หมู่บ้านเล็กๆ เลียบชายภูเขา ตามแนวริมแม่น้ำสาละวิน บรรยากาศที่เงียบสงัดจนสามารถได้ยินเสียงลมกระทบเสียงกิ่งไม้และลมหายใจผู้คน ที่ดังกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างนานของชาวบ้านชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งการถูกกดทับจากนโยบายของรัฐ ร่องรอยจากประวัติศาสตร์สงครามชายแดนไทย – เมียนมา ผู้คนอพยพหนีความตายกลายเป็นคนไร้สัญชาติ  

“ผู้หญิง” ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้แบกรักภาระเหล่านี้ในสังคมและวัฒนธรรมปิตาธิปไตย พวกเธอดูแลบ้านเรือนและครอบครัว ป้อนนมลูกและปรุงข้าวให้สามี แต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงน้ำสะอาดที่ดื่มได้ อากาศหายใจที่ปลอดโปร่ง แม้กระทั่งสิทธิในที่ดินทำกินของตัวเอง อีกทั้งในวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ พวกเขาคือกลุ่มที่โดนผลกระทบก่อนใคร จากการทับซ้อนในมิติทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ สภาพภูมิอากาศ และเพศ 

นี่คือคำอธิบายภาพบรรยากาศจากการฉายสารคดี “วิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้แนวคิดเฟมินิสต์ พัฒนาสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรโดยและเพื่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง” หรือ FPAR ที่จัดขึ้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2566 โดยมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง 4 ชุมชน ที่ร่วมทำวิจัยกับ SEA-Junction ภายใต้การสนับสนุนของ USAID Mekong for the Future implemented by WWF และ Foundation for a Just Society จัด ณ SEA-Junction ชั้น 4 Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

มัจฉา พรอินทร์ ขณะร่วมเวทีบรรยายหัวข้อ FPAR

หลังจากวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มัจฉา พรอินทร์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนได้ยื่นข้อเสนอประเด็นประเด็นปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมือง จากข้อมูลของวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยอาศัยแนวคิดเฟมินิสต์ พัฒนาสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร  Feminist Participatory Action Research (FPAR) ที่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนร่วมกับเครือข่ายชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง 4 ชุมชน ให้กับทางคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร โดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ รองประธานกรรมาธิการฯ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวาระต่อไป

ซึ่งข้อเสนอมาจากวิจัยร่วมกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองบ้านแม่สามแลบ ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองบ้านทิยาเพอ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองบ้านหนองคริซูใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองบ้านอมกิ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน นโยบายของรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางในมิติทางเพศและกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมืองถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

“วิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้แนวคิดเฟมินิสต์ พัฒนาสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรโดยและเพื่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง” สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากภาครัฐและเอกชน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและป่าไม้ ของ 4 ชุมชน โดยการใช้หลักแนวคิดเฟมินิสต์และหลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการวิจัยมาอบรมศักยภาพของแกนนำหญิงในชุมชน โดยมี มัจฉา พรอินทร์ BBC100WOMEN 2023 ทำหน้าที่ดำเนินรายการและทำร่วมทำวิจัย

ไม่มีน้ำสะอาด ไร้สัญชาติ ไร้คุณภาพชีวิต

“ผู้หญิงในหมู่บ้านพูดว่า ถ้ามีเขื่อนไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ถ้าน้ำท่วมก็คงต้องอยู่จนท่วมตัวไป หลายครั้งเราเผชิญกับสภาพภูมิอากาศ เช่น หน้าฝนเสี่ยงดินถล่ม บ้านถล่มจากน้ำท่วม เกิดมาจำความได้ พอน้ำท่วมต้องย้ายบ้านสามครั้ง พอหน้าแล้ง ในชุมชนใช้น้ำประปา แม้เราจะอยู่ใกล้แม่น้ำสาละวิน แต่ไม่สามารถใช้น้ำเพียงพอและสะอาดได้เลย” มะเมียะเส่ง สิริวลัย หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยนี้ กล่าวถึงบรรยากาศการใช้ชีวิตของผู้หญิงชนเผ่าในหมู่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 

บ้านแม่สามแลบเป็นที่อาศัยของกลุ่มหลากหลายชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งกระเหรี่ยง ไทใหญ่และผู้นับถือศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ในชายแดนไทย – เมียนมา ได้รับผลกระทบจากการใช้อาวุธสงครามจากรัฐบาลทหารเมียนมาในหลายทศวรรษ อีกทั้งเป็นพื้นที่การลี้ภัยสงคราม เกิดการไม่ถูกรับรองสิทธิสัญชาติ 

พื้นที่แม่สามแลบยังถูกประกาศเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติสาละวิน ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน 

“50% คนชนเผ่ายังไร้สัญชาติ ทำให้เผชิญการถูกเลือกปฎิบัติละเมิดสิทธิ ทำให้เข้าไม่ถึงการศึกษา สาธารณสุข ทรัพยากรชุมชน ได้ผลกระทบจากภาครัฐและนโบาย ถูกประกาศเปนพื้นที่อุนทยานสาละวิน เราสูญเสียวัฒนธรรมและจิตวิญญาความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เราไม่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการสร้างเขื่อน ผู้หญิงในหมู่บ้านเกิดความหวาดกลัว” มะเมียะเส่ง สิริวลัย

มลพิษและหนี้สิน มรดกสุดท้ายของชนเผ่า

อีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอ้างอิงงานวิจัยชิ้นนี้ คือหมู่บ้านแม่อมกิ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ตั้งอยู่พื้นที่ลุ่มน้ำ ชายแดนไทย-พม่า ได้รับผลกระทบจากการถูกลิดรอนสิทธิที่ดินจากกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล เผชิญการขาดแคลนอาหารจากการไม่สามารถทำไร่หมุนเวียน และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝนที่ตกมากหรือน้อยเกินไป จนทำให้ขาดแคลนน้ำในการทำเกษตร นอกจากนี้ยังมีความกังวลกับการได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในอนาคต โครงการผันน้ำยวม หากมีการดำเนินโครงการเกิดขึ้น

สภาพการณ์ที่บีบบังคับให้คนในชุมชนหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ก็เป็นแบบตัดต่อพันธุกรรมทั้งสิ้น จำเป็นต้องใช้สารเคมี ยากำจัดวัชพืชที่เข้มข้น ต้นทุนในการผลิตที่สูง เกิดภาวะหนี้สินต้องแบกรับ

“การต้องทำพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มีการใช้สารเคมีทางเกษตรเข้มข้น ส่งผลต่อทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค ซึ่งในหมู่บ้าน คนที่ใช้แรงงานมากที่สุดคือผู้หญิงที่ทั้งแรงงานในบ้านและนอกบ้านและยังสร้างภาระหนี้สิน รวมถึงหนี้จากการศึกษาหรือใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งน้อยลง” ดาวรุ่ง เวียงวิชา หนึ่งในผู้วิจัย กล่าว 

โครงการพัฒนาที่พลัดพรากคุณภาพชีวิตชนเผ่า 

ชุมชนชนเผ่ากระเหรี่ยงกว่า 118 หลังคาเรือน ที่บ้านหนองคริซูใน ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้คนในพื้นที่ยังไม่ถูกรองรับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้ไม่ถูกรองรับสิทธิที่ดินทำกินและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนใน ต.บ่อแก้ว เมื่อปี 2516 และถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าอุทยาน ปี 2537 ถูกผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า อีกทั้งยังถูกควบคุมจากนโยบายห้ามเผา จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เผชิญผลกระทบด้านสุขภาพ ที่ดิน เศรษฐกิจจากการดำเนินเหมืองแร่ดีบุก ทังสเตน ตั้งแต่ปี 2501 ปัจจุบันยังไม่ได้รับการเยียวยา และได้รับผลกระทบจากการทำพืชเชิงเดี่ยวเช่นกัน

หากจะเดินทางไปยังหมู่บ้านทิยาเพอ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผ่านสองข้างทางที่รายล้อมด้วยภูเขาสูง มีความลำบากถึงเข้าไปถึงหมู่บ้านและการเข้ามาถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่าง ถนน อินเตอร์เน็ตและไฟฟ้า ที่แห่งนี้ห่างจากตัวอำเภอสบเมย ประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นที่รวมความหลากทางของผู้คนนับถือศาสนาคริสต์และพุทธ พวกเขาเผชิญปัญหาคล้ายคลึงกับพื้นที่ที่กล่าวมา ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์และเขตวนอุทยาน การเป็นธนาคารป่า รวมถึงได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ผลกระทบจากการธุรกิจเหมืองแร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-2524 การสูญเสียพื้นที่ทำกิน ป่า และแหล่งน้ำรวมถึงโครงการผันน้ำยวมเช่นกัน

ข้อเสนอแนะอ้างอิงจากงานวิจัยสำหรับการแก้ปัญหาทั้ง 4 หมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมือง ได้แก่

  1. ส่งเสริมศักยภาพเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังคงมีสถานะไร้สัญชาติที่เป็นผู้กระทบจากการเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เผชิญความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองและวัฒนธรรมรวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศ
  2. ส่งเสริมการจัดตั้งโรงเรียนผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองบ้านแม่สามแลบเพื่อสร้างการศึกษา สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำให้เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองให้มีส่วนร่วมในการเข้าแก้ไขปัญหาต่างๆ
  3. ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสำหรับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง เช่น สนับสนุนกลุ่มผู้หญิง “ผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้ง“ บ้านแม่สามแลบ 
  4. ส่งเสริมการเข้าถึงสัญชาติไทยของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในแถบชายแดนไทยพม่าจากการถูกแบ่งแยกกิจการถูกละเมิดสิทธิชนเผ่าถูกจำกัดสิทธิ์ในการเดินทางเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขอย่างเป็นธรรมและการศึกษาตลอดจนการไม่ได้รับสวัสดิการใดใดของภาครัฐอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะถูกแสวงหาผลประโยชน์จากการท้าแรงงานและแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทางเพศ
  5. รับรองสถานะและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยตามปฏิญาณสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและใช้หลักการฉันทามติที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าว่าเป็นอิสระเพื่อเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมปกป้องและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
  6. แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอันเป็นผลกระทบจากการสร้างกฎหมายนโยบายของภาครัฐโดยการยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติรวมไปถึง PM2.5 เพราะขาดการมีส่วนร่วมและละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
  7. ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้แก่เขื่อนฮัตจีที่จะสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติความหลากหลายทางชีวภาพและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของสองฝากฝั่งแม่น้ำสาละวิน
  8. พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดปลอดภัยให้เพียงพอในทุกฤดู 
  9. ยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร ที่ดิน ป่าไม้และน้ำ ที่ละเมิดสิทธิชุมชน
  10. ยอมรับการมีอยู่ อัตลักษณ์ ตัวตน วัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง รวมไปถึงยุติการตีตราวิถีชีวิตของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง
  11. ปกป้องและคุ้มครองไม่ให้ชุมชนถูกแสวงหาผลประโยชน์จากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการทำพืชเชิงเดี่ยว รัฐจะต้องมีมาตรการที่ปกป้องราคาสินค้าเกษตรกรรมที่เป็นธรรม
  12. ยกเลิก โครงการผันน้ำยวมเพราะขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิชุมชนและวิถีชีวิตชน

ทั้งนี้ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ กรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภา ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาถึงมิติทางเพศในฐานะนักการเมืองผู้หญิงที่มีเชื้อสายลาหู่ การเป็นคนอายุน้อย และเป็นผู้หญิง ในสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้ไม่มีโอกาสหรืออำนาจต่อรองในพื้นที่การทำงาน จึงลุกมาผลักดันสิทธิการศึกษาและเรื่องเพศ เพราะการศึกษาถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสามารถผลักดันและเพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้ ก่อนรับข้อเสนอของงานวิจัย FPAR จากทางตัวแทนมูลนิธิสร้างสรรค์เยาวชนไปพิจารณาต่อไป

อ่านงานที่เกี่ยวข้อง

image_pdfimage_print