วันนี้เดอะอีสานเรคคอร์ดขอเสนอภาคต่อ ตอนที่สองของบทความขนาดยาว “จากนาข้าวสู่ดาวแดง” เปิดประสบการณ์ชาวชนบทในภาคอีสานที่ได้ไปเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ (อ่านตอนที่หนึ่งได้ที่นี่)

โดย ฟาเบียน ตระมูน

จากกบฏสู่แนวร่วมพัฒนาชาติไทย

กลุ่มคอมมิวนิสต์ต่อต้านรัฐบาล พร้อมทั้งครอบครัวรวมหลายพันคนเดินทางออกมาจากป่าเมื่อความหวังในการปฏิวัติแตกสลาย แต่ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่ได้รับอนุญาตให้กลับไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ เมื่อยอมหันหลังให้กับการก่อกบฏ คอมมิวนิสต์ในภาคอีสานจำนวนมากกลับไม่มีสิ่งใดให้กลับไปหา ชาวบ้านคนอื่นได้เข้ามายึดครองที่ดินของครอบครัวพวกเขาไปแล้ว หรือบางคนอับอายกับความพ่ายแพ้จนเกินกว่าจะบากหน้ากลับไปยังหมู่บ้านของตัวเอง

นักรบ พคท. ได้รับการต้อนรับขับสู้ผ่านปาฐกถา กล้องโทรทัศน์ และข้าวปลาอาหารที่รัฐแจกฟรี ผู้ต่อต้านรัฐไม่ได้ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้าย แต่กลายเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” นอกจากนั้น รัฐบาลทหารยังเร่งผสานกลุ่มกบฏชาวอีสานให้กลับคืนสู่ชีวิตของการเป็นชาวนาอีกครั้ง

ภายใต้เงื่อนไขว่าจะยอมวางอาวุธ ครอบครัวแต่ละครอบครัวในบ้านชาติพัฒนาชาติไทยจะได้รับที่ดิน 15 ไร่และวัวอีก 5 ตัว “ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว พวกเขาหาอาหารและเครื่องครัวมาให้ แรกๆ การไปใช้ชีวิตแบบเดิมก็ไม่ใช่เรื่องยากนักหรอก” จอมไตร เชื้อตาหมื่น ภรรยาของสหายไพรัช อดีตนักรบคอมมิวนิสต์ที่ทุกวันนี้กำลังขายประกันชีวิตกล่าว

จอมไตร เชื้อตาหมื่น ต่อสู้ร่วมกับสหายไพรัชผู้เป็นสามี ให้กับขบวนการคอมมิวนิสต์มากกว่า 20 ปี ทั้งคู่พบกัน แต่งงาน และมีลูก 2 คนในฐานที่มั่นของ พคท. ในเทือกเขาภูพาน ก่อนยอมรับข้อเสนอนิรโทษกรรมจากรัฐในช่วงต้นทศวรรษ 1980 (กลางพุทธทศวรรษ 2520)

แต่ความใจกว้างของรัฐมาพร้อมกับอุปสรรค ที่ดินที่พวกเขาได้รับกลายเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าว จึงไม่อาจเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของครอบครัวของคอมมิวนิสต์ที่ยอมมอบตัวได้ ที่ดินยังไม่เคยถูกโอนให้พวกเขาอย่างถูกต้องตามกฎหมายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่มีใครในบ้านชาติพัฒนาชาติไทย หรือในอีกสองหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นเพื่ออดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในอีสาน ที่ได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พวกเขาเรียกว่าเป็นที่ดินของตนเองมาเกินกว่า 20 ปี อันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในภาคอีสาน

ในปี 2015 (2558) ชาวบ้านได้รับคำเตือนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ไม่แน่นอนนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นร้องขอให้พวกเขาลงนามในข้อตกลงยินยอมตามนโยบายเรียกคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกที่ผลักดันโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สมาชิก พคท. หลายคนยังได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับเงินชดเชยสำหรับความเสียหายที่รัฐถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำ เพื่อกวาดล้างกลุ่มคอมมิวนิสต์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่พวกเขายอมวางอาวุธ

สถานีโทรทัศน์เอ็มคอท (MCOT) รายงานว่า ในปี 2007 (2550) เงินชดเชยมูลค่ารวม 269 ล้านบาทถูกแจกจ่ายไปยังอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ 2,600 คนในภาคอีสาน การจ่ายเงินชดเชยครั้งนี้สองตามมาเมื่อปี 2009 (2552) ทำให้จำนวนของอดีตสมาชิก พคท. ที่ได้รับเงินชดเชยทะยานขึ้นเป็น 11,960 คนทั่วประเทศ โดยแต่ละคนได้รับเงินราว 203,000 บาท

สหายไพรัชอ้างว่าเขาไม่เคยได้รับการชดเชยใดๆ ทั้งในรูปของที่ดินและเงินทอง เขาไม่สามารถให้เอกสารที่ยืนยันความเกี่ยวข้องกับ พคท. ได้ สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับบุญส่ง ซึ่งทำงานให้กับพรรคร่วมกับสหายไพรัช และสหายอุษา ชาวบ้านนาบัวที่ได้รับการฝึกในฐานทัพคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม พวกเขาทั้งสามไม่เคยได้รับการชดเชยใดๆ จากรัฐ

สหายไพรัชกล่าวติดตลกว่า “พวกเราทำงานกันดีฉิบหายเลยนะ ยังไม่มีใครรู้เรื่องภารกิจของเราจนป่านนี้”

การเปลี่ยนผ่านตรากตรำกับความทรงจำลำเอียง

การหันหลังให้กับการปฏิวัติและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติส่งผลต่อนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกับ พคท. แตกต่างกัน การกลับสู่เมืองด้วยจิตวิญญาณที่ขาดวิ่น ทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาหลายปีตามหาจิตวิญญาณของตัวเองและรับมือกับความใฝ่ฝันถึงประชาธิปไตยที่แหลกสลาย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะละอายใจ แต่หลายคนก็สามารถประกอบอาชีพเป็นนักวิชาการ นักเขียน นักการเมือง หรือนักธุรกิจได้ในที่สุด พวกเขาเริ่มบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อกบฏของชนชั้นกลางผ่านหนังสือและภาพยนตร์ซึ่งเขียนประวัติศาสตร์ความล้มเหลวของฝ่ายซ้ายขึ้นใหม่ได้สำเร็จ ในปัจจุบัน หลายคนในสังคมไทยยอมรับว่าอดีตนักศึกษาผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นวีรบุรุษของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

เอียน แบร์ด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันให้สัมภาษณ์กับเดอะอีสานเรคคอร์ด ว่า “เรื่องราวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยมักถูกเขียนโดยนักศึกษารุ่น 14 ตุลา” แบร์ดกำลังหมายถึงการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่ขับไล่รัฐบาลทหารในปี 1973 (2516) “เสียงของสมาชิกพรรคที่เป็นคนชนบทส่วนมากถูกลืมไปจากประวัติศาสตร์และผมคิดว่านี่เป็นปัญหา”

ในขณะที่อดีตคอมมิวนิสต์ในอีสานกำลังแก่ตัวลง ความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตอันระหกระเหินก็กำลังเลือนหายไปจากความทรงจำ ความพยายามในการจดจำบทบาทของตัวเองในประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปกลับแทบไม่เป็นที่สนใจสำหรับสาธารณะ

สหายตั้งวัย 89 ปี ทักทายนายทหาร 2 นายที่งานรำลึกครบรอบ 50 ปีการเริ่มต่อสู้ด้วยอาวุธของคอมมิวนิสต์ ทหารอนุญาตให้จัดงานเล็กๆ และห้ามพาดพิงเนื้อหาทางการเมืองโดยเด็ดขาด ในปีนี้ งานดังกล่าวถูกห้ามจัดไปด้วยเนื่องจากชนกับวันลงประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม

เมื่อปีที่แล้ว ชาวบ้านหมู่บ้านนาบัวเตรียมจัดงานครบรอบ 50 ปี ของวันที่ 7 สิงหาคม 1965 (2508) อันเป็นวันแรกที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะทะกับกองกำลังของรัฐบาล เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วันเสียงปืนแตก” พวกเขาวางแผนจะจัดงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการจัดเวทีเสวนาและปาฐกถาทางการเมือง

ทว่าต่างจากวันที่พวกเขาวางอาวุธและเดินทางออกจากป่า ในครั้งนี้ไม่มีกล้องโทรทัศน์หรืออาหารที่รัฐจัดหา เจ้าหน้าที่ทหารได้ออกคำสั่งให้ชาวบ้านจัดงานนี้ให้เป็นงานเล็กๆ และห้ามพูดคุยเนื้อหาทางการเมืองโดยเด็ดขาด ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินทางมายังวัดประจำหมู่บ้านเพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมของประชาชน

ชม แสนมิตร ชื่อจัดตั้งสหายตั้ง วัย 89 ปี หนึ่งในชาวบ้าน 8 คนที่ริเริ่มการต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธเมื่อปี 1965 (2508) บอกว่า “พวกเราจัดงานรำลึกวันนี้เพราะไม่อย่างนั้นประวัติศาสตร์ของเราจะถูกลืม”

อนุวัฒน์ แซ่ลิ้ม นักศึกษารัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งเข้าร่วมงานที่บ้านนาบัวในฐานะกิจกรรมหนึ่งในชั้นเรียน กล่าวว่าเขาแทบไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ในต่างจังหวัดเลย “ผมรู้แค่เรื่องที่ปู่เล่าเกี่ยวกับผีคอมมิวนิสต์ในป่าที่ออกมาฆ่าชาวบ้านในหมู่บ้าน” เขานึกย้อนความหลัง

ชม แสนมิตร หรือสหายตั้ง หนึ่งในชาวบ้านที่มีส่วนร่วมกับการปะทะกับกองกำลังความมั่นคงของรัฐเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1965 (2508)

ความทรงจำของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นมักสะท้อนวาทศิลป์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐ ซึ่งทะยานสู่จุดสูงสุดในปี 1976 (2519) เมื่อพระสงฆ์ชื่อดังรูปหนึ่งได้ออกมาประกาศว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์เป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคน

หนังสือประวัติศาสตร์ที่รัฐเห็นชอบที่มีอยู่ตอนนี้ต่างหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงการมีส่วนร่วมในขบวนการคอมมิวนิสต์ของชาวชนบทอีสานเช่นกัน ในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มล่าสุดเรื่อง “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรมและได้รับความเห็นชอบจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงเวลาของคอมมิวนิสต์ถูกกล่าวถึงเพียงผ่านๆ ในขณะที่อุทิศเนื้อหาครึ่งหน้าให้กับการหลบหนีเข้าป่าของนักศึกษาภายหลังการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 1976 (2519) หนังสือกลับไม่กล่าวถึงการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ในชนบทเลยแม้แต่น้อย

แบร์ดบอกว่า “ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ต่างๆ ของชาวบ้านมักจะได้รับความสนใจน้อยกว่าเรื่องของนักศึกษา” พร้อมเสริมว่าบทบาทของนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 1976 (2519) เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญในระดับชาติ “แต่เหตุการณ์นั้นมีความหมายน้อยสำหรับชาวบ้านในชนบท”

ในบ้านชาติพัฒนาชาติไทย ความพยายามในการจดจำประวัติศาสตร์ของผู้คนในท้องถิ่นให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปถูกซ่อนไว้อย่างดีภายในอาคารเรียนของหมู่บ้านฝั่งที่ไม่ถูกใช้งาน

สหายไพรัชใช้เวลานานกับการค้นหากุญแจของสถานที่ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งได้กลายเป็นห้องเขรอะฝุ่นที่มีของใช้เล็กๆ น้อยๆ ของคอมมิวนิสต์วางอยู่ระเกะระกะ ส่วนกำแพงเรียงรายด้วยรูปภาพซีดจางของชาวบ้านที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบคอมมิวนิสต์

ห้องๆ นี้เป็นโครงการส่วนตัวของครูคนหนึ่งที่ให้เงินทุนสนับสนุนในการสร้างเมื่อหลายปีก่อน แต่ชาวบ้านบางคนกล่าวด้วยความกังวลว่าเนื้อหาทางการเมืองอาจไปต้องตาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยไม่จำเป็น ทุกวันนี้ ประตูห้องพิพิธภัณฑ์ยังคงถูกล็อคไว้เป็นส่วนใหญ่ และดูเหมือนยากที่พิพิธภัณฑ์จะได้ทำหน้าที่ของมันตามเป้าหมาย

ชาวบ้านในบ้านนาบัวเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาเรียกร้องให้สร้างพิพิธภัณฑ์จริงๆ มานานหลายปี เพื่อทดแทนกระท่อมไม้ชั่วคราวที่ตอนนี้บรรจุประวัติศาสตร์ของอดีตอันระหกระเหินของพวกเขาอยู่ แต่สหายอุษาบอกว่า ความพยายามไม่เคยประสบผลเกินกว่าขั้นการวางแผน เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุน

สหายไพรัชยังมีความใฝ่ฝันอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนเรื่องราวการต่อสู้ท้าทายอำนาจรัฐของเขาจากป่าในภาคอีสานให้กลายเป็นหนังสือ “ผมเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ตอนอยู่กับ พคท.” เขากล่าว “แต่เหมือนต้นฉบับจะหายไปตอนที่ผมยอมแพ้”

ติดตามตอนจบของไตรภาค เพื่อเรียนรู้ว่ากบฏอีสานเหล่านี้ได้ผันตัวเองไปอย่างไรในสมรภูมิใหม่

จากนาข้าวสู่ดาวแดง: สมรภูมิใหม่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน (ภาคจบ)

image_pdfimage_print