1 พฤษภาคม 2567 The Isaan Record จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เลือก ส.ว. กติกาและอำนาจนี้เพื่อใคร” โดยมีนักวิชาการ และภาคประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

อิทธิพล สีขาว อาสาสมัคร We Watch กล่าวว่า จากการที่ตนเข้ามาร่วมทำงานกับชาวบ้านและประชาสังคมในพื้นที่อีสานตอนบนพบว่า คนที่ติดตามกระบวนการเลือก ส.ว. อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระบวนการเลือก แต่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือกระทั่งกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า มาจัดกิจกรรมรณรงค์ ส.ว. ประชาชน ที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 28 เมษายน แต่เมื่อ กกต. ออกประกาศข้อห้ามและคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ว. ทำให้การจัดเวทีดังกล่าวยากขึ้นและคนเข้าไม่ถึง

“สิ่งที่น่าสงสัย คือ การจะจัดเวทีพูดคุยหรือทำความเข้าใจเรื่องนี้กับคนทั่วไปทำได้ยาก และทำให้เราเกิดความกังวล โดยมีบางคนบอกว่า มีผู้มีอิทธิพลหรือนายทุน มายื่นข้อเสนอว่าจะลง ส.ว. หรือไม่จะออกค่าสมัครให้ แต่เงื่อนไขอื่นยังไม่ได้คุย ซึ่งเขายังไม่ได้ออกตัวแรง และยังไม่ชัดเจนว่าเป็นฝายไหน” อาสาสมัคร We Watch กล่าว

อิทธิพล สีขาว อาสาสมัคร We Watch

เลือก ส.ว. ในแดนสนธยา 

อิทธิพล ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือกิจกรรมควรเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในการเลือก ส.ว. แต่กลับกลายเป็นว่ากระบวนการจัดเวทีนั้นยุ่งยากและเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ เพราะกลัวว่าจะเข้าข่ายความผิดของ กกต. ทำให้คนที่อยากมีส่วนร่วมไม่กล้ามา ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามข่มขู่พอสมควร

“เราได้รับรายงานว่า มีคนที่ถูกหน่วยงานติดตาม มาถามว่าจะ  ลง ส.ว. หรือไม่ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการทำความเข้าใจ และรับรู้ข้อมูลของของประชาชนในพื้นที่ กระบวนการเลือก ส.ว. ครั้งนี้เป็นกระบวนการที่สับสนอยู่ในแดนสนธยา” อิทธิพล กล่าว 

เขายังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ภาคประชาชนหลายพื้นที่แทบจะจัดการเลือกตั้งจำลองแทน กกต. ดังนั้นจึงเสนอว่า ควรให้ประชาชนเข้าถึงความรับรู้เหล่านี้ได้แล้ว ไม่ควรปิดกั้นและทำให้เป็นเรื่องน่ากังวล หวาดกลัว เหมือนจะมีความผิดอยู่ตลอดเวลา กกต. ควรเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการพูดคุย และเข้าถึงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจมากกว่านี้ 

ศุภกิจ จันทะพงษ์ ผู้ประสานงาน We Watch อีสาน

ปลุกคนเป็นสายลับจับตาเลือก ส.ว.

ด้านศุภกิจ จันทะพงษ์ ผู้ประสานงาน We Watch อีสาน กล่าวว่า ก่อนมีประกาศ กกต. บรรยากาศการณรงค์สมัคร ส.ว. เป็นไปด้วยความคึกครื้น ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก พอมีคำประกาศออกมาทำให้คนที่เข้าร่วมแคมเปญกับเรารู้สึกหวาดกลัว และรู้สึกระแวงว่าประกาศที่ออกมาจะทำให้เกิดผลเสียกับคนที่ออกมารณรงค์และคนที่จะลงสมัครหรือไม่ โดยทราบว่ามีผู้ที่ลงทะเบียนกับ senate67.com เหมือนถูกติดตามไปดูบ้านหรือขับรถตาม 

ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จะทำอย่างไรให้มี ส.ว. เพื่อประชาชนและยึดโยงกับประชาชน เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมไม่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึง We Watch เป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่จะเข้าไปสังเกตการณ์ได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ การที่ระบุว่าจะมีกล้องจรปิดให้สังเกตการณ์การเลือก ส.ว. นั้นคิดว่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การไปยืนดูในหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่หน่วยจะใช้ดุลยพินิจอย่างไร บางหน่วยอาจจะทำได้ หรือบางหน่วยทำไม่ได้ การสังเกตการเลือก ส.ว. จากกล้องจึงจะไม่เห็นกระบวนการลึกซึ้ง 

“ผมอยากเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็นสายลับใน 3 ขั้นตอน คือ 1.แฝงตัวหรือลงสมัคร ส.ว. ถ้าพบการทุจริตก็เเก็บข้อมูลรวบรวมข้อมูลไว้ 2.เก็บข้อมูลการทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอิทธิพลที่มีการซื้อเสียงผู้สมัคร ส.ว. และ 3.การรายงานผลมาที่ We Watch เพื่อร่วมกันตรวจสอบการเลือก ส.ว. ครั้งนี้” เขากล่าว 

สมชัย ภัทรธนานันท์
รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ส.ว. เป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการ

รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ส.ว. เป็นกลไกส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 แต่หลังปี 2549 มันเสียของ ผู้มีอำนาจก็พัฒนาด้วยการคิดว่า ทำอย่างไรจะควบคุมระบอบการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ความต้องการของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม 

“สิ่งที่เขาดีไซน์มาเราเห็นแล้วว่า ส.ว. เป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้งและเราไม่ได้อยู่ในการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะเจตจำนงค์ของประชาชนไม่ได้รับเอามาตัดสิน แต่ตัดสินโดยกลไกที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสร้างขึ้น หักล้างเจตนารมณ์คนทั้งประเทศได้ โดยใช้คนไม่ถึง 10 คน” 

รศ.ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า ผู้ใช้อำนาจครั้งนี้ไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จเหมือนยุคจอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร แต่มีรัฐธรรมนูญ มีสิทธิเสรีภาพอยู่บ้าง และมีสภาเพื่อเป็นสิ่งรองรับความชอบธรรม เพราะเผด็จการที่แท้จริงไม่ชอบธรรม

“เผด็จการตอนนี้จึงแต่งหน้าทาแป้งให้สวยเพื่อให้คนยอมรับมากขึ้น เผด็จการที่มีการเลือกตั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ยึดอำนาจด้วยการที่เขาสามารถสร้างพันธมิตรมาสนับสนุนค้ำจุน แล้วมีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองเข้าร่วมหลายพรรค เอาตำแหน่งล่อ หรือสามารถแต่งตั้งคนมาดำรงตำแหน่งในหน้าที่ต่างๆ แต่จ่ายเงินเดือนโดยภาษีเรา และ ส.ว. ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบนี้ แต่รัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องประกันว่าเป็นประชาธิปไตย”

รศ.ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า ส.ว. ทำหน้าที่รับประกันว่า สิ่งที่เขาไม่ต้องการจะไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้ หรือถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญคุม ส.ว. ไม่ได้ก็จบ กฎหมายสำคัญก็สกัดไว้ได้หมด จึงเป็นอุปสรรคอันหนึ่งในการคืนสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทย  ในอนาคตแม้ ส.ว. เลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่เขี้ยวเล็บยังมีอีกมาก ทั้งในเรื่องการกลั่นกรองและแก้ไขกฎหมาย

นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวอีกว่า เขาออกแบบมาเพื่อเป็นหลักประกันว่า ทำอย่างไรพวกเขาก็ต้องได้เข้าไปอีก ดังนั้นมันต้องยุ่งยากและพิสดารไว้ก่อน อย่างไรก็ตามแม้ยังมีช่องให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเข้าไปนั่งในสภาได้ แต่ต้องใช้ความพยามอย่างสูงมากและต้องร่วมมือกัน จึงจะสามารถเข้าไปได้ แม้เป็นเรื่องยากแต่เราต้องเข้าใจว่านี่คือขั้นตอนหนึ่งที่จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญที่เราอยากแก้หรือกฎหมายสำคัญที่เราอยากเห็น เป็นเรื่องยากแต่ต้องช่วยกันทำ จึงจะทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญได้

“เราต้องพยายามพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย ไม่ว่าเขาเขียนกติกาแบบไหน เราก็สู้ในกติกาของเขาและพยายามเอาชนะให้ได้ ผมคิดว่าในยุคที่คนตื่นตัวในทางการเมืองและประชาธิปไตยสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้ โอกาสสำเร็จก็มีความเป็นไปได้ จากการที่เห็น กกต. ทำหลายอย่างในช่วงเวลานี้ ผมหวังลึกๆ ว่า มันจะกลายเป็นมุมกลับ กระตุ้นให้คนมาฮึดมากขึ้น รู้สึกว่าสร้างอุปสรรคขัดขวางเยอะเหลือเกิน แต่อาจไปกระตุ้นให้เราสู้และช่วยกันมากขึ้น และคิดว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดกระแสนี้มากขึ้น”

ส่วนประเด็นที่ว่าควรมี ส.ว. ต่อไปหรือควรมีแค่สภาเดียว รศ.ดร. สมชัย กล่าวว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถให้คนมาแต่งตั้งได้ จะมี ส.ว. หรือไม่อยู่ที่ว่า ส.ว. นั้นแตกต่างจากการมี ส.ส. อย่างไร หมายถึงถ้ามีอะไรต่างกัน มันก็มีได้ แต่ถ้าไม่มีนัยแตกต่างกันเลยก็เป็นการเลือกตั้ง 2 ครั้งเท่านั้น และเหมือนไม่จำเป็นต้องมี ถ้าได้คนที่มีคุณสมบัติเหมือน ส.ส. ก็คิดว่าไม่ต้องมีก็ได้ ทำไมต้องไปแยก ถ้ามีการแยกกันก็ต้องมีอะไรที่ต่างกันอย่างชัดเจน 

ดร.ณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มีความหวังกับการการแฮกระบบ ส.ว.

ขณะที่ ดร.ณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ถ้าเรามองว่าพัฒนาประชาธิปไตยไทย เรามี ส.ว. ครั้งแรกเมื่อปี 2489 จากการการเลือกตั้งทางอ้อม แต่หลังการรัฐประหารปี 2490 ส.ว. ก็มาจากการแต่งตั้งตลอด รัฐธรรมนูญปี 2540 มองว่า ส.ว. มีพัฒนาที่ดีขึ้น แต่พอรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็กลับมาเป็นการเลือกตั้งและแต่งตั้งคนละครึ่ง 

“รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ ส.ว. ดิ่งลง เพราะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เป็นพัฒนาการถอยกลับ”

ดร.ณรุจน์ กล่าวอีกว่า ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนใหญ่แล้ว ส.ว. มีหน้าที่ช่วย ส.ส. กลั่นกรองกฎหมาย แต่หน้าที่สำคัญที่สุด คือ ค้ำจุนรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ก็เป็นแบบนั้น ส่วนฉบับปี 2540 ต่างกัน โดย ส.ว. มีหน้าบทบาทถ่วงดุลนักการเมือง จากการทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย คล้าย ส.ว. ในสหรัฐอเมริกาที่มีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล และแต่งตั้งองค์กรต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงมีบทบาทมาก ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560  ส.ว. มาจากการแต่งตั้งจึงมีปัญหามาก 

“ปัญหาของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง คือ อยู่ในมือคนส่วนน้อย และกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหาร ปัจจุบันเราไม่มี คสช. แต่ สว. ก็ยังเป็นเครื่องมือของกลุ่มชนชั้นนำ เราจึงไม่แปลกใจว่าจะมีกระบวนการที่ทำให้ ส.ว. อยู่ในมือคนส่วนน้อยให้ได้มากที่สุด จึงจะสามารถควบคุมได้ เมื่อเห็นคำสั่ง กกต. หลายคนจึงไม่แปลกใจ ในอนาคตเราก็ยังจะเห็นความพยายามแบบนี้ เพื่อทำให้เขามั่นใจได้ว่าจะไม่ให้มีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งมากจนเกินไป หรือให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” ดร.ณรุจน์ กล่าว

ดร.ณรุจน์ ยังกล่าวในประเด็นประชาชนจะสามารถแฮกระบบ ส.ว. อย่างที่ต้องการได้หรือไม่ว่า มีความเป็นไปได้ โดยระบบเองสามารถทำได้ ปัญหา คือ ข่าวในช่วงแรกเมื่อเดือนที่ผ่านมา ความรู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่ภาคประชาชนจะแฮกระบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสูงมาก แต่ไม่กี่วันหลัง กกต. มีประกาศข้อห้ามต่างๆ ออกมา ความรู้สึกเหล่านี้ก็ดูจะลดน้อยลงพอสมควร 

“ในอนาคตเชื่อว่า กกต. จะยิ่งมีแอคชั่นมากขึ้น สะท้อนว่าฝ่ายอนุรักษนิยมกังวลและพยายามโต้กลับกระบวนการนี้มากขึ้น ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องเดอะ เมทริกซ์ ที่มีความพยายามทำให้คนหลับใหล แต่ก็มีคนลุกขึ้นมาต่อต้านระบบ องค์กรต่างๆ ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็พยายามไม่ให้ระบบนี้ถูกแฮก จึงต้องต่อสู้กัน มีการร้องเรียนไปยัง กกต. หรือกระทำการในรูปแบบต่าง” 

ดร.ณรุจน์ มองว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการกดดันและหาคำตอบให้ได้ว่ากฎกติกาเหล่านี้มีเหตุผลอย่างไร เราก็จะเห็นว่ามีการกดดันสื่อด้วยเช่นกัน แต่มองว่าการแฮกระบบจะถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ สร้างกระแสได้พอสมควร แต่แรงกดดันนี้ต้องมีมากขึ้นและต่อเนื่อง เพราะการต่อสู้จะไม่จบ แม้ในวันที่ผลเลือก ส.ว. ออกมา โดยคาดว่า จะมีการต่อสู้ มีการฟ้องร้องอีกมากมาย เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ ซึ่งต้องวัดกันพอสมควร 

“อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญ ถ้าใครพอจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้ก็อยากให้ลองเข้ามาร่วม และขอ กกต. ว่าอย่ามองประชาชนเป็นศัตรู” ดร.ณรุจน์ กล่าว  

image_pdfimage_print