“ธงชัย วินิจจะกูล”  เปรียบสยามคล้ายรัสเซียฮุบหัวเมืองทำลายภาษาแล้วบังคับให้เรียนภาษาไทยกลาง แนะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอิสระ  

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “อำนาจอิสระของภูมิภาคและท้องถิ่น: ทำไมถึงยากจะคิด-ยากจะคุยกันขนาดนี้”   

โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกาบรรยายพิเศษหัวข้อ “รากฐานของท้องถิ่นที่ไร้อิสระ”ว่า วันนี้มาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับท้องถิ่น ไม่ใช่เรื่องที่รู้ดีนักและผมไม่ได้มีคำตอบว่า ทำไมท้องถิ่นไม่อิสระ ผมเขียนคำนำในหนังสือ 125 ปีการปกครองท้องถิ่นไทยฯ เพื่อชวนลองเปลี่ยนฐานคติใหม่ในโฟกัสที่การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ 

การก่อร่างสร้างรัฐสมบูรณายาสิทธิราชย์และในแง่ของท้องถิ่น คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับท้องถิ่นนั้นมันไม่ใช่การสร้างความเข็มแข็งเพื่อจะได้รอดพ้นจากการคุกคามของรัฐอาณานิคมจากฝรั่ง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐประชาชาติ ซึ่งเจริญเติบโตต่อมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น สำหรับผมมันกลับกันฐานคตินี้กับสิ่งที่ผมอธิบายมัน คือ สมบูรณายาสิทธิราช 

“ผมเสนอในหลายที่ว่า เราเป็น Semi-Colonial ในขณะที่เราไม่ถูกยึดครองโดยลัทธิอาณานิคมโดยตรงเหมือนรัฐอาณานิคมทำในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เพียงคนที่ทำนั้นเป็นเจ้าไทย ไม่ใช่ฝรั่ง รวมทั้งระบบมณฑลเทศาภิบาลก็เป็นระบบทำนองเดียวกับที่ดัชต์ทำในอินโดนีเซีย”

การฝึกผู้พิพากษาในยุคแรกในโรงเรียนกฎหมายเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ก็เป็นแบบตามความเร่งด่วนตามความต้องการในขณะนั้น ไม่ต้องรู้หลักนิติศาสตร์มากมายเรื่องน่าเศร้า คือ เรายังเห็นการฝึกหัดแบบนั้นจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับสิ่งที่ฝรั่งยุโรปทำกับชาติอาณานิคมแต่ถ้าเหมือนกันหลายอย่าง ทั้งเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรื่องความสัมพันธ์ท้องถิ่นและอีกหลายอย่างในการปรับตัวให้เป็นสมัยใหม่

“คำอธิบายว่า สยามหลุดพ้นจากการล่าอาณานิคม คือ ประวัติศาสตร์ในทัศนะของราชวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งคำอธิบายทำนองนี้มันล้าสมัยแล้ว และในความเห็นผมมันไม่ถูก อย่างน้อยต้องพูดให้ยุติธรรมที่สุด คือ มันเป็นเพียงด้านเดียว เป็นประวัติศาสตร์จากมุมมองของเจ้ากรุงเทพ”

บรรยากาศนักศึกษาและนักวิชาการร่วมฟังการบรรยายของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล 

ถ้าเปลี่ยนมุมมอง เราก็สามารถมองไปแบบอื่นได้ สำหรับผมมีอยู่  3 ข้อ คือ 1.ฐานคติตามรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2.อย่าใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการมองประวัติศาสตร์ อย่าใช้ทัศนะของกรุงเทพฯ 3.ให้เน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับท้องถิ่น อย่าไปเน้นที่การบริหารการปกครอง 

สิ่งที่เกิดขึ้นมีคำอธิบายความสัมพันธ์อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1.อาณานิคมภายใน ซึ่งนักวิชาการได้ชี้ให้เราเห็นว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับท้องถิ่นในแบบอื่น ไม่ใช่คิดเพียงแค่การผนวกเพื่อให้พ้นจากการคุกคามของการล่าอาณานิคมทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวและมีการเฉลิมฉลองเติบโตเรื่อยมา แต่คำว่า อาณานิคมภายในเป็นคำที่มีปัญหา 2.เป็นเรื่องที่มีคนศึกษามานานแล้ว ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยขึ้นในระยะหลัง คือ การลุกฮือจากข้างล่างเพื่อต่อต้านการควบคุมของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดกบฏในหัวเมืองต่างๆ  

สยามกับการล่าอาณานิคม

คำว่าอาณานิคมภายในเป็นคำที่มีปัญหา ความสัมพันธ์ของกรุงเทพฯ กับอาณานิคมต่างๆ มันไม่เหมือนกับที่ยุโรปทำกับสยามทำกับพม่า อินโดนีเซีย เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า ลัทธิการล่าอาณานิคม คือ จุดสูงสุดของทุนนิยมอาณานิคม เพราะต้องการแสวงหาตลาดและแหล่งวัตถุดิบ แต่กรุงเทพฯ ไม่ได้ทำให้เกิดความเติบโตถึงขั้นนั้นในความต่างระหว่างกรุงเทพฯ กับภูมิภาคต่างๆ กับยุโรปและชาติในอาณานิคมในแถวนี้ไม่เหมือนกัน  

“ผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับคำนี้ แต่เรียกคำนั้นอย่างกลางๆว่า อาณานิคมของเจ้ากรุงเทพ คือ เจ้าจักรวรรดิหมายถึงกรุงเทพฯ ในจุดที่ไปเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับภูมิภาคต่างๆ กรุงเทพฯ เป็นเจ้าจักรวรรดิ เป็น Empire ไม่ใช่ทุนนิยมที่เติบโตสูงสุดจนต้องการวัตถุดิบหรือตลาด”  

เป็นประเด็นที่ผมสนใจ เราไม่ได้คิดจะแยกประเทศไม่มีใครคิด ผมประกาศไว้เลย ในความคิดเห็นของผม คิดว่ามันสายเกินไปแล้วใครที่คิดจะแยกประเทศ ไม่ว่าจะที่ไหน เหนือ ใต้ อีสาน เพราะชีวิตทางเศรษฐกิจชีวิตทางสังคมของภูมิภาคต่างๆ กับส่วนอื่นของประเทศไทย มันได้ผูกพัน พึ่งพิงซึ่งกันและกันมากเกินกว่าที่จะแยกได้ ไม่ใช่ว่าคนไม่ไม่มีสิทธิคิดที่จะแยก หากทำต้องบอกว่า มันก็อาจไม่ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่  มันเริ่มมีความฉิบหาย ความเสียหายไปอีกแบบหนึ่ง

สยามฮุบเมืองเหมือนรัสเซีย

ความสัมพันธ์ของกรุงเทพฯ กับท้องถิ่นในระยะ 100 ปีที่ผ่านมา มันไม่ได้หยุดนิ่ง เป็นรัฐจักรวรรดิที่ไปสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเจ้ากรุงเทพฯ และเกิดการก่อสร้างตัวการปกครองท้องถิ่น น่าจะทำให้เห็นการปกครองท้องถิ่นเราชัดขึ้น จากสิ่งที่เราทำกันมาที่คิดจะทำแค่ปรับปรุงเทคนิคการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น 

“ผมเห็นว่า ไทยมีความคล้ายกับรัสเซีย รัสเซียเป็นอธิราชในยุโรปตะวันออก ซึ่งระบบศักดินาในยุโรปตะวันออกไม่เหมือนกับยุโรปตะวันตกหรือญี่ปุ่น ชาติยุโรปตะวันตกดูถูกชาติยุโรปตะวันออกมากกว่าเอเชียว่า มีพัฒนาการล้าหลัง รัสเซียรวมชาติ โดยที่เจ้าจักรวรรดิที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ไปตี ไปเอาชนะ ไปปกครองครอบงำเจ้าย่อยๆ ในเครือข่าย ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นในกระบวนการที่เรียกว่า สร้างชาติรวมชาตินั้นมันมีหลายแบบ”

ความสัมพันธ์เชิงอาณานิคมที่กรุงเทพฯ มีต่อท้องถิ่นต่างๆ นั้น เราต้องเข้าใจมันมากกว่านั้นจึงจะตั้งชื่อได้ แต่สิ่งที่เห็น คือ มันส่งผลระยะยาวต่อการปกครองท้องถิ่นของเราอย่างไรนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับท้องถิ่นในเชิงอำนาจ มีเรื่องเชื้อชาติเข้าไปเกี่ยวข้องเหมือนกับฝรั่งทำกับชาติอาณานิคมหรือไม่ ผมมองว่า ไม่ใช่ทำนองเดียวกัน แต่มันเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกดขี่ อย่างน้อยที่สุด คือ มันไม่เท่ากัน   

ศ.เกียรติคุณ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน อาจารย์มหาวิทยาลัยคอร์เนล เคยเขียนไว้ว่า กระบวนการหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในการสร้างชาติ รวมชาติของสยามนั้น เกิดกระบวนการหนึ่งที่ฝรั่งรู้จักในนาม Russification คือ การที่จักรวรรดิรัสเซียบังคับให้หัวเมืองในภูมิภาค อาณานิคมของตัวเองใช้ภาษารัสเซีย 

“ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับท้องถิ่นเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกดขี่”ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล 

สยามฮุบเมืองเล็กด้วยภาษากลาง 

สยามบังคับกะเกณฑ์มีเจตนาชัดเจนว่า ต้องให้เกิดการเรียนภาษาไทยกลาง มันหมายถึงการครอบงำด้วยภาษาหนึ่ง อีกภาษาหนึ่งลดลง ซึ่งใช้เวลานานกระบวนการ Russification ในไทยอาจจะสำเร็จได้ในช่วงปี 2500 กว่าๆ แต่กระบวนการเริ่มเกิดปลายศตวรรษที่ 19 ภาษามีผลซึมลึกและเปลี่ยนแปลงระยะยาว  ทั้งนี้ Russification ในหลายประเทศเขาไม่ทำกัน 

การที่ประเทศไทยทำแบบนี้ผมไม่คิดว่า เพราะเขาไปรัสเซียแล้วขอยืมเทคโนโลยีแบบนี้มา ซึ่งรัฐไทยและรัฐรัสเซียเรียนรู้ทำนองเดียวกันว่า ในเมื่อมีเจ้าย่อยๆ ที่เคยเป็นอิสระอยู่มากมาย สิ่งที่ต้องทำ คือ ให้เรียนภาษากลาง ส่วนการควบคุมด้วยกระบวนการทางทหาร ล้านนา ปาตานี อีสาน ก็มีกระบวนการถูกจัดการไม่เหมือนกันเลย เขารู้ความต่างเหล่านี้ แต่ผลก็คือเกิดรัฐเดี่ยว ผลสำคัญอีกอย่าง คือ ท้องถิ่นเหล่านั้นถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในกระบวนการรวมชาติ 

คำถามใหญ่ คือ รัฐเดี่ยวของไทยไม่เหมือนญี่ปุ่นๆ แต่เขาไม่ตกใจกับการที่ท้องถิ่นจะมีอิสระ แต่เราตกใจ เพราะเราเน้นในเรื่องสามัคคี ซึ่งมีสัมผัสของความเปราะบาง เราถูกครอบด้วยการเรียกร้องความสามัคคี ดังนั้นรัฐเดี่ยวที่อยู่บนพื้นฐานความปรารถนาที่จะสร้างความสามัคคีนั้น มันไม่ได้แปลว่า อยู่ในรัฐเดี่ยวตามปกติ แต่เป็นเรื่องความหวาดระแวงเรื่องความมั่นคง 

รัฐเดี่ยวของไทยยังเป็นเรื่องที่มากกว่าดินแดน ผมบอกได้คำเดียวว่า ดินแดนของไทยศักดิ์สิทธิ์ มันมีมิติไม่ใช่แค่ภูมิศาสตร์ แต่มีมิติที่ไม่ใช่เพียงรูปการของรัฐที่จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ความสัมพันธ์แบบนี้จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน

“ผมอยากให้ทุกคน เดินออกไปจากจินตนาการเก่า”ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล 

สายไปแล้วที่จะแยกประเทศ

เมื่อกรุงเทพไปผนวกหัวเมืองต่างๆ เข้ามาจึงเปลี่ยนท้องถิ่นมหาศาล เปลี่ยนจนถึงขนาดที่ว่า ความคิดเรื่องดินแดนไม่มีคนคิดอยู่แล้ว ถ้าจะเหลือก็เหลือไม่กี่คนและจะถูกต่อต้านด้วยซ้ำ เพราะว่าชีวิตทางเศรษฐกิจและชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมของกรุงเทพกับส่วนต่างๆ ในประเทศไทยมันผูกพันพึ่งพิงซึ่งกันและกันมากมาย จะเปลี่ยนกลับไปเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ มันเปลี่ยนท้องถิ่นไปมากขนาดนั้น 

สายไปแล้วที่จะแยกตัวหรือแยกประเทศ สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ คือ พยายามทำความเข้าใจใช้ประวัติศาสตร์มาทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับท้องถิ่นให้มันชัดเจนและถูกต้องขึ้น เราจะได้จัดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ในทำนองที่มันกระจายอำนาจที่มันเป็นอิสระ 

“ความปรารถนามีอยู่อย่างเดียวหวังว่า ทุกคนจะเก็บคำถามไว้เต็มหัว มันจะเกิดประเด็นที่จะต้องค้นคว้าวิจัยเวลาที่คุณต้องเป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทั้งหลาย ซึ่งตามบทความในหนังสือ 125 ปีการปกครองท้องถิ่น ผมตั้งหัวข้อว่า เดินออกไปจากจินตนาการเก่า ผมยังคิดว่าเราต้องการอย่างนั้น สำหรับการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับท้องถิ่นและรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น”  

image_pdfimage_print