นับตั้งแต่ปี 2562 สถานการณ์โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด 24 เมษายน 2566 เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลายื่นหนังสือตรวจสอบบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและยื่นต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อตรวจสอบกรณีการเก็บข้อมูลในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ  (EIA) ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

การเข้ามาของโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ของบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด ขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดตั้งโรงงานที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด บริเวณทุ่งกุลาฯ พื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมประเภทข้าว หรือเป็นที่รู้จักในชื่อของ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ” 

เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลากังวลถึงกระบวนการที่กำลังจัดตั้งว่าจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรงงาน รวมไปถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่อประชาชน ทำให้เกิดการคัดค้านของผู้คนในละแวก รวมถึงเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา​  ซึ่งกลุ่มผู้คัดค้านให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาน้ำเสีย และปัญหาด้านพื้นที่ เพราะบริเวณพื้นที่ทุ่งกุลาไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อย ทั้งหมดนี้จะเป็นผลกระทบต่อการผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือข้าวจีไอ (GI) ซึ่งปัญหาที่ยืดยาวดังกล่าวยังคงถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง จากเสียงของคนในพื้นที่ รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางสังคม ต่างมีความต้องการที่จะให้ปัญหาดังกล่าวถูกคลี่คลายลงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อฝ่ายใด

ต่อประเด็นดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อนโยบายทางการเมือง ซึ่งในกระแสเลือกตั้งที่กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ เรื่องของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่

เพื่อให้เรื่องนี้ถูกนำมาขบคิดและจัดวางเป็นนโยบายในอนาคต หรืออย่างน้อยที่สุดก็แสดงจุดยืนของตนให้ชัดแจ้งว่าคิดอ่านอย่างไรกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงได้ตัดสินใจเลือกเป็นผู้แทน อันจะเป็นปากเสียงของชาวบ้านในสภา เราจึงนำเรื่องโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งเป็นคำถาม เพื่อให้ว่าที่ ส.ส. ให้คำตอบ ว่าหากเขาได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา เรื่องหวานๆ และพลังงานไฟฟ้าแห่งทุ่งกลาจะออกหัวก้อยหรือถูกลืม

เกษม มาลัยศรี ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์: แม้ผู้สมัครไม่เอาโรงงาน แต่พรรคไม่มีนโยบายโดยตรง

เกษม มาลัยศรี ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 2 มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า การก่อตั้งโรงงานน้ำตาลจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมระหว่างนายจ้างกับประชาชนในพื้นที่ และตนไม่เห็นด้วยกับโรงงานฯ ดังกล่าว เพราะมันจะนำมาซึ่งปัญหาอีกสารพัด

“ไม่เห็นด้วยกับโรงงานน้ำตาล เพราะแถวอำเภอปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย แถวนี้เป็นทุ่งกุลา มีแต่ข้าว ไม่มีอ้อย การตั้งโรงงานน้ำตาลจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ

“ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาโดยตรง มีเพียงนโยบายผู้สมัครเอง ผมบอกชาวบ้านว่าไม่เอาโรงงานน้ำตาล เพราะแถวนี้มีแต่ข้าวหอมมะลิ ไม่มีอ้อย ไม่ควรมาตั้งกลางทุ่ง แม้ว่าโรงงานตั้งขึ้นจะมีการสร้างงานให้คนในพื้นที่ แต่มันจะได้สักกี่คน ผมไม่เห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้ ซึ่งได้หาเสียงไปแล้วกับชาวบ้าน แม้นโยบายพรรคจะสร้างเงินสร้างงานสร้างคน แต่อย่ามาสร้างงานแถวนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาไม่อยากได้โรงงานตาล เพราะมันสร้างมลภาวะ สร้างอากาศสกปรกเกิดขึ้นในพื้นที่”

ศราวุธ ศรีนนท์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

พลังประชารัฐ: ถ้าจัดการดี และคนในพื้นที่อยากได้ก็โอเค

ศราวุธ ศรีนนท์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 5 มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า เป็นการขยายผลทางธุรกิจของแหล่งเงินทุน แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับ

ฟังเสียงพี่น้องว่าจะเอาอย่างไร

“จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องประชาชน หากส่วนมากอยากได้ ก็ถือเป็นมติของประชาชน ไม่ติดขัดอะไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวโรงงานน้ำตาลเองและพี่น้องประชาชนตกลงกันได้ มีผลประโยชน์ร่วมกันไหม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร มีเยอะมีมากจะต้องพูดความจริงด้วยกัน”

“จริงๆ แล้วโยบายของพรรคเองอาจจะไม่ได้เน้นย้ำกับเรื่องนี้ แต่ทางพรรคมองว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทางพรรคก็สนับสนุน แต่ถ้าเป็นผลกระทบในระยะยาว ทำให้รัฐบาลเสียเงินจำนวนมากในการดูแสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ผมก็มองว่าไม่ใช่เรื่องดี แต่ถ้าโรงงานมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ก็คงไม่ติดขัดอะไร” 

ประทักษ์ พาโคกทม  ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล

ก้าวไกล: เราต้องการฉันทามติของคนในพื้นที่

ประทักษ์ พาโคกทม  ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เบอร์ 6 มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้มีผลกระทบแน่ๆ ในส่วนของคนที่คัดค้าน โรงงานน้ำตาลค่อนข้างที่จะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติของชาวทุ่งกุลา โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ และ ต.สระบัว

“ผมคิดว่าประเด็นที่โรงน้ำตาลจะมาจัดตั้ง ควรจะให้ข้อมูลกลุ่มที่มีคำถาม หรือกลุ่มที่คัดค้าน แต่ตอนนี้โรงน้ำตาลกำลังหลีกเลี่ยงคำถาม หลีกเลี่ยงการคัดค้าน ไม่เผชิญหน้า ทั้งกลุ่มคนและกลุ่มเจ้าพนักงานเข้ามาในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อที่จะก่อตั้งโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าให้ได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือความชัดเจนของการตอบคำถาม”  

“พรรคก้าวไกลชัดเจนว่าการที่จะพัฒนาพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ ต้องมาจากประชาชน เป็นคนที่อยากจะทำ เป็นคนที่อยากจะพัฒนาตรงนั้น ต้องมาจากฉันทามติ หรือมติของชุมชน แต่ตอนนี้โรงงานน้ำตาลไม่รับฟังความเห็นของคนในพื้นที่เลย เราต้องรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเป็นสิ่งแรก และถ้าจะทำจริงๆ ผมขอผลักดันนโยบายการกระจายนาจของพรรคก้าวไกล ถ้านโยบายนี้เกิดขึ้น การจะสร้างอะไร จะจัดทำอะไร คงไม่มีปัญหา” 

ศักดา คงเพชร ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย

เพื่อไทย: ปลูกอ้อยมีสารเคมี ใช้จุลินทรีย์เพิ่มรายได้ 3 เท่า

ศักดา คงเพชร ผู้ลงสมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย เบอร์ 7 มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า การตั้งโรงงานน้ำตาลจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนอย่างแน่นอน การปลูกอ้อยและการมีอยู่ของโรงงาน้ำตาลจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและกระทบสุขภาพของระชาชน แต่จะเอาหรือไม่เอาโรงงานน้ำตาลขึ้นอยู่เสียงของพี่น้องในพื้นที่ 

“ถ้าหากปลูกอ้อยจะมีการใช้สารเคมีที่มีพิษ ไม่ได้กระทบแค่เพียงพื้นที่ปลูกอ้อย หากฝนตกจะชะล้างสารกระจายไปทั่วลงในแม่น้ำ ส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งหมด กุ้งหอยปูปลา อาจได้รับผลกระทบ หรือหากประชาชนนำหอยจากนามาบริโภคอาจทำให้ได้รับสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะโลหะหนักจากสารเคมี” 

ด้านนโยบายของทางพรรคสำหรับการแก้ไขปัญหา ศักดาได้ชูนโยบายจากเพื่อไทยคือ นโยบายด้านการเกษตรเพิ่มรายได้ 3 เท่าให้เกษตรกรใช้ระบบจุลินทรีย์ชีวภาพ ไม่ใช้หรือลดการใช้สารเคมีทุกชนิด รวมทั้งการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์จะดึงปุ๋ยไนโตรเจนจากอากาศ สามารถลดการใช้ปุ๋ยยูเรียจากปิโตเคมีลงได้

“หากใช้จุลินทรีย์ฉีดพ่นฟางข้าวไม่กี่วันก็ย่อยสลาย ในฟางข้าวฟอสเฟสและโปรแทสเซียมสูงมาก ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลัก หลังจากนั้นไถกลบตอซัง ทำให้ฟอสเฟสและโพแทสเซียมพอเพียงต่อข้าวและพืชต้องการ และลดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้เพราะไม่ต้องเผาและลดต้นทุนเพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี” 

ศักดา คงเพชร ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า สภาผู้แทนมีมติไว้อยู่แล้วหากได้รับเสียงจากประชนอาจจะมีการตามต่อไป

กิชรัธ ศีกับเจริญ ผู้ลงสมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย

ภูมิใจไทย: โรงงานจะสร้างงาน แต่ต้องควบคุมมลพิษ

กิชรัธ ศีกับเจริญ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 8 มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้จะต้องมีแนวทางในการสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกัน

“ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าภาคประชาชนอยู่ในพื้นที่เห็นด้วย เพราะมันจะเกิดการสร้างงาน เพียงแต่โรงงานต้องมีการควบคุมมลพิษได้ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการพัฒนาแรงงานด้วย

“ต้องเข้าไปทำความเข้าใจต่อปัญหาเชิงลึก จริงๆ แล้วมันคืออะไร เพราะที่ไหนเขาก็ตั้งได้ แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราจะต้องไปดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เป็นปัญหาการเมืองหรือเปล่า เป็นปัญหาเรื่องที่ดินหรือเปล่า ไม่น่าจะยาก หากทำความเข้าใจร่วมกับพี่น้องประชาชน และหากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต อาจจะเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องรับรู้และรับทราบ”

อ้างอิง

image_pdfimage_print