โดยอิทธิพล โคตะมี (เรื่อง) พิทักษ์ ปรารถนาวุฒิกุล (ภาพ)

ตอนที่ (2/2)

มหาสารคาม-  บทสัมภาษณ์ตอนแรก สมชัย ภัทรธนานันท์ อดีตอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ได้สำรวจพรมแดนการศึกษาการเมืองอีสานผ่านการอธิบายมายาคติของการเมืองแบบผู้แทนในอีสาน ตอนที่สอง คือบทสัมภาษณ์สมชัย ว่าด้วยการวิเคราะห์การเมืองอีสานร่วมสมัย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของชนบทในอีสาน

สมชัย ภัทรธนานันท์ อดีตอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม

บริบทเปลี่ยนจากการเมืองรัฐสภามาสู่การเมืองมวลชนหลังปี 2550 ส่งผลต่อการเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวอย่างไร

มีความแตกต่างจากในอดีต คือคนที่เคลื่อนไหวการเมืองมวลชนแบบ ดิน น้ำ ป่า ความขัดแย้งในการใช้ที่ดิน หรือการสร้างเขื่อน คนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่แน่นอน เช่น อยู่ราษีไศล อยู่เขตดงใหญ่ อยู่ภูผาม่าน คนที่เดือดร้อนเหล่านี้จึงมารวมตัวเป็นการเมืองมวลชนชนิดหนึ่งที่ขอบเขตและปริมาณมีค่อนข้างจำกัด

คนเหล่านี้มีความชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวไหมก็แน่นอน เราเห็นอกเห็นใจเขาไหมก็แน่นอน แต่เขาไม่สามารถเป็นตัวแทนทั้งหมดของคนภาคอีสานได้เขาเป็นส่วนหนึ่ง

ทีนี้พอหลังรัฐประหาร 2549 มา จึงกลายเป็นความเคลื่อนไหวมวลชนที่มีขอบเขตกว้างขวางออกไปเพราะไปโยงผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งซึ่งมีจำนวนมหาศาล ฉะนั้นขอบเขตการเคลื่อนไหวจะกว้างและมีพลังมากกว่าขบวนการเคลื่อนไหวแบบก่อน

สาเหตุอะไรที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวชาวไร่ชาวนาของอีสานอ่อนแรงลง

การเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในภาคอีสานมีพลวัต การรวมตัวเริ่มขึ้นปี 2535 เพื่อต่อต้าน คจก. (โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) หลังจากนั้นจึงเป็น สกย.อ. (สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน) จนขึ้นกระแสสูงได้ในปี 2537 จากนั้นกลายมาเป็นสมัชชาคนจน และสามารถจัดประท้วง “99 วันสมัชชาคนจน” ต่อจากนั้นกระแสจึงลดลง

สาเหตุหนึ่งมาจาก ในปี 2539 สมัชชาคนจนได้ประกาศชัยชนะ หลังจากสามารถเจรจากับรัฐบาลชวลิตได้ (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) แต่รัฐบาลชวน (รัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2540-2544) กลับไม่ปฏิบัติตามมติของรัฐบาลชวลิตที่เคยให้สัญญาไว้กับสมัชชาคนจน ตอนที่ชาวบ้านได้จากรัฐบาลชวลิตชาวบ้านที่สู้มาก็คิดว่ามันจบแล้วพอไม่จบก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่คราวนี้ไม่สามารถระดมคนได้เหมือนเดิม มีตั้งแต่ขัดแย้งกัน ท้อแท้ เหนื่อยล้า

อีกทั้งพอมีวิกฤติเศรษฐกิจ ในปี 2540 พันธมิตรในกรุงเทพฯ ที่เคยจับมือกันก็หันมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยามเกิดวิกฤติยังจะมาประท้วงรัฐบาล

การเมืองมวลชนเหมือนจะหายไป อยู่ดีๆ ก็พรึ่บขึ้นมาในรูปแบบการเมืองสีเสื้อ

ไม่เหมือนกัน กลุ่มการเมืองสีเสื้อ ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องร้อนๆ เช่น น้ำจากเขื่อนทำให้ท่วมบ้าน หรือถูกไล่ออกจากที่ทำกิน

การเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงมาจากประเด็นร่วมกันของคนชนบททั้งหมด พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งที่เขาได้ไปในช่วงรัฐบาลทักษิณ (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2544-2549) ซึ่งตอบสนองความใฝ่ฝันของคนชนบทเพราะสมัยทักษิณได้สร้างความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิต รายได้ของคนชนบทมีมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น

ขณะที่พื้นที่ที่เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ทำงานอยู่นั้นมีอยู่จำกัด อีกทั้งเอ็นจีโอยังมีความรังเกียจผู้ที่ไปยุ่งกับการเมืองแบบนั้น เห็นประชาชนกลุ่มนั้นเป็นขี้ข้านักการเมือง การเมืองภาคประชาชนจึงมีอยู่แค่ 50 คน 300 คน 1,000-2,000 คน แต่การเมืองที่มีคน 10 ล้านคนกลับถูกบอกว่าไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน

หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด มีปัญหาผุดขึ้นมามากมาย มีคนเดือดร้อนกระจายไปทั่ว เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ การเมืองแบบเอ็นจีโอจะกลับมามีชีวิตชีวาไหม

เราจะเห็นว่า ปฏิบัติการไล่ชาวบ้านออกจากที่ทำกิน หรือการสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นั้นได้ดำเนินมาก่อนหลายครั้ง แต่จะไม่เห็นว่ารัฐทำแบบไล่พรืดไปตามพื้นที่ที่ได้ประกาศไว้ทั้งหมดเพราะอาจจะต้องเผชิญกับการลุกฮือ

ภาพที่ออกมาจึงเป็นการทำไปทีละนิดทีละหน่อย และหากใครออกมาคัดค้าน ก็ถูกเอาตัวขึ้นศาลไปเรื่อยๆ คนออกมาเคลื่อนไหวจึงมีจำนวนไม่มาก ส่วนที่เห็นการไปจับนายทุนรุกป่าตามหน้าสื่อก็มีเพียงนิดเดียวเท่านั้น เพราะว่านายทุนรุกป่าเยอะมากมีทั่วประเทศ

แต่คนก็เดือดร้อนมากขึ้น เช่น การประกาศพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ การห้ามชาวบ้านรวมตัวเพื่อต่อรองเรื่องสิทธิชุมชน ทำไมไม่เอื้อให้การเมืองแบบ เอ็นจีโอขยายตัวได้

ธรรมชาติของการเมืองแบบเอ็นจีโอนั้นได้ไปผูกกับเครือข่ายของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชนชั้นนำกลุ่มนี้เคยสนับสนุนรัฐประหาร โดยผูกโยงกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการดึงผู้นำเอ็นจีโอเข้าไปอยู่ในเครือข่าย

ความคิดหลักของเครือข่ายนี้เป็นไปในทางสนับสนุนการรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากมีเอ็นจีโอที่ไม่ได้คิดเหมือนกับเครือข่ายชนชั้นนำ โอกาสจะได้รับทุนมาทำงานก็จะมีอย่างจำกัดมาก หรืออาจจะไม่ได้เลย ส่งผลต่อการออกมาต่อสู้มีความพะวักพะวงเพราะอยู่ภายใต้เครือข่ายที่ต้องการรื้อฟื้นระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้อำนาจหลุดออกจากการเลือกตั้งนั่นคือภารกิจหลัก

มาสู่กรอบหนึ่งที่อาจารย์ไม่เข้าไปถกเถียง คือเรื่องยุทธศาสตร์การดำรงชีพของชาวนาอีสาน อาจารย์เห็นอะไร

ในชนบทอีสานมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง คือชาวบ้านมีที่ดินอยู่ในหมู่บ้าน แต่ในขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวบางคนก็จะไปทำงานในที่อื่นแรงงานในภาคอีสานจะเป็นแบบนี้มานาน เพราะฉะนั้นการที่เขาไปอยู่กรุงเทพฯแล้วกลับมาหมู่บ้าน ถือเป็นเรื่องปกติ

ตั้งแต่ตอนผมเป็นเด็ก มีบางคนไปอยู่เรือประมง และจำนวนมากที่เข้าไปใช้แรงงานในกรุงเทพฯ เมื่อดำนาเสร็จก็ขนคนกันไปเต็มคันรถแล้วออกเดินทาง เมื่อถึงช่วงเกี่ยวข้าวก็จะกลับมา ผมจึงเห็นว่าการพิจารณาการเลิกเป็นชาวนาหรือกลับมาเป็นชาวนาใหม่ อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะชาวบ้านไม่ได้เลิกหรือไม่ได้กลับมาทำนาแต่เป็นกระบวนการหมุนเวียนพร้อมๆ กัน

คนชนบทในอีสาน ส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคการเมืองที่ทักษิณมีอิทธิพล มีความสัมพันธ์มากแค่ไหนระหว่างวิถีชีวิตแบบนี้กับโครงสร้างทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

บริบทของสังคมชนบทอีสานเปลี่ยนไป ก็ทำให้พรรคของทักษิณได้รับการสนับสนุน เพราะนโยบายแบบทักษิณไปสนับสนุนระบบตลาดเนื่องจากสังคมชนบทในอีสานเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ไปแล้ว ชาวบ้านจึงต้องการทุนในการประกอบอาชีพต้องการกองทุนหมู่บ้าน

นโยบายของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือมาจนถึงพรรคเพื่อไทย คือการประกาศว่าต้องทำให้คนชนบทเป็นเถ้าแก่ เขาพยายามบอกพวกเศรษฐีในกรุงเทพฯว่ายามค้าขายอย่าไปคิดเอาเปรียบชาวบ้าน เพราะว่าจะเป็นการตัดทางตัวเอง ต้องทำให้ชาวบ้านเติบโตขึ้นเราจะได้ขายได้มากขึ้น คือวิถีของทุนต้องไปสร้างให้ทุนท้องถิ่นขยายตัวตัวของทุนเองก็จะได้ใหญ่ขึ้นไปอีก แต่วิธีคิดแบบโบราณคือไปค้าขายกับใคร ไปเอาเปรียบคนนั้น

สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในการเมืองอีสานเวลานี้หรือต่อไปคืออะไร

ความแตกต่างทางชนชั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เราจะเห็นมหาเศรษฐีอยู่ในดินแดนที่มีคนยากคนจนเป็นจำนวนมาก

ตารางผลการสำรวจรายได้ หนี้สิน แยกตามกลุ่มรายได้
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (เผยแพร่เดือนพฤษภาคม ปี 2551)

ถ้าคุณเข้ามาภาคอีสานแล้วไปอ่านงานของแอนดรู วอล์กเกอร์ (เรื่อง Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy ตีพิมพ์ในปี 2012) ระบุว่าภาพรวมชนบทไทยเกือบไม่มีคนจนเลย โดยใช้เส้นแบ่งความยากจนมาวัด ผมคิดว่ามันขัดกับความรู้สึก ถ้าคุณเห็นหมู่บ้านด้วยตาจะรู้เลยว่ามันขัดแย้งกันมาก

เราจะระบุได้อย่างไรว่า คนชนบทไทยโดยเฉพาะภูมิภาคอีสานจนหรือไม่จน

ในบทความของผมล่าสุด (เรื่อง “Rural Transformations and Democracy in Northeast Thailand” ตีพิมพ์ใน Journal of Contemporary Asia 2016) มีข้อมูลมาโต้แย้ง แอนดรู วอล์กเกอร์ ที่เสนอว่าคนยากจนมีจำนวนน้อย ในการสำรวจของนักวิจัยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม (ดูตารางการเก็บสถิติรายได้และหนี้สินในครัวเรือนของไทย โดยนักวิจัยจากธนาคารแห่งประเทศไทย-ข้างบน) ซึ่งมีความชัดเจนมากกว่า ปรากฏว่ามีคนจนอยู่ประมาณ ร้อยละ 50

ปัญหาของผมคือ เส้นแบ่งความยากจน (poverty line) ไม่สามารถใช้ได้ เพราะตัวเลขที่บอกว่าไม่จนนั้นต่ำเกินไป ผมก็ถามอาจารย์ผาสุก (ผาสุก พงษ์ไพจิตร) เพราะไม่แน่ใจ ต้องถามนักเศรษฐศาสตร์ ผมถามว่า “poverty line ผมว่าใช้ไม่ได้ อาจารย์คิดว่ายังไง” อาจารย์ก็ตอบว่า “เห็นด้วย ใช้ไม่ได้ poverty line บอกแค่ว่ามีเงินพอจะซื้อข้าวกินไหม แค่นี้ ไม่ได้บอกว่าจนหรือไม่จน”

ในปัจจุบัน ชนบทของอีสานก็ไม่มีคนยากจนข้นแค้นแบบในอดีตจริง

คนที่เรียกว่าคนชั้นกลาง เราจะดูแค่รายรับที่เข้ามาไม่ได้ ต้องหักรายจ่ายออกมาพิจารณาประกอบ จึงจะบอกได้ว่าเขาเป็นคนจนหรือคนชั้นกลาง เพราะสมัยก่อนหาเงินเดือนได้ 150 บาท ก็เป็นคนที่มีฐานะดีในหมู่บ้าน ควายตัวหนึ่ง 2 บาท 3 บาทเอง รายจ่ายเกือบจะไม่มี เขาได้แค่นั้นไม่ใช่ว่าเขาจนในบริบทของเขา

มาทุกวันนี้รายได้วันละ 300 บาทซึ่งเหนือกว่าเส้นความยากจนมากมาย แต่นั่นคือค่าแรงของคนงาน 1 คน หากวัดโดยใช้เส้นแบ่งความยากจน กรรมกรในประเทศไทยก็จะกลายเป็นชนชั้นกลางหมด

ที่บอกว่าความแตกต่างทางชนชั้นจะเป็นปัญหาใหญ่ เราต้องเข้าใจตรงนี้ด้วยหรือเปล่า

เราคิดว่ามีคนชั้นกลางเยอะแยะไปหมดพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมบอกอาจารย์ยุกติ (ยุกติ มุกดาวิจิตร) ว่าการพูดแบบนี้มันอยู่ภายใต้แนวคิดแบบ “การพัฒนาการทางการเมือง”

ที่เชื่อว่าชนชั้นกลางเท่านั้นที่จะรักประชาธิปไตย ถ้าไม่เป็นชนชั้นกลางก็จะไม่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย (“การพัฒนาทางการเมือง” หรือ “Political Development” เป็นแนวคิดหนึ่งในทางรัฐศาสตร์ เฟื่องฟูอย่างมากในทศวรรษที่ 1960 มีลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่เชื่อว่า เมื่อรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองที่เป็นเหตุเป็นผลและส่งเสริมประชาธิปไตยในที่สุด-ผู้เขียน)

สำหรับผมแล้ว คนชนบทถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนจน เขาก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมีประสบการณ์ทางการเมืองได้ มันจะแปลกมากเลยหากอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบประชาธิปไตยมา 30 ปี แล้วไม่เข้าใจประชาธิปไตยเลย แต่ถ้าเขาเข้าใจมันเป็นเรื่องธรรมดา

image_pdfimage_print