ชายคาเรื่องสั้น “น้ำตาในโรงอาหาร” เป็นเรื่องราวของสิตา นักวิทย์สาวในโรงงานแห่งหนึ่งที่ถูกเทจากชายหนุ่ม การจากไปของเขาทำให้เธอเฝ้ารอวันหวนคืน ซึ่งก็ไม่มีวี่แวว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับใครบางคนที่ยังอยู่ต่อ….ในชีวิตมันเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับ

นิธิ นิธิวีรกุล เรื่อง

เพลงแจ๊สจากยุค’30 ลอยลงมาจากลำโพงบนเพดานขณะสิตาเอนหัวพิงผนังถังขนาดบรรจุ 3,000 ลิตรผสมน้ำยาแอลกอฮอล์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนจ่ายน้ำยาเข้าสู่ไลน์การผลิตลงขวด ติดตราฉลากสินค้าส่งขายออกไปทั่วประเทศ

ในวัย 24 สิตาเป็นนักวิทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยทางภาคตะวันออก วาดหวังที่จะได้สอบบรรจุข้าราชการแต่แล้วความผิดหวังก็พาเธอเดินคอตกเข้ามาสมัครงานในโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เป็นเวลากว่าเกือบปีเข้าไปแล้ว แต่เธอก็ยังไม่เห็นทางอื่นที่ดีกว่า ยิ่งในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน ทางเลือกนี้จึงเป็นทางเลือกเดียวที่สิตาใช้บอกตัวเองด้วยเหตุผล ‘ดีกว่าตกงานไม่มีเงิน’ 

เสียงเครื่องปั๊มดูดน้ำยาแอลกอฮอล์ที่ผสมน้ำ DI หรือน้ำที่ปราศจากไอออน (Deionized water) กับสีและน้ำหอมในอัตราที่ผ่านการคำนวณแล้วออกมาเป็นน้ำสีฟ้าเข้าสู่ห้องบรรจุขวดกลบเสียงเพลงแจ๊สให้กลืนหายไปในเสียงกลไกของเครื่องจักรครู่หนึ่งแล้วจึงดังขึ้นอีกครั้งเมื่อเสียงเครื่องปั๊มหยุดทำงานชั่วครู่ก่อนรอบการบรรจุจะรันเครื่องให้ทำงานต่อไป อีกครั้ง…และอีกครั้ง

สิตานึกถึงการสอดใส่อีกครั้งจากหนุ่มคนรักที่จากไปเมื่อหนึ่งปีมาแล้ว ตอนนั้นแดดกำลังร้อนแรงเหมือนความรู้สึกของเธอกับชายหนุ่ม ทั้งร้อนแรงและนุ่มนวลเหมือนเพลงแจ๊สที่เขาเปิดคลอระหว่างร่วมรัก เขากระแทกเข้าใส่เธอครั้งแล้วครั้งเล่าจนหลั่งข้างในร่างกายในวันที่เธอกระซิบบอกเขาอย่างเขินอายในโรงแรมว่า วันนี้เป็นวันปลอดภัย จากนั้นเขาเงียบหาย ไลน์ไม่เคยอ่าน แชทเฟซบุ๊กไม่เคยตอบ สิตาไม่ชอบโทรศัพท์ แต่วันที่เธอรู้ว่า สอบตกการสอบภาค ก เธออยากได้ยินคำปลอบโยน เธออยากถูกกอดแล้วบอกเธอว่า ไม่เป็นไร ทำดีที่สุดแล้ว แต่ที่เธอได้รับมีเพียงสัญญาณบอกหมายเลขนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ

การหายไปของหนุ่มคนรักและการตระหนักในที่สุดว่า ถูกเททำให้สิตาตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะสมัครเข้าทำงานในโรงงาน แม้งานแต่ละวันจะจำเจ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการชั่ง ตวง วัด สุ่มตัวอย่างไปวิเคราะห์ แต่งานที่ซ้ำซากช่วยให้สิตาไม่ต้องนึกถึงความรู้สึกในวันนั้น ความรู้สึกที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดและความวาบหวาม

“หลับแล้วๆ สิ”

สิตาลืมตามองพี่นุ้ย หญิงวัย 47 ที่ทำงานโรงงานนี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2557 เวลาแปดถึงเก้าปีทำไมมันทั้งนานแล้วรวดเร็วได้พร้อมๆ กันนะ แต่แค่หนึ่งปีกลับนานเหลือเกิน…

เสียงทักของพี่นุ้ยทำให้เธอนึกถึงเรื่องที่อยากลืมโดยไม่ตั้งใจ เธอยิ้มให้หญิงสูงวัยกว่าที่มักทำให้เธอนึกถึงแม่ที่บ้านเกิด พี่นุ้ยกับสิตามาจากจังหวัดเดียวกัน แต่คนละหมู่บ้าน คนละอำเภอ กระนั้นการพูดด้วยสำเนียงที่พวกเธอแซวกันเองว่า เป็นพูดไทยตกลาวก็ทำให้สิตาคลายความเปล่าเปลี่ยวลงได้บ้าง

พี่นุ้ยมีหน้าที่คอยช่วยเหลือนักวิทย์อย่างเธอตามแต่ที่จะร้องขอ แต่หน้าที่หลักๆ ของพี่นุ้ย (และรวมถึงพนักงานในตำแหน่งเดียวกัน) คือ การผสมเวชภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นสินค้าหลัก แป้งผงแก้ผด ผื่นคัน คาลาไมน์ ตลอดจนยาดม ยาหอม ไปจนยันยาแก้ไอที่ทำจากส่วนผสมของมะขามแขกแท้

“เหลืออีกกี่ล็อตอ่ะตา” พี่นุ้ยเอ่ยถามขณะทำการเปลี่ยนสายน้ำบรรจุน้ำยาแอลกอฮอล์ในถังหมายเลข A13 ที่หมดลงไปใส่ยังถังหมายเลข A14 แล้วทำการเปิดวาล์วหัวจ่ายน้ำยาแอลกอฮอล์ลงในถัง A13

“ล็อตนี้ก็หมดแล้วค่ะพี่นุ้ย เดี๋ยวเรา fill ทิ้งไว้วันจันทร์”

“เวลาที่เหลือจะทำอะไรล่ะเนี่ย”

“ก็นอนแล้วกันค่ะ หลบๆ เถ้าแก่แกหน่อย ตั้งแต่ประกาศขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำตามนโยบายก็คอยแต่จะมองกล้องตลอดๆ”

พี่นุ้ยส่ายหน้าไปมา พนักงานทุกคนในโรงงานต่างรู้กิตติศัพท์ความขี้งก และเขี้ยวของเจ้าของโรงงานเป็นอย่างดี แต่ในชีวิตที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมจะทำอะไรได้มากไปกว่ายอมจำนน ในประเทศแบบนี้เรามีด้วยเหรอ…ทางเลือก สิตานึกขึ้นมา ก่อนจะนั่งมองดูมาตรวัดระดับน้ำยาที่ค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น เธอมีหน้าที่ในการบอกพี่นุ้ยให้ปิดวาล์วเมื่อน้ำยาแอลกอฮอล์ถึงระดับที่ทางแล็บได้กำหนดไว้ พี่นุ้ยเดินออกไปจากห้องผสมน้ำยาทิ้งสิตาให้ยืนมองดูระดับในมาตรวัดเพียงลำพัง ซึ่งทั้งเธอและพี่นุ้ยต่างรู้ว่า อีกเกือบชั่วโมง น้ำยาแอลกอฮอล์จะขึ้นถึงระดับที่กำหนด

เสียงเพลงเปลี่ยนไปอีก เธอไม่เคยเข้าใจรสนิยมการฟังเพลงแจ๊สของเถ้าแก่เจ้าของโรงงาน แม้เธอจะรู้ว่า พื้นเพเถ้าแก่มาจากการเคยเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลใหญ่ๆ มาก่อนจะมาก่อตั้งโรงงานทำน้ำยาแอลกอฮอล์ แล้วอาศัยความสัมพันธ์ในฐานะคนคุ้นเคยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อสั่งซื้อแอลกอฮอล์จากโรงงานของเถ้าแก่เพียงเจ้าเดียว จนในที่สุดจากโรงงานเล็กๆ ก็กลายมาเป็นโรงงานทำแอลกอฮอล์เจ้าใหญ่ในตลาดไปในที่สุด

พี่นุ้ยกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปครู่ใหญ่ แต่ไม่นานในความรู้สึก ถามสิตาว่าแอลกอฮอล์ที่ fill ให้เต็มหรือยัง สิตาบอกให้พี่นุ้ยไปยืนรอที่หัววาล์วเพื่อเตรียมตัวปิดได้เลย เธอยกข้อมือขึ้นดูนาฬิกา อีกครึ่งชั่วโมงจะถึงเวลาพัก เธอกับพี่นุ้ยจะต้องช่วยกันเติมน้ำแอลกอฮอล์และน้ำกลั่นบริสุทธิ์เข้าสู่ถังเพื่อพักไว้รอกำลังการผลิตที่จะเริ่มต้นใหม่ในวันจันทร์ เธอมองดูมาตรวัดอีกครั้ง บอกพี่นุ้ยให้ปิดวาล์ว หญิงคราวแม่ทำตามคำสั่ง น้ำยาแอลกอฮอล์หยุดไหล พี่นุ้ยถามว่าจะเติมน้ำ DI ต่อเลยไหมเพราะใกล้จะพักแล้ว ซึ่งขั้นตอนการเติมน้ำ DI ต้องใช้เวลาอีกเกือบสี่สิบนาที สิตาพยักหน้าบอกเดี๋ยวเธอจะทำต่อเอง ถ้าถึงเวลาพักพี่นุ้ยก็ไปกินข้าวเที่ยงก่อนได้เลย พี่นุ้ยรีบปฏิเสธบอกยังไงก็จะต้องช่วยสิ เกิดหัวหน้ารู้เธอจะโดนว่า สิตาอยากใช้เวลาอยู่คนเดียวกับเสียงเพลงแจ๊สที่เธอไม่เข้าใจ ฟังเสียงหึ่งๆ ของเครื่องปรับอากาศและเสียงน้ำไหลลงถังที่เป็นเหมือนเพลงขับกล่อม เธอตัดสินใจบอกพี่นุ้ยให้พอ ไว้บ่ายค่อยมาเติมน้ำ DI

“เดี๋ยวเราจะไม่มีอะไรทำกัน” สิตาบอก พี่นุ้ยถึงยิ้มแฉ่งได้

ทั้งสองแยกย้ายไปทำหน้าที่จนใกล้ถึงเวลาเที่ยง ทั้งสิตา พี่นุ้ย และพนักงานในส่วนแผนกผสมยาก็มาออกันหน้าประตูเพื่อทำการสแกนนิ้วออกจากงานไปรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นกฎของโรงงานป้องกันการอู้งานของบรรดาคนงาน

เมื่อเสียงออดดังขึ้นที่เวลาเที่ยงตรง ทุกคนก็ทยอยกันสแกนนิ้วตามลำดับคิวจนมาถึงคิวของสิตา เธอรีบเดินอย่างเร่งลิ่วมาที่โรงอาหาร เปิดตู้ล็อกเกอร์แล้วหยิบโทรศัพท์มือถือออกมา เธอตั้งใจจะเปิดดูข้อความเก่าๆ ของคนรักหนุ่ม เธอรู้แล้วว่า ความรู้สึกของการแทบทานทนเสียงเพลงแจ๊สไม่ได้แท้จริงแล้วมาจากความคิดถึงความรักที่จบลงอย่างค้างคา

เธอหยิบกล่องข้าวเดินมานั่งลงที่โต๊ะ ข้อความสุดท้ายจากเธอส่งถึงเขาเมื่อหนึ่งปีมาแล้ว ข้อความยังคงไม่ถูกอ่าน เธอเงยหน้าขึ้นมองภาพพร่าเลือนของสระน้ำภายในโรงงานตรงหน้าที่อยู่ด้านข้างของโรงอาหาร

“เป็นอะไรตา” พี่นุ้ยทักขึ้น ขณะเลื่อนเก้าอี้นั่งลงตรงข้าม เธอกับพี่นุ้ยมักจะนั่งทานอาหารด้วยกันเสมอ สิตายิ้มไม่ตอบ พี่นุ้ยจึงเอ่ยต่อเป็นเชิงแซว “เซ็งที่ลุงได้อยู่ต่อรึไงเรา” หญิงคราวแม่พูดแล้วหัวเราะ

เท่านั้นเอง ทำนบน้ำตาของสิตาก็พลันพังทลาย บางคนเธออยากให้เขากลับมา เขากลับไม่เคยกลับมา แม้แต่การอ่านข้อความเพื่อยืนยันว่าเขายังอยู่ยังไม่มี

แต่บางคน เธออยากให้ไปเสียพ้นๆ เขายังหน้าด้านหน้าทน

พี่นุ้ยเมื่อเห็นอาการของสิตาดังนั้นก็รีบขอโทษขอโพย คนอื่นๆ ในโรงงานเมื่อเห็นเธอร้องไห้ต่างทั้งตกตะลึง สนอกสนใจ แต่มีไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้ามาปลอบโยน รวมถึงมีอีกหลายคนเช่นกัน-รวมทั้งพี่นุ้ยเองด้วย-ที่เข้ามาถามว่า ทำไมถึงร้องไห้

สิตาไม่มีคำตอบให้พี่นุ้ย หรือคนอื่นๆ เธอไม่มีคำตอบให้แม้แต่ตัวเองด้วยซ้ำ มีเพียงน้ำตา

นิธิ นิธิวีรกุล – เกิดโดยมีพ่อเป็นทหารที่ไม่เคยพบหน้าค่าตา มีผลงานมาเล็กน้อยถึงปานกลาง เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประเภท นวนิยาย ปี 2564 กับผลงานเรื่อง “อาณาเขต” สนพ.สมมติ ยังคงเขียนหนังสือเล็กน้อยถึงปานกลางและอ่านหนังสือไปพร้อมๆ กับด่ารัฐบาลเป็นบางครั้ง สำคัญที่สุดยังคงหวังว่า ประเทศไทยจะมีระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เสียที ไม่มีการรัฐประหาร คิดว่า ความหวังเท่านี้ไม่ได้ยากเกินไปและเชื่อว่า ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ยังหวัง

image_pdfimage_print