โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ตราบใดที่มีการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดและมีความรับผิดชอบการกระทำทำนองนั้นก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอีสาน

วันที่ 19 ก.ย. 2549 หรือ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. รัฐประหารรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง การรัฐประหารไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนักการเมืองเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศเพราะการรัฐประหารคือการยึดอำนาจไปจากประชาชนทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดที่แท้จริง

นายมนูญ บุญลา ประชาชนบ้านหนองแต้ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชี้ให้เห็นสภาพป่าสาธารณะห้วยเม็ก

หลังคมช.ครองอำนาจอยู่ปีเศษก็มีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของการรัฐประหารด้วยกองทัพแต่ผลของการรัฐประหารยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งมีผู้ขนานนามการปกครองในช่วงนั้นว่าเป็นระบบตุลาการภิวัฒน์ หรือการให้อำนาจศาลแทรกแซงการทำงานของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีได้

แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะถูกยกเลิกไปแล้วด้วยการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่การนิรโทษกรรมก็ยังมีผลอยู่ นั่นทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจเมื่อ 11 ปีที่แล้วไม่ต้องถูกดำเนินคดี สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (impunity) หรือเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดแต่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ีเกิดขึ้น

จึงมีคำถามว่า ถ้ากองทัพไม่ต้องรับผิดต่อการรัฐประหารที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 รวมถึงการยึดอำนาจครั้งล่าสุดโดยคสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็ไม่ต้องรับผิดเช่นกันแล้ว คนไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าในอนาคตจะไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยึดอำนาจซ้ำซาก จึงต้องตัดวงจรอุบาทว์นี้ออกไปจากการเมืองไทย คณะนิติราษฎร์เคยมีข้อเสนอตั้งแต่ปี 2554 ให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่เป็นข้อเสนอที่สภาผู้แทนราษฎรที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมากไม่ได้นำไปสานต่อ ข้อเสนอสรุปได้ว่า

ให้ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือ คณะรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย 

แสงสว่างที่คณะนิติราษฎร์ส่องนำทาง แสดงให้เห็นว่ายังมีหนทางยับยั้งการรัฐประหาร เพียงแต่ว่าวิธีการดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ

การลอยนวลพ้นผิดไม่ได้มีเฉพาะในระดับประเทศ มีตัวอย่างสถานการณ์ปัจจุบันในภาคอีสานที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมลอยนวลพ้นผิดหลายประการ

กรณีแรกเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เมื่ออธิการบดี มมส. เพิกเฉยต่อการที่นายธัญญา สังขพันธานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เจ้าของนามปากกา “ไพฑูรย์ ธัญญา” ได้เขียนบทกวีลงเว็บไซต์เฟซบุ๊คส่วนตัว มีเนื้อหาเหยียดเพศหยาบคายพาดพิง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ห้องพักอาจารย์ของนายธัญญา สังขพันธานนท์ อาจารย์สาขาภาษาไทย มมส.

ด้านคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ฯ ก็กลว่า กรณีของนายธัญญาไม่เข้าข่ายความผิดของบุคลากรตามที่ระเบียบมหาวิทยาลัยกำหนด แต่ผู้สื่อข่าวพบว่า จรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ม.มหาสารคาม ปี 2552 กำหนดว่า อาจารย์ต้องมีมนุษยสัมพันธ์อันดีต่อผู้อื่น มีวาจาสุภาพมีความประพฤติดีงามเป็นที่น่านับถือแก่ผู้อื่น

สุดท้ายก็ไม่มีการดำเนินการทางวินัยต่อ “ไพฑูรย์ ธัญญา” ไม่มีแม้กระทั่งการตักเตือน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการลอยนวลพ้นผิด

กรณีที่สอง รมว.มหาดไทยอนุมัติให้บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของโรงงานกระทิงแดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เช่าพื้นที่ป่าสาธารณะห้วยเม็ก อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำของโรงงาน โดยอ้างว่าเป็นป่าที่มีสภาพแห้งแล้งและไม่มีผู้ใดคัดค้าน ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เดอะอีสานเรคคอร์ด และสื่ออื่นๆ ได้สัมผัส

หลังกรณีนี้ตกเป็นข่าวทำให้รมว.มหาดไทยสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ขณะที่บริษัทกระทิงแดง ขอยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ป่า แต่ก็อ้างว่าที่ขอเช่าพื้นที่ป่าเพื่อฟื้นฟูรักษาให้เป็นสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาพที่ปรากฏว่ามีการแผ้วถางป่า

จึงน่ากังขาว่า จนถึงขนาดนี้บริษัทยังไม่ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอีกหรือ ส่วนความสำนึกของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คงเกิดขึ้นได้ยากเพราะขนาดเรือเหาะกองทัพบกไม่สามารถใช้งานได้จนหมดสภาพไปเอง อดีตผบ.ทบ.ผู้นี้ยังไม่เคยได้แสดงความรับผิดชอบอะไรออกมา โดยบอกเพียงว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเรือเหาะหลายคน

กรณีสุดท้ายเกิดขึ้นที่จ.สกลนคร ว่าที่ ร.ต.รวยรุ่ง ใครบุตร นายอำเภอวานรนิวาส สั่งให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ข้อดีของเหมืองแร่โปแตชไปติดประกาศในพื้นที่ เมื่อถูกภาคีเครือข่ายภาคประชาชน อ.วานรนิวาส ประท้วงถึงความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ีรัฐ ว่าที่ ร.ต. รวยรุ่งกลับบอกว่า ตนเองไม่มีอำนาจตัดสินใจสั่งการประชาสัมพันธ์ จึงมีคำถามว่าคำชี้แจงของนายรวยรุ่งแสดงออกถึงการปัดความรับผิดชอบหรือไม่

นายรวยรุ่ง ใครบุตร นายอำเภอวานรนิวาส รับหนังสือร้องเรียนจากภาคีเครือข่ายภาคประชาชน อ.วานรนิวาส

การลอยนวลพ้นผิดของกองทัพและข้าราชการคือความไม่รับผิดชอบต่อผลของการกระทำ ผู้ที่เสียหายที่สุดคงหนีไม่พ้นประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีให้รัฐบาลและข้าราชการนำไปพัฒนาประเทศ

ข้อเสนอสู่การเปลี่ยนแปลงคือ สื่อมวลชนต้องทำความจริงให้ปรากฏแก่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงข้อเสียของการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้สังคมหาทางเอาผิดทางกฎหมายต่อกองทัพที่ทำรัฐประหาร และต่อข้าราชการที่ใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน

image_pdfimage_print