โดยนายสมรู้ ร่วมคิด (เพื่อสังคมดี)

เชื่อเหลือเกินว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเมื่อมีการหยิบยกเรื่องของภัยธรรมชาติมาสนทนากัน ภัยลำดับแรกๆ ที่มักพูดถึง คือ “ภัยจากน้ำ” เหตุเพราะภัยจากน้ำที่อุบัติขึ้นทุกวันนี้มีความรุนแรง สร้างความเดือดร้อน

น้ำท่วมนาข้าวที่อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560

สถิติที่น่าสนใจในห้วง 6 ปีที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยร้ายแรงมากถึง 4 ครั้งในไทย

เมื่อครั้งมหาอุทกภัย พ.ศ.2554 พบว่า ตลอดทั้งปี ประเทศไทยต้องประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลจากอิทธิพลของลมพายุ “ไหหม่า” และ “นกเต็น” โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมแบบยื้ดเยื้อเรื้อรัง พื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด จากผลการประเมินของธนาคารโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท นับเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ลำดับที่ 4 ของโลก

ช่วง พ.ศ.2557 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นอีกในพื้นที่ภาคใต้ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ระหว่างวันที่ 14 – 31 ธันวาคม 2557  มีการตีมูลความเสียหายครั้งนี้อยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท  

นึกว่าภาคใต้คงเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว แต่ที่ไหนได้ ถัดมาอีก 2 ปี เกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรงอีกครั้งใน พ.ศ. 2559 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
13 จังหวัด มูลค่าความเสียหายที่มีการประเมินอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท

จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ทีนี้ก็มาถึงคราวของจังหวัดทางภาคอีสานบ้าง โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร ถือเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เซินกา” มากที่สุด มูลค่าความเสียหายในภาพรวมของจังหวัดสกลนครจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท

สถิติข้างต้นน่าจะทำให้ทุกคนเชื่อได้ว่า “อุทกภัย” เป็นสาธารณภัยที่สร้างความเสียหายร้ายแรงมากที่สุดและก่อให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณแก่ประเทศไทยทุกครั้งเมื่อมันอุบัติขึ้น !   

ระบบบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือภาวะวิกฤตอุทกภัยพร้อมไหม?

เครื่องมือสำคัญที่ให้อำนาจรัฐในการจัดการภัยพิบัติสาธารณะ คือ “พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550” โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับชาติ

ทั้งยังปรากฏบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีเข้าบัญชาการเหตุการณ์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในกรณีที่มีการยกระดับสถานการณ์ขึ้นเป็นสาธารณภัยร้ายแรงยิ่งด้วย เนื่องจากต้องการให้เกิดความมีเอกภาพสามารถสั่งการในระดับชาติไม่ซ้ำซ้อนฟุ่มเฟือย

จากการศึกษาเนื้อหาของกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้ทราบว่าระบบบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศไทยยังคงต้องอาศัยความร่วมมือบนพื้นฐานของความจริงใจจากทุกภาคส่วนราชการและภาคีเครือข่ายต่างๆ อย่างยิ่งยวด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ภาพจาก
https://www.youtube.com/watch?v=JSZa1DxbcfE

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือ โครงสร้างคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นอกจากนายกรัฐมนตรี (หรือรองนายกฯ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้ว ยังประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอื่น ๆ อีก 7 กระทรวง รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ  และผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่า เพื่อให้มีการประสานนโยบายอย่างเป็นเอกภาพและมีการสนับสนุนทรัพยากรร่วมกันในยามบ้านเมืองเกิดภัย

ถ้าจะว่าพร้อมก็พร้อม (ถ้าผู้มีอำนาจสูงสุดสั่ง !)

มีการวางระบบที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ก่อนอื่นคงต้องพิจารณาในทางทฤษฎีการจัดการสาธารณภัยเสียก่อน เพราะเวลาผู้ปฏิบัติเขาทำงานกันจริงๆ เขาแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ  ประกอบด้วย

ช่วงก่อนเกิดภัย  มุ่งเน้นเตรียมพร้อมและป้องกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยง (Risk) ตั้งแต่ภัยพิบัติยังไม่เกิด

ช่วงที่กำลังเกิดภัยหรือขณะเกิดภัย ซึ่งเน้นเรื่องของการลดความเสียหาย (Damage) กล่าวคือ เมื่อภัยเกิดขึ้นแล้ว ต้องพยายามจำกัดความเสียหายให้น้อยที่สุด

ช่วงหลังจากเกิดภัย พุ่งเป้าไปที่การลดผลกระทบ (Impact) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ซ้ำเติมขึ้นอีก

ในทางทฤษฎี เป็นเรื่องของอุดมคติที่เราทุกคนต่างก็อยากไปให้ถึง เพราะตามตรรกะทั้ง 3 ช่วงข้างต้น ถ้าเรามีระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติมีมาตรฐานที่ดี มีการปฏิบัติที่เยี่ยม ย่อมหมายความว่าพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนมีหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินชนิดที่มั่นใจได้อย่างแน่แท้

ถนนเส้นเลียบหนองหาร จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2560

ทีนี้ ลองมาวิเคราะห์สภาพปัญหาในทางปฏิบัติดูบ้าง ว่าจะเป็นอย่างที่เขาว่ากันไหม ?

ตื่นตัวเมื่อน้ำมา แก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก ?

ตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการทำงานในเรื่องนี้ คือ ความพึงพอใจของประชาชนที่แสดงออกในรูปแบบคำชม การบอกต่อถึงความประทับใจต่างๆ หรือความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากการได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการบรรเทาทุกข์ที่สะดวกรวดเร็ว พอเพียง ทั่วถึง ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัย

ยกตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด คือ การช่วยเหลือทั้งที่เป็นเงินเยียวยาและการบริการสาธารณะแบบให้เปล่า จะสังเกตได้ว่า… ภายหลังเกิดอุทกภัยทุกครั้ง การให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ เป็นภาพที่คนไทยต่างคุ้นชินมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประมาณว่าน้ำท่วมที รัฐก็ออกมาช่วยเหลือกันที ให้จบเป็นคราวๆ ไป คล้ายทำนองวัวหายที ก็สร้างคอกล้อมที ไม่สามารถที่จะหาวิธีป้องกันแบบถาวรได้

ถอดบทเรียนน้ำท่วมสกลนคร สะท้อนปัญหาสู่การแก้ไข

เมื่อเร็วๆ นี้ ถ้าใครได้ติดตามการเสนอข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำเอาภาพถ่ายทรัพยากรกู้ภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งหรือขนย้ายผู้ประสบภัยที่อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการบัญชาการเหตุการณ์เพื่อบรรเทาอุทกภัย ที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสกลนคร มีการแชร์ภาพในทำนองว่ามีทรัพยากรมากมาย แต่ทำไมเก็บไว้ในโกดัง ไม่นำออกมาช่วยเหลือจนกลายเป็นดราม่าหัวเราะล่าน้ำตารินในโลกสื่อโซเซี่ยล

มีการให้ข้อมูลหรือแก้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่สามารถให้รถ เรือ หรืออุปกรณ์เครื่องมือที่จอดหรือประจำอยู่ที่ศูนย์เหล่านั้นได้ เพราะผู้ร้องขอไม่มีความชำนาญในการใช้งาน หรือในทำนองกลัวว่าของหลวงจะพังเสียหาย เลยถูกเอาไปตีความว่า “หวงของมากกว่าห่วงคน !!!”  

การขนส่งเรือเพื่อช่วยเหลือช่วยผู้ประสบภัยที่จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2560

ข้อผิดพลาดหรือจุดอ่อนที่ภาครัฐควรต้องรีบจัดการเมื่อเกิดอุทกภัย คือ เรื่องของการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจ เพราะกรณีนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ตอบว่า “เรากำลังระดมคนขับเรือจากจังหวัดใกล้เคียงหรือส่วนกลางได้ส่งคนมาช่วยแล้ว โปรดเห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะทั้งคนทั้งเครื่องจักรทำงานเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว” ถ้าตอบแบบนี้ รับรองได้เลยว่าหนังคงออกมาเป็นคนละม้วนจากเรื่องแรกแน่นอน !!! เพราะปัญหากำลังคนไม่มี อุปกรณ์เครื่องมือไม่พอ งบประมาณขาดแคลน เป็นปัญหาพื้นฐานที่ราชการบ้านเราประสบอยู่ การแก้ตัวว่ามีไม่พอและขาดแคลน จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ประชาชนต้องการฟัง

ปัญหาเดิมๆ จัดการแบบเดิมๆ ผลก็ตามเดิม สุดท้ายก็ถูกด่าเหมือนเดิมบ้างก็ว่า “ทำไมไม่แจ้งผ่านทีวี หรือวิทยุ เนิ่นๆ จะได้เปิดฟังได้”

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ราชการไทยต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการประสานความร่วมมือกันทำงานในเรื่อง “น้ำ” ให้เป็นหนึ่งเดียวกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อจะได้ไม่มีรอยรั่วให้น้ำท่วมอีก

ที่อยากพูดถึง คือ เรื่องการมีส่วนร่วมจัดทำระบบสาธารณูปโภคและการก่อสร้างในเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต่างๆ อาทิ การสร้างแหล่งน้ำเพื่อการป้องกันอุทกภัย การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงการปลูกป่าเพื่อชะลอน้ำ หรือจะสร้างถาวรวัตถุอะไรก็ตามที่ทำได้เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน มิให้เกิดปัญหาน้ำท่วมแบบนี้ขึ้นมาอีก ขอให้ช่วยกัน ไม่อยากให้ไปยึดติดกับเรื่องของผลประโยชน์เฉพาะสังกัดตนเองมากนัด เพราะสุดท้ายคนที่รับบาปเคราะห์ คือ ประชาชนตาดำๆ ที่มีปาก (ไว้ด่า) แต่ไม่มีเสียง (ที่ดังไปถึงผู้มีอำนาจ)

อยากให้ทำโครงการร่วมกันทีเดียวแบบดีเลิศประเสริฐศรีไปเลย ดีกว่าหลายโครงการที่แยกกันไปทำแต่ไม่ได้เรื่องสักโครงการ อะไรทำนองเนี้ย  !!!

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การแจ้งเตือนที่ไวที่สุดและให้ข้อมูลที่เป็นจริงที่สุดแก่ประชาชน

กระผมนายสมรู้ มีโอกาสได้ไปร่วมรับฟังปัญหาของผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในหลายพื้นที่ มีโอกาสได้พูดคุยกับนักวิชาการหลายท่าน ชุดคำถามที่ต่างพูดตรงกันว่า “ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าภัยพิบัติกำลังจะเกิด ?” “แล้วจะติดต่อเพื่อขอทราบข้อมูลข่าวสารหรือรับฟังการแจ้งเตือนจากที่ไหน ?”   บ้างก็สะท้อนว่า “ไม่เคยได้มีโอกาสไปฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุอะไรกับใครที่ไหนเลย วันๆ อยู่ร้านขายของ ทำแต่งานนะที่ตนเองก็เคยเป็นผู้ประสบอุทกภัยร้ายแรง อยากเสนอว่า ปัญหาที่ภาครัฐหรือหน่วยงานราชการต้องรีบดำเนินการแก้ไขหลักๆ ด่วนที่สุดตอนนี้ มี 3 เรื่องใหญ่

เรื่องแรก การปรับปรุงระบบงานประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ราชการควรแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ ทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านั้นมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และพอเพียงต่อการตัดสินใจในภาวะวิกฤติ  

เรื่องที่สอง การจัดตั้งระบบอาสาสมัครต่างๆ ที่เข้มแข็ง สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ที่กดดันหรือมีทรัพยากรที่จำกัด

เรื่องที่สาม เรื่องนี้สำคัญที่สุด คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ที่สามารถปฏิบัติได้จริง อ่านแล้วไม่งง และลงมือทำได้ทันที ไม่ใช่ทำ Planning (แผนนิ่ง) จำพวกที่เขียนเสร็จแล้วเก็บขึ้นหิ้ง  แต่ต้องเป็นแผนที่นำไปใช้ปฏิบัติได้จริง ดีจริง ประเภทขึ้นห้างอ้างอิงได้ โชว์ได้ ไม่อายใคร ในยามที่ภัยมา

ก่อนจากกันอยากบอกว่า ไปอีสานเที่ยวนี้ ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมชาวบ้านบ่นคิดถึงคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา กับคุณโก๊ะตี๋ อารามบอย สมัยที่เคยทำข่าวน้ำท่วมร่วมกัน

เพราะนี่สิแบบฉบับการสื่อสารที่เข้าถึงใจประชาชนผู้ประสบภัยที่ภาครัฐควรดูไว้เป็นตัวอย่าง

– ขอจบการรายงานข่าวน้ำท่วมปี 2560 แต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ –

 

image_pdfimage_print