โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ขอนแก่น – นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน” ระบุถูกทหารคุกคามด้วยการไปหาที่บ้านพักบิดาที่จ.สุรินทร์ เพื่อสอบถามเรื่องการเดินมิตรภาพล่วงหน้าก่อนไปเดินจริง ส่วนการดำเนินคดีผู้ต่อต้าน คสช. คือ การสร้างชนักติดหลังเพื่อปิดกั้นการแสดงออกมากกว่าต้องการเอาผิดตามกฎหมาย

ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในปี 2560 ภาคอีสานมีผู้ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกรวม 49 คน จาก 17 กิจกรรม ซึ่งหนึ่งในบุคคลเหล่านั้นคือ นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน” ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มดาวดิน คือ กลุ่มนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่ศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น กลุ่มดาวดินได้รวมตัวทำกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาปัญหาของชาวอีสานในพื้นที่ต่างๆ โดยกลุ่มก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการตั้งคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เมื่อปี 2549

การถูกจำกัดเสรีภาพกรณีล่าสุดของ “ไนซ์ ดาวดิน” เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรม “ We Walk เดินมิตรภาพ” จากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 ม.ค. – 17 ก.พ. 2561

นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน” อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติจนถูกดำเนินคดี 3 คดี และถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวอย่างต่อเนื่อง (แฟ้มภาพ)

นายภานุพงศ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 4 นายไปที่บ้านพักของบิดาที่อ.เมือง จ.สุรินทร์ ทั้งที่ช่วงนั้นตนยังไม่ได้เข้าร่วมเดินมิตรภาพเนื่องจากตนทำงานที่จ.ขอนแก่น (นายภานุพงศ์ร่วมเดินมิตรระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ. 2561) ตนไม่อยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้คุยกับบิดาว่าตนได้เข้าร่วมกิจกรรม We Walk ด้วยหรือไม่ พร้อมพูดถึงคดีความที่ถูกดำเนินคดีมาก่อน (คดี 14 นักกิจกรรม) และคดีความที่ถูกดำเนินคดีในปัจจุบัน (คดีพูดเพื่อเสรีภาพและคดีชูป้ายต้านรัฐประหาร)

ไนซ์ ดาวดินกล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านพักที่จ.สุรินทร์หลายครั้ง บางครั้งก็พบกับตน แต่บางครั้งตนก็ไม่อยู่บ้าน ช่วงที่เจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านพักบ่อยๆ คือ ช่วงที่ตนทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเคลื่อนไหวร่วมกับนักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คน ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 จนตกเป็นผู้ต้องหาคดี 14 นักกิจกรรม ช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านพัก 2-3 ครั้ง    

“ผมรู้มาว่า ทหารที่จังหวัดสุรินทร์ก็ยังมีรายชื่อที่ต้องติดตามตัวผม” ไนซ์ ดาวดิน กล่าวและเสริมว่า ตัวอย่างการถูกติดตามตัวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเล่าว่า เมื่อครั้งที่รถจักรยานยนต์ที่บ้านตนถูกวางเพลิง ก็มีเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีมาขอคัดลอกสำนวนคดี กรณีน้องชายไปขึ้นทะเบียนเพื่อเข้ารับการเกณฑ์ทหาร สัสดีก็ถามว่า เป็นน้องชายนายภานุพงศ์หรือไม่ และขณะนี้นายภานุพงศ์กำลังทำอะไรอยู่

การถูกติดตามตัวเป็นการถูกคุกคามหรือไม่ นายภานุพงศ์เปิดเผยว่า สิ่งที่ทำลงไปไม่เกี่ยวข้องกับคนที่บ้าน แต่คิดว่าเจ้าหน้าที่พยายามกดดันครอบครัวเพื่อให้ส่งผลมาถึงตน ถ้ายังเคลื่อนไหวทางการเมืองเจ้าหน้าที่ทหารก็จะไปหาถึงบ้าน ซึ่งคือการคุกคามการใช้ชีวิตประจำวันอย่างสงบของคนที่บ้าน

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 นายภานุพงศ์และพวกรวม 8 คน จำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เดินทางไปที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น เพื่อนัดสอบคำให้การจำเลย แต่นายภานุพงศ์ถูกอายัดตัวคดีชูป้ายต้านรัฐประหาร ซึ่งกรณีชูป้านต้ายรัฐประหารเกิดเหตุตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 นายภานุพงศ์กล่าวว่า ตนมีหมายจับคดีชูป้ายต้านรัฐประหารจริง แต่ก่อนที่ตนจะถูกอายัดตัวในวันที่ 21 ธ.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายกับตนมาก่อน ตนจึงมองว่านี่คือวิธีการของเจ้าหน้าที่ ที่หากพบว่านักกิจกรรมคนใดมีความเคลื่อนไหว ก็จะนำคดีค้างเก่ามาดำเนินการเพื่อให้ยุติความเคลื่อนไหว

“คิดว่ามันเป็นสแล๊ป ซึ่งสแล๊ปเป็นยุทธวิธีหลักๆ ที่ทหารและคสช. พยายามใช้กับนักกิจกรรมทั่วประเทศ” ไนซ์ ดาวดินกล่าว

ทั้งนี้ สแล๊ป (Slapp) ย่อมาจากคำว่า Strategic Litigation Against Public Participation หมายถึง การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน

นายภานุพงศ์กล่าวถึงเบื้องหลังที่ตกเป็นจำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 ตนถูกเพื่อนชักชวนจึงเดินทางไปที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานที่ซึ่งกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) จัดงาน “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” โดยไปนั่งอยู่ประมาณ 10 นาทีก่อนงานจะเลิก ไปนั่งนอกสถานที่จัดงาน ไม่ได้ร่วมจัดกิจกรรม ไม่ได้ร่วมพูด และไม่ได้ทำอะไร

ไนซ์ ดาวดินกล่าวอีกว่า ระหว่างนั้น พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท (ยศในขณะนั้น) ผู้บังคับการกองร้อยรักษาความสงบ มณฑลทหารบกที่ 23 กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดขอนแก่น เดินมาเจอตน แล้วบอกให้ตนไปตามตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” มาพบ แต่ตนบอกเสธ.พีทว่า “ไม่ไปครับ ถ้าจะเรียก ก็เรียกเอง” ตนคิดว่ากรณีดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ตนถูกกล่าวว่า มีความผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

สาเหตุที่เลือกถูกดำเนินคดีร่วมกับบุคคลอื่นอีก 7 คนโดยไม่ยอมถูกปรับทัศนคติในค่ายทหารแทนการถูกดำเนินคดี นายภานุพงศ์กล่าวว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 คนซึ่งถูกจับกุมด้วยกรณีแตกต่างกัน ได้หารือกันแล้วพบว่า แม้สาเหตุของการถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะไม่เหมือนกัน แต่พวกตนทั้ง 8 คนเห็นตรงกันว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ลิดรอนเสรีภาพ

“พวกเราพยายามยืนยันว่า คำสั่งนี้ไม่ถูกต้อง และเอาคำสั่งนี้มาใช้กับพวกเราไม่ได้” นายภานุพงศ์กล่าวและยืนยันว่า การจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้ทำร้ายสังคม พวกตนจึงไม่ยอมรับคำสั่งหัวหน้าคสช. และไม่ยอมรับกระบวนการปรับทัศนคติ

อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้นี้ ยังถูกตกเป็นผู้ต้องหาคดี 14 นักกิจกรรม ที่มีการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2558 ด้วย นายภานุพงศ์กล่าวว่า คดีนี้อยู่ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ โดยมีการรับทราบข้อกล่าวหา และฝากขังเรียบร้อยแล้ว แต่จนถึงขณะนี้คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า

“อึดอัด จะเอาอะไรกับเรากันแน่ ให้คดีมีคดีไว้แล้วให้ค้างคา มันเหมือนเป็นชนักติดหลัง” นายภานุพงศ์กล่าว

อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้นี้ เชื่อว่า ความคิดของเจ้าหน้าที่ทหารคือหากมีผู้เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ก็จะดำเนินคดี 1 คดี ถ้ามีการเคลื่อนไหวอีกก็จะได้รับอีก 1 คดี การดำเนินคดีเพิ่มขึ้นจึงเป็นเหมือนเกม ที่ทหารคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านเกิดขึ้น คสช. อีก

“เครื่องมือเดียวของทหารที่พอสร้างความชอบธรรมให้เขา คือเล่นกฎหมายกับเรา” ไนซ์ ดาวดินกล่าวย้ำ

“การถูกดำเนินคดีทำให้รำคาญ รำคาญที่ต้องไปขึ้นศาลบ่อยๆ รำคาญที่ต้องอยู่ในกฎหมายของเขา” นายภานุพงศ์กล่าวพร้อมอธิบายต่อว่า การต้องไปขึ้นศาลส่งผลกระทบ เพราะต้องเสียเวลาทำงานไปศาล ในแต่ละเดือนมีนัด 2 คดี ต้องไปขึ้นศาลทหาร 2 ครั้ง ก็จะเสียเวลาไป 2 วัน แทนที่จะเอาเวลานี้ไปทำประโยชน์หรือใช้ชีวิตที่มีสาระ

ความหวังต่อประเทศนี้ต่อการเปิดตัวคนรุ่นใหม่เข้าสู่สนามการเมือง อาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิวบลัด นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ประกาศตั้งพรรคเกรียน และการตั้งพรรคสามัญชน นายภานุพงศ์กล่าวว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่อยู่ที่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่การเลือกตั้งเป็นขั้นบันไดที่จะเดินไปข้างหน้า เพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ลำพังแค่มีการเลือกตั้งอย่างเดียวยังไม่นำไปสู่ความหวังการมีประชาธิปไตยที่แท้จริงสักเท่าไหร่ ยกเว้นจะมีพรรคการเมืองที่นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้ามีพรรคการเมืองที่มีหลักการดังกล่าว ก็ถือว่าประเทศไทยยังมีความหวังขึ้นมาบ้าง

“ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญของคุณมีชัย (มีชัย ฤชุพันธุ์ – รัฐธรรมนูญปี 2560) คสช.ก็ยังมีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศนี้อยู่” ไนซ์ ดาวดินกล่าว

อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้นี้ เปิดเผยอีกว่า ถ้าเลือกตั้งแล้วเข้าสู่กระบวนการเดิม มี ส.ส. มีนายกรัฐมนตรี และมีการออกนโยบายเดิมๆ โดยที่ไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นตนคือ การที่ คสช. ยังคงมีอำนาจอยู่ ประเทศไทยก็ยังเป็นแบบนี้ต่อไปเนื่องจากอำนาจของ คสช. แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ต้องการฝากสิ่งใดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. หรือไม่ “พูดไปแกก็ไม่ฟัง” ไนซ์ ดาวดินกล่าวและเสริมว่า ต้องการฝากหนังสือเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยให้พล.อ.ประยุทธ์ เพราะคิดว่าหัวหน้าคสช.น่าจะมีเวลาว่างอ่านหนังสือ เนื่องจากข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเลิกตามตามข่าวทางโซเซียลมีเดียเพราะถูกตำหนิเยอะ   

ปัจจุบัน นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามให้กับศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม จ.ขอนแก่น โดยประสานงานกับขบวนการอีสานใหม่ เพื่อทำงานด้านฐานเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร

image_pdfimage_print