ผลงานชิ้นสุดท้ายของ อติเทพ จันทร์เทศ สัมภาษณ์ผ่านออนไลน์ผ่านระบบซูม ในหัวข้อ “ผู้คนมีบุญกับคนรุ่นใหม่” ผู้ร่วมวงเสวนาเห็นตรงกัน “ผีบุญเกิดจากการถูกกดขี่” หวังให้เรื่องราวผู้มีบุญถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนเพื่อคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ 

The Isaan Record จัดเสวนาออนไลน์ผ่านระบบซูมในหัวข้อ “ผู้คนมีบุญกับคนรุ่นใหม่”  ดำเนินรายการโดย อติเทพ จันทร์เทศ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา 

ดร.กิตติรัตน์ สีหบัณฑ์ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี 

เรื่องกบฏผู้มีบุญที่เกิดขึ้นเมื่อ 120 ปีที่แล้วคนที่จะรับรู้เรื่องนี้ คือ ชาวบ้านในพื้นที่เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในเรื่องการต่อสู้กับระบบราชการไทยและอีกกลุ่มหนึ่งคือครูบา อาจารย์ ในมหาวิทยาลัย รวมถึงคนที่อ่านประวัติศาสตร์อีสานของ เติม วิภาคย์พจนกิจ  เรื่องกบฏผู้มีบุญของภาคอีสานเป็นเรื่องใหญ่ แต่บ้านเรามีความขัดแย้งในเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงมากนัก ต่อมาบรรยากาศทางการเมืองเปิดพอสมควร และเห็นอีสานเรคคอร์ดมาเปิดประเด็นเรื่องกบฏผู้มีบุญบ้านสะพือ และที่อื่นๆ คนก็ฮือฮา และเข้าใจเรื่องนี้พอสมควร แต่ว่าในระดับของนักเรียนมัธยมหรือทั่วๆ ไปอาจไม่รู้เรื่องนี้มากนัก 

ในแวดวงวิชาการเรื่องผู้มีบุญไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรท้องถิ่น ในความเป็นจริงเรื่องนี้ต้องถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรท้องถิ่น ต้องยอมรับว่า คนที่รู้เรื่องผู้มีบุญก็คือคนที่ดูสารคดี คนที่สนใจเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ต แต่คนทั่วไปยังรับรู้เรื่องนี้น้อยอยู่ การรับรู้เรื่องผู้มีบุญมีลักษณะของอคติ ไม่ว่าอยู่ในงานวิชาการที่เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยศิลปากรจะอธิบายว่าชาวบ้านถูกล่อลวงให้เข้าไปร่วมเป็นสาวกของผู้มีบุญและถูกผู้นำโน้มน้าวให้มาร่วม เป็นเรื่องของคนที่ไม่มีเหตุไม่มีผล แบบเรียนเหล่านี้ไม่ได้วิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของผู้มีบุญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ตำราเรียนไม่มีสอนเรื่อง “ผู้มีบุญ”

แม้ว่า การรับรู้เรื่องผู้มีบุญในกลุ่มครูบาอาจารย์หรือกลุ่มที่สนใจประวัติศาสตร์จะรับรู้เรื่องนี้ แต่ว่าการนำเสนอเป็นเรื่องของความไม่มีเหตุผล และเป็นความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์มากกว่า ไม่มีการเขียนในลักษณะการวิเคราะห์ว่า ทำไมคนจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์นั้นขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าในแบบเรียน ในหนังสือประวัติศาสตร์ชี้ไปในลักษณะเดียวกันว่าเป็นเรื่องของความไม่มีเหตุผล เรื่องความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ไม่พยายามเข้าใจผู้คนว่าทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น

การเคลื่อนไหวของคนเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผล คือ คนในสังคมมีความลำบาก พอรัฐเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองมาเป็นเทศาภิบาล คนที่เคยอยู่แบบอิสระมีวิธีชีวิตแบบชาวบ้าน เริ่มลำบากขึ้น เพราะมีการเก็บภาษีปีละ 4 บาท ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่  เรื่องของผู้มีบุญต้องนำเสนอในเหตุและผลว่า ทำไมจึงเกิดการต่อสู้ในลักษณะนี้ขึ้น มันไม่ใช่ขบวนการที่ไม่มีเหตุมีผลแต่เป็นขบวนการที่ชาวบ้านลำบากและไม่มีทางออก ไม่มีกลไกของรัฐที่เข้าไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน เพราะว่าข้าหลวงต่างพระองค์ก็เป็นเจ้าเป็นนาย มันไม่มีช่องทางที่จะไปพูดคุยกัน จึงเป็นการต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างคิด 

การเคลื่อนไหวของคนเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าสังคมก็ไม่ค่อยได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้มากนัก หากอยากจะเรียนรู้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดให้เรื่องนี้อยู่ในหลักสูตรของท้องถิ่น เพื่อให้กระจายลงไปถึงนักเรียน นักศึกษา และต้องอธิบายอย่างมีเหตุผล เกี่ยวกับขบวนการของประชาชน ไม่ใช่มองขบวนการของประชาชน ไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องของไสยศาสตร์อย่างเดียว

กระแสผีบุญติดหูเพราะสื่อตีแผ่ 

เรื่องผีบุญการรับรู้จะกว้างขวางขึ้น เพราะสื่อต่างๆ แพร่หลายมากขึ้น บางคนก็เพิ่งรู้ว่า มีประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ในภาคอีสานและในประเทศไทย เราต้องยอมรับคนไทยสมัยนี้เรียนหนังสือมากขึ้นฉลาดขึ้น การเข้าใจปรากฏการณ์บางอย่างก็มองไม่เหมือนกันและไม่ได้มองเหมือนเดิม ยิ่งหนังสือประวัติศาสตร์ที่รัฐสร้างขึ้นคนที่เข้าใจว่าธรรมชาติของระบบราชการเป็นอย่างไรก็จะตีความไปอีกแนวหนึ่ง คือ ไม่ค่อยเชื่อตำราประวัติศาสตร์แบบเก่าแล้ว ความจริงอาจตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐอธิบายก็ได้ เหมือนการตีความการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดอะไรออกมาคนก็จะตีความไปอีกเรื่องหนึ่ง 

เรื่องผู้มีบุญสังคมจะรับรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้นและคนจะหยิบเอาประเด็นในลักษณะนี้ไปขยายความและวิเคราะห์ต่อเพื่อเป็นตัวอย่างทางสังคม การเมืองต่อไป 

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ แกนนำราษฎร  

ความเชื่อมโยงในเรื่องการเคลื่อนไหวของผู้มีบุญกับคนรุ่นใหม่นั้น มองว่าความเชื่อมในเรื่องตัวบุคคล สายเลือด และความสัมพันธ์ ผมอาจไม่ได้มองว่า มันเป็นเรื่องเดียวกัน มันคือคนละเหตุการณ์ที่จบไปโดยตัวของมันเอง เหตุการณ์ 2475 เหตุการณ์  14 ต.ค. 2516  ก็เกิดขึ้นและจบไปโดยตัวของมันแล้ว แต่เหตุการณ์ปี 2553 และ 2563 เกิดขึ้นและยังไม่จบ 

ถ้ามองว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ก็ต้องบอกว่า มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ต้องบอกว่ามันมีความเหมือนกันแต่ไม่ใช่อันเดียวกัน เหมือนกันในเรื่องการเรียกร้องจากผู้กดขี่ สมัยของผีบุญตั้งแต่รับทราบรับฟังมาตั้งแต่ยังเด็ก เป็นผญาบทหนึ่งว่า “ผู้มีบุญจะมาไถ่ถอนความทุกข์ยากแร้นแค้นของชาวบ้าน เมื่อถึงยุคพระศรีอาริยะ”  ความทุกข์ยากความแร้นแค้นที่เราพูดถึงนั้นก็มาจากรัฐส่วนกลางที่เรียกว่ากรุงเทพฯ นั่นเอง ยุคล่าอาณานิคมนอกจากจะมีการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกแล้ว บ้านเราเองยังกลายเป็นอาณานิคมภายใน 

รวมศูนย์อำนาจเหตุเกิดกบฏทั่วราชอาณาจักร 

ก่อนนี้กรุงเทพฯ ก็เป็นกรุงเทพฯ มุกดาหารก็เป็นประเทศมุกดาหาร เป็นประเทศอุบลฯ ประเทศศรีสะเกษ ประเทศขุนหาญ ประเทศใครประเทศมัน พอเข้ายุคหนึ่งที่เราเรียกว่ายุค ร. 5 หรือ ตั้งแต่ ร.4-ร.6 ก็มีการผนวกเอาเมือง หรือประเทศราชต่างๆ  เข้าไปเป็นอาณาจักรของตัวเองตามหลักคิดแบบตะวันตกที่ต้องเส้นแบ่งแดนต้องมีอาณาเขตที่ถาวรมั่นคงชัดเจน

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การเอาระบบเศรษฐกิจและระบบปกครองแบบลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่ใกล้ศูนย์อำนาจ มาใช้ในลุ่มน้ำโขง ชี มูน เลย  ทำให้เกิดการขูดรีดที่เราเห็นชัดคือการให้เสียภาษีปีละ 4 บาท ที่ไม่ใช่เอามาบำรุงท้องถิ่นตัวเองแต่เสียให้กรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่เป็นเงินน้อยๆ ในยุคนั้น อยู่ดี ๆ เอาระบบเศรษฐกิจแบบนั้นมาบังคับใช้ คนที่ไม่มีก็ริบทรัพย์สินไปไทยแทน ใครไม่มีก็ให้ใช้แรงงานแทน 

“นี่คือการกดขี่ มันไม่มีอะไรมาก นอกจากมองว่า ทำอย่างนี้กับเราไม่ได้ จะมากดขี่บีฑาเอารัดเอาเปรียบไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องถูกต้องจึงขอเรียกร้อง แต่เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วความรู้เรื่องรัฐศาสตร์ ไม่เหมือนตอนนี้ที่เป็นเรื่องของการต่อรอง ร้องเรียน ประท้วง จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องกับรัฐส่วนกลาง”

ผีบุญเกิดจากการกดขี่

สิ่งที่เรียกว่าผีบุญที่ประเทศไทยเรียกนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเรียกร้องให้ออกจากการกดขี่ ถ้าเป็นปัจจุบันนี้ก็จะเรียกว่าม็อบดีๆ นี่เองว่าไม่เอาระบบเศรษฐกิจ ระบบภาษีหรือการขูดรีดแบบนั้น  

“มันคือการเรียกร้องเสรีภาพที่ไม่ได้หมายความว่าจะไปตั้งตนเป็นใหญ่ ขึ้นเป็นกษัตริย์ เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือโค่นล้มราชบัลลังก์ของสยามแต่อย่างใด คำที่รัฐเรียกว่ากบฏ หรือที่เราเรียกผู้นำว่าผีบุญ ตนไม่อยากใช้คำนี้ เพราะกบฏหมายถึงผู้หมายจะโค่นล้มราชบัลลังก์ ตนอยากเรียกว่าผู้ปลดแอก ขบวนการผู้ปลดแอกผู้มีบุญ นี่คือความเหมือนกันคือความต้องการจะปลดแอกออกจากสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง อยากจากสิ่งที่กดขี่บีฑาจากอำนาจส่วนบนลงมาสู่ประชาชน” 

ตำราเรียนไม่พูดถึงผีบุญ

การจะชำระประวัติศาสตร์ผีบุญอย่างไรนั้นในเรื่องผีบุญหนังสือเรียนไม่ได้โกหกเราเพราะเขาไม่ได้เขียนและบอกไว้เลย การที่เขาไม่บอกเพราะกลัวเห็นร่องรอยที่เขาต้องการซ่อนไว้ และเห็นร่องรอยที่เขาโกหกเราในเรื่องอื่น ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัย ร.5 หนังสือเรียนอธิบายภาพว่าเป็นช่วงเวลาที่สงบสุข ร่มเย็น ประชาชนมีความสุข มีรถไฟ ไฟฟ้า ประปา ไปรษณีย์ เป็นเรื่องโรแมนติกทั้งในหนัง  ละคร จนหลายคนอยากย้อนกลับไปมีชีวิตสมัย ร. 5 ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถและไม่กล้าแม้แต่จะเขียนคำว่าผีบุญลงไป เพราะมันจะฟ้องสายตาว่าสมัย ร.5 ที่สงบสุขร่มเย็นกลับกลายเป็นสมัยที่มีกบฏมากที่สุด และคนจะถามว่ากบฏเหล่านั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร ซึ่งเกิดจากรัฐส่วนกลางเข้าไปกดขี่ และย้อนแย้งกับความสงบร่มเย็นในช่วงเวลานั้น เขาเลยไม่ใส่ลงไปแม้แต่คำเดียว เพราะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอีสานแต่เกิดขึ้นทั่วประเทศทั้งเหนือ และใต้ 

สื่อยังต้องตีแผ่เรื่องราวผีบุญ

ทั้งอีสานเรคคอร์ดหรือสื่อประชาธิปไตยอื่นๆ ก็มีการตีแผ่เรื่องนี้ แต่มันก็ยังไม่ใช่ในวงกว้าง เป็นเรื่องที่รู้อยู่แต่ในวงคนที่สอดรู้สอดเห็น คนที่เข้าไปดูในอินเตอร์เน็ตหรือหาความรู้จึงจะเห็น มันไม่ได้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรที่เราต้องศึกษา ดังนั้นจึงต้องมีหลักสูตรท้องถิ่น เพราะวันนี้เด็กไปเรียนหนังสือไม่มีใครรู้ประวัติศาสตร์ในบ้านตัวเอง แต่ไปรู้จักสมเด็จพระนเรศวร อยุธยา สุโขทัย อย่างไรก็ตามรัฐส่วนกลางเขาจะไม่ยอมให้เราเรียนประวัติศาสตร์ที่มีหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นความฝันของเราทุกคนในที่นี้ ตราบใดที่ประวัติศาสตร์ยังเป็นของชนชั้นนำ ตราบใดที่เขายังเป็นคนถือกุมประวัติศาสตร์เราจะทำได้ในวงที่แคบ แต่ลึกเพราะเราจะศึกษาไปเรื่อยๆ และต้องรอคอยเวลา ตนคิดว่าวันที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไมว่าจะเป็นของขอนแก่น หรืออุบลฯ ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษา วันนั้นคือวันที่รัฐส่วนกลางควบคุมเราไม่ได้ วันนั้นคือวันที่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ของชนชั้นนำ

“ถามว่าต่อไปจะทำอย่างไรต่อไปนั้น ก็เป็นเรื่องยากและแคบที่จะทำให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง แต่ว่าเทคโนโลยี และความสนใจของคนได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องทำให้การเมืองเป็นการเมืองของประชาชน ทำให้อำนาจเป็นอำนาจของประชาชน และให้คนที่คิดถึงประชาชน ไม่คิดว่าประวัติศาสตร์เรื่องนี้จะไปเข้าข้าง หรือเชิดชูใคร แล้วเอาเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาให้ได้ จะทำได้ต้องไปเปลี่ยนที่การเมือง อยากรู้รากเหง้าตัวเองต้องไปเปลี่ยนการเมืองที่รัฐสภา ทำอย่างไรคนอุบลฯ คนเชียงใหม่จะได้เรียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง ไม่ใช่เรียนประวัติศาสตร์แบบที่ไทยเขาให้เรียน ดังนั้นผมว่าเปลี่ยนการเมืองให้ได้ จึงจะเปลี่ยนความรับรู้ของคนให้มันกว้าง และถูกต้องมากขึ้น”อรรถพลกล่าว 

ประวัติศาสตร์บางเรื่องเขาก็โกหกเพื่อให้เชื่อเขา สิ่งที่เขาให้เราเรียนก็เพื่อให้เชื่อเขา เพื่อให้ยึดโยงและเป็นส่วนหนึ่งของเขา แต่ในความเป็นรัฐชาติ ตนก็เป็นคนไทย แต่เชื้อชาติลาว วัฒนธรรมลาว ความเป็นรัฐชาติมีความต้องการที่ต้องเป็นชาตินิยม สร้างความเป็นไทยเข้มข้นในช่วงหนึ่ง แต่พอมาถึงยุคเราตนคิดว่าสิ่งที่ควรลดคือลดความเป็นไทย แล้วเพิ่มความเรา  เพิ่มความเป็นคน เพิ่มความเป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น การที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าให้แบ่งแยกดินแดน แต่พูดเพื่อให้รู้จักตัวเอง เพราะการรู้จักตัวเองคือการรู้จักรากเหง้า และรู้ว่ามีการกดขี่ ข่มเหง สิ่งที่เราทำอยู่ในทุกวันนี้คือสิ่งเดียวกับที่พี่น้องผีบุญ บรรพบุรุษผีบุญ บรรพบุรุษผู้ก่อการปลดแอก ทำมาก่อนแล้ว ในการต่อต้านรัฐส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นรัฐไทย หรือรัฐไหนก็ดีที่กดขี่เรา ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือเมื่อเราได้ยินคำไหนคำหนึ่งที่เป็นภาษา ถ้อยคำ ในภาษามันมีอารมณ์ที่แฝงทัศนคติอยู่ การใช้คำว่ากบฏ การใช้ผีบุญ มันก็คือการเหยียดดีๆ นี่เอง จึงต้องมองว่าใครเป็นคนคิดหรือใช้คำนี้ แล้วคำนี้มันรับใช้ใคร

อภิรักษ์ สร้อยสวิง ผู้สนใจประวัติศาสตร์ชุมชน 

เรื่องของผู้มีบุญนี้แทบจะไม่มีความรู้อะไร ถ้าเป็นเมื่อสักประมาณ 4-5 ปีก่อน ไม่มีสิ่งนี้อยู่ในหัวเลย เพราะเป็นคนเหนือจะรู้ในส่วนของประวัติศาสตร์ภาคเหนือ พอมาอยู่อีสานก็เริ่มสะสมของเก่าเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความที่สนใจประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นประวัติศาสตร์การสงคราม ประวัติศาสตร์อาวุธของทางลาว ล้านช้าง ผีบุญก็ยังไม่ได้โผล่มาในหัวเลยจนกระทั่งมาเจอคำประกาศว่ามีผู้ได้รับคำสั่งจากพระศรีอาริยเมตไตรยให้มาบอกมนุษย์โลกให้ยึดถือพระรัตนตรัยและเอาพระรัตนตรัยเป็นที่มั่นให้คงไว้ในศีลภาวนา ซึ่งเป็นจดหมายผีบุญที่เขาใส่กรอบไว้ จนทราบว่าเป็นประกาศของผีบุญ สงสัยว่า คืออะไรและศึกษาเรื่อยมาว่า เป็นผู้ที่ถูกกดขี่จากรัฐ แต่สิ่งที่อยู่ในหัว ผีบุญคือหนังลาสซามูไร ที่มีการวมตัวกันเพื่อต่อต้าน เป็นการรบแบบจารีตและมาสู้กับการรบแบบสมัยใหม่ 

เมื่อ 5 ปีก่อน เหมือนทุกคนไม่ได้สนใจว่าผีบุญ คือ อะไรและไม่อยากพูดถึงด้วยซ้ำ แม้แต่หลายๆ คนที่เป็นลูกหลานก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่พูดยาก พอไปหาหลักฐานพบว่า หนังสือเรียนตั้งแต่ปี 2477 เล่มแรกๆ ที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อุบลฯ ในเนื้อหาพูดถึงผีบุญไว้ 3 หน้า บอกเพียงว่าเป็นคนที่มารวมตัวกันด้วยความเชื่อ เหมือนโดนหลอกมา ก่อนหน้านี้ไม่รู้จะพูดถึงผีบุญอย่างไร กลายเป็นแค่ความงมงายของชาวบ้านที่ไร้การศึกษา แต่ที่จริงแล้วผีบุญคือคนที่มีความรู้มากในสมัยนั้น เราศึกษาผีบุญเพราะเป็นการรบแบบจารีตยุคสุดท้ายที่เรายังพอสืบค้นหลักฐานอะไรได้ คือ มีการรวมคน มีพิธีกรรม ใช้ฤกษ์ยาม มีการใช้อาวุธ ยังเป็นปืนไฟ พอไปดูพื้นที่จริงๆ ในบ้านสะพือ มีแอ่งน้ำ มีหินลับมีด 

“คนที่จัดเตรียมคนได้เป็นพันต้องเป็นคนที่รู้หลักพิชัยยุทธสงคราม แต่สุดท้ายก็แพ้กันที่อาวุธ ซึ่ง ร.5 ยกดินแดนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับอาวุธ และเอาอาวุธนั้นมาปราบคนเหล่านี้ การทำบุญให้กับผู้มีบุญเป็นการฟื้นจารีตทำให้วิญญาณของผีบุญมีที่อยู่ มีที่สิงสถิต และเราสามารถสร้างหนังดีๆ ได้สักเรื่องจากเรื่องนี้ เหมือนที่อเมริกาสร้างความภูมิใจในอินเดียแดง”

image_pdfimage_print