แฉในเวทีคณะกมธ.สิทธิฯ ลงพื้นที่อำนาจเจริญ แจกถุงน้ำตาล – จัดโต๊ะจีน ก่อนทำ EIA สร้างโรงงานน้ำตาล – โรงงานไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้นไม่รู้ข้อมูลจริงนำมลพิษ “เสียง ฝุ่น น้ำเสีย” เข้าชุมชน 

อัยการ ศรีดาวงศ์ เรื่อง, กชกร บัวล้ำล้ำ ภาพ

อำนาจเจริญ – เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565  ที่ศาลาประชาคมบือบ้าน บ้านน้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นกรณีข้อพิพาทกรณีปัญหาการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ 

โดยมีคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ คปน.ภาคอีสาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตัวแทนจากกลุ่มผู้คัดค้าน ผู้สนับสนุน เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งมีกลุ่มดาวดิน กลุ่มทะลุฟ้า ร่วมสังเกตการณ์

สืบเนื่องจากวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่มีการจัดเวทีถกปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อำนาจเจริญ ที่ห้องประชุมมงคลมิ่งเมือง ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ สุทัศน์ เงินหมื่น ในฐานะประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนได้ชี้แจงว่า กมธ.ไม่มีสิทธิชี้ถูกชี้ผิดแต่จะส่งข้อมูลให้รัฐบาล ถ้าพบว่า การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าและโรงงานน้ำตาลไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมหรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 หรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ถูกต้องตามนโยบายจะต้องมีการพิจารณา

ตัวแทนชาวบ้านผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการชี้แจงว่า โรงงานต่อท่อสับน้ำเข้าช่วงน้ำหลากทำให้ชาวบ้านน้ำปลีกมีน้ำใช้ไม่พอ มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ซึ่งก็ได้ออกมาคัดค้านตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน แต่โรงงานก็สร้างเสร็จแล้ว สิ่งที่อยากจะบอกอยากให้ปรับปรุงดีขึ้น รวมทั้งเรื่องฝุ่นละอองด้วย

“เพราะว่าเฮาคนบ้านเดียวกัน เว้าภาษาเดียวกัน มีหยังกะปรึกษากัน อย่าสิว่าทางหมู่เจ้าผิด ทางหมู่ข่อยถืก เพราะว่าสองฝ่ายหนิ จั่งได๋กะต้องอยู่นำกัน เพราะว่าเพิ่นเฮ็ดโรงงานมาแล้วจั่งได๋กะต้องปรับปรุงให่มันดีขึ่น”ตัวแทนชาวบ้าน กล่าว 

กลุ่มผู้คัดค้านเล่าประสบการณ์ระหว่างก่อนทำ EIA เพื่อสร้า่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในเวทีรับฟังความคิดเห็นของกมธ.สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนผู้คัดค้านได้เล่าถึงผลกระทบทั้งเรื่องฝุ่น เสียงและผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล  

จากนั้น โจโฉ สมบูรณ์ กำนันตำบลน้ำปลีก ชี้แจงว่า วันนี้มาในนามตัวแทนของประชาชนตำบลน้ำปลีก พร้อมกับนำเรียนว่าก่อนจะมีการตั้งโรงงานตนได้ทำการศึกษาและดูงานจากโรงงานของโรงงานน้ำตาล มิตรผล ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพื่อประกอบการทำ EIA พบว่า มีผลกระทบแน่นอน แต่ก็มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งยอมรับว่า ไม่เต็มร้อย 

ขณะที่ รังสิมันส์ โรม โฆษก กมธ.สิทธิฯ สรุปประเด็นว่า กระบวนการ EIA เป็นเรื่องที่สำคัญกับประชาชน แต่ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการสร้างโรงงานแล้ว กมธ.โรงงานตั้งแล้ว จากที่รับทราบข้อมูลคือประชาชนไม่มีส่วนร่วม บางคนได้สะท้อนว่า ตอนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นมีการจัดโต๊ะจีนและให้เซ็นชื่อ ซึ่งไม่ทราบว่า จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็น 

“พูดง่ายๆ คือ มากินข้าว กินข้าวแล้วให้น้ำตาล แล้วให้ลงชื่อให้หน่อยไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจริง อยากทราบว่า เป็นอย่างนี้จริงรึเปล่า ถ้าเป็นจริงก็เท่ากับว่า การรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่เกิดขึ้น และรายงาน EIA เท่ากับว่าเป็นรายงานที่ไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย”โฆษก กมธ.ตั้งคำถาม 

ชาวบ้านจังหวัดอำนาจเจริญร่วมเวทีระหว่างคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565

จากนั้นตัวแทนผู้สนับสนุนโรงงานน้ำตาล กล่าวชี้แจงว่า เราได้ประสานกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประกาศให้รับทราบโดยทั่วกันว่า ใครอยากเข้ามาร่วม EIA ก็ให้เข้าได้ เมื่อเปิดให้เข้าร่วม แต่บางคนก็ไม่ยอมเข้าร่วม ส่วนกรณีการจัดโต๊ะจีนนั้นยอมรับว่า มีการจัดที่เทศบาลตำบลน้ำปลีกจริง แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนจัดเลี้ยงแน่ชัด แต่การ EIA จัดที่เทศบาล 

สำหรับกรณีการถุงน้ำตาลนั้นทางโรงงานเป็นผู้มอบให้เป็นของชำร่วย ซึ่งตรงกับวันที่ทำประพิจารณ์ ซึ่งปรึกษากรรมาธิการได้ชี้แจงว่า 

“ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่า การจัดทำประชาพิจารณ์ ได้มาโดยการให้ค่าตอบแทนนั้น มันผิด”

จิราพร แก้วดี อดีตลูกผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำปลีกกล่าวทั้งน้ำตาว่า เราควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะสิทธิ์เลือก ในการก่อตั้งโรงงาน แต่ที่ผ่านมาได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ชัดเจน และไม่ทั่วถึง ซึ่งในวันที่จัดโต๊ะจีนก็ทราบและเห็นว่า มีเอกสารให้ลงชื่อ ตอนนั้นพ่อเป็นผู้ใหญ่ก็รู้ข้อมูลตามเอกสารเท่านั้น 

“ตอนนั้นเราเห็นว่า มีรถจากต่างจังหวัดไหนเข้าไปที่เทศบาล ทั้งที่คนพื้นที่ไม่ได้เข้ามา และรู้วันนั้นว่า จะมีการตั้งโรงงานน้ำตาล เราจึงไม่อยากเข้าร่วม”จิราพร กล่าว 

การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด โฆษก กมธ.จึงกล่าวสรุปก่อนที่จะปิดเวทีว่า

ประการแรก เท่าที่รับฟังเป็นข้อยุติ ก็คือมีการแจกของและจัดโต๊ะจีน จริงๆ ที่อาจจะเป็นแรงจูงใจและอาจจะทำให้รายงานอาจมีปัญหาได้

ประการที่สอง การที่มีประชาชนที่ไม่ได้รับผลกระทบเข้ามา ซึ่งก็ยังไม่ชัดว่า มากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีบางเสียงก็บอกว่ามาก จุดนี้ก็จะกลายเป็นประเด็นปัญหาของการรับฟังความคิดเห็นต่อไปได้

เขายังกล่าวอีกว่า ทั้งนีเข้าใจหน่วยงานรัฐที่อาจจะดูแค่ว่า ผ่าน EIA ก็ตั้งโรงงานได้ ไม่ถือว่า มีผลกระทบ ดังนั้นต้องกลับไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมว่า ที่ผ่านรับฟังความคิดเห็นมากน้อยแค่ไหน 

“ขอให้คำมั่นกับทุกฝ่ายว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในยุค คสช. มีแต่ สนช. ไม่มีกรรมาธิการแบบนี้ที่มาจากหลากหลายพรรคการเมือง ดังนั้นคราวนี้ต้องทำอย่างรอบคอบ แม้ว่า อาจจะมียุบสภาในเร็วๆ นี้ แต่เราก็พยายามทำในช่วงเวลานี้ให้ดีที่สุด” 

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน รวมทั้งเรื่องน้ำเสียที่ควรมีการสำรวจให้ได้ข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องเสียงก็ควรหาวิธีการที่ไม่รบกวนชุมชน”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ส.ส.ถกปัญหาโรงงานน้ำตาล จ.อำนาจเจริญ

image_pdfimage_print