โดยดลวรรฒ สุนสุข

หนองบัวลำภู – สหายรังสิตผู้เขียนหนังสือความรักจากป่า เล่าถึงเหตุผลที่เข้าร่วมกับ พคท. เมื่อปี 2514 ว่า เพราะเล็งเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมและเผชิญกับสถานการณ์รัฐบาลไทยย่ำยีประชาชนในหมู่บ้าน  

ในงาน “รำลึกวีรชนครบรอบ 20 ปีสถูปภูซาง” มีหนังสือเล่มหนึ่งถูกนำมาวางขายเพื่อสมทบกองทุน “เพื่อนภูซาง” ที่เหล่าสหายและญาติผู้เสียชีวิตในเขตพื้นที่ภูซางร่วมกันตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กและทุนช่วยเหลือสหายในด้านต่างๆ หนังสือ “บันทึกนักรบภูซาง ชุดที่ 1 ประวัติศาสตร์จากปลายปากกานักรบ – ความรักจากป่า” เป็นที่โจษจันไม่น้อยภายในงาน ด้วยเป็นหนังสือที่มาจากบทบันทึกของนักรบที่ผ่านเขตงานทั้งในและนอกประเทศ

อีกทั้งผู้เขียนยังเป็นน้องชายของสหายรังสี ที่เสียชีวิตในการเหตุการณ์บุกโรงพักหนองบัวลำภูในปี 2509 ซึ่งทำให้รัฐบาลหวั่นเกรงการเติบโตของขบวนการประชาชนปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จึงเริ่มส่งกำลังทหารเพื่อมาปราบปรามประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่าง พคท. กับรัฐบาลไทยในพื้นที่อีสานเหนือ ต่อมาประชาชนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้นจึงเกิดเป็นกองกำลังเขตภูซาง (เขตงานอุดร)

“บันทึกนักรบภูซาง ชุดที่ 1 ประวัติศาสตร์จากปลายปากกานักรบ – ความรักจากป่า” เขียนโดยสหายรังสิต ความหนา 119 หน้ากระดาษ ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบบันทึก แบ่งเป็น 12 ตอน ใช้สำนวนแบบภาษาพูดคำไทยผสมคำอีสาน มีสหายเข็ม เป็นบรรณาธิการ เรียบเรียงจากการจดบันทึกในสมุดนักเรียนจำนวน 5 เล่ม หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงไม่กี่เล่มที่มาจากการเขียนของชาวนาและกรรมกร ที่เขียนถึงเรื่องราวการต่อสู้ของ พคท. หนังสือเล่มนี้มีการใช้ภาษาเรียบง่ายเล่าเรื่องตามบันทึกความทรงจำ พร้อมกับการสอดแทรกอารมณ์ขันของผู้เขียน ทำให้อ่านไปแอบขำขึ้นมาบางบท บางบทก็รับรู้ถึงความเศร้า ความกลัว และความผิดหวังบางอย่าง

นายวิไล ละลี หรือ สหายรังสิต ผู้เขียนหนังสือ “บันทึกนักรบภูซาง ชุดที่ 1 ประวัติศาสตร์จากปลายปากกานักรบ – ความรักจากป่า” จากความทรงจำสมัยเข้าป่าระหว่างปี 2514 – 2525

สหายรังสิต หรือ นายวิไล ละลี อายุ 67 ปี เข้าป่าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ ในปี 2514 ในเขตงานภูซาง (เขตงานอุดรธานี-หนองบัวลำภู) เนื่องจากถูกกดดันจากรัฐบาลหลังพี่ชายเสียชีวิต และมองเห็นการกระทำย่ำยีไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ สหายรังสิตร่วมกับขบวนการประชาชนปฏิวัติของ พคท. ในหน่วยของนักรบ เขาผ่านการฝึกจากค่าย เอ 30 จากประเทศจีนและลาว ทั้งได้เป็นทหารพิทักษ์ได้ใกล้ชิดกับสหายนำหลายคน

เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับสหายรังสิตโดยให้เขาขยายความเนื้อหาบางช่วงในหนังสือและบอกเล่าประสบการณ์นอกเหนือจากนั้น ในวันที่เขาไม่ได้ใส่เครื่องแบบดาวแดง ที่หมู่บ้านอ่างบูรพา อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ห่างจากภูซ่อฟ้า-ภูซาง ซึ่งเป็นอดีตที่มั่นของกลุ่มคอมมิวนิสต์เพียง 10 กิโลเมตร

“ชีวิตผมหักเหสู่เส้นทางปฏิวัติโดยไม่รู้ตัว ผมจำได้ว่าช่วงนั้นแถวบ้าน มีคนต่างถิ่นเข้ามารับจ้างทำนาในหมู่บ้านหลายคน บางคนมาเป็นลูกจ้างประจำ อยู่กินกับเจ้าของที่นา บางคนอยู่จนครบ 1 ปีค่อยหายไป หลายคนมาอยู่ไม่นานก็มีคนมาเปลี่ยนหน้ามาใหม่ คนงานเหล่านี้ไม่ค่อยนอนบ้าน พวกเขาจะอาศัยนอนอยู่ที่เถียงนากลางทุ่ง ผมมารู้ทีหลังว่าเป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มาเคลื่อนไหวในเขตอุดรธานี คนของพรรคอีกส่วนหนึ่งแฝงตัวมาในฐานะกรรมกรสร้างทางสาย อุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย” (หน้าที่ 12 บทที่ 1 สู่เส้นทางปฏิวัติ)

เดอะอีสานเรคคอร์ด : คอมมิวนิสต์เข้ามาในพื้นที่หมู่บ้านตอนไหนมายังไงบ้าง

สหายรังสิต : ในปี 2504-2505 เท่าที่จำความได้ก็มีพวกรับจากทำนามาอยู่ในพื้นที่ พร้อมๆ กับการทำถนนเส้นทางอุดร-หนองบัว พวกเขาเป็นใครก็ไม่รู้ ตอนนั้นอายุ 8-9 ขวบ เขาใช้ชีวิตในป่า เคยเห็นพี่สาวนั่งคุยกับคนป่า (คำเรียกแทนคนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่) สองสามคน ก็นึกว่าพี่สาวไปหาบ่าว (แฟน) ส่วนพี่ชายก็ไปไหนไม่รู้ไม่ค่อยนอนอยู่บ้าน จนผมอายุได้ 10-11 ปี พี่ชายก็พาไปส่งข้าวคนป่า และก็คอยสอนการศึกษาผม ตอนแรกก็ไม่เข้าใจ แต่นานๆ ไปก็เข้าใจ จนพี่ชายออกจากบ้าน แม่ไปยืมเงินให้เป็นค่ารถออกไปทำงานกรุงเทพฯ แต่อีก 1 เดือนเขาก็กลับมา บอกกับผมว่าจะไปเป็นคนป่าเต็มตัว อีก 5-6 วันต่อมาผมก็รู้ข่าวว่าพี่ชายตาย โดนตำรวจยิงในเมือง ผมเข่าอ่อนหมดแรงเลยตอนนั้น และที่พี่บอกว่าไป กทม. พี่เขาไม่ได้ไป เขาไปฝึกทหารที่เวียดนาม แล้วก็ฮึกเหิมจึงนำกำลังเข้าตีสถานีตำรวจหนองบัวลำภู

“หลังจากการตีสถานีตำรวจได้ไม่นาน ไทยอาสาป้องกันชาติ (อส.) ก็มาตั้งฐานในหมู่บ้าน พวก อส.นำกำลังออกปราบปรามประชาชนในตำบลหนองบัว จับประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปเข่นฆ่า ทุบตี ทรมาน มีบางคนพิการเสียสติมากมาย พวก อส.บังคับชาวบ้านไม่ให้ออกจากหมู่บ้านในเวลากลางคืน ตอนกลางวันชาวบ้านจะออกไปทำไร่ทำนาก็ต้องไปรายงานตัว” (หน้าที่ 15 บทที่ 1 สู่เส้นทางปฏิวัติ)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์

พอพี่ชายตาย พื้นที่แถบภูซาง (อุดร-หนองบัวลำภู-เลย-หนองคาย) ก็เป็นพื้นที่สีแดง รัฐบาลไทยมีการตั้งกำลังเป็นค่ายเข้ามาในหมู่บ้าน ยิ่งครอบครัวผมตกเป็นเป้าหมาย พวกมันก็เข้ามากดดันครอบครัวผม ผมเลยไปขอคนป่าเข้าป่า เขาก็ไม่ให้เข้าป่า เลยหนีไปเป็นแอ๊ดรถ (เด็กรถ) อยู่ลาวปีหนึ่ง แล้วกลับมาใหม่ มาเจอความไม่เป็นธรรมเหมือนที่เขียนเล่าในหนังสือ แต่ที่จริงพวกมันโหดเหี้ยมมาก มีทั้งเอายางรัดคอ ทำคนเป็นบ้า และเรื่องที่ชาวบ้านคับแค้นใจก็คือมันข่มขืนเด็กผู้หญิงด้วย ในตอนนั้นมันทำทุกอย่างให้เราเห็นด้วยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วก็จับไปขังคุก ใครบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นมันก็ทุบตีทรมาน บางทีก็เผาทั้งหมู่บ้านเลย

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เข้าใจความหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ไหมตอนที่ตัดสินใจเข้าป่า

มันเริ่มต้นจากพี่ชาย แกค่อยๆ สอนผม เช่น การฝึกทหาร ก็บอกว่าเล่นยิงปืนไม้กัน ผมก็เล่นได้ดี พี่ก็สอนยุทธวิธีทหารด้วยอย่างว่ายน้ำ วิธีการเคลื่อนไหวให้เงียบที่สุด ทำให้ผมซึมซับมาอย่างไม่รู้ตัว หลังจากที่พี่ให้ไปส่งข้าวคนป่า พวกคนป่าก็เล่าให้ฟัง สอนถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม พอโตขึ้นมาหน่อยก็เห็นว่าพวก อส.มันทำร้ายชาวบ้าน โตขึ้นพอคิดได้ มันก็เป็นอย่างที่พวกคนป่าบอก มันเห็นความไม่เป็นธรรม เลยเข้าป่าไปปลายปี 2513 แต่เขียนลงไปในหนังสือปี 2514 เพราะมันปลายปีแล้วเลยนับเป็นปีใหม่

สหายรังสิต เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่ ณ เขตงานภูซาง จ.หนองบัวลำภู

“หน้าฝนเราเดินทางลำบากมาก เพราะเส้นทางที่เราเดินเป็นดินเหนียว ลื่นมากๆ พวกเราขี่ “ดาวเทียม” กันทุกคน ที่เราเรียกว่า “กองทหารดาวเทียม” นั้นมาจากรองเท้าแตะ ยี่ห้อดาวเทียม พิเศษสำหรับกองป่าเรา ในหน้าฝนจุดไฟติดยาก บางครั้งจำเป็นต้องเฉือนส่วนท้ายของรองเท้าดาวเทียมไปใช้เป็นเชื้อไฟ” (หน้าที่ 33 บทที่ 4 กองทหารดาวเทียม)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ช่วงแรกเข้าป่าไปกองปฏิวัติเป็นอย่างไรบ้าง

ผมไม่ต้องปรับตัว พอรู้แนวทางของพรรคอยู่แล้ว ก่อนพี่ชายตายก็ตั้งให้ผมเป็นทหารบ้านของพรรคแล้ว แนวปฏิบัติพรรคสิบท่องได้แล้ว แต่ก่อนผมเคยเจอคนป่าแล้วเจอพวกเขาถือปืนอาก้าเก่าๆ ตั้งแต่พระเจ้าเหาสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปากบอกจะโค่นล้มจักรวรรดิอเมริกา ผมคิดอยู่นะว่ามันจะเอาอะไรไปสู้เขา (หัวเราะ) แต่พอเข้าไปจริงก็เข้าใจว่ากองทหารปฏิวัติไม่มีอะไรมากเลย ปืนก็มีแต่เก่าๆ ระเบิดก็ไปขุดเอาของพวกทหารไทยมา เอาดินปืนมาทำเป็นระเบิด ถ้าลงไปตีค่ายพวก อส. แตกก็อาจจะได้ปืนมาใช้บ้าง

ในตอนนั้นเครื่องแบบมันไม่เป็นเหมือนกัน คือมีอะไรก็ใส่ๆ ไปพวกเสื้อม่อฮ่อมก็มี พวกสัญลักษณ์ดาวแดงตัดเอาจากถังน้ำมันเครื่องรถยนต์ที่มีสีแดง แล้วก็ใช้มีดตัดเป็นดาวห้าแฉก แล้วก็ไปเอาด้ายจากระเบิดตูมกาที่พวกทหารไทยทิ้งมาจากเฮลิคอปเตอร์ก็ไปเอาสายที่มันเหลือมาเย็บดาวแดงใส่เสื้อผ้า ตอนนั้นคือเครื่องแบบมันไม่มีเอกภาพเลย รองเท้าก็ดาวเทียม ผมออกไปโจมตีศัตรู รองเท้าผมไม่เคยหายเลย ผมเอามันมาสวมใส่แขนสองข้าง (หัวเราะ)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วตอนไหนที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) จริงจัง

ถ้าจะใกล้เคียงคือตอนที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ บท “ไปสี่กลับสาม” คือผมเข้าป่าได้สักพักแล้ว กองกำลังภูซางก็แข็งแกร่งขึ้น รัฐบาลไทยก็ยังคงข่มเหงชาวบ้านมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านหันมาเข้าป่ามากขึ้น พวกเราก็คิดว่าต้องหาอาวุธที่ดีกว่านี้จากต่างแดน ผมไปกับสหาย 4 คน เดินทางข้ามไปประเทศลาวแล้วส่งอาวุธกลับมา มีทั้งเอาเงินไปซื้อเองและได้สนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ลาวและจีน ไปจนเกือบถึงหลวงพระบาง แล้วขนใส่แพล่องลงมาตามแม่น้ำโขง ทำแบบนี้เป็นเวลากว่า 6 เดือน จนเขตงานภูซางมีกองกำลังปฏิวัติที่พร้อมสู้กับภาครัฐได้

เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วการสู้กับภาครัฐเป็นอย่างไร

เราก็สู้ตามแบบจรยุทธ์ คือตั้งหน่วยทหารลงไปโจมตีค่ายของรัฐไทยในหมู่บ้านต่างๆ เป้าหมายคือพวก อส. ตชด. พลร่มป่าหวาย ทหารอเมริกัน เราไม่ทำร้ายชาวบ้านหรือแม้แต่ศัตรู เราตีค่ายแตกแล้วก็จับพวกมันมาให้ความรู้สอนพวกมันให้เข้าใจถึงแนวคิดของเลนิน ของมาร์กซ์ และบอกถึงความไม่ยุติธรรมในการปกครองแบบไทย แล้วก็ปล่อย บางคนก็กลับใจเข้าร่วมกับพวกเราก็มี

ติดตามตอนจบของบันทึกลูกชาวนาจากปลายปากกานักรบดาวแดง

ดลวรรฒ สุนสุข เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2559

image_pdfimage_print