ้างตอนนั่งอยู่ในตลาด แต่ผมก็วางเฉยเหมือนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เป็นนายกสมาคมผู้ใช้น้ำชลประทาน

ต่อมาเมื่อประมาณต้นปี 2514 ทางเจ้าหน้าที่ชลประทานจากกรมมาจัดตั้งสมาคมผู้ใช้น้ำชลประทาน เป็นองค์กรของสมาชิกผู้ใช้น้ำขึ้นมาบริหารจัดการน้ำในการเกษตรเองและเป็นองค์กรที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เป็นนิติบุคคล จัดประชุมที่ห้องประชุมอำเภอสว่างแดนดิน มีชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำชลประทานมาร่วมประชุมประมาณ 100 กว่าคน ที่ประชุมพร้อมกันเสนอและยกมือสนับสนุนผมเป็นนายกสมาคมฯ คนแรกในชื่อองค์กรว่า “สมาคมผู้ใช้น้ำชลประทานอ่างห้วยทรายสว่างฯ” มีการจัดตั้งขึ้นพร้อมกันหลายสมาคมฯ ในพื้นที่การใช้น้ำชลประทานในเขตจังหวัดสกลนครและพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศด้วย  

ผลดีในเรื่องนี้ คือ ทำให้ผมมีฐานะทางสังคมสามารถเรียกประชุมและดำเนินการบริหารจัดการองค์กรได้สะดวกและชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นห้องเรียนแรกที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการองค์กรในระหว่างรอการอนุญาตจดทะเบียน ทางการชลประทานได้จัดให้มีการอบรมทางวิชาการเกี่ยวกับความรู้ด้านองค์กร การบริหารจัดการองค์กรและวัตถุประสงค์องค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน ทางกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพ โดยให้แต่ละสมาคมฯ จัดตัวแทนไปรับการอบรมสมาคมฯ ละ 2 คน ทั่วประเทศคนประมาณร่วมร้อย  

เมื่อผ่านการอบรมแล้ว เรานำความรู้จากการสัมมนาอบรมมาประยุกติใช้ในการบริหารจัดการองค์กรอย่างจริงจัง ในสองปีกว่านับว่า ได้รับความสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั้งคณะกรรมการ มวลสมาชิกสมาคมฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชลประทานทั้งในพื้นที่และส่วนกลางจากกรม ยิ่งทำให้การบริหารเป็นไปด้วยดีและมีพลังมากขึ้น

ในที่นี้จะเล่าประสบการณ์การบริหารสมาคมฯ เพื่อเป็นบทเรียนแก่ผู้ที่กำลังทำหน้าที่บริหารจัดการองค์กรตามกฎหมายในปัจจุบัน(2557) เผื่อว่าจะมีประโยชน์ในการทำงานบ้างไม่มากก็น้อย  

ในด้านการนำและการบริหาร ผมใช้ท่วงทำนองในการทำงาน คือ เรียนรู้สู่การปฏิบัติที่เป็นจริง (ทฤษฎีประสานการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม) ต่อกรรมการและมวลสมาชิกฯ ใช้ท่วงทำนองสัมพันธ์กับมวลชนอย่างสนิทแน่นแฟ้น เวลาทำงานร่วมกินร่วมอยู่กับมวลสมาชิกอย่างเป็นกันเอง ง่ายๆ คลุกคลีกับชาวบ้านตลอดเวลา รับฟังข้อเสนอ ข้อโต้แย้ง ความเดือดร้อน รวมทั้งความไม่เข้าใจของกรรมการและสมาชิกอย่างซื้อสัตย์และถ่อมตน   ไม่เอาอารมณ์หรือตำแหน่งทางการบริหารไปโอ้อวดหรือบีบบังคับกรรมการและมวลสมาชิก ต่อความไม่เข้าใจต้องหมั่นให้การศึกษาโน้มน้าวจูงใจด้วยหลักการ เหตุผล และจิตวิทยา พร้อมให้เวลากับการเปลี่ยนผ่านทางความคิดของพวกเขา ยึดหลักความจริงที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงย่อมมีปัจจัยเวลาในระดับที่แน่นอนหนึ่ง ส่วนจะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับมูลฐานภายในของแต่ละคน” ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ สนใจใฝ่เรียนรู้ที่แตกต่างกันไปและผู้บริหารที่ดีมีความสามารถนั้นจะต้องบริหารจัดการความแตกต่างทางความคิดของคณะกรรมการและมวลสมาชิกให้ลงตัวและเป็นเอกภาพ ขับเคลื่อนการงานในองค์คาพยพเดียวกันในบริบทที่ต่างกันไปได้อย่างมีพลัง  

สำหรับคณะกรรมการนั้นยึดหลักการทำงานเป็นทีมหรือที่ฝ่ายซ้ายเรียกว่า “การนำรวมหมู่ ประสานกับการรับผิดชอบส่วนบุคคล” ก่อนอื่นต้องประชุมให้การศึกษาคณะกรรมการเรื่ององค์กร วิสัยทัศน์องค์กร และวัตถุประสงค์ขององค์กร เพื่อให้คณะกรรมการคิดเป็น มีบทบาทเป็นศูนย์รวมความคิดเป็นมันสมองขององค์กรได้ เพื่อการพัฒนายกระดับไปสู่การทำโครงการ แผนงานบริหารจัดการต่อไป (การกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์อย่างมีขั้นตอน เหมาะสม เพื่อความสำเร็จทางการนำ การบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ)

ส่วนในทางการจัดตั้ง คือ การประกอบโครงสร้างทางการทำงานและการบริหารองค์กร การจัดตั้งจึงเป็นเครื่องมือในการทำงาน การบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิ์ภาพในการทำงานนั้น นอกจากการบริหารงานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการบริหารคน บริหารงบประมาณ งานประชาสัมพันธ์ปลุกเร้าให้ตื่นรู้ตระหนักรู้   เป็นกำลังใจแก่สมาชิกในขณะปฏิบัติงานและต้องมีการสรุปถอดบทเรียนทุกขั้นตอนของการทำงานอย่างสม่ำเสมอ กรรมการต้องเรียนรู้หน้าที่การงานของแต่ละคนก่อนรับมอบหมายงานรับผิดชอบส่วนบุคคลจากองค์กร(สมาคม) ให้เข้าใจ จึงจะสามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นไปได้ดี และสัมพันธ์สอดคล้องกันทั้งคณะทั้งองค์กร จึงจะทำให้เกิดผลงานที่ประทับใจมวลสมาชิกฯ และสมาชิกทั้งมวลจะรู้ซึ้งว่า “สมาคม ฯ คือ เครื่องมือต่อสู้เพื่อให้ได้มาและรักษาผลประโยชน์มวลสมาชิกอย่างแท้จริง สมาคมหรือองค์กรจึงจะได้รับการยอมรับสนับสนุนจากมวลสมาชิกทั้งมวลได้

ข้อสรุปนี้ก็คือ คณะกรรมการต้องคิดเป็น วางแผนเป็นก่อนจึงจะนำไปสู่ผลทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้   นั่นก็คือ  ในทางความคิดสมาคมฯเป็นศูนย์รวมความคิดของมวลสมาชิกฯ คณะกรรมการคือกลุ่มมันสมองขององค์กร ในทางการเมือง สมาคมฯ เป็นกองเสนาธิการของสมาชิก (วางแผน)  ในทางจัดตั้ง สมาคมฯ เป็นเครื่องมือต่อสู้หรือต่อรองเพื่อให้ได้มาและรักษาผลประโยชน์มวลสมาชิกฯ นั่นเอง

ที่กล่าวมาเป็นเพียงวิธีคิด เป็นนามธรรมเท่านั้น ส่วนวิธีทำงานที่เป็นรูปธรรมนั้นขอยกตัวอย่างในทางปฏิบัติจริงประกอบไว้สักเล็กน้อย คือ นโยบายชลประทานในขณะนั้น เมื่อเขาตั้งสมาคมแล้ว งานขุดคลอง ลอกคลองส่งน้ำหรืองานซ่อมแซมอื่นๆ เขาจะมอบหมายให้สมาคมฯ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทำให้สมาคมฯ เก็บค่าบำรุงประจำปีตามข้อบังคับคนละ 10 บาทจากสมาชิกง่ายขึ้น เพราะคนที่จะเข้าทำงานรับจ้างต้องเป็นสมาชิกสมาคมฯ เท่านั้น สมาชิกสมาคมฯมีสามประเภท คือ สมาชิกสามัญได้แก่ผู้ที่มีพื้นที่น้ำที่ได้รับน้ำจากชลประทานโดยตรง (ถ้าไม่เป็นสมาชิกไม่มีสิทธิ์ได้รับน้ำ) และเสียค่าบำรุงเป็นประจำทุกปี รวมทั้งการขอใช้น้ำแต่ละครั้งๆ ละ 1 บาทต่อคนต่อครั้ง 

ส่วนประเภทที่สอง คือ สมาชิกวิสามัญ คือ ผู้ที่ไม่มีที่นาในพื้นที่รับน้ำจากชลประทาน แต่ต้องการใช้สิทธิ์ร่วมอย่างอื่น เช่น การเข้าทำงานเมื่อสมาคมฯ รับงานมาหรือยืมพื้นที่ที่ได้รับน้ำจากสมาชิกอื่นปลุกพืชฤดูแล้ง รวมทั้งอาจใช้สิทธิ์ในการกู้เงินจากสมาคมฯ สมาชิกประเภทนี้จะเสียค่าบำรุงเป็นครั้งคราวเฉพาะกรณีที่มีความเกี่ยวข้องดังกล่าวเท่านั้น

ส่วนประเภทที่สาม คือ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ถือเป็นผู้ที่สมาคมฯ เห็นว่ามีความรู้ที่สามารถเป็นที่ปรึกษาสมาคมฯ   รวมทั้งผู้มีอุปการคุณสนับสนุนสมาคมฯ ในด้านการเงินหรือสิ่งของ คณะกรรมการสมาคมฯ เห็นว่าควรให้เกียรติเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ประเภทนี้ไม่ต้องเสียค่าบำรุงสมาคมฯ ตามข้อบังคับแต่อย่างใด เว้นแต่เจ้าตัวอยากใช้สิทธิ์ในการสนับสนุนเท่านั้น ส่วนกรรมการสมาคมฯ นั้นต้องเป็นสมาชิกสามัญเท่านั้น สมาชิกประเภทอื่นจะเป็นได้เพียงที่ปรึกษาเท่านั้น (ตามข้อบังคับสมาคมฯ)      

การบริหารจัดการองค์กร

การบริหารงานนั้น เบื้องต้นก็ดูจะมีปัญหาแล้ว เพราะทางชลประทานเขามีอัตราจ้างลูกจ้างชั่วคราวเป็นรายวัน   ในอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย จำนวนก็จำกัดประมาณ 20 กว่าคนเท่านั้น ปัญหาก็คือ สมาชิกสมาคมฯมีจำนวนเป็นร้อย จะเกิดปัญหาถ้าไม่ได้ทำงาน เพราะทางสมาคมฯ เก็บเงินค่าบำรุงไปแล้ว กรรมการสมาคมฯ ต้องคิดหาวิธีในการแก้ปัญหานี้อย่างดีที่สุด ในที่สุดก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยเลือกสมาชิกที่ทางคณะกรรมการไว้ใจที่สุด ยื่นใบสมัครในอัตราจ้างตามระเบียบชลประทาน ส่วนการทำงานจริง ทางสมาคมฯ ใช้วิธีการจ้างเป็นคิวเป็นรายคน รายกลุ่ม เรื่องนี้ต้องเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ชลประทานให้จัดการตามวิธีการของสมาคมฯ   ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก แต่ด้วยการต่อรองของสมาคมฯ เจ้าหน้าที่ยอมผ่อนปรนตามนโยบายของสมาคมฯ และเริ่มเปิดงานได้โดยที่สมาชิกได้ทำงานกันทุกคน งานแรกเปิดทำงานเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมปี 2514

เนื่องจากระหว่างนั้นเป็นหน้าแล้ง ดินที่ขุดเป็นหินลูกรังแข็งมาก จอบขุดลงแต่ละครั้งจอบกระทบหินเกิดประกายไฟ ช่างคุมงานถามผมว่า “สามเดือนจะเสร็จไหมนายก” ผมตอบว่า ต้องเสร็จทั้งๆ ที่ในใจคิดไม่แน่ใจเช่นกัน เพราะเห็นสมาชิกหลายคนบ่นถอดใจ ผมต้องพยายามให้กำลังใจสมาชิกตลอดเวลา วันแรกทั้งวันคนงานขุดได้เฉพาะเบิกหน้าดินลึกประมาณ 20  ซม.เท่านั้น กรรมการหลายคนเป็นห่วงว่า วันรุ่งขึ้นจะไม่มีคนมาทำงาน ผมเองก็หนักใจเช่นกัน แต่บังเอิญวันนั้นมีสมาชิกคนหนึ่ง ก่อนเขากลับตอนเย็น เขาเทน้ำดื่มที่เหลือประมาณครึ่งกระติกน้ำแข็งลงบนพื้นหินที่เขาเปิดหน้าดินไว้ พอรุ่งเช้าเขากลับมาทำงาน เขาเอาจอบโกยหินลูกรังขึ้นอย่างง่ายดายแทบไม่ได้ออกแรง เมื่อผมเห็นเช่นนั้น ผมสั่งให้คนงานทุกคนเปิดหน้าดินไปก่อน ตอนเย็นเลิกงานผม (นายกฯ) ให้เจ้าหน้าที่อ่างเปิดน้ำมาตามคลองเดิมและให้ปฏิคมนำเครื่องสูบน้ำไปตั้งสูบน้ำเข้าแช่ลูกรังไว้ทั้งคืน   พอรุ่งเช้าผมไปที่หน้างาน ปรากฏว่าสมาชิกนั่งรอเปิดงานต่อ เพราะทุกคนทำเสร็จหมดแล้วและเราก็ทำเช่นนั้นทุกวันใช้เวลา 12 วัน ขุดคลองความยาว 800 เมตรสำเร็จด้วยดี ทุกคนดีใจในความสำเร็จของงานแรกนี้

จากความสำเร็จครั้งนี้ทำให้สมาคมฯ ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ชลประทานและความเชื่อมั่นศรัทธาจากสมาชิกสมาคมอย่างมาก เมื่อขุดคลองงานแรกสำเสร็จผมให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเปิดน้ำทดลอง น้ำไหลตามคลองทำให้หมู่บ้านมีน้ำชุ่มฉ่ำ เด็กๆ กระโดดเล่นน้ำอย่างสบายอารมณ์ ตัวผมเองก็มีความสุขใจไม่แพ้ชาวบ้าน

เมื่อเห็นชาวบ้านมีความสุขจากการมีน้ำไหลตามคลองอย่างสมบูรณ์ ทำให้ผมนึกถึงการแต่งเพลงที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เคยสอนแบบยัดเยียดให้เมื่อร่วมทุกข์กันในลาดยาว นึกครึ้มขึ้นมาจึงลองเขียนเพลงให้ชื่อว่า “มาร์ชสมาคมผู้ใช้น้ำชลประทาน” เลียนแบบทำนองเพลงมาร์ชลาดยาวของจิตร โดยใช้แมนโดลินที่คุณจิตรให้ไว้ก่อนจากกันที่ลาดยาว  เนื้อเพลงเท่าที่พอจำได้ “พวกเราชาวสมาคม ผู้ใช้น้ำชลประทาน จิตเบิกบานชุ่มเย็นเป็นกระแสธารา หลั่งไหลมาชโลมใจให้ชุ่มฉ่ำ…………….”  ต่อจากนั้นจำไม่ได้แล้ว เพลงนี้เมื่อนำไปร้องเวลาร่วมวงกินเหล้ากับสมาชิกและงานบุญบ้านของสมาชิก ได้รับความนิยมมาก เด็กในหมู่บ้านโคกร้องได้แทบทุกคน ผมเดินเข้าไปในหมู่บ้านพอเด็กๆเห็นผมพวกเขาจะร้องเพลงนี้ทันที ทำให้เราภูมิใจและเสียดายที่ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจเรียนการแต่งเพลงกับคุณจิตอย่างจริงจัง   ขนาดทนฟังอย่างเสียไม่ได้ก็ยังพอคลำเป็นเพลงให้สมาชิกร้องกันถ้วนหน้า

 จากความสำเร็จของงานครั้งนั้น ได้รับการยอมรับ เชื่อมั่นและไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่ชลประทานทุกระดับในจังหวัด ทำให้การติดต่อประสานงาน การเจรจาต่อรองหรือเสนอความเห็นในด้านการงานได้รับการยอมรับดียิ่ง แต่ที่สำคัญที่ผู้บริหารองค์กรควรระวังเป็นพิเศษ คือ เมื่อทำงานได้รับผลสำเร็จและได้รับความศรัทธาจากสมาชิกแล้ว อย่าหลงระเริงอยู่กับความสำเร็จนั้น จนลืมตัว หลงตัวเอง นั่นคือ ทางแห่งความหายนะ ยิ่งมีความสำเร็จในการงานยิ่งให้ความเคารพเพื่อนร่วมงาน เป็นกันเอง ถ่อมตนและต้องทำให้เห็นเป็นความสำเร็จร่วมกัน   ความศรัทธานั้นจึงจะยืนยาว  

ส่วนทางราชการชลประทานหรือเจ้าหน้าที่ชลประทาน ใช้ความสัมพันธ์เชิงวิภาษ คือ ทั้งร่วมมือและต่อสู้   หมายความว่า ร่วมมือสนับสนุนโครงการราชการที่เห็นว่า สมาชิกได้รับประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจสังคมโดยรวม ทำความเข้าใจและนำพากรรมการสมาชิกปฏิบัติอย่างมีประสิทธิ์ภาพ เห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการยอมรับในการบริหารของสมาคมฯ แต่ต้องคัดค้านและต่อสู้กับท่าทีราชการที่มักจะครอบงำ บงการในลักษณะยัดเยียดพิมพ์เขียวที่ไม่สอดคล้องกับรูปธรรมในการทำงาน ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่อย่างเด็ดเดี่ยว รักษาหลักการผลประโยชน์มวลสมาชิกเป็นสำคัญและพึงระลึกเสมอว่า สมาคมฯคือองค์กรนิติบุคคล ไม่ใช่ลูกจ้างหรือลูกน้องที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ชลประทาน ผู้บริหารสมาคมฯ ต้องกล้าเสนอความเห็นและกล้าคัดค้านการครอบงำโดยไร้หลักการทุกชนิดที่กระทบต่อประโยชน์ของสมาคมฯโดยรวม  ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างรูปธรรมในเรื่องความร่วมมือและต่อสู้กับทางราชการชลประทาน ระยะท้ายของการทำงานขุดคลองดังนี้คือ

ในช่วงท้ายการทำงานในปีเดียวกัน ทางชลประทานว่าจ้างให้สมาคมฯ ดำเนินการขุดคลองต่อให้จบตามแผนงานคลองส่งน้ำที่ทางชลประทานวางแผนไว้ ระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ โดยให้สมาคมฯ เป็นผู้เจรจาขอบริจาคที่ดินเกษตรกรเพื่อขุดคลองผ่านเอง โดยยังไม่มีค่าชดเชยใดๆ ทางสมาคมฯเราก็ดำเนินการเจรจาจนสำเร็จตลอดแนว แต่ปัญหา คือ งบประมาณในการว่าจ้างน้อยเกินความเป็นจริง อาจจะเป็นเพราะชลประทานเห็นผลงานแต่ละครั้งเราทำเสร็จก่อนกำหนดทุกครั้ง จึงกำหนดงบประมาณน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผมในนามนายกฯ คำนวณแล้วเห็นว่า ถ้าใช้งบฯตามจำนวนที่ทางชลประทานกำหนดมาน่าจะขุดได้ยาวประมาณ  3/5 ของแผนงาน ปัญหาที่จะตามมาคือ ที่ดินที่ขอบริจาคไว้ที่ไม่ได้ขุดจะมีปัญหาทันที ปีต่อไปต้องเจรจาขอบริจาคใหม่   ซึ่งไม่แน่ว่าจะบริจาคหรือไม่ ผมในฐานะนายกฯ จึงเจรจาต่อรองกับนายช่างควบคุมงานว่า ขอขุดไส้คลองไปก่อนเพื่อให้งานทะลุเป้าตามโครงการ (ไส้คลองหมายความว่าขุดร่องกว้างเท่ากับก้นคลอง โดยยังไม่ทำเชิงลาดปากคลอง) เพื่อเอาที่ดินที่สมาชิกบริจาคไว้ก่อน นายช่างควบคุมงาน (ช่างคำพา) เห็นด้วย ทางสมาคมฯ ก็ดำเนินการจนทะลุเป้าตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อทำทะลุเป้าเสร็จนายช่างโครงการมาตรวจงาน (ช่างพรชัยหัวหน้าโครงการฯ) บอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ถือว่างานไม่เสร็จ ผมอธิบายเหตุผลตามที่ตกลงกับช่างคำพาไว้ ช่างพรชัยไม่พูดอะไรเดินทางกลับโครงการฯ  

เวลาล่วงเลยมาเป็นเดือนยังไม่มีวี่แววว่าจะจ่ายเงิน ทางสมาคมฯ ต้องทำหนังสือทวงถามเพราะสมาชิกเดือดร้อนกันมาก อยู่มาวันหนึ่งทางโครงการฯมีงานเลี้ยง เจ้าหน้าที่เอารถมารับผมกับคณะกรรมการ 4 – 5 คน ไปที่โครงการฯ  หลังจากกินเลี้ยงเสร็จจะกลับ มีช่างควบคุมงาน  2 – 3  คน (ไม่มีช่างคำพา) มาคุยกับพวกเราบอกว่า “นายกฯ ครับการขุดคลองครั้งนี้ชลประทานไม่มีเงินจ่ายจะทำอย่างไรดี” ผมตอบทันที่ว่า “ไม่มีเงินจ่ายผมก็ฟ้องศาล ใครจะเป็นจำเลยละ ผมยอมไม่ได้แน่” เท่านั้นเจ้าหน้าที่ระดับช่าง  4 – 5  คนรุมเข้ามาหาผมต่างก็ยกมือไหว้ขอร้องไม่ให้ฟ้องจะพยายามหาเงินมาจ่ายให้ หลังจากนั้นไม่ถึง   15  วัน ทางชลประทานนำเงินมาจ่ายค่าแรงตามนัด สมาชิกต่างดีอกดีใจกันใหญ่ งานนี้ยิ่งทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นต่อผู้บริหารสมาคมฯ โดยเฉพาะเครดิตนายกฯ ส่วนทางชลประทานก็ระมัดระวังและให้เกียรติสมาคมอ่างห้วยทรายสว่างฯ อย่างดียิ่ง ด้านสำนักงานใหญ่แผนกสมาคมฯที่กรุงเทพฯ เชิญนายกห้วยทรายสว่างฯ เข้าไปคุยประสานงานแลกเปลี่ยนในการทำงานและสนิทสนมกันมาก เท่าที่ผมจำชื่อได้มี คุณธานิน คุณสมร ผมเรียกพี่ทุกคนเพราะอายุมากกว่าผมและยิ่งทำให้กรรมการ สมาชิกฯ  ในสมาคมฯสว่างและกรรมการสมาคมผู้ใช้น้ำใกล้เคียงหลายสมาคมฯยอมรับด้วย

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างรูปธรรมการร่วมมือและต่อสู้ หรือที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์เชิงวิภาษ”นั่นเอง

ในปีถัดมาผมได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสุขาภิบาลสว่างแดนดิน โดยชาวบ้านมาตามที่บ้านในวันสมัคร ไม่ได้เสียเงินแม้แต่บาทเดียว (สมัยนั้นพันตรีสีห์พนม วิชิตวรสาร เป็นนายอำเภอ)

การเข้าเป็นกรรมการสุขาภิบาลนับว่า เป็นผลดีต่อผมมาก เพราะมีโอกาสสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการมากขึ้น   คล้ายกับว่า อยู่ใกล้สายตาพวกเขาและสามารถสัมพันธ์ผู้คนกว้างขึ้นมากขึ้น เช่น พ่อค้า ผู้รับเหมา ข้าราชการในอำเภอ ซึ่งมีจุดต่างจากสมาคมฯ คือ สมาคมฯจะมีเฉพาะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกฯ ส่วนข้าราชการชลประทานก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ คิดว่า มีหลักประกันในความปลอดภัยของครอบครัวมากขึ้น แต่ในทางกลับฝ่ายสหายป่าอาจเข้าใจไปอีกทาง (รู้ทีหลัง)

ความสัมพันธ์กับสหายในป่า

ระหว่างที่ผมกลับมาอยู่บ้านตั้งแต่ต้นปี 2512 เป็นเวลา 1 ปี  ไม่ปรากฏว่า มีวี่แววสหายป่าหรือคนของ พ.ค.ท.มาติดต่อสัมพันธ์เลย จนกระทั่งประมาณกลางปี 2513 (ปลายฝน) ได้มีนายอิน (นามสกุลจำไม่ได้) เป็นลูกศิษย์ครูครองสมัยเป็นครู มีความใกล้ชิดกับครอบครัวพวกเรามากคนหนึ่ง พวกผมเรียกเขาว่า “อาอิน” อยู่บ้านดงสวรรค์   บ้านเดียวกับคุณถวิลหรือสหายก้องได้มาหาผมที่บ้าน เมื่อมาถึงแกเดินวนเวียนอยู่รอบบริเวณบ้านคล้ายกับจะสังเกตอะไรบางอย่าง ปากแกก็พูดถามอะไรไปตามเรื่อง สักพักแกขึ้นไปนั่งบนชานบ้านพูดคุยถามเรื่องราวหลายเรื่อง เรื่องทุกข์สุขบ้าง เรื่องถูกขังคุกบ้าง ผมก็เล่าให้เขาฟังนานเกือบชั่วโมง เมื่อฟังแล้วสักเกตดูแกชอบใจปนกับความเห็นใจ จากนั้นแกพูดเชิงกระซิบว่า “เมื่อสองวันก่อนคุณถวิล (สหายก้อง) มาหาแกที่บ้าน   แกเลยบอกคุณถวิลว่า “เตี้ยม (ชื่อเล่นผม) มาอยู่บ้านเราแล้ว” สหายก้องดูท่าตกใจแล้วพูดกับอาอินว่า “ที่ผมมาหาลุงอย่าไปบอกแกเด็ดขาด ตอนนี้เขาไม่ใช่พวกเราแล้ว เขารับใช้สันติบาลมาอยู่บ้านก็เพื่อหาข่าว” อาอินฟังแล้วทั้งตกใจ สงสัยไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่โต้แย้งความคิดสหายก้อง แกเล่าต่อว่าวันนี้แกตัดสินใจมาจะพิสูจน์ความจริง หลังจากคุยกันอยู่นานแกแน่ใจว่ายังเหมือนเดิม จึงตัดสินใจเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง แล้วถามว่า “ทำไมเขาถึงคิดเช่นนั้น” ผมตอบว่า “ไม่เป็นไรหรอก พวกเขาไม่เข้าใจ เมื่อเขาเข้าใจความจริงแล้ววันหนึ่งเขาคงมาหาผมเอง” ดูอาอินเองก็ยังไม่สบายใจพร้อมกับเตือนผมให้ระมัดระวังด้วย ผมบอกว่า “ไม่ต้องห่วงผมเดนตายมามากแล้ว” จากนั้นแกก็กลับ จากวันนั้นแล้วไม่เห็นแกมาหาอีก

ต่อมาอีกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปี 2514 วันนั้นเดือนเต็มดวงเวลาประมาณ 4  ทุ่มเศษ มีเด็กหนุ่มชื่อป้อง (น้องภรรยาสหายก้อง) มาเรียกผมที่บ้าน กระซิบบอกว่า “พี่หวินมาหา” ผมเดินตามป้องไปห่างจากบ้านพักประมาณ 100 เมตร พบสหายก้องและคนอื่นๆ อีกประมาณ 2 – 3 คนเดินเข้ามาจับมือทักทาย (เป็นวัฒนธรรมสหายในป่า) จากนั้นคนอื่นๆ ก็เดินออกไป (เข้าใจว่าไปอยู่ยามระวังภัย) มีผมกับสหายก้องนั่งคุยกันลำพังสองคน หลังจากถามสารทุกข์สุกดิบแล้ว สหายก้องก็เอ่ยถามผมว่า “คุณคิดอย่างไรจึงกลับมาอยู่บ้านเดิม” ผมตอบว่า “ผมก็มารอที่จะเข้าป่านั่นแหละ ทางสหายจะรับผมไหม?” สหายก้องตอบว่า “ปัญหานี้เตี้ยมยังมีเรื่องที่จะต้องชื้แจงเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับนายสังข์ พัธโนทัย อยู่เรื่องราวเป็นอย่างไร” ผมตอบว่าเรื่องนี้มันยาวเล่ากันสามวันสามคืนไม่จบหรอก เอาไว้เมื่อรับผมเข้าป่าแล้วจะเล่ารายละเอียดให้ฟัง ไม่ต้องห่วงหรอกผมไม่หนีไปไหน หากคิดว่าผมผิดก็มาตัดคอผมได้เลย ผมพร้อม” เขาฟังอึ้งอยู่พักหนึ่งแล้วพูดต่อว่า “เอาละเดี๋ยวผมจะรายงานชั้นบนดูเขาจะมีความเห็นอย่างไร อาจจะนานหน่อยนะ” ผมตอบว่าไม่เป็นไรผมรอได้และพร้อมที่จะพิสูจน์ความจริงทุกเมื่อ” เขาถามว่าถ้าจะมาหาอีกขัดข้องไหม?” ผมตอบว่า “ได้ตลอดเวลา”จากนั้นพวกเขาก็ลาจากไป

ผมกลับมาบ้านนอนคิดในใจว่า นี่มันเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้เชียวหรือและตัดสินใจว่าถ้าเขาไม่เชื่อไม่ยอมรับก็ไม่เป็นไร เราต้องอยู่ของเราให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและเชื่อมั่นว่าตอนนี้เราก็มีมวลชนห้อมล้อมอยู่พอสมควร   ทั้งฝ่ายรัฐฯ และฝ่ายป่าก็คงไม่กล้าทำอะไรบุ่มบ่ามเสี่ยงต่อผลเสียหายทางการเมืองของแต่ละฝ่ายแน่นอน

สองสามวันต่อมา พ่อตาสหายก้อง (นายตัน   จันทร์สุพรรณ มีตำแหน่งเป็นเหรัญญิกสมาคมผู้ใช้น้ำชลประทานที่ผมเป็นนายกฯอยู่) มาหาผมที่บ้าน ถามข่าวและปรารภกับผมว่าพวกนี้เขาคิดอย่างไรจึงระแวงนายกฯ (เรียกตำแหน่งแทนชื่อผม) ตอนเขามาถึงก็ถามผมว่า จะไปหาเตี้ยมได้ไหม แกตอบเขาว่าจะเป็นไรไปเล่า ตั้งแต่แกมาอยู่บ้านทำให้คนแถวนี้หายกลัวกันหมด ยิ่งตอนนี้แกเป็นนายกสมาคมฯ คนนับถือมาก  

ผมฟังจากนายตันเล่าแล้วคิดวิเคราะห์ว่า อาอินเป็นคนอื่นจะไม่กล้าชี้แจงโต้แย้ง แต่อาตันเป็นพ่อตาสหายก้องจึงกล้าชี้แจงและโตแย้งกลับบ้างและอีกอย่างก็อาจจะเป็นผลพวงจากอาอินหลังจากที่พบผมไปแล้ว สหายก้องจึงกล้าเสี่ยงมาพบ

หลังจากนั้นประมาณกลางปีเดียวกันเขามาหาอีกครั้ง คราวนี้มาเองโดยไม่ผ่านคนนำทาง เขามาปรึกษาเรื่องการแลกเปลี่ยนเงิน เนื่องจากพวกเขาซ่อนเงินไว้ตามพื้นดินเมื่อไปค้นขึ้นมาปลวกกัดขาดเป็นรูๆ  จึงอยากให้ช่วยจัดการแลกให้ ผมรับไว้จะจัดการให้ นัดกันสิบกว่าวันค่อยมาฟังข่าว จากนั้นเขาก็เดินทางกลับ

ส่วนผมให้ภรรยา (คุณพันธุ์ทิพย์)  ไปแลกเปลี่ยนที่ธนาคารชาติจังหวัดขอนแก่น เมื่อตรวจสอบแล้วแลกได้เพียง 4,000 บาท เมื่อแลกได้แล้ว ภรรยาผมแทนที่จะกลับบ้านกลับเดินทางต่อไปยังจังหวัดศรีสะเกษบ้านเดิมของเธอ ใช้เงินสี่พันหมด พอกลับมาบ้านเล่าให้ฟังผมตกใจ ตายซิ พวกเขาอยู่ป่าอดอยากไม่มีเงิน เราเกิดเอาเงินเขาไปใช้ ยิ่งเขาสงสัยเราเป็นทุนอยู่แล้วเราจะทำอย่างไร ดูภรรยาผมก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไร พูดอยู่คำเดียวว่าเดี๋ยวจะขายมูล (มรดก) มาใช้ให้ไม่โกงหรอก เมื่อสหายก้องมาผมก็บอกแกไปตามตรง แกก็ได้แต่บ่นว่า “พวกเราตอนนี้ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อยารักษาโรค ไม่น่าเกิดเรื่องแบบนี้เลย” ผมทั้งนิ่งทั้งอายพูดอะไรไม่ออก เพราะที่บ้านเองตอนนี้ก็ลำบากมากเช่นกัน แต่ละวันมีเงินไม่เกินร้อย จะกู้ยืมให้ก่อนชาวบ้านที่คุ้นเคยกันแถวนั้นฐานะก็แย่กันทุกคน   (เงินสี่พันสมัยนั้นก็ถือว่ามากโขอยู่กว่าจะใช้ให้เขาหมดได้ก็ปี 2516)

จากวันนั้นสหายก้องถูกย้ายไปทำงานที่อื่น แต่เขามอบหมายให้สหายมรสุมเป็นผู้มาติดต่อแทน ตอนหลังๆ มาพวกเขามีปัญหาความยากลำบากในการเดินทางจึงมอบหมายให้สหายบ้าน (แกนนำในหมู่บ้าน) ชื่อสหายปกรณ์ (นายเพชร   แฉล้มศรี) เป็นผู้มาติดต่อแทนตลอดมา

เพชร   แฉล้มศรี เป็นคนบ้านดอนธงชัย ตำบลสว่างฯ อำเภอสว่างแดนดิน เป็นลูกของนายลี นายลีเป็นลูกศิษย์ครูครองสมัยเรียนหนังสือและก็เป็นผู้สนับสนุนครูครองในทางการเมืองร่วมกับคาน พิลารักษ์ตลอดมา ครอบครัวเขาก็รู้จักสนิทสนมกับครอบครัวพวกเราตลอดมา เพชรหรือสหายปกรณ์ก็รู้จักครูครองตั้งแต่เด็ก พวกเขาจึงมีความเข้าใจผมเป็นอย่างดี สหายปกรณ์เป็นแกนนำที่สำคัญของ พ.ค.ท. ในหมู่บ้านนี้และทำหน้าที่ปลุกระดมเยาวชนในย่านนี้ เพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังทหารบ้านหรือที่เรียกว่า นจบ. และก็คัดเลือกส่งเข้าไปเป็นสหายป่าหรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “ทหารป่า” เพชรเล่าให้ฟังตอนหลังว่า ตอนแรกเขาก็มอบหมายให้เพชรติดตามพฤติกรรมผมว่าเป็นอย่างที่เขาสงสัยหรือไม่ สุดท้ายเพชรเองก็ยืนยันจุดยืนของผมให้ทางฝ่ายสหายฟังทุกครั้งที่เพชรติดต่อ ผมขอขอบคุณเพชรหรือสหายปกรณ์ในความตรงไปตรงมาของแกไว้ ณ ตรงนี้ด้วย ปัจจุบันนี้แม้พวกเราจะยุติการต่อสู้ออกจากป่ามาอยู่บ้านแล้ว เพชรกับผมก็ยังมีความสัมพันธ์กันเยี่ยงสหายร่วมอุดมการณ์เป็นอย่างดี เราต่างก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและให้การช่วยเหลือกันประจำ

ตอนกลางปี 2514 ถ้าจำไม่ผิดประมาณเดือนสิงหาคม มีนักข่าวโทรทัศน์สต็อกโฮม ประเทศสวีเดน 2 คน ชื่อ คุณสตาร์ฟาน (Starffanc) และ คุณเออแบน (Urban) มาพบและขอสัมภาษณ์ที่บ้านพักสว่างแดนดิน วันนั้นเขามาพบอย่างไม่มีล่าม ทำให้การสนทนาทุลักทุเลมากทีเดียว แต่ดีหน่อยที่เขาพกดิกชันนารี่มาด้วย เขาพูดพลางเปิดคำแปลให้ผมดู โชคดีหน่อยที่ตอนผมทำงานอู่เบนซ์ซังฮี้ ผมไปเรียนภาษาอังกฤษกับชาวอังกฤษที่บางลำพูกรุงเทพฯ หลายเดือน ไม่จบเพราะออกจากงานก่อน ส่วนตอนเข้าคุกลาดยาวใหม่ๆ ก็เรียนแปลหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษกับ ว่าที่ร้อยตรีธรรมนูญ เพื่อนจุฬาฯ รุ่นคุณจิตรและคุณประวุฒิ แม้จะฟังไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็พอเดาความได้บ้าง เขาตั้งคำถามให้ผมตอบ 3 คำถาม คือ 1) ผู้ก่อการร้ายคืออะไร? เขาถามเป็นภาษาอังกฤษปนไทย คือ What is  ผู้ก่อการร้าย 2) ใครไปเป็นผู้ก่อการร้าย ถามเป็นอังกฤษปนไทย คือ Who are ผู้ก่อการร้าย  และ  3) ผู้ก่อการร้ายมีวัตถุประสงค์อะไร? (คำถามนี้ผมจำภาษาอังกฤษไม่ได้) ผมฟังคำถามแล้วคิดว่า คำตอบจะซ้ำกัน ผมบอกเขาว่า “ผมเข้าคำถามดี แต่จะขอตอบเป็นภาษาไทย ให้พวกคุณอัดเทปแล้วให้คนที่เขาเก่งภาษาแปลอีกทีได้ไหม?”   เขาตกลงตามนั้น

คำถามที่หนึ่ง ผมตอบว่า ผู้ก่อการร้ายก็คือ ประชาชนทั่วไปที่หลบหนีการไล่ล่าจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐหลังจากที่ทางการประหารชีวิตครูครอง แล้วพวกเขาจำเป็นต้องจับอาวุธเข้าต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาชีวิตตนเอง   ทางการจึงเรียกคนเหล่านั้นว่า “ผู้ก่อการ้าย”

คำถามที่สองผมตอบว่า ผู้ก่อการร้ายโดยส่วนใหญ่ก็คือประชาชนชาวไร่ชาวนาหนีการไล่ล่าจับกุมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาแล้ว คนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคนไทย ไม่ใช่คนต่างด้าวดังที่รัฐกล่าวหา แต่การต่อสู้ของพวกเขาจะอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่วนพรรคฯเขาจะมีใคร ชื่ออะไรบ้างผมไม่ทราบ

ส่วนวัตถุประสงค์ของพวกเขาตามคำถามข้อสามนั้น เท่าที่ผมเข้าใจก็คือ พวกเขาต้องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพราะประเทศไทยปกครองโดยระบอบเผด็จการมานาน ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนถูกกดขี่ปราบปรามอย่างทารุณจากรัฐเผด็จการ

สามคำถามผมก็ตอบได้เพียงแค่นั้น แต่รู้สึกว่า คุณสตาร์ฟฟานสนใจเรื่องสหายรัศมีมาก ความเข้าใจของเขาเชื่อตามข่าวของฝ่ายรัฐว่า สหายรัศมี คือ ลูกสาวครูครอง รับผิดชอบบนเทือกเขาภูพาน ผมตอบว่า ไม่น่าจะใช่   เพราะลูกสาวครูครองไม่ได้อยู่ทางเขตภาคอีสาน น่าจะเป็นข่าวโคมลอยไม่มีมูลมากกว่า เพราะตอนนั้นเท่าที่ผมทราบข่าว น้องสาว น้องชายรวมทั้งแม่อยู่ทางภาคเหนือ แต่เรื่องนี้ผมไม่ได้บอกสตาร์ฟฟานเพียงแต่ยืนยันว่า ไม่น่าจะใช่ จากนั้นพวกเขาก็เดินทางกลับ

ต่อมาอีกประมาณ 7 วัน สตาร์ฟฟานกับเออแบนกลับมาหาอีกครั้ง คราวนี้มาพร้อมกับตากล้องโทรทัศน์ไทยที่กรุงเทพฯ อีก 3 – 4 คน   ไม่ทราบว่าเป็นของช่องไหนมาถ่ายทำคำสัมภาษณ์อีกครั้ง คำถามก็ใช้คำถามเดิม เขาบอกว่าเอาเทปไปให้พรรคพวกในกรุงเทพฯ แปลให้ฟัง ดีมากเลยจึงกลับมาถ่ายทำบทสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้ง   คราวนี้ดีหน่อยเพราะมีล่ามแปลจึงไม่ยุงยากเหมือนครั้งแรก เมื่อสัมภาษณ์จบก็ยังถามเรื่องรัศมีอีก ผมก็ตอบยืนยันไปเหมือนเดิม ก่อนกลับสตาร์ฟฟานพูดกับผมว่า “ผมอยากเห็นคุณไปเป็นจังเกิลในป่ามากกว่า” แล้วพวกเขาก็เดินทางกลับ

ตอนสตาร์ฟฟามมาพบผมเมื่อปี 2514 เขาอายุ 23  ปี ผมอายุ  32 อีก 43 ปีต่อมา (ปี 2557) เขามาเยี่ยมผมอีกครั้งเมื่อกลางเดือนเมษายน เขาอายุ 66 ผมอายุ 75  ปี เขาดีใจมากเขามาถ่ายทำคลิปวีดีโออีกครั้ง มาคราวนี้เขาเน้นเรื่องชีวิตการต่อสู้ของผมเป็นหลัก โดยตั้งคำถามว่า “ทำไมคุณจึงเป็นกบฏ” คำถามนี้เขาเอาสมมุติฐานที่ผมกำลังเขียนหนังสือเรื่อง “เส้นทางชีวิต  วิทิต จันดาวงศ์ ฟ้าส่งมาเป็นกบฏ” พร้อมกันนั้นเขาก็เชิญพลเอกสายหยุด เกิดผล มาพบผมที่บ้านด้วยและให้ถ่ายรูปเราสองคนยืนจ้องหน้ากันเพื่อพาดหัวข่าวสารคดีที่เขาถ่ายทำ   โดยใช้คำว่า “นายพลพบกบฏ

ต่อมากลางปี 2515 คุณสตาร์ฟฟานกลับมาพบผมอีกพร้อมกับตากล้องที่เป็นคนของเขาทั้งหมด ตอนนี้พาคุณสมบัติ วอทอง น้องชายอาจารย์บุญเย็นมาเป็นล่าม เขาบอกว่าได้คุณสมบัติมาเป็นล่ามเขาสบายใจมากเพราะวางใจได้ ประเด็นที่คุยกันก็คงเป็นประเดิม ต่อด้วยคำถามที่ว่าผู้ก่อการร้ายมีประชาชนให้การสนับสนุนมากไหม ผมตอบว่าในระยะนี้ในชนบทมีชาวบ้านค่อนข้างให้การสนับสนุนมาก แต่ในตัวอำเภอหรือในเมืองแล้วค่อนข้างจะน้อย เพราะพวกเขากลัวมากกว่า ประเด็นสุดท้ายก็ไม่หนีไปจากนางสาวรัศมีอยู่ดี ผมก็ตอบยืนยันเหมือนเดิม ก่อนเขาจะกลับเขาเองก็ย้ำเรื่องสุดท้ายว่า “ผมมาปีหน้าหวังว่าจะเห็นคุณเป็นจังเกิลในป่านะ”(คุณสมบัติแปล) ท่าทางเขาพูดจริงจังมากกว่าปีที่แล้ว ผมก็ได้แต่ยิ้มๆ ไม่ตอบ

สถานการณ์บ้านเมืองในตอนนั้น เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นกันบ้างแล้ว ผมติดตามข่าวทั้งทางหนังสือพิมพ์และวิทยุ (ตอนนั้นต่างจังหวัดยังไม่มีโทรทัศน์) ผมประเมินสถานการณ์ร่วมกับเพื่อนๆ ว่า แนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่การเรียกร้องทางการเมืองมีสูง และในที่สุดก็คงถูกรัฐบาลปราบปรามจับกุม หากเป็นเช่นนั้นจริงเราก็คงต้องโดนด้วย เพราะในประวัติศาสตร์การปราบปรามจับกุมของชนชั้นปกครอง จะเป็นไปตามรายชื่อบุคคลเดิมๆ ที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาลทุกครั้ง ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นหรือไม่ ยิ่งตอนนี้ฝรั่งมาถ่ายทำวีดีโอไปออกโทรทัศน์ต่างประเทศ น่าอยู่ในข่ายนั้น ทั้งคิดในใจว่า ถ้าสหายในป่ายังไม่ยอมรับเข้าป่าก็คงเข้าคุกรอบสองแน่ (ตอนนั้นคิดไม่ถึงว่านักศึกษาจะไล่รัฐบาลได้))

แต่การดำเนินชีวิตประจำวันรวมทั้งฝรั่งมาถ่ายทำวีดีโอ สหายปกรณ์รับรู้โดยตลอดและเข้าใจว่าน่าจะรายงานให้ฝ่ายนำในป่ารู้ตลอดเช่นกัน ผมได้แต่ปลง อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดเท่านั้น   ไม่มีทางอื่นให้เลือกและก็ทำมาหากินไปตามปกติ 

image_pdfimage_print