เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ประชาชนไทยกว่า 50 ล้านคนออกไปลงเสียงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่กองทัพหนุนหลัง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศอ่อนแอลง และส่งเสริมอิทธิพลของทหารชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่การเมือง

วัน-เดือนเดียวกันนี้ในปี 1965 (พ.ศ. 2508) เป็นวันที่รู้จักกันในนาม ‘วันเสียงปืนแตก’ อันเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผลักดันให้ชาวไร่ชาวนาชาวอีสานหลายพันคนตัดสินใจจับปืนเข้าป่าประจัญหน้ากับรัฐทหารที่ไม่ยอมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จตามสัญญา

โดย ฟาเบียน ตระมูน

สหายไพรัช ตัวแทนขายประกันชีวิตมาดเนี้ยบในเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงินและนาฬิกาทองเรือนหนัก ยกมือขึ้นในท่าจับปืนเล็งขึ้นฟ้า “บางทีผมลนลานย่อตัวก้มหัว เพราะเห็นเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือหัว” ปัจจุบันนี้สหายไพรัชอายุ 65 ปีแล้ว แต่ยังคงตระหนกเมื่อภาพอดีตผุดขึ้นมา กว่า 33 ปีให้หลังจากที่เขาล้มเลิกการจับปืนก่อกบฏ

ห้าสิบปีที่แล้ว ประเทศไทยตกอยู่ใต้กำมือของนายทหารไม่กี่คนหลังการก่อรัฐประหารช่วงปลายคริสตทศวรรษที่ 1950-1959 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉีกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคการเมืองทุกพรรค และปล่อยให้ประเทศรอคอยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จนกระทั่งในปี 1963 (พ.ศ. 2506) ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรม สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังมิได้คลอดสิ่งใดออกมา

ประเทศได้แต่เฝ้ารอขณะที่นายทหารชั้นสูงยึดกุมอำนาจอย่างแน่นหนายิ่งขึ้นด้วยกฎหมายมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อจับกุมคุมขังและประหารชีวิตคนได้ตามอำเภอใจ เพื่อการกำราบความเห็นต่างและการต่อต้านอำนาจปกครองของทหารให้สิ้นซาก

แต่หลังจากผ่านไปแปดปี การรอคอยก็สิ้นสุดด้วยเสียงปืนแตก วันที่ 7 สิงหาคม 1965 (2508) การต่อต้านจากคนยากจนในภาคอีสานได้ส่งแรงสะเทือนไปทั้งประเทศ ปลุกให้เกิดขบวนการกบฏต่อระบอบทหารในกรุงเทพฯ ที่จะยืดเยื้อไปอีกหลายทศวรรษ

บทความชิ้นนี้รวบรวมมาจากปากคำของอดีตนักรบหลายสิบชีวิตที่ให้สัมภาษณ์ในระยะเวลากว่าหนึ่งปี นี่คือเรื่องราวของชาวนาที่อาศัยอยู่ในฝั่งขวาแม่น้ำโขงหลายพันคนผู้ตัดสินใจทิ้งนาข้าวเพื่อเข้าร่วมขบวนการต่อสู้รัฐทหารด้วยอาวุธ

เข็มพร เชื้อตาหมื่น ชื่อจัดตั้งสหายไพรัช วางมือจากการต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธ หันมาเลี้ยงชีพด้วยการขายประกัน

มุมที่ต่างออกไป

สหายไพรัชหัวร่อให้กับความทรงจำเมื่อครั้งแรกเริ่มมีส่วนร่วมกับขบวนการกบฏกว่า 20 ปี “สมัยนั้นผมเด็กน้อย ทหารก็ชอบใช้ผมไปซื้อเหล้าขาวแล้วก็ส่งจดหมายน้อยจีบสาวในหมู่บ้าน” เขารำลึก “แต่พวกนั้นไม่รู้หรอกว่าผมเป็นสายให้กบฏ”

“มีใครเป็นสหายบ้าง?” สหายไพรัช หรือชื่อจริงคือเข็มพร เชื้อตาหมื่น ถามขึ้นมากลางวงชาวบ้านราวสามสิบคนบนเก้าอี้พลาสติกที่มารวมตัวกันที่บ้านของเขาในจังหวัดนครพนม ทุกคนชูมือ แล้วก็บอกชื่อจัดตั้งและตำแหน่งของตนในขบวนการ ทีละคน ทีละคน

ในโอบอ้อมของเทือกเขาภูพานและแม่น้ำโขง บ้านชาติพัฒนาชาติไทยเป็นหนึ่งในสามหมู่บ้านของภาคอีสานที่ภาครัฐก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่นักรบคอมมิวนิสต์ที่ยอมมอบตัวแก่ทางการ ครอบครัวส่วนใหญ่ในบ้านนี้ล้วนแล้วแต่มีประวัติการต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในทศวรรษที่ 1960 และ 1970

จากการเติบโตในชุมชนชาวนายากจน ไพรัชกล่าวว่าเขาจะต้องกลายเป็นนักสู้อยู่แล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พ่อของเขาเริ่มมีแนวคิดทางการเมืองจากผู้จัดตั้ง (recruiters) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นก็จากครอบครัวไปในปี 1964 (2507) เพื่อเข้าร่วมกับพวกกบฏที่ฐานที่มั่นในเทือกเขาภูพาน ภาคอีสานตอนบน

ไพรัชอธิบายว่าการที่รัฐกดขี่ขูดรีดชาวชนบทในอีสานเป็นสิ่งที่ดึงดูดบิดาของตนให้เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ “พคท. ให้คำตอบกับพ่อ” ไพรัชกล่าว แล้วเสริมว่าบิดาไต่เต้าสถานะของตนในลำดับชั้นของพรรคได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ฐานที่มั่น

บางคราวในยามกลางคืน บิดาของไพรัชก็แอบกลับบ้านเพื่อเยี่ยมยามครอบครัว แต่เมื่อเวลาล่วงไปก็เป็นเรื่องอันตรายเกินไป เมื่อมีกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) มาตั้งหน่วยที่หมู่บ้านในช่วงกลางทศวรรษ 1960-1969 ผู้เป็นพ่อนี้เองที่ผลักดันให้ลูกชายได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสายลับที่โยงใยซับซ้อน ที่ พคท. กำลังถักทออยู่ทั่วประเทศ

“ทำอาหารและส่งกับข้าวให้นักสู้ พคท. เป็นสายลับดูพวกกองกำลังความมั่นคง แล้วก็จับตาดูชาวบ้านที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์” นั่นคือหน้าที่ของไพรัชในช่วงแรกๆ ที่ได้ทำงานให้กับพวกคอมมิวนิสต์ในปี 1963 (2506) ขณะนั้นเขาอายุสิบสองปี เมื่อเขาอายุครบ 17 ปี เขาก็บอกผู้ใหญ่บ้านว่าจะลงไปทำงานที่ภาคใต้ แต่ที่จริงแล้วเขาแอบตามพ่อไปสู่ฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์

“ทันทีที่ไปถึง การศึกษาทางการเมืองของผมก็เริ่มเลย” ไพรัชนึกย้อน “ทฤษฎีของมาร์กซ์ เลนิน และเหมาเจ๋อตง ช่วยให้ผมมองเห็นประเทศไทยในมุมที่ต่างออกไป”

เมื่อปี 1965 (2508) พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงได้ประกาศการกบฏด้วยกำลังจากภาคอีสานเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารที่รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพมหานคร

“เป้าหมายของ พคท. คือการตั้งพรรคการเมือง ตั้งกองทัพ และจัดตั้งประชาชนให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของประเทศไทย” ไพรัชอธิบาย “เพราะว่าปัญหาของประเทศนั้นเกิดมาจากภายใน เกิดจากระบอบศักดินา”

ห้าสิบปีก่อน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังเป็นสังคมเกษตรกรรมแบบยังชีพอยู่แทบทั้งหมด เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศไทย การพัฒนาก็ยังนับว่าตามหลังอยู่มาก ระดับความยากจนสูงสุดในประเทศ ในขณะที่การศึกษาและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลต่ำสุด ถึงกระนั้น ความยากจนในภูมิภาคนี้ก็มิได้มีสาเหตุหลักมาจากเจ้าที่ดินจอมขูดรีดหรือเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหดดังที่ พคท. เชื่อ

ชาร์ลส์ คายส์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าด้านภาคอีสานของประเทศไทย กล่าวว่าความยากจนภายในท้องถิ่นเป็นผลพวงมาจากสภาพที่ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นดินคุณภาพต่ำ หรือภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมกับภัยแล้งผลัดกันมาแบบคาดการณ์ไม่ได้ สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่เมื่อผู้คนไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรม

สำหรับชาวอีสานจำนวนมากในสมัยนั้น รัฐเป็นเหมือนวิญญาณจากแดนไกลที่มาปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งคราวในรูปของข้าราชการจากตัวจังหวัด ที่ทำตัวห่างเหินและแทบมิได้นำพาต่อคำร้องทุกข์ของชาวบ้านเลย

“ในทศวรรษที่ 1960-1969 รัฐบาลไม่ได้สนองตอบต่อประชาชนแต่อย่างใดเลย มีมากมายหลายครั้งที่รัฐบาลไม่ยอมรับฎีการ้องทุกข์จากชาวบ้านไปพิจารณา” ศาสตราจารย์คายส์กล่าวในการสัมภาษณ์กับ เดอะอีสานเรคคอร์ด

ขณะที่เสียงประกาศสงครามปฏิวัติประชาชนของ พคท. ก้องสะท้อนไปตามท้องทุ่งอีสาน ชาวนาผู้ทุกข์ทนจำนวนมากได้ฟังคำมั่นสัญญาของลัทธิคอมมิวนิสต์และมองว่ามันคือคำตอบของปัญหาต่างๆ ที่ถูกเพิกเฉยโดยรัฐบาลทหาร รัฐบาลที่พวกเขามองว่ามิได้แยแสพวกเขาเลย

บ้านนาบัวในจังหวัดนครพนมเป็นชุมชนแรกในภาคอีสานที่เข้าร่วมการต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ในปี 1965 (2508)

การศึกษาข้ามพรมแดน

หากเดินทางเลียบแม่น้ำโขงย้อนขึ้นไป 40 กิโลเมตรทางทิศเหนือ บริเวณพรมแดนธรรมชาติกับประเทศลาวที่เชื่อมต่อมากกว่าจะขวางกั้น คือบ้านนาบัว “หมู่บ้านประวัติศาสตร์” ดังที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านประกาศไว้

ในวันที่ 7 สิงหาคม 1965 (2508) หมู่บ้านผู้ไทที่มิได้ดูโดดเด่นแห่งนี้กลายเป็นปรากฏการณ์บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทั่วภูมิภาค เมื่อหมู่บ้านนี้เป็นฉากของการปะทะกันครั้งแรกระหว่างนักรบคอมมิวนิสต์และกองกำลังความมั่นคงของไทย เป็นการเปิดฉากการก่อกบฏของ พคท. ต่อรัฐ

พื้นที่ชายแดนนี้เป็นเป้าหมายของนักจัดตั้ง (recruiters) ของขบวนการคอมมิวนิสต์ของลาวซึ่งใช้ชื่อขบวนการว่า ปะเทดลาว ซึ่งร่วมงานกันกับคอมมิวนิสต์เวียตนามเพื่อปลุกระดมชาวบ้านภาคอีสานให้ร่วมขบวนการปฏิวัติที่ลุกฮืออยู่ทั่วอินโดจีน

สหายอุษา สตรีผู้มีประกายในดวงตา ยังเด็กเกินกว่าจะเข้าร่วมชาวบ้านชุดแรกคนอื่นๆ ที่ถูกรับเข้าไปอบรมฝึกฝนเป็นเวลาหลายเดือนในประเทศลาว เวียตนาม และรวมไปถึงประเทศจีน แต่หลังจากนั้นเมื่อพี่ชายของเธอกลับมาที่นาบัว สหายอุษาในวัย 16 ปีก็ได้ตัดสินใจตอบรับโอกาสของ “การศึกษา” ที่เสนอให้แก่เธอในประเทศเวียตนาม

“เคยได้ยินว่าที่เวียตนามผู้ชายกับผู้หญิงเท่าเทียมกัน ผู้หญิงเป็นหมอก็ได้” สหายอุษาในวัย 67 ปี รำลึกความหลัง ย้อนทวนเหตุที่จูงใจเธอให้ลาจากหมู่บ้านในวัยอ่อนน้อย

ในสมัยนั้น ชาวบ้านนาบัวไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ชาวบ้านจำนวนมากรู้สึกว่ารัฐบาลส่วนกลางในกรุงเทพแทบจะไม่ได้คิดถึงการยกฐานะของคนในภูมิภาคนี้ขึ้นจากความยากจนเลย สหายอุษากล่าว

“ระบอบสังคมนิยมในเวียตนามให้ประชาชนเรียนฟรี แม้แต่ไปให้หมอรักษาก็ไม่เสียเงิน” สหายอุษาอ้าง แล้วกล่าวเปรียบเทียบว่าประเทศไทยใช้เวลาหลายทศวรรษหลังจากนั้นกว่าที่จะได้มีระบบประกันสุขภาพที่เสมือนว่าฟรีในปี 2002 (2545)

กลางแดดเริงแรงของเดือนมีนาคมปี 1966 (2509) สหายอุษาฝ่า “ฝูงปลิงที่ดูดเลือดจากขาเราจนหมด” ลัดเลาะไปตามทางลับจากบ้านนาบัวไปสู่ฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์ในอำเภอ Bắc Hà ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียตนามใกล้ชายแดนจีน

เธออยู่ที่นั่นเป็นเวลาเกือบสองปี เรียนภาษาเวียตนามและเรียนวิชาการแพทย์เพื่อเป็นพยาบาล ก่อนที่จะกลับมาประเทศไทยในปี 1968 (2511)

“ฉันรู้แน่ชัดว่าทำไอ้ทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไร” สหายอุษากล่าว “ฉันไปเวียตนามเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ให้สุดความสามารถ เพื่อที่จะกลับบ้านมาช่วยเหลือผู้คนของฉัน”

ไม่ใช่ทหารของหลวง

สองร้อยกิโลเมตรทางตอนใต้ของบ้านนาบัว บุญส่ง มาตขาวนั่งอยู่บนพื้นกระเบื้องสีเข้มในห้องประชุมของสหกรณ์การเกษตรจังหวัดยโสธร วงประชุมรูปครึ่งวงกลมซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงวัยกลางคนที่มีความสนใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ต่างโห่ร้องเป็นเสียงเดียวกันเมื่อบุญส่งอ่านข้อบังคับต่างๆ ที่เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ที่เพาะปลูกของตนปลอดจากปุ๋ยเคมีที่อาจตกค้างมาจากเพื่อนบ้าน

บุญส่งในวัย 66 ปี ซึ่งเป็นประธานของกลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากการปลูกข้าวอินทรีย์ พยายามโน้มน้าวให้เกษตรกรคนอื่นหันมาใช้เมล็ดข้าวอินทรีย์ แต่ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน บุญส่งเคยทำงานร่วมกับสหายไพรัชในการให้การศึกษาทางการเมืองและหาสมาชิกใหม่เข้าสู่ขบวนการคอมมิวนิสต์

ในวัย 21 ปี บุญส่ง มาตขาวเลือกตัดสินใจซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล เขาเลือกจะไม่เป็นทหารตามหมายเกณฑ์ และเข้าร่วมการต่อต้านรัฐกับคอมมิวนิสต์

เมื่อปี 1964 (2507) บุญส่งวัย 14 ปีในขณะนั้นนั่งอยู่หน้าวิทยุเสียงแตก เคลิบเคลิ้มอยู่กับการฟังข่าวจากสถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุของ พคท. ที่กระจายเสียงจากตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งเขาบอกว่าได้จุดประกายให้เขาสนใจการเมือง

เมื่ออายุได้ 21 ปี ชีวิตของบุญส่งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในการคัดเลือกทหารเกณฑ์ประจำปีซึ่งกระทั่งชายไทยทุกคนในทุกวันนี้ก็ยังคงต้องเข้าร่วมตามกฎหมาย บุญส่งจับได้ใบแดงที่พลิกชะตาชีวิตของเขาไปตลอดกาล บุญส่งบอกว่าเขาต้อง “ตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุด” ในชีวิต “ผมเลือกเป็นทหาร” เขากล่าวก่อนหัวเราะยกใหญ่ “ทหารคอมมิวนิสต์!” บุญส่งอธิบายด้วยโวหารแบบคอมมิวนิสต์ว่า มันเป็นการตัดสินใจ “ต่อสู้กับทุนนิยม” และ “สู้เพื่อประชาชน”

ไม่กี่วันต่อมา เขาจากบ้านไปอย่างเงียบๆ โดยมีสายลับของ พคท. มารับตัวไป ทั้งสองเดินป่าข้ามคืนจนไปถึงฐานที่มั่นของ พคท. ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในป่าที่แผ่กิ่งก้านสาขาอย่างไร้ทิศทางในภูสระดอกบัวในจุดเชื่อมต่อระหว่าง 3 จังหวัด คืออำนาจเจริญ มุกดาหาร และยโสธร

การเดินทางมาถึงฐานที่มั่นเปรียบเหมือนกับการเดินย่ำเข้าไปในดินแดนในอุดมคติสำหรับบุญส่ง “มันเหมือนเป็นโลกอีกใบหนึ่ง เป็นสังคมคนละแบบที่ซ่อนอยู่ในป่า” เขากล่าว “เต็มไปด้วยคนหนุ่มที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ ผมไม่รู้สึกคิดถึงบ้านเลยสักนิดเดียว”

บุญส่งผ่านการศึกษาทางการเมืองอย่างเข้มข้นบนฐานของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และได้รับการฝึกสู้รบตลอดเวลา 3 เดือน เขาบอกว่าการฝึกทำให้เขามีวินัย รวมทั้งยังสอนสมาชิกใหม่ทุกคนให้ “รับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง”

เมื่อบุญส่งออกจากฐานเพื่อแทรกซึมสู่หมู่บ้านและหาสมาชิกใหม่ เขาประสบปัญหากับการกลับไปให้ชีวิตในชุมชนชนบทที่เขาเติบโตมา “ชาวบ้านกินเหล้าเมาหัวราน้ำ ร้องคาราโอเกะกันเสียงดัง” เขารำลึกอดีตด้วยความเย้ยหยันและสำทับว่าพฤติกรรมเช่นนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเลย

ด้วยความช่วยเหลือของสหายไพรัช บุญส่งได้ร่วมในหน่วยลับที่ได้รับคำสั่งให้เกณฑ์ชาวบ้านเข้าร่วมขบวนการ ทั้งสองคนตระเวนไปทั่วทั้งภาคอีสาน บุญส่งประเมินว่าในช่วงที่ตนทำงานอยู่ พวกเขาน่าจะหาสมาชิกเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ราวๆ 1,000 ครัวเรือน

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 (กลางทศวรรษ 2510) การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทแข็งขันในแทบทุกพื้นที่ในภาคอีสาน เว้นเพียงสองจังหวัดเท่านั้น ขบวนการมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นถึง 12,000 คนทั่วประเทศ เมื่อเผด็จการทหารใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามกลุ่มนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 1976 (2519) นักศึกษาอีกกว่า 3,000 คนหลบหนีจากเมืองหลวงเข้าสู่ป่า

ขบวนการปฏิวัติอันเปราะบาง

สำหรับหลายๆ คน นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยกำลังเข้าใกล้มาทุกที ซึ่งยิ่งสานต่อความหวาดกลัวที่ขยายตัวอย่างรุนแรงในปี 1975 (2518) หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ได้โค่นล้มสถาบันกษัตริย์ลาวและเขมรแดงก้าวขึ้นสู่อำนาจในกัมพูชา

จำนวนของคอมมิวนิสต์ไทยเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการหลั่งไหลเข้าป่าของกลุ่มนักศึกษาหัวสุดโต่ง ทว่าเหตุการณ์ภายในและภายนอกประเทศต่างเผยให้เห็นถึงความเปราะบางของขบวนการปฏิวัติ

นักศึกษาหลายคนที่หลบหนีเข้าป่าง่วนอยู่กับการถกเถียงเชิงอุดมการณ์กับพรรค พวกเขาชื่นชม พคท. ที่อุทิศตนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงราก แต่ตามคำบอกเล่าของสหายอุษา มีนักศึกษาเพียงไม่กี่คนที่เห็นตรงกับอุดมการณ์ในการปฏิวัติด้วยอาวุธ

“หลายคนบ่นว่าวิธีการของเรารุนแรงเกินไป” เธอบอก “แต่ถ้าอำนาจการเมืองมาจากปากกระบอกปืน เราก็ต้องสู้กลับด้วยปืน”

ในปลายทศวรรษ 1970 (ต้นทศวรรษ 2520) แนวร่วมของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพังทลายลง เนื่องจากคอมมิวนิสต์ไทยเลือกอยู่ข้างเดียวกับกลุ่มลัทธิเหมาในประเทศจีน รัฐบาลคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนามซึ่งอยู่ข้างโซเวียตได้จึงห้ามไม่ให้ พคท. ใช้ฐานที่มั่นหรือเส้นทางการจัดส่งกำลังเสบียงสนับสนุนของตน

บุญส่งเล่าว่า นับจากนั้นมา หลายสิ่งก็เริ่มยากลำบากขึ้นสำหรับคอมมิวนิสต์ชนบทในภาคอีสาน

ในปี 1979 (2523) จีนลอยแพ พคท. หลังจากเริ่มรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย เพื่อทำให้ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ พอใจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงยุติการสนับสนุน พคท. และสั่งปิดสถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีวิทยุที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนและเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิก พคท. ในประเทศไทย

เอียน แบร์ด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยให้ความเห็นว่า “การสั่งปิดสถานีวิทยุของพรรคในยูนนาน [ทางตอนใต้ของจีน] และห้ามไม่ให้ใช้ฐานทัพที่ลาว ซึ่งรวมถึงตัดการส่งเสบียงอาหารด้วย เป็นสาเหตุของปัญหาจริงจังอย่างแรกๆ ของพรรค”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 (กลางทศวรรษ 2520) สปิริตของการปฏิวัติในหมู่คอมมิวนิสต์ในชนบทเสื่อมถอยลงและสภาพวิถีชีวิตในฐานที่มั่นก็ย่ำแย่ลงด้วย สหายอุษา สหายไพรัช และบุญส่งจึงหันหลังให้กับการปฏิวัติ เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ชาวนานักสู้จึงกลับออกจากป่าในภาคอีสานด้วยความพ่ายแพ้ อนาคตของพวกเขาระส่ำระสาย

IR_Communism_photo2

ในเดือนมีนาคม 1966 (2509) สหายอุษาวัย 16 ปี เดินจากบ้านในจังหวัดนครพนมสู่ภาคเหนือของเวียดนามเพื่อศึกษาด้านการแพทย์ เพื่อต่อสู้ร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาอันแสนเจ็บปวดสำหรับคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ในภาคอีสาน บางคนใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษในป่าที่เป็นเสมือนบ้าน แต่งงานและเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่

“เราสละชีวิต และพวกเราหลายคนถูกฆ่า” สหายอุษากล่าว “แต่สุดท้ายพวกเราก็แพ้ ฉันเสียใจมากจนอยากตาย”

บุญส่งเองก็รู้สึกผิดหวังมากไม่ต่างกัน แต่เขาตัดสินใจพลิกฟื้นการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติขึ้นมาอีกสักครั้ง บุญส่งเดินทางไปลาวเพื่อขอความช่วยเหลือในการสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศขึ้นมาใหม่ แต่เขาคว้าน้ำเหลว เนื่องจากพรรคประชาชนลาวยังคงวุ่นวายอยู่กับการสถาปนาอำนาจและเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามที่ยืดเยื้อ

พคท. ล่มสลายลงในที่สุดเมื่อรัฐบาลทหารของไทยตระหนักถึงความไร้ประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ที่เข้มงวดต่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและประกาศการนิรโทษกรรมในปี 1980 (2523) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทยอยเข้ามอบตัวในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (ปลายทศวรรษ 2520) การก่อกบฏยาวนานนับทศวรรษของกลุ่มคอมมิวนิสต์ได้จบลงอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์คายส์เห็นว่า ถึงแม้ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการตัดการสนับสนุนจากต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่การปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยล้มเหลวลงอยู่ดีด้วยสาเหตุที่ไม่ปรากฏชัดนัก

“พคท. ประสบความสำเร็จในช่วงแรก ส่วนมากในหมู่ชาวชนบทในภาคอีสานตอนบน แต่ต่อมา พรรคล้มเหลวในการหาสมาชิกเพิ่ม เหตุผลหลักเกิดจากการยึดมั่นในอุดมการณ์แบบลัทธิเหมามากเกินไป”

ในฐานะส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ดังกล่าว บรรดาผู้นำ พคท. มองว่าชาวบ้านเป็นเหยื่อที่สยบยอมต่อระบอบศักดินาและไม่อาจลุกขึ้นปฏิวัติเพราะถูกทัดทานโดยศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ธรรมเนียมทางพุทธศาสนาเหล่านี้เป็นหัวใจของชีวิตประจำวันของชาวนาในอีสาน นั่นเป็นสิ่งที่คายส์เห็นว่า พคท. ไม่ได้ตระหนักเลยแม้แต่น้อย

ความนิยมในแนวคิดคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวชนบทอีสานค่อยๆ ลดลงด้วยผลของการปะทะกันระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างกันสองอย่าง ระหว่างแนวคิดต่อการปฏิวัติแบบลัทธิเหมาของ พคท. กับความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวชนบทอีสาน

อ่านตอนต่อไป

จากนาข้าวสู่ดาวแดง: การเปลี่ยนผ่านตรากตรำกับความทรงจำลำเอียง (ภาคต่อ)

image_pdfimage_print