วันนี้ เดอะอีสานเรคคอร์ดขอเสนอภาคจบของไตรภาค “จากนาข้าวสู่ดาวแดง” ว่าด้วยประสบการณ์ของชาวชนบทจากภาคอีสานในขบวนการคอมมิวนิสต์และรอยประทับที่เกิดตามมาในชีวิตที่เหลือ ท่านสามารถอ่านบทความนี้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นได้ที่นี่

โดย ฟาเบียน ตระมูน

IR_Communism_photo1

รูปปั้นของสหายเสถียร ชาวบ้านนาบัวที่เสียชีวิตระหว่างการปะทะกับกองกำลังความมั่นคงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1965 (2508) อดีตคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านกล่าวว่า แผนการเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อจดจำประวัติศาสตร์ของคอมมิวนิสต์ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเนื่องจากขาดทุนสนับสนุน

กบฏอีสานสู่สมรภูมิใหม่

เป็นเวลามากกว่า 30 ปีหลังจากการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง อดีตคอมมิวนิสต์หลายคนในภาคอีสานกลับไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านที่ตัวเองจากมาเพื่อเดินตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ขณะที่อีกหลายคนมุ่งหน้าสู่สมรภูมิที่ต่างออกไป

บุญส่ง ผู้ซึ่งต่อสู้ให้กับขบวนการมามากกว่า 10 ปี แสดงความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงของเขาออกมาผ่านภาคประชาคมสังคมในอีสาน

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (กลางพุทธทศวรรษ 2530) เขาร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนชาวนาซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเดินขบวนประท้วงตามทางหลวงสายหลักในภาคอีสาน

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา บุญส่งคอยส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ผ่านกลุ่มในท้องถิ่นที่เขาก่อตั้งขึ้นร่วมกับอดีตสหายคนอื่นๆ “สิ่งที่ผมทำในตอนนี้ก็เหมือนเดิม” บุญส่งกล่าวอย่างนิ่มนวลพร้อมด้วยรอยยิ้ม “ตอนที่เป็นคอมมิวนิสต์ ผมเรียนรู้ว่าจะจูงใจคนให้เชื่ออุดมการณ์การเมืองยังไง ตอนนี้ทักษะนั้นช่วยให้ผมทำให้เกษตรกรหันมาสนใจเกษตรอินทรีย์”

บุญส่งพลิกบทบาทจากการต่อสู้กับรัฐมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอย่างใกล้ชิดในการฝึกอบรมชาวนาให้ทำเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้กลุ่มของเขาได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท

“คุณจะว่ามันตลกก็ได้นะ” บุญส่งพูดถึงการร่วมมือกับรัฐและพลังของนายทุนที่เขาเคยต่อสู้ “แต่ก็นั่นแหละ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป”

นี่เป็นความรู้สึกร่วมกันของอดีตคอมมิวนิสต์ในอีสานหลายคน สำหรับสหายไพรัช ความล้มเหลวของการปฏิวัติแบบคอมมิวนิสต์เป็นจุดหักเหสำคัญในชีวิต แต่มันไม่ได้ทำลายจิตวิญญาณของเขาลง “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส” คือวลีที่ไพรัชใช้บอกเล่าช่วงชีวิตนั้นของตัวเอง

หลังจากกลับออกจากป่าอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว ไพรัชลองขายประกันชีวิต อาชีพที่เลี้ยงครอบครัวของเขาได้จนทุกวันนี้ ทั้งยังสร้างเงินทุนตั้งต้นให้กับกิจการเพาะพันธุ์หมูและสวนยางพารา

หากตัดสินด้วยจำนวนโครงการในมือในตอนนี้ ไพรัชกลายเป็นเสาหลักสำคัญของชุมชน ท่ามกลางโครงการต่างๆ มากมาย เขาเป็นผู้ริเริ่มโครงการร่วมเพาะพันธุ์โคนมและก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ประจำหมู่บ้าน รวมถึงสถานีวิทยุชุมชน

แต่หลังจากการรัฐประหารในปี 2014 (2557) ทหารได้บุกยึดเครื่องส่งสัญญาณของสถานีวิทยุตามนโยบายปราบปรามทั่วประเทศ เพื่อปิดสถานีวิทยุที่ออกอากาศเนื้อหาที่ต่อต้านรัฐบาล นับตั้งแต่นั้น ไพรัชพยายามขอเครื่องส่งสัญญาณคืน แต่ไม่เป็นผล

IR_Communism_photo3

ทุกวันนี้ บุญส่ง มาตขาวใช้ทักษะด้านวาทศิลป์ที่เรียนรู้สมัยเป็นผู้จัดตั้งให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ เพื่อจูงใจชาวนาในอีสานให้ร่วมขบวนการนาข้าวเกษตรอินทรีย์

ไพรัชต่างจากบุญส่ง เขาไม่ได้เข้าร่วมขบวนการใดๆ อีกหลังจากการต่อสู้กับรัฐร่วมกับคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง เช่นเดียวกับอดีตคอมมิวนิสต์ในบ้านชาติพัฒนาชาติไทยอีกหลายคน ไพรัชโหยหาชีวิตที่เงียบสงบหลังจากใช้เวลาสองทศวรรษอย่างไม่เป็นสุขอยู่กับงานใต้ดิน

“หลายปีมานี้ผมไม่เคยเลือกข้างทางการเมืองอะไรกับเขาเลย” เขากล่าว “แต่ผมยืนอยู่ข้างเดียวกับประชาชนเสมอ”

สหายอุษาบอกว่าเธอสนับสนุนการต่อสู้ของขบวนการคนเสื้อแดงซึ่งระดมชาวนาจากภาคอีสานไปจำนวนมาก แต่เธอไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมเลย เธอกล่าวว่าการยอมรับข้อเสนอให้นิรโทษกรรมของรัฐคงจะเป็นการทรยศต่อคำมั่นสัญญาที่นักรบคอมมิวนิสต์เคยให้ไว้

มีความรู้สึกที่แพร่หลายในหมู่อดีตคอมมิวนิสต์ในภาคอีสานว่าขบวนการทางการเมืองในปัจจุบันมีอุดมการณ์ที่ไม่ค่อยบริสุทธิ์นัก พคท. ยึดมั่นกับการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อการปฏิวัติตามอุดมการณ์ลัทธิเหมา ซึ่งช่วยนำทางชาวนาภาคอีสานให้เข้าร่วมขบวนการ แต่พวกเขากล่าวกันว่า ทุกวันนี้ อะไรๆ ดูซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม

“พวกซ้ายสุดโต่งยืมมือทักษิณเพื่อก่อการปฏิวัติ” บุญส่งกล่าว โดยอ้างถึงอดีตนักศึกษานักกิจกรรมที่กลายมาเป็นผู้นำคนสำคัญของกลุ่มเสื้อแดง “แต่มันไม่สำเร็จหรอก เพราะว่าเป็นการร่วมมือกับพวกนายทุน”

ในบ้านนาบัว ความไม่เต็มใจของอดีตคอมมิวนิสต์ในการเข้าร่วมกับการประท้วงของสีใดสีหนึ่งมีที่มาจากความไม่ไว้วางใจรัฐที่หยั่งรากลึกและความหวาดกลัวที่จะถูกมองว่าเล่นบทเป็นเบี้ยในความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำ สำหรับพวกเขา ใบหน้าของผู้ที่อยู่ในอำนาจอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 30 ปีก่อน แต่รัฐยังคงหักหลังเจตจำนงของประชาชนชาวอีสานอยู่เสมอ

กระนั้น ความชิงชังทหารในฐานะพลังทางการเมืองอย่างหนึ่งไม่เคยลดน้อยลงเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ชัดเจนเหมือนที่เคยเป็นมา

“แต่ก่อนระบอบการปกครองเป็นเผด็จการทหาร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ชัดแล้ว ดูแค่ผิวเผิน รัฐบาลนี้ก็ดูมีอะไรดีอยู่เหมือนกัน” สหายวิหาญผู้มีส่วนร่วมในการปะทะกับรัฐครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1965 (2508) กล่าว

หลังจากทหารอนุญาตให้จัดงานเล็กๆ เพื่อรำลึก “วันเสียงปืนแตก” เมื่อปีกลาย งานดังกล่าวถูกห้ามจัดในปีนี้เนื่องจากวันงานตรงกับวันลงประชามติรัฐธรรมนูญ

อดีตคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าหากรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการรับรองก็จะไม่นำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ผู้นำหมู่บ้านกล่าวว่า หลายคนพูดว่าอาจจะโหวตคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในวันลงประชามติในวันอาทิตย์

สำหรับหลายคน สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้อาจทำให้รู้สึกเหมือนในทศวรรษ 1960 (กลางทศวรรษ 2510) เมื่อประเทศต้องรอคอยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากรัฐบาลทหารนานกว่า 9 ปี รัฐธรรมนูญฉบับปี 1968 (2511) นำประชาธิปไตยกลับมาเพียงส่วนเดียว เพราะให้อำนาจกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ในเวลานั้น ชาวอีสานหลายคนถอดใจกับการต่อรองเพื่อประชาธิปไตยอันว่างเปล่าไปเสียแล้ว พวกเขาเลือกแก้ไขสถานการณ์ด้วยตัวเองโดยการจับอาวุธและเข้าร่วมกับการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์

ถึงแม้การปฏิวัติอันล้มเหลวจะฝากรอยแผลไว้ให้ ถึงแม้ต้องทนต่อสู้กับความขมขื่นทางการเมืองในปัจจุบัน แต่อดีตคอมมิวนิสต์ในบ้านนาบัวน้อยคนนักที่รู้สึกเสียใจกับการอุทิศชีวิตให้กับการต่อสู้ที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าควรค่า

“ตั้งแต่วันที่ฉันเข้าร่วมขบวนการตอนอายุ 16 จนถึงวันนี้ ฉันไม่เคยสงสัยการตัดสินใจของตัวเองเลย” สหายอุษากล่าวด้วยความหนักแน่น “ถ้าเกิดมีขบวนการแบบนี้ขึ้นอีก ฉันจะเข้าร่วมเป็นคนแรก”

จากนาข้าวสู่ดาวแดง: เรื่องราวการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวอีสานที่ไม่ถูกเล่า (ตอนที่หนึ่ง)

จากนาข้าวสู่ดาวแดง: การเปลี่ยนผ่านตรากตรำกับความทรงจำลำเอียง (ภาคต่อ)

image_pdfimage_print