โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ – พบผู้ป่วยติดเตียงวัย 102 ปีมีลูกสาววัย 68 และ 70 ปีดูแลข้างกาย ในชุมชนซึ่งมีผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรที่อยู่จริงในพื้นที่ และผู้สูงอายุรวมกลุ่มเข้มแข็งออกกำลังกาย-จำศีล-ออมทรัพย์

จากซ้ายไปขวา: ยายทองอยู่ หงษ์อินทร์ อายุ 70 ปี ยายน้อย ฉิมมาลี อายุ 102 ปี ยายจรรยา ฉิมมาลี อายุ 68 ปี

เอิ้นหาแต่แม่

“แม่ๆ”

เสียงของยายคนหนึ่งดังขึ้น เรียกให้ยายที่อยู่ข้างๆ สองคนกระเถิบเข้าไปพูดคุยด้วย

“แม่บ่อยู่ แม่ไปวัด”

“ไปจำศีลติ [ไปจำศีลรึ]”

“เอ้อ”

นี่คือบทสนทนาที่เคยเกิดขึ้นระหว่างยายจรรยา ฉิมมาลี อายุ 68 ปี ยายทองอยู่ หงษ์อินทร์ อายุ 70 ปี และยายน้อย ฉิมมาลี ผู้เป็นแม่ของทั้งสอง ด้วยวัย 102 ปี ยายน้อยเป็นผู้มีอายุยืนที่สุดในหมู่บ้านหนองแรต หมู่ 5 ต.ขวาวใหญ่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์

“เอิ้นหาแต่แม่” ผู้เป็นลูกเล่า “ว่าแม่ตายแล้วเพิ่นบ่เชื่อ”

ยายน้อยเป็นหนึ่งใน 13 ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในตำบลขวาวใหญ่ แม้จะออกไปไหนไม่ได้ ยายน้อยก็มีอารมณ์ผ่องใส แม้จะไม่มีฟันไว้ขบเคี้ยวอาหารแล้ว ลูกทั้งสองก็เล่าว่ายายน้อยยังกินข้าวสวยและไก่ย่างได้ด้วยแรงเหงือก และแม้จะความจำเสื่อมจำลูกของตัวเองไม่ได้ บางครั้งเรียกลูกเป็นแม่ แต่ถ้าคันหลังครั้งใดก็มีคนช่วยเกาให้อยู่เสมอ

ยายน้อย ฉิมมาลี ตะแคงตัวขอให้ลูกสาวช่วยเกาหลั

ในยามสายใกล้เที่ยง สมาชิกวัยทำงาน 3-4 คนของครอบครัวต่างไม่อยู่บ้าน เหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ดูแลกันเองอย่างปกติธรรมดา

นอกจากคนในครอบครัวจะดูแลกันเองแล้ว บ้านหนองแรตยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงเป็นครั้งคราว โดยกลุ่มผู้สูงอายุมีสมาชิกถึง 103 คน ในชุมชนที่มีคนอยู่จริง 400 กว่าคนจาก 155 ครัวเรือน

เลื่อนทอง โสปัญหริ ประธานกลุ่มผู้สูงอายุบ้านหนองแรต อายุ 66 ปี กล่าวว่าตั้งแต่รวมกลุ่มผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ มาเมื่อปี 2555 ความผูกพันในชุมชนก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สมาชิกได้ดูแลสุขภาพร่วมกันผ่านการออกกำลังกายสัปดาห์ละสามครั้ง และการเข้าวัดจำศีลทุกวันพระ

ในรอบปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงอายุบ้านหนองแรตได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวน 50,000 บาทจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการทำกิจกรรมร่วมกันในบางโอกาส เช่น การทำผ้าป่า การบริจาคเงินทำถนน และการช่วยเหลือยามเสียชีวิต

วันที่ผู้สื่อข่าวไปที่บ้านหนองแรตเป็นวันพระพอดี ที่วัดประจำชุมชนมีผู้สูงอายุทั้งชายหญิงนุ่งขาวจำศีลอยู่กว่า 26 คน ซึ่งไพศรี ศรีไพร ผู้ใหญ่บ้านหนองแรตกล่าวว่านับเป็นจำนวนที่สูงกว่าจำนวนผู้จำศีลในหมู่บ้านรอบๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเสียด้วยซ้ำ

อยากไปหาลูกเต้า

“เป็นหญังจั่งบ่เอาขนมมาต้อน [ทำไมถึงไม่เอาขนมมาฝาก]”

ยายแปะ หัดกา อายุ 93 ปี ผู้ป่วยติดเตียงอีกคนหนึ่งของบ้านหนองแรตถามขึ้น คล้ายคำตัดพ้อแต่ก็ชวนหัวจนคนที่พามาเยี่ยมระเบิดเสียงหัวเราะ

ผู้สื่อข่าวทราบภายหลังว่า เมื่อกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมาเยี่ยมยายแปะ มักจะเอาขนมติดไม้ติดมือมาฝากเสมอ

“พี่ก็ลืม ขอโทษ” สติมาภรณ์ พวกดี ผู้ประสานงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนบ้านหนองแรต อายุ 42 ปี ขอโทษขอโพยผู้สื่อข่าว บอกว่าลืมฝากขนมไปให้เสียสนิท

ยายแปะ หัดกา อายุ 93 ปี ตามองไม่เห็นและหูได้ยินเพียงข้างเดียว ขอให้ผู้สื่อข่าวประแป้งให้ทั่วหลังตลอดไหล่เพื่อกันเหนียวตัวยามนอน

เมื่อทราบว่ายายแปะหูตึง ผู้สื่อข่าวก็ตะโกนใส่หูยายแปะอยู่นานกว่าจะรู้ตัวว่าตะโกนผิดข้าง มีแต่ข้างซ้ายเท่านั้นที่ยังพอใช้การได้ เมื่อเริ่มสื่อสารกันรู้เรื่อง ยายแปะก็เริ่มพูดเรื่องต่างๆ เสียงดังฟังชัด

“มันบ่ไข้เดิ๊ก พอแต่ญ่างบ่ได้” คือคำตอบต่อคำถามว่าเจ็บป่วยบ้างหรือไม่

“อยากไปเฮียนลูกเฮียนเต้า แต่ว่าญ่างบ่ได้ [อยากไปบ้านลูกเต้า แต่ว่าเดินไม่ได้]”

ที่บ้านยายแปะมียายสอน ตื้อแอ้ ลูกสะใภ้วัย 56 ปีและเด็กวัย 8 ขวบอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ยายแปะมองไม่เห็นและมีปัญหาสะโพกที่ทำให้ไม่สามารถออกจากบ้านได้

เมื่อทราบว่าผู้สื่อข่าวเดินทางมาจากเมืองสุรินทร์ ยายแปะก็ถามว่า “ฮู้จักบุ๋มบ่” คนรอบข้างอธิบายให้เข้าใจว่าบุ๋มเป็นชื่อหลานที่ไปทำงานในเมือง

“หมู่พวกเกิดมานำกันก็ตายเบิดแล้ว” ยายแปะกล่าว “มื้อเหิงละข้อยสิตาย [เมื่อไหร่ละฉันจะตาย] ข้อยรำคาญ ผมก็ญาว คันก็คัน”

บุษมาลี แก้วสุจริต ผู้อำนวยการรพ.สต.ขวาวใหญ่ กล่าวว่าผู้สูงอายุในบ้านหนองแรตมีสิ่งแวดล้อมที่ดี กำลังใจค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งหลายคนเจ็บป่วยหนักกว่า เช่นเป็นโรคเบาหวานต้องตัดขา หรือขาดผู้ดูแลใกล้ชิด

“สิ่งแวดล้อมจะดีสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยไม่ถูกทอดทิ้ง แม้คนไข้อาจไม่ค่อยมีกำลังใจบ้าง” ผู้อำนวยการรพ.สต.ขวาวใหญ่ กล่าวถึงบ้านหนองแรต

บุษมาลีกล่าวเสริมว่า รพ.สต. ทำงานร่วมกันกับหลายฝ่าย ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทางตำบลขวาวใหญ่มีงบประมาณดูแลผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 60,000 บาท ซึ่งอบต. เป็นผู้ส่งโครงการสมัครไปทางหน่วยงานสาธารณสุข

ด้านการดูแลต่อเนื่อง บุษมาลีอธิบายว่าทางรพ.สต. ทำงานประสานกับพยาบาลวิชาชีพ ผู้รับหน้าที่เป็น “CM” หรือ care manager ออกแบบแผนการดูแลต่อเนื่องและสรุปความก้าวหน้าผู้ป่วยติดเตียงทั้ง 13 รายในตำบลขวาวใหญ่ ประสานกับผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุซึ่งเพิ่งผ่านการฝึกอบรมมาในปีนี้จำนวน 4 คน ยกระดับจากอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็น “CG” หรือ caregiver โดยทั้งหมดนี้มีแพทย์ที่ปรึกษาซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทาง video conference

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ระบุว่าปี 2560 เป็นปีแรกของประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่มีประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ และประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุ (aging society) เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society)

การเปลี่ยนผ่านนี้หมายความว่า จากจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 7 ของประชากรที่อยู่จริงในพื้นที่ตามเกณฑ์ aging society สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะที่มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรตามเกณฑ์ aged society

กลุ่มผู้สูงอายุบ้านหนองแรต รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีสมาชิก 103 คน ในหมู่บ้านซึ่งมีจำนวน 155 ครัวเรือน ลูกบ้าน 647 คน นับเป็นร้อยละ 15.9 ของประชากร

แต่เมื่อไม่นับลูกบ้านผู้ไปทำงานต่างถิ่นจำนวนประมาณ 200 คน ก็นับว่ามีผู้สูงอายุอาศัยในชุมชนถึงประมาณร้อยละ 23 เลยทีเดียว เกินเส้นแบ่ง aged society ที่ร้อยละ 14 ไปไม่น้อย

ไพศรี ศรีไพร ผู้ใหญ่บ้านหนองแรต อายุ 52 ปี กล่าวว่ากลุ่มผู้สูงอายุมีความเข้มแข็งเรื่องการออมเงิน โดยมีกองทุนแม่ของแผ่นดิน และมีสถาบันการเงินชุมชนหักเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแต่ละคนเดือนละ 50 บาทไว้ออม

“ชมรมเรารวมกันได้ มีญาติธรรม” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว

ผู้ใหญ่บ้านเล่าอีกว่าเนื่องจากบ้านหนองแรตไม่ได้อยู่ติดทางดำ [ถนนราดยางมะตอย] แต่ก่อนทางราชการมักไม่คุ้นเคย จนราวๆ ปี 2547 ทางราชการจึงได้เลิกจำสับสนกันกับบ้านหัวแรตและบ้านหัวแรตนาโพธิ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่ในอำเภอศีขรภูมิเช่นเดียวกัน

บ้านหนองแรต ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2469 เดิมเขียนว่า หนองแรด เนื่องจากตั้งชื่อตามหนองที่มีผู้พบเห็นแรดมากินน้ำ แต่ทางราชการได้สะกดด้วย ต เต่า จึงเพี้ยนมาเป็น หนองแรต เช่นทุกวันนี้

image_pdfimage_print