โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคมที่ผ่านมา มีงานรับปริญญาในหลายมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน ซึ่งสามารถบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคไม่มีประชาธิปไตยเอาไว้ได้

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2560 ที่จังหวัดนครพนม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้ารับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ตามที่สภามหาวิทยาลัยนครพนม อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ ให้แก่ พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2559

การที่ พล.อ.ประวิตรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ทำให้เกิดคำถามตามมา 2 ประการ

ประการแรกคือ ทำไมมหาวิทยาลัยนครพนมถึงมอบปริญญาให้แก่รัฐมนตรีที่ถูกสังคมเกาะติดเรื่องความโปร่งใสจากกรณีครอบครองทรัพย์สินเป็นแหวนเพชรและนาฬิกาหรูโดยไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่กฎหมายกำหนด

ประการนี้อาจจะมองได้ว่าสภามหาวิทยาลัยมีมติมอบปริญญาไปตั้งแต่เดือนกันยายนแล้ว จึงไม่ทราบว่า พล.อ.ประวิตรจะถูกตรวจสอบการคอร์รัปชั่น จากการใส่นาฬิกาหรูไปถ่ายรูปหมู่ร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา แต่สภามหาวิทยาลัยไม่สงสัยหรือว่าทำไมผู้ที่รับราชการมาทั้งชีวิตจึงมีทรัพย์สินกว่า 87 ล้านบาท

ประการต่อมาคือทำไมมหาวิทยาลัยนครพนมจึงมอบปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประวิตรมีความสามารถในด้านนี้อย่างไร และมหาวิทยาลัยนครพนมตระหนักหรือไม่ว่า พล.อ.ประวิตรเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งการรัฐประหารคือการปล้นชิงอำนาจไปจากประชาชนเจ้าของอำนาจสูงสุด มหาวิทยาลัยน่าจะทราบดีแต่มหาวิทยาลัยก็ยังมอบปริญญาให้แก่บุคคลของระบอบรัฐประหารอีกหรือ หรือจะให้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยไม่สนใจต่อการดำรงอยู่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

คำถามที่สำคัญคือ พล.อ.ประวิตรเป็นแบบอย่างให้แก่บัณฑิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในได้กรณีไหนบ้าง

กรณีของ พล.อ.ประวิตรนอกจากจะเกิดข้อสงสัยต่อสภามหาวิทยาลัยนครพนมแล้ว ยังทำให้เกิดข้อน่ากังขาในวงกว้างอีก คือทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงต้องปกป้อง พล.อ.ประวิตร ด้วยการบอกให้สังคมลดราวาศอกให้แก่ พล.อ.ประวิตร ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ถึงไม่จัดการพล.อ.ประวิตรตามความเหมาะสมเพื่อรักษาภาพลักษณ์เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

อีกเรื่องที่น่ากังขาคือเพราะเหตุใดองค์กรและหน่วยงานเอกชนที่แข็งขันต่อการจัดการกับนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกง จึงไม่มีท่าทีใดๆ ต่อกรณีนาฬิกาหรูและแหวนเพชรเม็ดโต หรือเป็นเพราะองค์กรเหล่านี้เลือกข้างในการออกมาเคลื่อนไหว

จนถึงวันเขียนบทบรรณาธิการ (27 ธ.ค.) พล.อ.ประวิตรถูกแฉว่ามีนาฬิกาหรูมูลค่าหลักหลายแสนถึงหลักล้านบาทรวมแล้วถึง 11 เรือน แต่ยังไม่มีการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใสใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึง พล.อ.ประวิตรยังไม่ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ด้วย

พล.อ.ประวิตรเคยพูดถึงกรณีนี้เมื่อเกิดเรื่องใหม่ๆ ว่า “นาฬิกาและแหวนเป็นของเดิมที่เคยใส่เป็นประจำ สวมแหวนวงนี้มาโดยตลอด”

แล้วทำไม พล.อ.ประวิตรถึงไม่แจ้ง ป.ป.ช.ให้ทราบ

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560 มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ 4 คน หนึ่งในนั้นคือนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2560

กรณีของนางอังคณาแตกต่างจากกรณีของ พล.อ.ประวิตรอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเธอมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด

กิตติกรรมประกาศ กล่าวถึงผลงานของนางอังคณา อาทิ เป็นประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เป็นผู้เขียนรายงานประเทศไทยตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเธอยังได้รับรางวัลนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย รางวัลนักสิทธิมนุษยชนกวางจู ปี 2549 รางวัลสตรีดีเด่น สาขาสิทธิมนุษยชน และรางวัลอื่นๆ

นางอังคณายังเป็นวิทยากรบรรยายโครงการเวทีเสวนาสาธารณะของเดอะอีสานเรคคอร์ดถึง 2 เวทีในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เวทีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อเดือนตุลาคม และเวทีที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเดือนพฤศจิกายน

ด้วยผลงานที่ผ่านมาจึงไม่น่าสงสัยที่นางอังคณาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ในทางตางข้ามกรณี พล.อ.ประวิตรในรอบปีนี้มีข่าวอื้อฉาวจำนวนไม่น้อย อาทิ ข่าวการปกป้องการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ และข่าวการพูดถึงนักเรียนเตรียมทหารที่ถูกซ้อมจนตายว่า หากเข้ามาเป็นทหารต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ซึ่งทำให้ พล.อ.ประวิตรถูกกดดันจากสังคม จนต้องเอ่ยปากขอโทษในเวลาต่อมา

จึงน่าสงสัยถึงมาตรฐานการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยในภาคอีสานว่าคืออะไรกันแน่ จะมอบให้แก่ผู้มีอำนาจหรือจะมอบให้แก่ผู้ที่มีผลงาน

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2560 มีงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่มีบัณฑิตคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสร่วมพิธีรับปริญญา หรือแม้เฉียดกรายเข้ามาใกล้มหาวิทยาลัย นั่นเป็นเพราะว่าเขาถูกศาลจังหวัดขอนแก่นตัดสินว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สวมชุดครุยนิติศาสตรบัณฑิต ม.ขอนแก่น ที่มารดาและบิดานำมามอบให้ ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560

นักโทษการเมืองผู้นั้นคือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ผู้จำต้องรับสารภาพเพื่อให้ติดคุกไม่นานนัก เพราะถ้าเขาสู้คดีต่อไปเขาคงไม่ได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกับ 10 ครั้งที่ผ่านมา และมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้รับความยุติธรรม

การติดคุกของไผ่ไม่ใช่เรื่องของการทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการถูกกระทำย่ำยีจาก กองทัพและกระบวนการยุติธรรมซึ่งรวมหัวจัดการต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองอีกคดี ถ้าไผ่จะมีความผิด ความผิดเดียวของเขาคือการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการเข้ามาของ คสช. ที่ พล.อ.ประวิตรร่วมคณะอยู่ด้วย

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 นายจตุภัทร์ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2017 คณะกรรมการคัดสรรรางวัลได้ชื่นชมความกล้าหาญและจิตใจรักความเป็นธรรมของไผ่ที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งไผ่เป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รางวัลนี้ต่อจากนางอังคณา

ไผ่เขียนสุนทรพจน์มอบให้ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดา และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดา ซึ่งไปรับรางวัลแทนถึงประเทศเกาหลีใต้ ความว่า

“อยากให้เสรีภาพเป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่ตนเอง และขอบคุณที่เห็นคุณค่าของการต่อสู้เพื่อสิทธิ และขอให้สิทธิเสรีภาพจงมีแก่ทุกคน”

หลังจากเสร็จพิธีรับปริญญาที่ ม.ขอนแก่นเกือบสัปดาห์ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ไผ่มีโอกาสได้สวมชุดครุยนิติศาสตรบัณฑิตทับชุดนักโทษชาย ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ขณะมาร่วมการนัดสอบคำให้การคดีพูดเพื่อเสรีภาพ ในฐานะจำเลย

การมอบปริญญาของ ม.นครพนมให้ พล.อ.ประวิตร ม.มหาสารคามให้นางอังคณา และ ม.ขอนแก่นให้นายจตุภัทร์แต่ไปรับไม่ได้ จึงสะท้อนให้เห็นว่าภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภาคอีสานและประชาชนไทยยังคงอยู่ต่อไป ตราบใดที่ คสช.ยังไม่ลงจากอำนาจที่ไม่สมควรก้าวเข้ามาตั้งแต่แรก

 

image_pdfimage_print