ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าพลังงานกับบางเรื่องเป็นไปได้หรือไม่แล้วทำไม ‘คน’ ต้องเป็นแบบนั้น…”

“เมรุเผาศพที่วัดยังไม่เย็น มาอีกศพแล้ว” บ้านเรือนหลายหลังมีเสื้อสีแดงแขวนติดหน้าบ้าน ชาวบ้านที่ออกไปทำนาต้องรีบกลับก่อนตะวันหมดแสง ผัวใครเมียใครเคยนอนเฝ้าไร่เฝ้านาก็กลับเข้าบ้านหมด ผู้คนในหมู่บ้านใช้ชีวิตหวาดผวา ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้านเต็มไปด้วยของเซ่นไหว้ ผู้คนต่างพากันบนบานศาลกล่าว ขอพรให้ครอบครัวปลอดภัยจากผีห่าซาตาน หลังคาไหนมีคนตายจากอาการไม่ทราบสาเหตุ โดยแพทย์วินิจฉัย ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’ หากแต่ตามวินิจฉัยของชาวบ้านร้านตลาด ‘ผีกินเครื่องใน’

“อีศรีบานมันกินพ่อกู!” ลุงเลิศลูกตาล้ำ ร้องลั่นกลางงานฌาปนกิจพ่อตัวเองที่เพิ่งเสียชีวิตเป็นศพที่เจ็ดของหมู่บ้าน ใบหน้าลุงเลิศโกรธกริ้วเหมือนไฟสุมอกทั้งขี้มูกน้ำตา ชาวบ้านในงานก็ต่างเห็นด้วย และเรียกร้องให้ผู้ใหญ่บ้านรีบจัดพิธีปราบผีกินเครื่องในคนออกไปจากหมู่บ้าน “ไล่มันออกไปอย่าให้มันอยู่ใน หมู่บ้านเรา!” “ไอ้ก่ำยายมึงเป็นผีปอบจริงเหรอ” เสียงยานๆ ของตาบุญขี้เมานอนน้ำลายยืดอยู่ปรือตาขึ้นมาถาม หนุ่มน้อยวัยสิบห้าย่างสิบหก หลานชายคนเดียวของยายศรีบาน กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก หากเด็กทุกคนในหมู่บ้านกลัวยายศรีบาน ก่ำคงเป็นเด็กคนเดียวที่ไม่กลัว “ไม่ใช่!” ก่ำตอบตาบุญเสียงแข็ง เขาโกรธทุกครั้งที่ใครต่อใครก็หาว่ายายศรีบานเป็นผีปอบ “เมื่อก่อนเขาว่าอีศรีบานมันหน้าขาว ทหารฝรั่งมาเฝ้าคอมมิวนิสต์ในบ้านติดยายมึงทั้งนั้น” “แล้วยังไง” ก่ำคุกรุ่นอยู่ในอก “ก็ได้ผัวหลายคนน่ะสิวะ” “เขาว่ายายศรีบานลงของในแป้งผัดหน้า ชายใดเห็นก็ทั้งรักทั้งหลง”

ทุ่งนากว้างสุดลูกหูลูกตากับอากาศร้อนระอุในเดือนเมษายน ยายศรีบานใช้หมวกพัดหอบเอาลมเย็น เข้ามาระบายความอบอ้าวให้กับร่างกาย อีกไม่กี่นาทีต่อจากนี้อาการลมแดดอาจเข้ามาจับได้ จ้องมองฝูงควายหกตัวแทะเล็มหญ้าอยู่กลางท้องทุ่งใต้ต้นกระโดน ตาต้อลมมองออกไปไกลที่เปลวแดดเหนือพื้นดิน พรางแค่นหัวเราะออกมา “ตับควายหกตัวใหญ่กว่าเยอะ” ยายศรีบานหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอยู่คนเดียวอย่างไม่อายฟ้าอายดิน “ถ้ากูกินได้ ควายตัวหนึ่งกินกี่วันถึงจะหมดล่ะโว้ย” ผิวหนังเหี่ยวย่นติดกระดูกดำคล้ำ เส้นผมสีขาวแซมดำหยักศก หากได้ดูบ้านผีปอบทำมือหยิบๆ อะไรสักอย่างใช้ลิ้นเลียริมฝีปากวิ่งไล่ตามผู้คนเข้าโอ่งนั้นโผล่โอ่งนี้จน ต้องขำค้างอย่างละครในโทรทัศน์เหมือนเมื่อก่อน ก็อาจจะต้องอุทานทันทีว่า เหมือนมาก!

ล่ามควายไว้กับหนองน้ำ พวกมันลงแช่กันอย่างสบายใจ “เป็นควายนี้ดีแท้ไม่ต้องพูดจากับใคร ไม่ต้อง รับฟัง ถึงเวลากินก็มีคนพาไปกิน เป็นคนมันเหนื่อย ข้าวปั้นคำก็ฝืดคอ” ยายศรีบานพึมพำกับห่อใบตองก่อนจะ หยิบออกมาจากย่าม ปลาหมอผ่านการหมักสองตัวนอนเรียงกัน ข้าวเหนียวลงคลุกปลาร้าโรยหน้าด้วยพริกป่น ขึ้นมากิน รสชาติสากคอ เด็ดมะม่วงป่าลูกใหญ่กว่าหัวแม่มือไม่มากมาเคี้ยวเรียกน้ำลายพอให้กลืนข้าวลงคอได้ ไร่สวนเงียบสงบกว่าที่เคย ไร้เสียงเซ็งแซ่ของชาวไร่ ใครๆ ก็ไม่กล้านอนเฝ้าเถียงนาปลายไร่ของตนเองเพราะเรื่องเล่าในความฝันที่ว่า “ผมไปนอนเถียง ฝันว่าผีลิ้นยาวเลียขา” คงมีแต่ยายศรีบานเท่านั้นที่กล้านอนเฝ้าคอกควายให้นายจ้าง

ซาเล้งของก่ำจอดสนิทที่ปลายไร่นายจ้าง หลังจากไปช่วยงานศพลุงล้ำ ได้อาหารการกินจากบ้านเจ้าภาพมากมายตามที่เขาเมตตาให้ สองยายหลานนั่งกินข้าวด้วยกันกับอาหารมื้อพิเศษ “ยายเหนื่อยไหม” ก่ำถามยายศรีบาน

“แก่แล้วก็เหนื่อยเป็นธรรมดาสิวะ”

“ยาย…คือว่า” ก่ำมีท่าทางข้องใจเหมือนมีเรื่องจะพูด

“ว่าไงล่ะเอ็ง”

“ปอบคือผีแบบไหนเหรอครับ” ยายศรีบานวางช้อนกินข้าวหัวเราะขันๆ

“กูไม่รู้หรอก แต่เห็นเขาว่ามันกินดิบกินสกปรก กินของชาวบ้านหรือ…กินคนได้ล่ะมั้ง”

“แล้วผีปอบเป็นยังไง” ก่ำถามอีก

“ก็เขาว่ามันแพ้วิชา รักษาครูบาอาจารย์ไม่ได้ อาคมที่ร่ำเรียนมามันเสื่อมมันก็เข้าตัว”

“แล้ว…ยายเคยเรียนวิชาอาคมไหม”

“มึงไม่ถามเลยล่ะว่ากูเป็นปอบไหม” ยายศรีบานพูดขันๆ อีก

“แล้วยายได้เป็นเหมือนที่เขาว่าไหม ที่ว่าเรียนวิชาหน้าสวยอะไรนั่น”

“เหอะๆ ไอ้นี่แล้วเขาจะมีเครื่องสำอางไว้ทำไม กอ. ไก่ ขอ. ขา กูยังท่องไม่ได้กูจะเอาปัญญาที่ไหนไปเรียนอาคม”

“แล้วยายไปเป็นผีตั้งแต่เมื่อไหร่”

“ไอ้นี่ กูยังไม่มีใบมรณบัตรสักหน่อย บัตรประชาชนกูก็มีเหมือนคน”

พิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายเริ่มขึ้นในบ่ายวันนั้น กระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าคาขนาดเล็กถูกทำขึ้นและนำไปวางไว้ทั้งสี่ทิศ ณ เบื้องอุดร ทักษิณ บูรพา และปัจฉิมของหมู่บ้าน หมอปราบผีหว่านก้อนกรวดซ้าย-ขวาบนถนน ปักธูปตามเส้นทางที่รู้สึกว่ามีสิ่งอัปมงคล อุปกรณ์จับปลาครบทุกชนิดถูกนำมาใช้งานแทนการหาปลา หมอผีวิ่งไปทางไหนผู้คนก็วิ่งไปทางนั้นฝุ่นตลบ ก่ำยืนมองพิธีกรรมด้วยความตื่นเต้นเพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน แล้วก็เป็นอย่างที่เขาคิด “ถ้ารู้ว่าต้องมาหยุดที่หน้าบ้านเขา ทำไมไม่เดินมาเลยวิ่งทำไมให้เมื่อย”

เสียงฮือฮาอึงอลทั่วหมู่บ้าน หมู่บ้านละแวกใกล้เรือนเคียงก็แห่กันมาดู หัวใจก่ำสั่นระรัวเมื่อได้ยินการลงขันของชาวบ้านว่าให้เผา ‘รังผีปอบ’ “นี่บ้านผม ที่ดินก็ของครอบครัวผม ทะเบียนบ้านผมก็ขึ้นหมู่บ้านนี้!” เด็กหนุ่มตกใจกับการกระทำของชาวบ้าน ก่ำวิ่งกลับไปหยิบสมุดทะเบียนราษฎร์ทั้งน้ำตา ชูให้ชาวบ้านดู หวังว่าผู้ใหญ่บ้านจะให้ความเป็นธรรมบ้าง ทุกคนต่างหากที่กำหนดให้เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ “พวกน้าพวกผู้ใหญ่ไม่เคยมองความจริง ไม่เคยหาหมอหาโรค เคยไปตรวจสุขภาพกันบ้างไหม!” “ยายผมนอนป่วยอยู่ในบ้าน สตางค์แดงเดียวไม่มีจะไปหาหมอ หยูกยาก็ไม่มีจะกิน ยายจะเอาแรงที่ไหนไปทำร้ายคนอื่น!” ก่ำคุกเข่าประนมมือไหว้ผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้านขอความเห็นใจ “ก็เพราะว่ายายมึงเป็นผีปอบ! อีกหน่อยมันกินคนไม่ได้เดี๋ยวมันก็กินตัวเองตาย” “พวกน้าก็รู้ งั้นปล่อยอายุของยายไปตามเวรตามกรรมเถอะ” ก่ำพูดเสียงอ่อนอย่างยอมแพ้ ผีปอบมีจริงไหมเขาเองก็ไม่เคยเห็น เขาเห็นแต่มนุษย์คนหนึ่งที่เลี้ยงเขามา กินข้าวกินปลาเหมือนกัน ทุกคนกล่าวหาโดยที่ตัวเองไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ ทุกคนมองมันจากมุมอื่น…

ก่ำออกไปเลี้ยงควายแทนยายศรีบานแต่เช้าตรู่ ผู้ใหญ่บ้านแจ้งว่าบ้านยายศรีบานไฟฟ้ามีปัญหาทำให้ เกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง ด้วยความรู้สึกที่เฉยชาและเป็นธรรมชาติ หากแต่กดทับหัวใจของใครอีกคนอย่างเฉียบพลัน…

หมู่บ้านชนบท ว่าห่างจากอำเภอมากแล้ว จังหวัดยิ่งห่างออกไปเหมือนคนละจังหวัดคนละชายแดน ภูเขาใหญ่โตรายล้อมหลังป่าหินงามทุ่งดอกกระเจียว ทุกๆ วันตาเฒ่ามักพาข้าพเจ้าล่องห้วยหนองคลองบึงใส่ท่อไม้ไผ่สอดไส้ปูนา หอยนา ปักตามริมห้วย เช้าตรู่ของอีกวันค่อยกลับไปดู ปลายาวๆ ตัวมันสีน้ำตาลไหลเลื้อยอย่างงู ข้าพเจ้านึกรังเกียจแต่มันกลับได้ราคาดี กิจวัตรของเด็กสิบสองขวบกับตาเฒ่าวนเวียนอยู่กับท้องนาท้องไร่ จับปลา หาเห็ด ปลูกมัน ถึงฤดูปลูก-เก็บเกี่ยวข้าวก็ทำเหมือนอย่างครอบครัวอื่นๆ บ่ายคล้อยแม่ของข้าพเจ้าใช้ ให้เอากับข้าวไปให้ตาเฒ่าที่เถียงนา ตาเฒ่านอนเฝ้านาอยู่เป็นประจำ ข้าพเจ้าเคยถามตาเฒ่าหลายหน “ตาไม่กลัวผีเหรอ”

กว่าจะถึงเถียงนาของตาเฒ่า ข้าพเจ้าต้องผ่านเถียงนาหลังหนึ่ง ดูรกร้างแต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนมีคนอาศัยอยู่ “เถียงนารกๆ นั่นของใครเหรอครับ” ข้าพเจ้าถามตาเมื่อตอนมาถึงพร้อมจักรยานคู่ใจ “เถียงนายายศรีบาน” “มีคนอยู่ไหมตา” “มีแต่ผีบ้าทิดก่ำ สติปัญญามันไม่ค่อยจะดีหรอก” ตาเฒ่าหัวเราะเหอะแล้วก้มลงปักลันดักปลาไหลต่อ “เขาเป็นใครเหรอตา” “เล่าให้ฟังเดี๋ยวก็ขี้หดตดหายอีก” “เล่ามาเถอะตา ผมชอบฟังตาเล่าเรื่องสมัยก่อน” ตาเฒ่าเช็ดมือที่เปียกน้ำกับผ้าขาวม้า ขึ้นมานั่งดื่มน้ำดับกระหายบนตลิ่งห้วย แล้วก็เล่านิทานให้หลานชายฟัง…

ข้าพเจ้ากลับบ้านก่อนดวงอาทิตย์จะหมดแสง แม่ใช้ให้ไปถางหญ้าหน้าบ้าน หากมันรกร้างเป็นเวลานาน สัตว์มีพิษอาจซุ่มอยู่ในนั้นและเข้ามาในบ้านได้ ข้าพเจ้าทำตามที่แม่บอก พบแผ่นป้ายอะไรสักอย่างหักพังซ่อนอยู่ ข้าพเจ้าค้นมันออกมาจากป่าดงดิบหน้าบ้าน มีข้อความเขียนด้วยลายมือโย้เย้ ไม่เหมือนเด็กเขียน ข้าพเจ้ารู้สึกคุ้นเคยกับลายมือนี้ดีเพราะเคยอ่านหนังสือของตาเฒ่าหลายเล่ม

ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน”

ชายคาเรื่องสั้นเป็นกิจกรรมน้ำหมึกโดย ‘คณะเขียน’ ซึ่งเปิดพื้นที่วรรณกรรมมากว่าทศวรรษ สำหรับปี 2024 ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (อีสาน) ภายใต้ธีม “สิทธิมนุษยชนอีสาน” อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกลิงก์

image_pdfimage_print