อุบลราชธานี – อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้สิทธิชุมชนเป็นเครื่องมือสกัดภาครัฐและภาคเอกชนผูกขาดการจัดทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน ขณะที่ชาวบ้านน้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ขอให้ยุติโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าในพื้นที่เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เดอะอีสานเรคคอร์ด ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนา “โสเหล่ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีสาน หลังการเลือกตั้ง” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนักวิชาการ นักกิจกรรม และประชาชน กว่า 160 คน เข้าร่วมนำเสนอ แลกเปลี่ยน และติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เดอะอีสานเรคคอร์ดมีโอกาสสนทนากับวิทยากรบรรยาย และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมการเสวนา รวม 4 คน เพื่อให้ร่วมกันสร้างนิยามของปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานพร้อมกับเสนอแนะทางออก   

งานเสวนาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหลังการเลือกตั้ง ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิชุมชน ต้องเปลี่ยนแนวคิดการมองภาคอีสานใหม่เป็น “กันดารคือสินทรัพย์” ความคิดที่ว่าอีสานแห้งแล้ง ประชาชนยากจน โง่ และเจ็บป่วย คือความคิดเก่า เนื่องจากตนพบว่า ภาคอีสานเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้านเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงาน สิ่งเหล่านี้คือทุนทางสังคมที่หล่อเลี้ยงความเป็นชุมชนให้คงอยู่ในสภาพสังคมเกษตรกรรม

นายแพทย์นิรันดร์กล่าวอีกว่า เมื่อโลกไร้พรมแดน (โลกาภิวัฒน์) ทรัพยากรที่ดิน ป่า ลุ่มน้ำ และสินแร่ ได้ตกเป็นปัจจัยการผลิตในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ส่งผลให้นายทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในภาคอีสาน ผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษ การสำรวจเหมืองแร่ และการทำอุตสาหกรรมภาคการเกษตร ขณะที่การบริหารจัดการทรัพยากรในปัจจุบันทำโดยภาครัฐและภาคเอกชน (นายทุน) ซึ่งไม่มีการฟังเสียงประชาชน และเกิดการกอบโกย ทำให้ทรัพยากรสูญสิ้นและพังสลาย

“ตรงนี้เรียกว่าเป็นโศกนาฎกรรมของสิทธิชุมชนหรือสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ที่จริงๆ ต้องเป็นผลประโยชน์ของประชาชนในเขตภาคอีสาน” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว

ส่วนวิธีแก้ไขสถานการณ์คือการทำให้สิทธิชุมชนมีความหมาย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้นี้ขยายความว่า วิธีการคือต้องทำให้คำว่า “สิทธิชุมชน” มีผลในทางกฎหมายและนโยบาย [ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับบทบาทของสิทธิชุมชน] และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร เพื่อถ่วงดุลไม่ให้สินทรัพย์ในภาคอีสานตกอยู่ในการดูแลของภาครัฐหรือเอกชน

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอให้ทำให้ “สิทธิชุมชน” มีผลทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ

นายแพทย์นิรันดร์ระบุว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่กับดักประเทศรายได้ปานกลางและสังคมสูงวัย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมในภาคอีสานมีผู้สูงวัยจำนวนมาก สิทธิชุมชนจึงมีความสำคัญในการทำให้เกษตกรรายย่อยเหล่านั้นเข้าถึงทรัพยากรได้ แทนที่จะให้ภาครัฐและเอกชนเป็นเจ้าของอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งระยะหลังเอกชนมักมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรมากกว่าภาครัฐ เช่น โครงการของนโยบายประชารัฐ

“สิทธิชุมชนให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร โดยภาคประชาชนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้นี้กล่าว

นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานโครงการโปรเจคเสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (LDIM) กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานเกิดจากผสมผสานกันระหว่าง วิธีคิดแบบทุนนิยมที่อิงกับการใช้ฐานทรัพยากรซึ่งมีมากในภาคอีสาน กับเรื่องทางการเมืองซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างภาคอีสานกับรัฐส่วนกลาง ปัญหามีมาตั้งแต่ในอดีตเมื่อกว่า 40-50 ปีที่แล้ว (การพัฒนาประเทศในยุครัฐบาลไทยขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) และส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

นางสาวเปรมฤดีกล่าวอีกว่า การพัฒนาภาคอีสานเป็นแบบแผนที่ดำเนินการมาจาก อดีตอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างเขื่อนและการจัดการน้ำ อาทิ โครงการโขง ชี มูล โครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงระหว่างไทย-ลาว การพัฒนาป่าไม้ ด้วยการทำอุตสาหกรรมป่าไม้แล้วไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่เพื่อทำให้ป่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร จนกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้จัดการ

“มันเป็นผลพวงมาถึงเรื่องน้ำตาล เรื่องไร่อ้อยในปัจจุบัน ยังไม่จบ ต่อเนื่องกันมาเป็นยุคๆ แต่อยู่ในแพทเทิร์นแบบเดิม [รูปแบบการพัฒนาจากส่วนบนลงล่าง+]”

ส่วนข้อเสนอเพื่อหาทางออกจากการพัฒนากระแสหลักที่ใช้เงินเป็นใหญ่ ผู้ก่อตั้งโครงการโปรเจคฯ กล่าวว่า การพัฒนาภาคอีสานที่ผ่านมาไม่ได้ทำลายเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ แต่ทำให้คนอีสานมีลักษณะต้องพึ่งพิงและมีหนี้สิน ทางออกจึงต้องสร้างความเข้มแข็งที่แท้จริงให้เกิดขึ้น

“ถ้าคุณยังเป็นหนี้ท่วมหัว คุณจะมีความสามารถในการต่อสู้ให้ชนะไหม ยาก” นางสาวเปรมฤดีให้คำอธิบายถึงความเข้มแข็งที่แท้จริง

นางสาวเปรมฤดีระบุว่า การสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนอย่างแท้จริงให้ลงมาถึงระดับครอบครัวและชุมชน และสร้างความรู้ให้คนอีสานให้ทราบถึงผลพวงของโครงการพัฒนาต่างๆ ตั้งแต่ระยะสั้นจนไปถึงระยาว จึงมีความสำคัญ ชุมชนในอีสานต้องยืนกรานอย่างมีศักดิ์ศรีได้ว่าต้องการวิถีชีวิตแบบที่เป็นอยู่ เช่น วิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมแบบธรรมชาติที่มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพด้วย

“เมื่อคุณเป็นเช่นนั้นแล้ว คุณตอบได้ว่าคุณไม่ต้องการ เพราะอะไรก็ตามที่มีการเอามาพร้อมเงิน ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ” นางสาวเปรมฤดีกล่าวทิ้งท้าย

นายพิพัฒนา สีมา ชาวบ้านน้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ปฏิเสธโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทยต่อสิ่วแวดล้อม

นายพิพัฒนา สีมา ชาวบ้านน้ำปลีก ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ กล่าวถึงการตั้งโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตัน/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จ.อำนาจเจริญว่า อำนาจรัฐอยู่ภายใต้อำนาจนายทุน นายทุนอ้างเรื่องของการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพื่อตั้งโรงงาน และบอกให้ภาครัฐไปบอกกับชาวบ้านแบบนี้ โรงงานน้ำตาลจึงได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง แต่การขอก่อสร้างโรงงานน้ำตาลไม่ทำตามขั้นตอน โดยการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ได้สอบถามชาวบ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง และข้อมูลในรายงานอีไอเอก็ไม่ใช่เรื่องในพื้นที่ที่ตั้งโรงงานแต่เป็นเรื่องของพื้นที่อื่นที่ถูกนำมาใส่ในรายงาน  

“ผมไม่อยากโยนบาปไปให้ที่อื่น เท่าที่อยู่มันก็หลาย (มาก) เกินไปแล้ว โรงงานประเภทนี้ มันมีหลายอยู่ทั่วไป” นายพิพัฒนาตอบคำถามว่า ต้องการแก้ปัญหาโดยให้โรงงานย้ายไปยังพื้นที่อื่นหรือไม่

ชาวบ้านน้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ผู้นี้ ระบุด้วยว่า โรงงานไปตั้งที่ไหนก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่นั่น จึงไม่อยากให้สร้างโรงงานอีก ถ้าโรงงานอ้างว่ามีเทคโนโลยีเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งใช้ได้ผลจริง โรงงานก็ควรนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับปรุงโรงงานแห่งเดิมเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนสำเร็จก่อน แล้วจึงค่อยมาส่งเสริมให้คนในพื้นที่จ.อำนาจเจริญปลูกอ้อย อีกกรณีคืออ้อยที่ปลูกที่จ.อำนาจเจริญก็สามารถขนส่งไปขายที่โรงงานน้ำตาลที่จ.กาฬสินธุ์ได้เหมือนเดิมเพราะมีรถบรรทุกอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่า ที่ต้องสร้างโรงงานที่จ.อำนาจเจริญ เพราะต้องการลดต้นทุนให้เกษตรกร

“โรงงานเจ้าอยากได้อ้อย เจ้าก็มาขนเอา มันมีสูตรรับขนอ้อยอยู่แล้ว ชาวบ้านบ่ได้เสียเงินเพิ่ม”นายพิพัฒนากล่าว

นายวานิชย์ บุตรี แกนนำขบวนองค์กรชุมชน จ.อำนาจเจริญ เผย ปัญหาของจ.อำนาจเจริญคือการใช้สารเคมีทางการเกษตร

นายวานิชย์ บุตรี แกนนำขบวนองค์กรชุมชน จ.อำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมภาพรวมของจังหวัดอำนาจเจริญเกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร มีการกระตุ้นให้ใช้สารเคมีปลูกพืชเชิงเดี่ยว [อ้อย] เพื่อผลิตส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อมีความต้องการผลผลิตจำนวนมาก แต่แรงงานภาคการเกษตรมีจำกัด จึงต้องใช้สารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้าเพื่อเพาะปลูก [การใช้สารเคมีไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากเท่าเกษตรอินทรีย์]

นอกจากการใช้สารเคมีแล้ว นายวานิชย์ยังบอกว่า จังหวัดอำนาจเจริญยังมีปัญหาการบุกรุกป่าไม้ อาทิ ป่าหัวไร่ปลายนา และป่าอุทยานแห่งชาติ โดยพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย  

แกนนำขบวนองค์กรชุมชน จ.อำนาจเจริญ ผู้นี้ เสนอทางออกของปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรว่า การตั้งโรงงานน้ำตาลต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ ทุนซึ่งผ่านแล้ว มีกฎหมายหนุนเสริมก็ผ่านแล้ว เหลือข้อที่ 3 คือ ต้องมีพื้นที่และมีคนปลูกอ้อยที่เพียงพอ ในข้อนี้ถ้าสามารถทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานไม่เพียงพอโรงงานก็จะเปิดไม่ได้ วิธีการก็คือต้องทำให้เกษตรกรไร่อ้อยมีทางเลือกใหม่ นั่นคือการทำเกษตรอินทรีย์ โดยภาครัฐต้องสนับสนุนรายได้ของผู้ที่จะหันมาทำเกษตรอินทรีย์ช่วงปีแรกๆ ด้วย

“มีทางเลือกใหม่เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่า คุณไม่ต้องไปเข้ากับดักของเขา พอมาทำเกษตรอินทรีย์จะยั่งยืนกว่า และจะมีผลดี ไม่มีสารพิษ” นายวานิชย์กล่าวและว่า ยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขอีกคือ ขบวนองค์กรชุมชน จ.อำนาจเจริญ ต้องการทำให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของปัญหาทุกปัญหา เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมร่วมกัน

image_pdfimage_print