1 มีนาคม 2566 – ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรฯ-หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ประมาณ 30 คน  ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินการก่อสร้างการสร้างโรงงานที่มีระยะใกล้พื้นที่กับชุมชน รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิถึงรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ชะลอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม และส่งถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ชะลอการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่ง คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน

ไพทูลย์ แสนขยัน คณะกรรมการชาวบ้านคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรฯ-หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า เนื่องด้วยในพื้นที่เกษตรฯ-หนองบัวแดง สถานการณ์การสร้างโรงงานน้ำตาลปัจจุบันในขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติให้รายงานผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่าน เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตการก่อสร้างโรงงานกรณีการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 32 เมกกะวัตต์ของบริษัทเอกชน บนพื้นที่ขนาดกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์-หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น มีพื้นที่ชุมชนอยู่ใกล้กับเขตของโรงงาน และประชาชนในพื้นที่ถูกปกปิดข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในทุกๆ ด้านจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และถูกกีดกันการมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนทั้ง 2 ครั้ง

ขณะที่ปัจจุบัน โรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เกษตรฯ-หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ มีการขนเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปเพื่อดำเนินการปรับพื้นที่และก่อสร้างโรงงาน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลในเรื่องมลพิษทางเสียงจากการก่อสร้างโรงงาน และมลพิษทางอากาศปริมาณของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียงที่ตั้งติดอยู่กับเขตของโรงงาน

กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรฯ-หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

  1. ยุติการดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้ก่อน
  2. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการออกใบอนุญาตโรงงานน้ำตาล
  3. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชะลอการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล
  4. ให้ทบทวนและดำเนินจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่

ทั้งนี้ พรเทพ วัชกีกุล รองผู้ว่าฯ ได้เข้ารับหนังสือข้อเรียกร้องและข้อเสนอของพี่น้องและเปิดห้องประชุมให้ชาวบ้านได้หารือ และมีข้อสรุปจะลงพื้นที่เพื่อไปรับฟังปัญหาประชาชนต่อไป

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานคณะกรรมการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน กล่าวว่า การที่ตัวแทนพี่น้องมายื่นหนังสือในวันนี้ เนื่องจากต้องการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด, พลังงานจังหวัด, โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ (คชก.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้เลย และทำให้เกิดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการของโรงงานน้ำตาลและใบอนุญาตก็ผ่านแล้ว แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวล พลังงานจังหวัดบอกว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังไม่ออกใบอนุญาต ซึ่งชาวบ้านยังทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ชะลอการออกใบอนุญาตและจะเข้าส่วนกลางเพื่อพูดคุยกับเลขา กกพ. เพราะกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีหลายประเด็นที่ไม่ครอบคลุม ในขณะที่ทางจังหวัดชัยภูมิจะทำหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำเนินการศึกษาใหม่

image_pdfimage_print