โดย กรรตษณะ ประทุมมาตย์

สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์อำเภอวานรนิวาสนำเสนองานวิจัยไทบ้านบนเวทีงานเสวนา “อนาคตไทวานรฯ คำถามต่อการสำรวจแร่โพแทช” ณ สวนสาธารณะเทศบาลตำบลวานรนิวาส อ.เภอวานรนิวาส จ.สกลนคร

สกลนคร – กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสจัดเวทีอนาคตไทยวานรฯ เพื่อบอกกล่าวถึงผลกระทบหากมีเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ พร้อมเปิดเวทีให้แสดงความคาดหวังต่ออนาคต โดยมีข้อเสนอให้พัฒนาต่อยอดสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่งเสริมการท่องเที่ยวและทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อปฏิเสธปุ๋ยเคมีที่มีส่วนผสมของโปแตสเซียมที่มาจากเหมืองโพแทช

ที่สวนสาธารณะเทศบาลตำบลวานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสร่วมกันจัดเวที “อนาคตไทยวานรฯ” คำถามต่อการสำรวจแร่โพแทช

จัดงานเพื่อแสดงผลกระทบหากมีเหมืองแร่โพแทช

นายกิจตกรณ์ น้อยตาแสง สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส และเกษตรกรบ้านหินกอง หมู่ 17 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า ต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการสำรวจเหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่ประมาณ 1 แสน 2 หมื่นไร่ ที่อ.วานรนิวาส ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และเอกสารแนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช เนื่องจากชาวอำเภอวานรนิวาสบางส่วนยังไม่รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช จึงอยากให้ชาวบ้านรับรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น และต้องการให้ชาวบ้านตระหนักว่าโครงการเหมืองแร่โพแทชเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านมากน้อยเพียงใด และอนาคตของอำเภอวานรนิวาสจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างหากมีโครงการเหมืองแร่โพแทช

นายกิจตกรณ์ น้อยตาแสง สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส เผยต้องการจัดเวทีอนาคตไทยวานรฯ เพื่อให้ชาวอำเภอวานรนิวาสรับทราบถึงโครงการเหมืองแร่โพแทช

“สิ่งสำคัญคือ ต้องการปลูกจิตสำนึกชาวอำเภอวานรนิวาสให้รับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เหมือนชื่อที่ว่า อนาคตไทวานรกับคำถามต่อการสำรวจแร่โพแทช” นายกิตติกรณ์กล่าว

นอกจากเวทีเสวนาแล้ว ภายในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เช่น บวบ ฟักทอง ข้าว และกล้วย เป็นต้น ผ้าทอมือของสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส การจัดแสดงโปสเตอร์และภาพถ่ายกิจกรรมของกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส  ภาพถ่ายงานวิจัยไทบ้าน (งานวิจัยของชาวบ้าน) โปสเตอร์แผนที่ระบบนิเวศภายในอำเภอวานรนิวาส และโปสเตอร์แสดงข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โพแทชในภาคอีสาน

ความคาดหวังของต่อนาคตของชาวอำเภอวานรนิวาส

เวที “อนาคตไทยวานรฯ” คำถามต่อการสำรวจแร่โพแทช ยังเปิดโอกาสให้ชาวอำเภอวานรนิวาสได้สะท้อนถึงความคาดหวังต่ออนาคต

นายกิจตกรณ์กล่าวอีกว่า อยากให้การพัฒนาของอำเภอวานรนิวาส มีความสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ โดยต้องพิจารณาว่าในแต่ละพื้นที่ชาวบ้านมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างไร แล้วเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนตามศักยภาพนั้น โดยพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่มีอยู่แล้ว

นายกิจตกรณ์ยกตัวอย่างอาชีพในหมู่บ้านของเขา คือ บ้านหินกอง หมู่ 17 ว่า หมู่บ้านหินกองมีชาวบ้านประมาณ 30 ครอบครัว ประกอบอาชีพขายไอศกรีม ตนจึงอยากให้ช่วยส่งเสริมไอศกรีมให้เป็นตราผลิตภัณฑ์ (แบรนด์) ที่จะสามารถออกสู่สายตาคนในประเทศ หรือออกสู่สายตาคนในระดับโลกได้

“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ อยากให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของไทวานรยังคงอยู่เหมือนเดิม และพัฒนาไปแนวทางแนวราบไปกับไทบ้านรากหญ้าจริงๆ” นายกิจตกรณ์ กล่าว

วานรนิวาสมีความอุดมสมบูรณ์ที่แตกต่างหลากหลาย

นางมะลิ แสนบุญศิริ สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส และเกษตรกรบ้านหินกอง หมู่ 17 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร กล่าวว่า การจัดเวทีแสดงผลผลิตทางการเกษตรและงานวิจัยไทบ้าน เพื่อต้องการสื่อสารกับชาวอำเภอวานรนิวาสว่า ลักษณะพื้นที่ของอำเภอวานรนิวาสเป็นอย่างไร มีระบบนิเวศและทรัพยากรอะไรบ้าง เพราะแม้ว่าจะอยู่ในอำเภอวานรนิวาสเช่นเดียวกัน แต่พื้นที่ของแต่ละตำบลและแต่ละหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ที่แตกต่างกัน จึงต้องการสื่อสารและสะท้อนให้ชาวบ้านได้ย้อนกลับไปศึกษาชุมชนของตนเองว่า มีทรัพยากรที่มีคุณค่าและควรหวงแหนเอาไว้ โดยไม่ให้ใครมาแย่งชิง

“ภูมิใจว่าพี่น้องเราสนใจ สนใจที่จะฟังข้อมูลเรื่องราวหมู่บ้านของตัวเองว่าอนาคตไทวานรจะไปในทิศทางไหน แล้วอนาคตในวันข้างหน้าของเราจะยังเอาเหมืองหรือไม่” นางมะลิ กล่าว

ส่วนความคาดหวังต่ออนาคต นางมะลิกล่าวว่า ตนอยากให้อำเภอวานรนิวาสพัฒนาบนพื้นฐานของการเกษตร โดยตนเองมองว่าพื้นที่ของอำเภอวานรนิวาสเหมาะสมกับการทำเกษตร เพราะแต่ละหมู่บ้านจะมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ห้วย เลิง (หนองน้ำ) และที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยโทง ที่ ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร  และตนอยากให้มีตลาดกลางรองรับผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ ที่คนในอำเภอวานรนิวาสสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของแต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน ไปวางขายและจัดจำหน่ายได้ โดยให้เป็นตลาดของส่วนรวมที่ไม่มีผู้ใดป็นเจ้าของ แต่ให้เป็นไปในลักษณะการใช้งานร่วมกัน โดยให้แต่ละหมู่บ้านจัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้งาน

น.ส.สุดตา คำน้อย สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส อยากให้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอวานรนิวาสและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่

พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของวานรนิวาส

นางสาวสุดตา คำน้อย สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส และเกษตรกรบ้านวังบง หมู่ 12 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร กล่าวว่า อยากให้พัฒนาอำเภอวานรนิวาสเป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ พัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ที่ ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์มีนักท่องเที่ยวจากภายในและนอกอำเภอวานรนิวาสเดินทางมาเล่นน้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยโทง แต่ยังติดปัญหาเรื่องห้องน้ำชำรุด ไม่เพียงพอ และไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน

นางสาวสุดตากล่าวอีกว่า ตนยังอยากให้รัฐบาลสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นของขึ้นชื่อของแต่ละหมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้านหินเหิบ หมู่ 6 ต.วานรนิวาส มีของขึ้นชื่อ คือผ้าไหมมัดหมี่ บ้านคอนศรี หมู่ 3 ต.คอนสวรรค์ ขึ้นชื่อเรื่องข้าวเม่าหวาน เป็นต้น และอยากให้พัฒนาให้อำเภอวานรนิวาสเป็นเมืองแห่งสมุนไพร เพราะงานวิจัยไทบ้าน (งานวิจัยของชาวบ้าน) ได้มีการรวบรวมข้อมูลสมุนไพรไว้แล้ว

“อยากให้มีการส่งเสริมการแปรรูปสมุนไพรเป็นสินค้า และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่จะสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่จะสามารถพึ่งตัวเองได้” นางสาวสุดตากล่าว

ทำเกษตรอินทรีย์ไม่พึ่งปุ๋ยจากธาตุโพแทช

นายนงค์ชัย พันธ์ดา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส และเกษตรกรบ้านวังบง หมู่ 12 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร กล่าวว่า อยากให้อำเภอวานรนิวาสมีวิถีการทำเกษตรแบบอินทรีย์โดยไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี เพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก  สร้างความปลอดภัยให้กับพืชผล และแสดงให้เห็นว่า ชุมชนสามารถทำการเกษตรได้โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยที่มีส่วนประกอบของธาตุโปแตเซียม ซึ่งเป็นธาตุที่สกัดมาจากแร่โพแทชที่กำลังมีการสำรวจเหมืองแร่ในพื้นที่

นายนงค์ชัยระบุว่า อยากให้อำเภอวานรนิวาสมีพื้นที่ป่าชุมชนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าในพื้นที่ของตนเอง แทนการถากถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ตนได้เริ่มทดลองปลูกป่าจำนวน 2 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมด 8 ไร่ ทดแทนการปลูกมันสัมปะหลัง โดยปลูกไม้ยืนต้น อาทิ แดง พะยูง และยางนา

นายนงค์ชัยกล่าวด้วยว่า จุดประสงค์ของการปลูกป่านอกจากจะต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว ตนยังอยากทำให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ได้ดูเป็นตัวอย่างว่าสามารถทำได้จริง

“เวลาเราเดินเข้าไปในป่า แล้วมีความรู้สึกชุ่มชื้น หายใจก็สะดวก ปีนี้จึงเริ่มปลูกและจะขยายต่อไปเรื่อยๆ” นายนงค์ชัยกล่าว

เสียงของเยาวชนอำเภอวานรนิวาส

ในงานเวทีเสวนายังมีเยาวชนในอำเภอวานรนิวาสให้ความสนใจและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เด็กชายนที ใบดี อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

เด็กชายนที ใบดี นักเรียนชั้นม. 2 โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส ต้องการให้รักษาจารีต ประเพณี และการเป็นสังคมเกษตรกรรม

เด็กชายนทีกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นเยาวชนและเป็นลูกหลานของคนอำเภอวานรนิวาสที่ได้เกิดและเติบโตที่นี่ ตนอยากให้ลูกหลานของตนในอนาคตเกิดและเติบโตที่นี่ด้วยเช่นกัน โดยต้องการให้คนวานรนิวาสช่วยกันดูแลรักษาสิ่งที่ดีงามไว้ เช่น จารีตประเพณี และการเป็นสังคมเกษตรกรรม และอยากให้ช่วยกันปกป้องการทำลายสิ่งที่ดีงามเหล่านี้

“อยากให้เขา (คนอำเภอวานรนิวาส) ช่วยดูแลไว้ เพราะว่าตอนนี้ถ้าเปรียบตัวผม ผมก็ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่เติบโตอะไรมาก แต่สักวันพวกผมจะต้องก้าวเดินต่อไป พวกผมจะต้องไปในจุดที่เติบโตเต็มที่” เด็กชายนทีกล่าว

นอกจากนี้ เด็กชายนทียังได้กล่าวถึงสิ่งที่ตนได้รับจากการจัดงานในครั้งนี้ว่า ตนได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย วิธีการต่อสู้ที่ถูกวิธี และจะนำข้อมูลในวันนี้ไปบอกต่อผู้ที่ไม่ได้มางานให้ได้รับรู้และเข้าใจเช่นเดียวกัน

image_pdfimage_print