อำนาจเจริญ/ยโสธร – อบรมเกษตรกรอำนาจเจริญหวังสร้างแรงจูงใจให้ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพที่สามารถปฏิบัติได้จริง ขณะที่พบชายต้องถูกตัดขาเพราะลุยน้ำในไร่อ้อยที่ยโสธรแล้วเกิดโรคหนังเน่า คาดเกี่ยวพันกับสารพาราควอต

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ที่ดาวทองฟาร์ม บ้านคำกลาง ม.7 ต.โนนหนามแข้ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เดอะอีสานเรคคอร์ดนัดหมายกับนายพรณรงค์ ปั้นทอง เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ เพื่อสังเกตการอบรมโครงการสร้างทักษะส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้กับเกษตกรตำบลโนนหนามแท่ง จำนวน 50 คน

การอบรมเกษตรกรในโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตกรรายย่อย ที่ดาวทองฟาร์ม ต.โนนหนามแข้ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2561 มีนายพรณรงค์ ปั้นทอง เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ เป็นวิทยากร

การอบรมมีขึ้นเพื่อการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ (ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ อาทิ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช) เนื่องจากเป็นวิถีการเกษตรที่มีความยั่งยืน

การลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องมาจากมีข้อสงสัยกรณี คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2561 ไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะประกาศยกเลิก ทั้งที่หลายประเทศรวมถึงประเทศจีนผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ได้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตไปแล้ว

เลิกใช้สารเคมีได้แต่ทำไมยังไม่แบน

“เงินกับความตาย คือสิ่งที่ทำให้เกษตรกรได้คิดและเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์” นายสถิตย์ ม่วงกรุง หรือ สตีฟ เจ้าของ หจก. ส.สตีฟ ออร์แกนิค ฟาร์ม ที่ชุมชนรุ่งอรุณ ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ กล่าวถึงวิธีเปลี่ยนใจเกษตรกร และอธิบายว่า “เงิน” คือรายได้ที่ดีกว่าของเกษตรอินทรีย์ ส่วนความเจ็บป่วยและ “ความตาย” คือสิ่งที่เกษตรกรจะได้รับหากยังฉีดพ่นสารเคมีอยู่

นายสถิตย์ ม่วงกรุง เจ้าของ หจก. ส.สตีฟ ออร์แกนิค ฟาร์ม อบรมเกษตรกรเพื่อจูงใจให้มาเพาะปลูกวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่ดาวทองฟาร์ม จ.อำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2561

ส่วนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย นายสถิตย์กล่าวว่า ตนอยู่กับสารเคมีมาตั้งแต่เด็ก พอมาทำงานที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จนได้เป็นผู้จัดการสาขา ก็ได้เห็นถึงผลร้ายของสารเคมีชัดเจนขึ้น เพราะตนได้พบกับชาวบ้านที่ฉีดพ่นยาและเห็นพวกเขาเสียชีวิตไปหลายคน ตอนนี้ตนลาออกจากงานที่ ธ.ก.ส. มาเป็นเกษตรกรอินทรีย์เต็มตัว

“ประเทศไทยเป็นแหล่งทิ้งสารเคมีของต่างประเทศ ต้นทุนไม่ถึงลิตรละ 5-10 บาท แต่มาขายลิตรละร้อย คนบ้านเราไม่ได้โง่แต่ไม่มีความรู้เรื่องนี้” นายสถิตย์กล่าวและว่า รัฐบาลและพ่อค้าทำให้การขายสารเคมีเป็นเรื่องปกติ ถ้ารณรงค์ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี แต่จะเกิดความเสียหายต่อบริษัทนำเข้าสารเคมี และถ้าหากว่าไม่มีผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรมวิชาการการเกษตร ก็จะสามารถยกเลิกสารเคมีได้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขร้องขอแล้ว

อดีตผู้จัดการสาขา ธ.ก.ส. ผู้นี้ บอกเล่าประสบการณ์ว่า สหกรณ์ ธ.ก.ส. เคยรับยาฆ่าหญ้า [สารเคมีกำจัดวัชพืช] มาขาย แต่เหลือค้างประมาณ 2,000 – 3,000 ลิตรที่ขายไม่ออก จึงกังวลว่าจะนำสารอันตรายนี้ไปทำลายอย่างไร แต่ก่อนหน้านี้ขณะขายยาฆ่าหญ้าให้เกษตรกรนับแสนลิตรกลับไม่เคยกลัวถึงอันตราย

“ผู้ว่าฯ [ผู้ว่าราชการจังหวัด] ก็สั่งเลยว่างดขายไม่ส่งเสริม โรงงานอ้อย [โรงงานน้ำตาล] ก็บอกว่าไม่ส่งเสริมการใช้พาราควอตกับไกลโฟเซต” นายสถิตย์กล่าว

“แต่ด้านหลังโรงงาน?” ผู้สื่อข่าวถาม

“ก็เรื่องของพวกคุณจะใช้ แต่โรงงานไม่ส่งเสริม” นายสถิตย์ตอบ

“ก็ดีเพราะถ้าโรงงานก็เช็คได้ว่าใช้ ก็ไม่รับซื้อ” ผู้สื่อข่าวกล่าว

“ไม่ได้เพราะโรงงานก็จะไม่มีอ้อยเข้าโรงงาน” นายสถิตย์กล่าวทิ้งท้าย

หากคิดตามที่สตีฟเล่าจะเกิดคำถามว่า สาเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ผู้มีอำนาจไม่แบนสารเคมีทางการเกษตร

นางเกสดา วิไลรัตน์ เจ้าของไร่อ้อยพื้นที่ 120 ไร่ ที่อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เปลี่ยนจากการเพาะปลูกแบบเคมีมาเพาะปลูกแบบอินทรีย์ เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบต่อสุขภาพ

ความสะดวกคือเหตุผลที่ยังใช้สารเคมี

มารับทราบมุมของผู้ทำเกษตรเคมีจากหนึ่งในเกษตรกรที่เข้ารอบรม นางเกสดา วิไลรัตน์ เจ้าของไร่อ้อย ที่บ้านทับเมย ต.โนนหนามแข้ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ปลูกไร่อ้อยมาตั้งแต่ปี 2554 ช่วงแรกปลูกในพื้นที่ของตัวเองแค่สิบกว่าไร่จากนั้นขยายพื้นที่โดยการเช่าที่ดินเพิ่ม จนทำให้มีไร่อ้อยขนาด 120 ไร่ ปี 2560 มีรายได้จากการขายอ้อย 800 ตันกว่า 6 แสนบาท ตนปลูกอ้อยร่วมกับสมาชิกคนอื่นอีกหลายคนมีพื้นที่รวมกันพันกว่าไร่

นางเกสดากล่าวว่า ตนทำไร่อ้อยร่วมกับน้องชาย ปีแรกที่ปลูกอ้อย (2544) ใช้สารเคมี แต่ปีต่อมาก็ไม่ได้ใช้สารเคมี สาเหตุที่เลิกใช้สารเคมีเป็นเพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพหากเข้าไปในไร่ของตัวเอง หลังจากนั้นก็เพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ก่อนปลูกอ้อยจะปลูกปอเทืองแล้วไถกลบให้เป็นปุ๋ยพืชสด ส่วนการกำจัดหญ้าใช้วิธีจ้างคนงานครั้งละ 5 คนมาตัดหญ้า และใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กตัดหญ้า

อีกสาเหตุที่ทำให้เลิกใช้สารเคมี นางเกสดากล่าวว่า โรงงานน้ำตาลส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยพืชสดในไร่อ้อย โดยจะให้เงินไร่ละ 500 บาทกรณีมีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ ส่วนถ้ามีที่ดินเกิน 15 ไร่จะให้ไร่ละ 700 บาท  

เจ้าของไร่อ้อยผู้นี้เล่าอีกว่า การทำไร่อ้อยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้า แต่สาเหตุที่มีคนใช้สารเคมีเพราะเป็นวิธีที่สะดวก เนื่องจากสำหรับคนทำไร่อ้อยขนาดใหญ่ การจ้างคนมาตัดหญ้าจะสร้างความยากลำบากเพราะคนงานหายาก และทำงานต่อวันได้จำนวนน้อย ค่าจ้างคนงานก็สูงตกวันละ 500 บาท และคนทำไร่อ้อยขนาดใหญ่ยังต้องมีรถไถ ถ้าไม่มีรถไถก็ต้องเสียค่าเช่า ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง สมาชิกในกลุ่มของตนจึงทำไร่อ้อยโดยใช้สารเคมี แต่เมื่อจะฉีดยาฆ่าหญ้าก็ไม่ได้ทำเอง แต่ว่าจ้างคนงานมาฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะหวั่นเกรงว่าตัวเองจะได้รับอันตราย

ทำไร่นาสวนผสมไม่ต้องใช้สารเคมี

ถัดจากฟาร์มดาวทองออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร ที่หมู่ 6 ต.โนนหนามแข้ง เป็นที่ดินขนาดประมาณ 20 ไร่ของวิลาชัย สิงหา เกษตรกรไร่นาสวนผสม มีอาทิ สวนกล้วย สวนมะนาว ไร่พริก และไร่มัน เป็นต้น ส่วนที่นาข้าวอยู่อีกบริเวณ

“มันก็ฉีดมาก็เมื่อย ไม่มีแรง มันเมาเหมือนกินเหล้า แต่มันคนละอย่างกับเมาเหล้า” วิลาชัยเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้นหลังฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้เขาจะปกป้องตัวเองจากการฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าบู้ท แต่สารเคมีก็ยังซึมเข้าร่างกาย “แต่ก่อนพอฉีดเสร็จแล้วก็ต้องนอนเลย หลับเป็นตายเลย” คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเลิกใช้สารเคมี

หลังเรียนรู้การทำเกษตรชีวภาพจากเข้าอบรม ทำให้วิลาชัยทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพสำหรับป้องกันแมลงไว้ใช้เอง รวมถึงยังทำบ่อก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหาร ครอบครัวนี้จึงไม่ต้องซื้อแก้สหุงต้ม

การปลูกต้นกล้วยในไร่ของ นายวิลาชัย สิงหา ต้องเว้นระยะห่างระหว่างต้นกล้วยเพื่อให้นำรถไถเข้าไปกำจัดวัชพืชทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า

วิธีฆ่าหญ้าวิลาชัยจะใช้รถไถขนาดเล็กในการไถกลบหญ้าระหว่างต้นกล้วยในสวน วิธีนี้ต้องปลูกต้นไม้ให้มีระยะห่างกันพอให้นำรถไถเข้าไปได้ แต่ถ้าจะทำไร่เขาก็จะไถกลบต้นไม้เดิมและต้นหญ้าให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับเพาะปลูกผลผลิต ทิ้งไว้ 7 วันก็ไถอีกครั้งและสามารถเพาะปลูกใหม่ได้

“หลังเลิกใช้สารเคมี รายได้ก็เท่าเดิม แต่ต้นทุนลดลง และสุขภาพดีขึ้น” วิลาชัยกล่าว

ผู้พิการจากไร่อ้อยที่ใช้สารเคมี

วันถัดมา (28 มิ.ย. 61) ที่จ.ยโสธร น.ส.วสุธิดา ไชยสำแดง และน.ส.ปัทมา ราตรี คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจังหวัดยโสธร พาผู้สื่อข่าวไปพบกับผู้ได้รับผลกระทบจากสารพาราควอต

จากการพูดคุยเบื้องต้นทำให้ทราบว่า ปี 2560 ที่จ.ยโสธรมีผู้เสียชีวิต พิการ และเจ็บป่วยหลายคน จากการสัมผัสกับน้ำในพื้นที่การเกษตรที่ใช้สารเคมีซึ่งรวมถึงสารพาราควอต โรคดังกล่าวคือโรคหนังเน่า (Necrotizing Fasciitis) ที่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการตายของกล้ามเนื้อและผิวหนัง

นายพิชิต มงคล ชาวอ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ถูกตัดขาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากเข้าไปในไร่อ้อยที่มีการใช้สารเคมีจนป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า

เดินทางประมาณ 40 นาทีก็มาถึงบ้านปูนชั้นเดียวซึ่งเป็นที่พักของ พิชิต มงคล แห่งบ้านนาดี หมู่ 3 ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ชายวัย 44 ปีผู้นี้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในครอบครัวเกษตรกร ก่อนกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดเมื่อปี 2557 พิชิตทำงานรับจ้างที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี

พิชิตไม่ได้ทำการเกษตรเพราะป่วยเป็นเบาหวาน กิจวัตรของเขาคือการจับปลา ล่านก ล่าหนู ในละแวกหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลายชนิด อาทิ ไร่อ้อย ไร่มันสัมปะหลัง และนาข้าว ที่ล้วนผ่านการฉีดพ่นสารเคมี

พิชิตลุกจากการนอนบนแคร่ไม้ไผ่หน้าบ้านมาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะออกไปดักหนูและเก็บมะม่วงในไร่อ้อยตามปกติ ตนมีแผลเล็กๆ จากการถูกใบไม้บาดแล้วเกิดอาการบวมที่ขาขวา ผิวหนังเป็นตุ่มเหมือนถูกน้ำร้อนลวก

หลังป่วยได้หนึ่งสัปดาห์เขาจึงถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลป่าติ้ว แล้วถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลยโสธร แพทย์เขียนในเวชระเบียนว่าเป็น Hemorrhagic bleb หรือ อาการตุ่มแดง อาการคัน แสบร้อน ต่อมาเขาถูกตัดขาขวาเหนือเข่าเพื่อรักษาอาการ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561

เขาฝากบอกคนทั่วไปว่า “ถ้าใครรู้ตัวว่าเป็นแผลก็อย่าเข้าไปในไร่อ้อยเหมือนกับเขา”

ส่งพิสูจน์สารพาราควอตตกค้าง

เพื่อหาข้อพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์ถึงปริมาณสารพาราควอตตกค้างในพื้นที่จ.ยโสธร เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจังหวัดยโสธรจึงขอความร่วมมือไปยัง น.ส.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผอ.สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร นักวิจัยผู้มีประสบการณ์ตรวจหาสารเคมีตกค้างทั่วประเทศ เพื่อให้ตรวจหาสารเคมีกำจัดวัชพืชตกค้างในดินและน้ำ โดยเก็บตัวอย่างจากจ.ยโสธรเองแล้วส่งไปให้ตรวจวิจัย

น.ส.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผอ.สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ม.นเรศวร ผู้ศึกษาปริมาณสารพาราควอตสะสมในสิ่งแวดล้อม

น.ส.พวงรัตน์บอกว่า ได้รับตัวอย่างดินและน้ำเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลการทดสอบเบื้องต้นเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากต้องประมวลผลและตรวจทานอีกรอบ

“กรณีพาราควอตมันสะสมเยอะในดิน ถ้ามันไม่อิ่มตัวก็ไม่ออกมา ถ้ามันอิ่มตัวเมื่อไหร่ มันถึงจะออกมาที่น้ำ” ผอ.สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้สารพาราควอตไหลปนเปื้อนจากดินลงไปในแหล่งน้ำ

ความเกี่ยวพันระหว่างสารพาราควอตกับโรคหนังเน่าแม้ยังไม่มีผลยืนยันทางการแพทย์ แต่น.ส.พวงรัตน์ได้กล่าวว่า เมื่อคนสัมผัสน้ำที่มีสารเคมีเข้มข้นจะทำให้เกิดแผลผุพองและผิวหนังไหม้ แล้วถ้าเป็นแผลขณะลุยน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียเชื้อโรคหนังเน่าอยู่ด้วย อะไรจะเกิดขึ้น

แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างสารพาราควอตกับโรคหนังเน่า แต่ก็พบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพในพื้นที่ซึ่งใช้สารพาราควอต และพื้นที่ใช้สารพาราควอตก็มักพบผู้ป่วยโรคหนังเน่า กรณีดังกล่าวจึงกระทบต่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย อีกทั้งการทำเกษตรเคมีไม่ใช่หนทางเดียวของการเพาะปลูก แต่เกษตรกรยังสามารถเลือกทำเกษตรกรอินทรีย์ได้ถ้ามีการส่งเสริมอย่างทั่วถึง

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นหรือไม่ในยุคของรัฐบาลรัฐประหารที่ประกาศวิสัยทัศน์ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” แต่ไม่รู้ว่าเป็นความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ของคนกลุ่มใดกันแน่

image_pdfimage_print