เครือข่ายคณะทำงานประชาชนภาคอีสานไม่เจรจากับนายทุนโรงงานน้ำตาลที่ติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน ยืนยันข้อเรียกร้องเดิมคือคัดค้านอุตสาหกรรมกรรมชีวภาพ พร้อมขอให้ กกพ.หยุดออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 ที่ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรไฟฟ้าชีวมวล จ.อำนาจเจริญ ต่อนายวิชยันต์ บูรณะกิจภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อให้ส่งต่อไปยังประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 เครือข่ายคณะทำงานประชาชนภาคอีสานซึ่งประกอบด้วยองค์กรที่ทำงานภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมกรรมชีวภาพ และอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในอีสาน 28 โรงงาน และโรงงานขยายกำลังการผลิตในโรงงานน้ำตาลเดิม 1 โรงงาน พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงงาน ซึ่งนำไปสู่การคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลายพื้นที่

คณะทำงานเครือข่ายประชาชนภาคอีสานได้ร่วมกันประกาศจุดยืน “มูนมังต้องหวงแหนรักษา นิเวศอีสานไม่สามารถรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีก” เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560

จากนั้นได้เปิดข้อมูลการศึกษางานวิจัยเรื่องผลกระทบอีสานจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ และออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 เพื่อร่วมแถลงคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็น โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด และแถลงสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างสันติของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และภาคีเครือข่าย ที่เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนและยุติโครงการโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2561

คณะทำงานเครือข่ายประชาชนภาคอีสานย้ำในข้อเรียกร้องทุกครั้งว่า รัฐบาลต้องยุติการอนุมัติโครงการทั้งหมดของผู้ประกอบการเอาไว้ก่อน รัฐบาลต้องใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลและความเข้าใจที่เพียงพอเพื่อจะนำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ และขอให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558 – 2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ (ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ) ซึ่งวางเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มอย่างชัดเจน

ขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลยังเพิกเฉยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้อง

ผู้ประกอบการรายใหญ่โดยฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ได้หาช่องทางเพื่อขอเจรจากับคณะทำงานเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน โดยติดต่อผ่านทางเจ้าหน้าที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช.

คณะทำงานฯ ได้ลงความเห็นร่วมกันว่า จะไม่ขอเจรจากับผู้ประกอบการรายดังกล่าว และ พอช. หรือ สภาองค์กรชุมชน ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการตัดสินใจหรือการแสดงจุดยืนของคณะทำงานฯ

ทั้งนี้ คณะทำงานเครือข่ายประชาชนภาคอีสานและเครือข่ายยืนยันว่า จะร่วมกันเรียกร้องและคัดค้านอุตสาหกรรมกรรมชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ จนถึงที่สุด เพื่อปกป้องระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนอีสานไม่ให้ถูกทำลายจากอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกต่อไป

ท้ายนี้ เครือข่ายประชาชนภาคอีสานขอประณามคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เร่งรัดการพิจารณาใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ในตำบลเชียงเพ็ง โดยละเลยที่จะรับฟังเสียงคัดค้านของประชาชน  ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและภาคีเครือข่ายได้ยื่นเรื่องคัดค้านประกอบการพิจารณาเพื่อชะลอการออกใบอนุญาตไว้แล้ว ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นการมีส่วนร่วม ทรัพยากร และสุขภาพ

การเร่งรัดพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการในวันที่ 17 ตุลาคม 2561ถือเป็นการละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ เครือข่ายประชาชนภาคอีสานขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและภาคีเครือข่ายว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะต้องชะลอการพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลจะศึกษาและประเมินผลกระทบในทุกมิติ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมสำหรับการดำเนินนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบนิเวศ สังคม และประชาชนในภาคอีสาน

เครือข่ายของคณะทำงานเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน ประกอบด้วย

– คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช)

– เครือข่ายประชาชนอีสานติดตามนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้า  

– เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

– เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน

– ่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

– เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

– เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน

– เครือข่ายพลังงานยั่งยืนภาคอีสาน

– เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน

– เครือข่ายชุมชนเพื่อปฏิรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี

– ขบวนการอีสานใหม่

– ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชน จ.นครราชสีมา

– ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

– สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

– ชมรมรักษ์ปทุมรัตต์

– เครือข่ายพลเมืองอาสา ตำบลบ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น

– กลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

– กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชนภาคอีสาน  

– กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น  

– กลุ่มรักษ์บ้านเกิด ตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

– กลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง บ้านไผ่

– กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซยายเชียงเพ็ง

– กลุ่มโอโซนรักษ์บ้านเกิด

– กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชน (ดาวดิน)

– กลุ่มเกษตรธรรม ตำบลโนนสะอาด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

– ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

– น.ส.ภัทรา วรลักษณ์ ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

– สดใส สร่างโศรก

กลุ่มรักษ์น้ำอูน

image_pdfimage_print