โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

แม้จะวางมือจากการเมืองไปแล้ว แต่ปรากฎภาพของนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยและอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย นำประชาชนในสนามช้างอารีน่าซ้อมเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 พ.ค. 2561) ที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อหวังให้พล.อ.ประยุทธ์อนุมัติงบประมาณให้จ.บุรีรัมย์จำนวนหมื่นล้านบาท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กว่าแต่ละจังหวัดจะได้งบประมาณลงพื้นที่ต้องทำกันถึงขั้นนี้เชียวหรือ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์มากล่าวปราศรัยที่สนามฟุตบอลต่อหน้าผู้ชมกว่า 3 หมื่นคน ก่อนมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้ารัฐประหาร ทักทายประชาชนภายในสนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2561 ระหว่างการปาฐกถา โดยมีนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย (เสื้อขาวกางเกงขาสั้น) ต้อนรับ ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

สุดท้ายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ยังไม่อนุมัติงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ให้กลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ตามข่าว หากมีโครงการใดตรงกับแผนงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

แต่ก็มีการอนุมัติโครงการให้กลุ่ม 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง 1 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งจำนวน 84 โครงการ วงเงิน 3,476.65 ล้านบาท

การดึงงบประมาณลงพื้นที่อาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองไทย เมื่อมีการเลือกตั้งมักจะพบเห็นข่าวส.ส.วิ่งเต้นดึงงบประมาณจากส่วนกลางลงมาในพื้นที่ฐานเสียงของตนเอง

จึงมีคำถามว่า ทำไมส.ส.ต้องดึงงบประมาณลงพื้นที่ คำตอบอย่างง่ายที่สุด คือ เพื่อพัฒนาพื้นที่ และส.ส.จะได้รับความนิยมจากประชาชนกลับคืนมา แต่ถ้าพิจารณาเชิงโครงสร้างก็จะพบว่า การที่ ส.ส. ต้องดึงงบประมาณลงพื้นที่เกิดจาก ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลาง โดยมีราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดและอำเภอ ทำหน้าที่บริหารราชการตามที่ส่วนกลางสั่งการลงมา ขณะที่ราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดกลับได้รับอำนาจและหน้าที่อย่างจำกัดและยังถูกควบคุมโดยราชการส่วนภูมิภาค

การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางส่งผลเสียหลายประการ อาทิ การตัดสินใจจากส่วนกลางย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและไม่ทั่วถึง การปฏิบัติหน้าที่เต็มไปด้วยความล่าช้า นอกจากนี้ การจัดทำบริการสาธารณะและการแก้ปัญหาไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ผลเสียดังกล่าวจึงเป็นช่วงโหว่ให้ ส.ส. ต้องทำหน้าที่ประสานงบประมาณลงมาในพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้าเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็อาจจะพูดคุยกับรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงได้ง่ายกว่า ส.ส. ฝ่ายค้าน แต่ในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งจึงได้เห๋็นภาพแกนนำพรรคการเมืองอย่างนายเนวินพยายามของบฯ จาก พล.อ.ประยุทธ์ ขณะลงพื้นที่จ.บุรีรัมย์

ถึงแม้การดึงงบประมาณลงพื้นที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาตามมา แต่ก็มีปัญหาตามมาด้วยคือ โครงการที่ลงมาอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เนื่องจากโครงการถูกจัดทำมาแล้วจากส่วนกลาง อีกทั้งหลายโครงการก็สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมตามมาแต่ไม่มีผู้รับผิดชอบ อาทิ โครงการสำรวจเหมืองแร่โปแตช ที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และการทำเหมืองแร่โปแตช ที่จ.อุดรธานี

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของการรวมศูนย์อำนาจจึงควรพิจารณาตัวเลขงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับ เมื่อเทียบกับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปีงบประมาณปี 2561 มีการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 721,585.98 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.45 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 33,694.36 ล้านบาท

จึงเท่ากับว่าหลังจากมีการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมปี 2540 และมีพ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งได้ระบุว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณร้อยละ 35 ของงบประมาณแผ่นดินให้แก่ท้องถิ่นภายในปี 2549 แต่จนถึงปัจจุบันการกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดยปี 2561 ท้องถิ่นได้งบประมาณเพียงร้อยละ 29.45

ปัญหาของการดึงงบประมาณลงพื้นที่ไม่สามารถหมดไปได้ ถ้าไม่แก้ไขปัญหาเชิงระบบ นั่นคือการลดบทบาทของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค แล้วเพิ่มบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านการกระจายอำนาจ โดยมีข้อเสนอให้จัดระเบียบการบริหารราชแผ่นดินรูปแบบใหม่ในแบบจังหวัดปกครองตนเอง

หลักการของจังหวัดปกครองตนเอง คือ มีการปกครอง 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัดและระดับพื้นที่

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดประกอบด้วย สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารหรือคณะผู้บริหารและสภาพลเมือง โดยสภาและผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส่วนสภาพลเมืองมาจากผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากองค์กรต่างๆ มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อมีการจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง ก็จะส่งผลให้ราชการส่วนภูมิภาคต้องถูกยุบหรือแปรเปลี่ยนบทบาทจากผู้ปฏิบัติงานไปเป็นผู้กำกับดูแล ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการปกครองรูปแบบใหม่

เมื่อมีจังหวัดจัดการตนเองก็ต้องกำหนดให้โอนงบประมาณแผ่นดินจากส่วนกลางลงมายังจังหวัด ในอัตราส่วน 30:70 คือ ส่วนกลางร้อยละ 30 จังหวัดปกครองตนเองร้อยละ 70 รวมถึงมีการถ่ายโอนบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ อาทิ ป่าไม้ ที่ดิน ภูเขา ไปให้จังหวัดด้วย

หลังงบประมาณร้อยละ 70 ลงมาที่จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปกครองตนเองเป็นผู้บริหารงบประมาณภายใต้การตรวจสอบของสภาจังหวัดและสภาพลเมือง ก็จะทำให้การทำงานสาธารณะเพื่อคนในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่สำคัญก็คือเราจะไม่ได้เห็นภาพ ส.ส. หรือ ผู้นำท้องถิ่น ดึงงบประมาณจากส่วนกลางลงมาท้องถิ่นอีกต่อไป เพราะปัญหาสามารถแก้ไขได้ที่จังหวัดแล้ว

image_pdfimage_print