โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

ตั้งแต่ฉันเริ่มเขียนเรื่องศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อีสานอย่างจริงจัง มีผู้อ่านหลายท่านส่งเสียงตอบรับมาว่า ดูท่าฉันจะ “อิน” กับการค้นหาตัวตนมาก ถึงกับตั้งตนเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นลาวในอีสานเลย ครั้งแรกที่ได้ยินอย่างนั้นเมื่อปีกลาย ฉันรู้สึกพิศวงงงงวย แต่ก็หัวเราะกลบเกลื่อนไปว่า คงเป็นเพราะวิธีการเขียนที่ใส่ความเป็น “ฉัน” ลงไปละมั้งคนถึงได้คิดไปแบบนั้น ถ้าอ่านดีๆ ก็น่าจะเห็นอยู่มั้งว่างานของฉันตั้งอยู่บนฐานของความเท่าเทียม ความจริง และความยุติธรรม หาใช่การเอาเชื้อชาติตนเป็นศูนย์กลางหรือการโหยหาอดีตของชาติพันธุ์เผ่าพงษ์ที่ตนสูญเสียไป ฉันคิดเองเออเองไปอย่างนั้น

แต่ล่าสุด หลังเรียงความ “คำโกหกพกลมของพระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย” แพร่ลามไปในหมู่ผู้อ่านอย่างกว้างขวาง ก็มีเสียงตอบมาอีกแล้วว่าฉันหมกมุ่นกับเรื่องชาติพันธุ์เกินไป บ้างก็ว่าฉันไม่เห็นต้องไปถือโทษโกรธเคืองอะไรกับเรื่องอดีตที่มีบริบทต่างไปจากปัจจุบัน

“โทนการเขียนดูมีอคติและต้องการค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองมากเกินไป… อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ… ผมไม่ได้ติดใจอะไรว่าอิสาณต้องเป็นของไทยอะไรเท่านั้น เพราะสายทางผมไม่ได้อยู่ไทยแต่ต้นและก็ไม่ได้จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นกับชาติพันธุ์อะไรมากมาย”

เสียงตอบรับทำนองนี้ทำให้ฉันกลับมานั่งขบคิดว่าการเคลมคุณค่าชาติพันธุ์ลาวมันหมายความว่ายังไงกันแน่ ในเมื่อเจาะเลือดฉันแล้วจะไม่เห็นลาว เจอแต่จีนเป็นยีนเด่น

ฉันเป็นคนแต้จิ๋ว เติบใหญ่มาท่ามกลางเครือญาติที่พูดภาษาลาวเป็นหลัก ภาษาไทยเป็นรอง — แต่มรดกทางชาติพันธุ์แต้จิ๋วของพวกเราก็ยังคงอยู่ในช่วงเวลาเทศกาลแม้จะไม่มีใคร “อิน” กับมันมากมาย ฉันเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่พูดลาวได้แบบกระท่อนกระแท่นเต็มทน ส่วนภาษาจีนนั้นไม่ต้องพูดถึง จะสำเนียงไหนก็ช่าง รู้แค่ “เจี่ยะปึ่ง” ที่ปู่เคยพาพูดบนโต๊ะกินข้าวเท่านั้น

มรดกทางชาติพันธุ์ของฉันมันส่งผลต่อการงานของฉันยังไงกันแน่? ฉันยึดมั่นถือมั่นกับ “ลาว” เพื่อกลบเกลื่อนปมส่วนตัวที่เป็นกระฎุมพีไทยเชื้อสายจีนที่มีอภิสิทธิ์เกินควรหรือเปล่า? ฉันใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้มากอบกู้ “ผู้ถูกกดขี่” จริงๆ เหรอ?

หรือว่า การกอบกู้มรดกความเป็นลาวของฉันจะเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การกอบกู้อัตลักษณ์ความเป็นแต้จิ๋วของฉันในที่สุด? มันจะนับเป็นการสร้างสำนึกเป็นปึกแผ่นกับเพื่อนมนุษย์ผู้ประสบชะตากรรมถูกลบชาติพันธุ์เหมือนๆ กัน?

ไม่ว่าจะมีความหมายอย่างไร คำถามที่สำคัญกว่าก็คือจะกอบกู้มันไปเพื่อการใด ไปจบที่ตรงไหน?

ช่วงใช้อภิสิทธิ์ของความเป็นไทยเชื้อสายจีน ประหนึ่งเอาไม้ซุงมางัดไม้ซุงด้วยกัน

หลังจบชั้นม.ปลายที่กรุงเทพฯ ฉันสอบได้ทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งเป็นทุนรัฐบาลแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศจนจบชั้นปริญญาตรี ฉันเลือกไปประเทศสหรัฐอเมริกา และพวกเรา “Thai Scholars” ทั้งหลายก็มีโอกาสได้เข้าค่ายซัมเมอร์ปรับพื้นฐานภาษาและวัฒนธรรมอยู่ที่นิวแฮมป์เชียร์

วันหนึ่งในห้องเรียนวิชาวัฒนธรรมอเมริกัน เมื่อหลายปีให้หลังที่ฉันกลับไปเป็นพี่เลี้ยงค่ายสำหรับนักเรียนทุนรุ่นน้อง ครูผู้สอนขอให้คนที่มีเชื้อสายจีนยกมือขึ้น

ในจำนวนนักเรียนทุนสิบสามคนในห้อง มีเพียงสามคนที่ไม่ได้ยกมือ

ฉันจำไม่ได้ว่าครูต้องการสื่อสารประเด็นอะไรจากคำถามนี้ แต่ยังจำชั่วขณะนั้นได้ขึ้นใจ จำสีหน้าและแววตาน้องๆ ที่ไม่ได้ยกมือ คล้ายกับเห็นเส้นแบ่งทางชาติพันธุ์ที่ฝังอยู่ถูกกระชากขึ้นมาเต็มตา ตำตา

จำนวนของนักเรียนทุนชาวไทยเชื้อสายจีนที่สูงมากนี้สอดคล้องกับตัวเลขในรัฐสภา หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่สำเร็จลุล่วง (เกือบเจ็ดปีที่แล้ว!) ปรากฏว่าที่นั่งกว่าร้อยละ 78 เป็นของคนเชื้อสายจีน แม้ว่าคนเชื้อสายจีนจะมีจำนวนเพียงร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น

การมีคนเชื้อสายจีนครองตำแหน่งอำนาจมากเกินสัดส่วนนี้นำไปสู่การลดทอนความสำคัญจนอาจถึงขั้นกดขี่คนอื่นได้ง่ายๆ กรณีสิงคโปร์ มีคนใช้คำ “อภิสิทธิ์ความเป็นจีน” หรือแม้กระทั่ง “ระบอบคนจีนเป็นใหญ่” อธิบายสังคม แม้ว่าสิงคโปร์จะชอบมองว่าตนอยู่เหนือการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หรือศาสนาอย่างประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม

เบ็น แอนเดอร์สัน นักประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับ กล่าวถึงระบอบคนจีนเป็นใหญ่ในไทยไว้อย่างค่อนข้างจะสุดโต่งในบทความ “Riddles of Yellow and Red [ปริศนาเหลืองแดง]” ที่แต่เดิมเป็นเล็กเช่อร์ที่กล่าวในประเทศจีน แอนเดอร์สันบอกว่า

อย่าได้หลอกตัวเองว่าการประชันขันแข่งทางการเมืองในเมืองไทยเป็นเรื่องประชาธิปไตยหรืออะไรทำนองนั้นเลย มันเป็นแค่เรื่องที่ว่าพวกแต้จิ๋วจะได้กุมตำแหน่งตั้วเหี่ยสุดยอดไว้ต่อไป หรือมันจะเป็นทีของพวกแคะหรือไหหลำบ้างต่างหาก (สำนวนแปลของเกษียร เตชะพีระ)

ที่ชวนแปลกใจที่สุดบทความของแอนเดอร์สัน ก็คือข้อที่มัน “ฟังขึ้น” นี่แหละ ทั้งๆ ที่ค่อนข้างจะหลุดโลกเอาการอยู่ นั่นก็คือสรุปไปถึงขนาดว่ามีเพียงคนเชื้อสายจีนเท่านั้นที่เป็นผู้เล่นที่แท้จริงในสนามการเมืองไทยร่วมสมัย

พวกเราชนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีนมักคิดกันว่าทุกสิ่งที่เราได้มา เป็นผลมาจากน้ำพักน้ำแรงและความสามารถส่วนตัวล้วนๆ แต่จริงๆ แล้วสนามนี้มันไม่ได้แฟร์สำหรับทุกคน

อภิสิทธิ์ความเป็นจีนเป็นปรากฏการณ์จริงในสังคม ตราบใดที่คุณไม่แสดงความเป็นจีนออกมาอย่างประเจิดประเจ้อ จะว่าไปก็คล้ายกับการทำสัญญากับปีศาจ ที่ผู้ขันต่อยอมยกเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ให้ซาตาน เพื่อแลกกับบัตรผ่านเลื่อนชั้นทางสังคมขึ้นไปและกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลัก

การทิ้งเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนรุ่นพ่อแม่พวกเราจน “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” ส่งผลให้คนรุ่นพวกเราขาดสำนึกรู้ว่าเชื้อสายเรามาจากตำแหน่งแห่งหนใดในสังคม แต่กระนั้นดอกผลของอภิสิทธิ์ทางชาติพันธุ์ก็ยังสะพรั่งต่อไป เมื่อขาดสำนึกรู้ที่มาของเชื้อสาย เราก็มองไม่เห็นปัจจัยของอภิสิทธิ์ เมื่อมองไม่เห็นตัวแล้ว อภิสิทธิ์นี้ก็จะฝังตัวต่อไปใต้ผิวหนังของสังคมรุ่นเรา

ก็เพราะการเป็นคนเชื้อสายจีนในประเทศไทยมันมิได้เป็นเพียงชาติพันธุ์ หากเป็นชนชั้นด้วย พูดให้ชัดก็คือชนชั้นพ่อค้าวาณิชย์ ดังที่เบ็น แอนเดอร์สัน แจกแจงให้เห็น ชนชาวจีนกลุ่มต่างๆ ได้กุมอำนาจทางการค้าในกรุงเทพฯ อย่างเกือบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ยี่สิบแล้ว

ชาวแต้จิ๋วคุมโรงรับจำนำร้อยละ 97 และคุมโรงสีในอัตราส่วนพอๆ กัน หมอยาจีนยังเป็นชาวแต้จิ๋วถึงร้อยละ 92 ส่วนโรงเลื่อยไม้และการค้าไม้นั้นตกอยู่ในมือของชาวไหหลำเสียมากถึงร้อยละ 85 ข้างผู้ทำกิจการเครื่องหนังก็เป็นชาวฮากกา (แคะ) ถึงร้อยละ 98 และผู้ตัดเย็บผ้าถึงเก้าในสิบคนเป็นชาวฮากกาเช่นกัน ร้านขายเครื่องจักรราวร้อยละ 59 มีชาวกวางตุ้งเป็นเจ้าของ ส่วนผู้ส่งออกยางกว่าร้อยละ 87 เป็นชาวฮกเกี้ยน

ถิ่นที่มาของชาติพันธุ์จีนกลุ่มต่างๆ จากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ได้แก่ ชาวไหหลำ ชาวกวางตุ้ง ชาวฮากกา ชาวแต้จิ๋ว และชาวฮกเกี้ยน ตามลำดับ

จากร้อยปีที่แล้วจนถึงวันนี้ การกุมอำนาจค้าขายในกรุงเทพฯ และเมืองท่าอ่าวไทยก็ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ และในที่สุดอำนาจการค้าก็แปลเป็นอำนาจแบบอื่นๆ

ในภาคอีสาน คำว่า “เจ๊ก” หมายความถึงพ่อค้าแม่ขาย แสดงถึงข้อเท็จจริงทางสังคมที่ว่าคนจีนโพ้นทะเลเกือบทั้งหมดมาพร้อมกับอาชีพค้าขาย โดยมากันยกใหญ่ตามทางรถไฟ ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นลาว เป็นขแมร์ เป็นกวย ขอให้คุณเปิดร้านขายของชำและเริ่มสะสมทุนเท่านั้น คุณก็นับเป็นเจ๊กแล้ว และลูกค้าก็จะเรียกคุณด้วยคำนำหน้า “เจ๊” “เฮีย” “เสี่ย” ราวกับเป็นเครือญาติคนแต้จิ๋ว

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ชนชั้นเจ๊กในตัวเมืองของภาคอีสาน เป็นกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์โพดผลสำคัญจากนโยบายพัฒนาที่ไหลลงเมืองเป็นหลักมาเกือบตลอดห้าสิบหกสิบปีนี้ ทั้งพ่อและแม่ของฉันมีพื้นเพมาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะอะไรในตัวเมืองศรีสะเกษ ทั้งสองเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัด และในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ก็สอบติดโครงการ “แพทย์ชนบท” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นโครงการเจาะพื้นที่อีสานตอนใต้ซึ่งขาดแคลนแพทย์สมัยใหม่อย่างหนัก

แต่ทว่า “แพทย์ชนบท” อย่างพ่อแม่ของฉันนั้น เขาก็มาจากตัวจังหวัดที่กำลังกลายเป็นเมืองแล้ว หนำซ้ำ “ตัวจังหวัด” ก็ไม่ได้อยู่เมืองศรีสะเกษมาแต่แรก แต่ย้ายศาลากลางขึ้นมา 50 กิโลเมตรจากขุขันธ์เมื่อปี 2449 เพราะพ่อค้าไปรวมกันอยู่ตรงนั้น สุดท้ายทางรถไฟก็ตัดมาถึงศรีสะเกษเมื่อปี 2471 ไม่ผ่านขุขันธ์

และถ้าหากครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมฯ 3 ไม่ได้แนะนำพ่อฉันว่าเขามีหัวพอจะเรียนสายสามัญต่อได้ พ่อของฉันก็เตรียมจะเลือกเรียนสายวิชาชีพแล้ว และถ้าหากย่าไม่ได้ย้ายภูมิลำเนาจากบ้านละเอาะ ชุมชนครึ่งลาวครึ่งกูย ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษไปราว 40 กิโลเมตรจากตัวจังหวัด พ่อของฉันก็อาจไม่ได้มีโอกาสเจอครูผู้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตได้เลย

ก่อนเราจะคิดไปเสร็จสรรพว่าการที่เจ๊กตามหมู่บ้านย้ายถิ่นเข้าตัวเมืองนั้นสื่อถึงวิสัยทัศน์กล้าเสี่ยงเยี่ยงผู้ประกอบการ ขอให้เรามาพินิจข้อความจากตำราเล่มหนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน พ.ศ. 2488-2544 ของสุวิทย์ ธีรศาศวัต ดังต่อไปนี้ว่า

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของหมู่บ้านเปลี่ยนไป คือ การสร้าง infrastructure คือ ถนน ระบบชลประทาน และไฟฟ้า ถนนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ ทำให้พ่อค้าจีนในหมู่บ้านต้องย้ายออกไปอยู่นอกเมือง เพราะไม่อาจผูกขาดการค้าได้อย่างแต่ก่อน (หน้า 8)

พ่อค้าชาวจีนที่ร่ำรวยเงินทองขึ้นมาได้ในภาคอีสาน ก็ด้วยการทำนาบนหลังชาวบ้านชนบททุกชาติพันธุ์ ข้อความอีกตอนหนึ่งจากหนังสือสรุปย่อการศึกษาวิจัยปี 2532 เรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 58 ชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ความว่า

พ่อค้าจีนเป็นกลุ่มที่เอาเปรียบชาวนามากที่สุด ทั้งในเรื่องของการกดราคา โกงตาชั่ง การขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้ ในขณะที่นายทุนไทย[หมายถึงลาว-ผู้เขียน]ในหมู่บ้านเอาเปรียบน้อยกว่า คือ ไม่โกงตาชั่ง ไม่ยึดที่ดินคนที่ค้างส่งเงินกู้ ไม่คิดดอกเบี้ยทบต้น มีการอะลุ้มอล่วยดอกเบี้ยเวลาเกิดฝนแล้ง (10)

สมัยนั้น คำว่าเจ๊กคงจะยังมีความหมายถึง “คนจีน” ซึ่งมีนัยยะของการเหยียดหยามอยู่ด้วย ก่อนที่ฉันจะอ่านบทความของเบ็น แอนเดอร์สัน ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในสายตาของบางคน ชาติพันธุ์แต้จิ๋วของฉันนี้ติดภาพแย่ๆ อยู่ไม่น้อย

[คนแต้จิ๋ว] เป็นนักฉวยโอกาสที่เอาแต่เลียแข้งเลียขาคนมียศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่าตน พวกนี้มันขี้ขลาด มาที่นี่ก็เพราะว่าเทียบท่าอยู่เวียดนามหรืออินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ไม่ได้เท่านั้นหรอก (ปากคำของคนขับแท็กซี่กรุงเทพฯ เชื้อสายฮากกา ในบทความของแอนเดอร์สัน)

เจอคำพูดนี้แล้วถึงได้รู้ว่าเลือดจีนแต้จิ๋วอย่างฉันอาจบ่งชี้สันดานฉวยโอกาส ขี้ขลาดตาขาว และไม่มีกระดูกสันหลังได้ด้วย!

ด้วยการเลื่อนฐานะของพ่อแม่ ฉันจึงได้มีโอกาสเป็นคุณหนู อยู่อย่างมีเวลาว่างเหลือเฟือ

เมื่อมีอภิสิทธิ์จากโครงสร้างที่ลำเอียง จะทำอะไรกับมันดี? การศึกษาที่มหาวิทยาลัยสอนฉันมาว่า แทนที่จะปฏิเสธอภิสิทธิ์นั้นด้วยละอายหรือรู้สึกผิด ควรจะรู้จักทำตัวให้เป็นประโยชน์ ในเมื่อเสียงเราแย้งมีคนยิน ก็ช่วงใช้อภิสิทธิ์มาบ่อนเซาะโครงสร้างซะสิ ไม่ว่าจะเป็นอภิสิทธิ์ในเชิงชาติพันธุ์ สีผิว ชนชั้นวรรณะ เพศ หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อทำสิ่งที่คนที่ไม่มีอภิสิทธิ์นั้นทำไม่ได้หรือทำแล้วไม่ได้ผล ปากบ่ได้ไอบ่ดัง

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ฉันได้เริ่มพยายามกลับไปหาภาษาที่รายล้อมฉันมาตั้งแต่เกิดแต่กลับไม่เคยหัดพูด ถ้าท่านเป็นลูกอีสานชนชั้นกลางทุกวันนี้แล้วพูดไทยตกปล่อง หรือพยายามพูดลาวแต่วรรณยุกต์เพี้ยน เพื่อนฝูงและญาติมิตรก็จะเห็นเป็นเรื่องชวนหัวอย่างยิ่งโทษฐานพูด “ไม่ถูก” (ปรากฏการณ์นี้เกิดกับครอบครัวทุกชาติพันธุ์รวมถึงลาวด้วย)

ฉันจึงสบโอกาสฉวยเอา “ลาว” มาเป็นหัวข้อเขียนอ่าน ผ่านแว่นวิพากษ์วิจารณ์ตามอุดมคติการเมืองของตัวเอง

ฉันเป็นคนเนรคุณต่อผู้ก่อตั้งทุนเล่าเรียนหลวงไหม? ฉันทรยศต่อชนชั้นของตัวเองหรือเปล่า? การริอาจทรยศต่อชนชั้น–อันเป็นความปรารถนาที่ต่อมาแปลงกายเป็นหน้าที่ จนทุกวันนี้แปรรูปเป็นเส้นทางอาชีพ–สิ่งนี้เป็นเหตุให้ฉันยังขะมักเขม้นเขียนเกี่ยวกับความเป็นลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอยู่ใช่หรือไม่?

ทำความรู้จักกับชาติพันธุ์แต้จิ๋วในวัยยี่สิบกว่าๆ

ความสนใจใน “ลาว” ชักพาฉันไปทำงานให้ เดอะอีสานเรคคอร์ด ที่เมืองขอนแก่น เมื่อได้ทำงานที่นั่นก็ชักพาให้ฉันได้พ้อพบเพื่อนชาวแต้จิ๋วจากอีกซีกโลกหนึ่งเข้า

ปี 2560 ฉันมีส่วนช่วยผลิตเรียงความ “Lost Then Found: เมื่อฉันได้พบ(ญาติ)คนแต้จิ๋วอีสาน” ผู้เขียนชื่อวิกทอเรีย ฮอง ไหล เป็นนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายแต้จิ๋วที่พื้นเพครอบครัวมาจากเวียดนาม เธอมาศึกษาอยู่ที่ขอนแก่นเป็นเวลาหนึ่งภาคเรียน แรกเราพบนั้น วิกทอเรียบอกฉันว่าเธอสนใจเขียนเกี่ยวกับคน “deo diu” ฉันฟังไม่ได้ศัพท์แม้ขอให้เธอทวนคำ “เดโอ่-ดิอู” อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเธอเขียนวิธีการสะกดอีกแบบลงบนกระดาษว่า “Teochew” นั่นแหละฉันจึงถึงบางอ้อ

ตอนลงพื้นที่ด้วยกันครั้งหนึ่ง เราทั้งสองประหลาดใจพอกันเมื่อได้ทราบข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์ว่ากษัตริย์ตากสินมีพ่อเป็นคนแต้จิ๋วอพยพ

(วงเล็บความสงสัยไว้ว่า ความเป็น “มหาราช” ของกษัตริย์ตากสินผู้ครองราชย์ปี 2310-2325 นั้นมีมูลเหตุมาจากไหนบ้าง? เป็นเพราะเขากอบกู้ชาติสยามหลังกรุงศรีอยุธยาแตก หรือว่าเป็นเพราะตากสินพร้อมไพร่พลรบชาวแต้จิ๋วที่เกณฑ์มาจากเมืองท่าภาคตะวันออกได้ไปตีเมืองลาวทั้งหลายให้ตกเป็นข้าได้สำเร็จทั้งหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสักด้วย?)

ที่ฉันประหลาดใจในเรื่องนี้ ก็เพราะอายุยี่สิบกว่าๆ แล้วถึงเพิ่งมารู้ว่าฉันกับพระเจ้าตากสินมีสายเลือดเดียวกัน–อย่างที่จะได้มารู้จากบทความของแอนเดอร์สันอีกว่าเชื้อแนวกษัตริย์ราชวงศ์ปัจจุบันก็แต้จิ๋วอ้อยต้อย ส่วนที่วิกทอเรียประหลาดใจในเรื่องนี้ ก็เพราะคนแต้จิ๋วโพ้นทวีปอย่างเธอนั้น ถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่หนีการกลั่นแกล้งกดขี่มาหัวซุกหัวซุน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีภาษาเขียน มันเหนือความคาดหมายสุดๆ ที่ได้ยินว่าคนแต้จิ๋วได้เป็นพระราชาของแผ่นดินนี้!

สำนึกชาติพันธุ์ของวิกทอเรียผิดแผกไปจากฉันอย่างหน้ามือกับหลังตีน ความเป็นแต้จิ๋วของเธอหมายถึงความอบอุ่นของการเป็นสมาชิกครอบครัวที่พลัดพรากจากกันไปคนละมุมโลก แทนที่จะเป็นเพียงมรดกภาษาและวิถีบรรพชนที่กำลังถูกละทิ้งไปอย่างไม่ไยดี

ความเป็นแต้จิ๋วของเธอไม่สามารถลดทอนเป็น “ความเป็นจีน” ได้ เธอไม่เรียกตัวเองว่าคนเชื้อสายจีนด้วยซ้ำ เรียกตัวเองว่าแต้จิ๋วจากเวียดนาม แต่สำหรับฉันแล้ว ความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนของตัวเองไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องระบุไปว่าเป็น “แต้จิ๋ว” ถึงจะเป็นชาวฮั่นฉันก็คงคิดเรื่องอภิสิทธิ์เหมือนเดิม

ฉันบอกวิกทอเรียว่าการได้เรียนรู้เรื่องคนแต้จิ๋วทำให้ฉันเกิดสนใจเทือกเถาเหล่ากอตัวเองขึ้นมาด้วย ได้ยินแล้วเธอก็ยิ้มกว้าง พูดว่า “I’m glad! [ปลื้มเลยอ่ะ!]” ฉายความภาคภูมิใจออกมาราวกับว่าเธอเป็นพี่สาวของฉันมาแต่ชาติปางก่อน

ฉันมาจากจังหวัดศรีสะเกษแดนปราสาทขอม ที่ชูอัตลักษณ์ประจำถิ่นด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาแต่ต้น ใช่เพียงไทย ใช่เพียงลาว ใช่เพียงขแมร์ ใช่เพียงกวย และใช่เพียงเยอ–ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ฉันจะเติมคำว่า “แต้จิ๋ว” ต่อท้ายคำขวัญจังหวัดฉบับส่วนตัวของฉัน?

ตอนเป็นเด็กบ้านฉันก็อยู่บนถนนชื่อกวงเฮง ว่างก็ไปเดินห้างชื่อซุ่นเฮง ถึงวันไหว้เจ้าเทศกาลสารทจีนคราวใดป้าของฉันก็ต้มเป็ด ต้มไก่ ต้มหมู ขายคนจีนตั้งครึ่งเมือง

การค้นหาเพื่อรื้อฟื้นชิ้นส่วนความเป็นแต้จิ๋วของฉันพร้อมจะเริ่มต้นแล้ว หลังจากเข็นเรียงความของวิกทอเรีย ฮอง ไหล จนเสร็จและแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อย ฉันก็ดีใจที่ได้ครอบครองพจนานุกรมแต้จิ๋ว-ไทยเล่มหนา วันหนึ่งในเทศกาลหนังสือที่ขอนแก่น แฟนของฉันเห็นบู๊ธหนังสือมือสองเจ้าหนึ่งมีหนังสือ ปทานุกรมจีน-ไทย รูปลักษณ์คล้ายกับที่เห็นในเรียงความของวิกทอเรีย ก็ปรากฏว่าเป็นฉบับเดียวกันจริงๆ

ฉันยกหนังสือปทานุกรมเล่มนี้ขึ้นหิ้งเลย ขึ้นหิ้งจริงๆ คือไม่เคยหยิบมาศึกษาอย่างจริงจัง เหมือนเป็นศาลเจ้าบรรพบุรุษที่มีไว้ในบ้านให้อุ่นใจ มันอาจจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ฉันควรรู้ แต่ตอนนี้ขอเก็บไว้ก่อนแล้วกัน ไว้เมื่อไหร่มันสอดคล้องกับเส้นทางการเขียนของฉันแล้วค่อยกลับมาหามันก็ได้

แต่ฉันจะยอมทรยศต่อมรดกชาติพันธุ์ของตัวเองอย่างง่ายๆ เพียงเพื่อ “เส้นทางการเขียน” ที่ฉันแสร้งประดิษฐ์ขึ้นมาเองหรือ? ทั้งย่าและยายของฉันยังแข็งแรงและมีความทรงจำชัดแจ๋ว ฉันมีเวลาอีกทั้งชาติ (ไม่จริง) แต่ย่ากับยายไม่ได้มีเวลาเหลือมากมายขนาดนั้น (อันนี้จริง)

หรือว่าไอ้ “เส้นทาง” นี้มันเป็นทางขึ้นมาได้ก็เพราะข้อเท็จจริงทางธุรกิจ ที่ว่าถ้าเขียนเรื่องความเป็นลาวแล้วสามารถเจาะตลาดผู้อ่านได้ แต่ถ้าเขียนเรื่องความเป็นแต้จิ๋วแล้วอาจไม่มีตลาดขนาดนั้น?

คงต้องยอมรับว่า ข้อสังเกตที่ผู้อ่านหลายท่านตั้งมาไม่ผิดเลย ฉันกำลังค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองอยู่–ค้นๆ ไปก็ฉวยโอกาสสร้างอาชีพตามสันดานแต้จิ๋วไปด้วย!

ปัจฉิมบท: เมื่ออดีตมาปรากฏตัวตรงหน้า

ตอนแรกฉันทิ้งท้ายไว้เท่านั้น แต่หลับตื่นหนึ่งแล้วกลับรู้สึกค้างคา รู้สึกว่าที่เขียนไปออกจะเสแสร้ง หรืออย่างน้อยก็หวานเลี่ยนเกินไปในตอนจบ รู้สึก inauthentic คือสิ่งที่แสดงออกไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ข้างใน

เท่าที่เขียนเรียงความนี้มา เนื้อหาทั้งหลายต่างก็ลดทอนมิติการเมืองของการเขียนเรื่องความเป็นลาวของฉัน ทางหนึ่งก็ลดทอนมันเป็น “การแสดงจุดยืนเป็นปึกแผ่นเดียวกันกับคนวาสนาไม่ดีในสังคมจากมุมมองคนหัวขบถคนหนึ่ง” อีกทางหนึ่งก็ลดทอนเป็น “โอกาสในการสร้างอาชีพเพราะมีอุปสงค์จากผู้อ่าน” ก็ยิ่งซอฟต์ลงไปใหญ่

การจะกล่าวว่าฉันกำลังค้นหาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ย่อมต้องหมายความว่าฉันกำลังค้นหาชุมชนที่เป็นของฉันด้วย เส้นทางนี้ไม่ได้จบลงที่ตัวฉันหรือครอบครัว

ไม่จำเป็นต้องตอบว่างานเขียนของฉันเป็นไปเพื่อตัวเองหรือคนอื่น เพราะมันเป็นได้ทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน แต่ว่าทั้งสองปัจจัยรวมกันแล้วมันส่งผลยังไงล่ะ? นี่ต่างหากประเด็นสำคัญ

ถึงแม้ฉันจะไม่ใช่คนลาวโดยสายเลือด ท่านก็อาจพูดได้ว่าฉันเป็นสมาชิกของวัฒนธรรมลาว ลาวที่เป็นภาษากลางสำหรับการค้าในบ้านเกิดของฉัน ซึ่งก็มาทดแทนภาษากวยที่มีอยู่ก่อนหน้าอีกต่อหนึ่ง จนถึงวันนี้ ลาวก็ยังติดลิ้นเครือญาติชาวแต้จิ๋วของฉันแทบทั่วทุกตัวคน

เห็นทีความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ที่ฉันมีร่วมกับกษัตริยภาพจะไม่ได้เหนียวแน่นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ที่ฉันมีร่วมกับอารยธรรมลาว การปฏิเสธว่า “ฉันไม่ใช่ลาว” หรือ “ฉันไม่ใช่นักชาตินิยมลาว” ย่อมไม่มีความหมายอะไรในเมื่อเนื้องานมันสามารถถูกนำใช้ไปหนุนอุดมการณ์ทางนั้นได้เป็นอย่างดี

ทั้งคนเชื้อสายลาวและคนเชื้อสายจีนในประเทศนี้ต่างก็ได้ยินยอมทำสัญญากับปีศาจ แลกเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ แลกจิตวิญญาณบรรพชนของเราไปเพื่อจะได้ถูกนับรวมในสังคม และเพื่อจะได้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้จากเปือกตมทางเศรษฐกิจ

แต่ทว่าซาตานกลับไม่ได้ทำตามสัญญาอย่างเท่าเทียม ฝ่ายหนึ่งปีนไต่ขึ้นไปอยู่ในแวดวงธุรกิจใกล้ชิดกษัตริย์ ไปเป็นผู้ปกป้องพระราชา ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งกลับถูกต่อสัญญาไพร่ครั้งแล้วครั้งเล่า (แต่ก็ยังต้องเป็นผู้ปกป้องพระราชาไปในคราวเดียวกัน)

ฉันได้แรงบันดาลใจจากมิเชล-รอล์ฟ ทรุยโยต์ นักมานุษยวิทยาชาวเฮติผู้ล่วงลับ ผู้เสนอแนวคิดไว้ว่าความซื่อตรงทางประวัติศาสตร์ (historical authenticity) เป็นเรื่องของปัจจุบันเต็มๆ เราท่านทั้งหลายถือกำเนิดมาในโลกที่สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้นไม่เป็นธรรม แต่สภาพที่ว่านี้ก็มาจากประวัติศาสตร์ ต้องถูกต่ออายุใหม่ถึงจะปรากฏตัวมาอาละวาดได้ในปัจจุบันนี้ ดังที่ทรุยโยต์เขียนไว้ในหนังสือ Silencing the Past: Power and the Production of History [ดับเสียงอดีตกาล ว่าด้วยอำนาจและการผลิตประวัติศาสตร์] ว่า

สิ่งที่เรียกกันว่า “มรดก” ของเรื่องสยดสยองในอดีต–ระบบทาส การล่าอาณานิคม หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว–มันตกทอดมาถึงเราได้ก็ด้วยการต่ออายุเท่านั้น และการต่ออายุนั้นก็เกิดเฉพาะในปัจจุบันขณะ ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าจะพูดถึง “อดีตกาล” ความซื่อตรงของเราก็ยังอยู่กับการต่อสู้ในปัจจุบันของเรา เฉพาะในความสัมพันธ์กับปัจจุบันอันนี้เท่านั้นที่เราจะสามารถถือตนว่าถูกต้องเที่ยงตรงหรือผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลกไปจากอดีตที่เราเลือกรับรู้ (151)

ดังนี้แล้ว ความซื่อตรงจึงไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริง หากแต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อข้อเท็จจริง และ “ข้อเท็จจริง” เหล่านั้นก็นับรวมเรื่องปัจจุบันด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่าคนสมัยนี้จำนวนมากมานั่งเถียงกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับ “ความเป็นลาว” ของยุคสมัยที่ไม่เคยมีใครเกิดทัน ย่อมหมายความว่าอดีตอันนั้นมีมรดก อดีตอันนั้นถูกต่ออายุอยู่ยืนมาจนถึงวันนี้ ใช่เพียงผีที่ถูกปลุกมาหลอนประสาทใคร

มรดกของการลบเลือนชาติพันธุ์ทิ้งจะต้องถูกเปิดโปงและแทงเข้ากลางหลัง การทรยศนี้อาจอาศัยทั้งเรี่ยวแรงที่ปั่นไฟมาจากความโกรธแค้นต่อความไม่ยุติธรรม ผสมกับพลังเหนี่ยวนำของความภักดีต่ออุดมการณ์

ด้วยมุ่งมอง “อดีตกาล” อย่างภววิสัย ผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์หลายคนละเลยมองข้ามปัจจุบันที่กำลังเดือดดาล แต่การทำเช่นนี้ก็ลงเอยเปิดโปงบทบาทของคนนั้นๆ ว่าไม่ได้อยู่เหนือพ้นอัตวิสัยแต่อย่างใด ยิ่งพยายาม “ถูกต้องเที่ยงตรง” ต่อ “บริบท” อดีตเพียงใด ก็ยิ่งเสี่ยงจะตัดขาดอดีตจากปัจจุบัน เมื่อตัดบริบทที่ไหลเชื่อมถึงกันด้วยคำว่า “บริบท” ที่เป็นเอกเทศแล้ว การศึกษา “อดีตกาล” ก็เข้าทางความคิดที่ว่าการ “ยึดมันถือมั่นกับชาติพันธุ์อะไรมากมาย” เป็นเรื่องผิดยุคสมัย เราต้องเรียนรู้อย่างวางใจเป็นกลางเท่านั้น–ไม่ต้องมีอารมณ์ความรู้สึกอะไร ไม่ต้องลงมือทำอะไร

ถ้าหากไม่บังคับให้คนพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน คนก็สามารถจะทำไม่รู้ไม่เห็นชีวิตทางการเมืองของคนที่อยู่ชายขอบได้ต่อไป เย็นสบายในความคิดอย่างที่คนขับแท็กซี่ชาวไทยเชื้อสายจีนของเบ็น แอนเดอร์สัน พูดถึง “คนไทยชนบท” ไว้ว่า

เขาเป็นคนจิตใจดี แต่แตกต่างจากคนจีนอยู่ทีเดียว เขามีความสุขแล้วขอให้มีอาหารดีๆ ไว้กิน มีเหล้าไม่อั้น และมีเซ็กซ์ไม่ขาด เขาไม่มีหรอกการเมือง

พวกเรามาทำให้พวกเขาเห็นกันเถอะว่าการเมืองของพวกเราหน้าตาเป็นยังไง.

image_pdfimage_print