“เมื่อเช้าก่อนลูกมันไปโรงเรียน ลูกมันถามกบว่า แม่ทำไมแต่งตัวแบบนี้ แล้วเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าทำไม กบมันตอบว่าจะไปนอนคุก”

คำบอกเล่าถึงบทสนทนาของกบ นิตยา ม่วงกลาง แกนนำนักต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกินหญิงในพื้นที่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กับลูกชายช่วงเช้ามืดวันนี้ (15 พ.ค. 2562) จากปากของเก่ง (ผู้ไม่เปิดเผยชื่อจริง) ผู้เป็นสามี ก่อนที่เธอจะเดินทางไปขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ ข้อหาบุกรุกที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง

สำหรับเก่ง ในฐานพ่อและสามี บทสนทนาก่อนอาหารเช้าในครอบครัววันนี้ช่างแตกต่างจากทุกเช้าที่ผ่านมา

มันเป็นเช้าที่แม่ไม่ได้ถามลูกว่าพร้อมไปโรงเรียนหรือยัง ภรรยาไม่ได้ถามสามีว่าอาหารเที่ยงวันนี้จะกินอะไร

แต่มันเป็นบทสนทนาที่เสมือนเป็นลางบอกว่า กบ นิติยา จะไม่ได้กลับมาบ้านหลังนี้อีกครั้งในวันรุ่งขึ้นหรืออาจจะไม่ได้กลับบ้านนานถึง 4 เดือน

“ไม่คิดเลยว่าเมื่อศาลตัดสินจำคุก ทนายความกบไม่สามารถยื่นประกันตัวเขาออกมาสู้คดีในชั้นฎีกาได้ทันทีเหมือนอย่างคดีอื่น นั่นอาจทำให้กบติดคุกนานถึง 4 เดือน” เก่งกล่าว

สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความของกบบอกว่า เมื่อเช้าศาลจังหวัดชัยภูมิอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุก กบ เป็นเวลา 4 เดือน ปรับ 44,000 บาท ในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ เพื่อทำไร่มันสำปะหลัง จำนวน 1 ไร่ 4 งาน (ตามคำพิพากษาคดีนี้ระบุ – แต่ที่ดินของกบที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกทั้งหมด 10 ไร่) ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอุทยานฯ ปี 2504  

เขากล่าวต่อว่า คดีนี้มีผู้ร่วมกระทำผิดในข้อหาเดียวกันรวม 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป โดยจำเลยคนอื่นอาจถูกนัดฟังคำพิพากษาช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

“แม้กบยืนยันช่วงสืบพยานมาตลอดว่าที่ดินผืนนี้ พ่อแม่เธอได้ครอบครองและทำกินตั้งแต่ก่อนมีการประกาศพื้นที่อุทยานฯ แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล คิดว่าชะตากรรมของจำเลยที่เหลือคงไม่ต่างจากกบ” สมนึกกล่าว

ระหว่างที่กบรอเข้าฟังคำพิพากษาของศาล ญาติพี่น้องในหมู่บ้านร่วมกันผูกข้อแขนเพื่อเป็นกำลังใจให้กบ เธอไม่แสดงถึงความกลัวหรือกังวลต่อคำพิพากษาแม้แต่น้อย ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

จนถึงเวลานี้ญาติและทนายความยังไม่สามารถยื่นขอประกันตัวกบออกมาสู้คดีในชั้นศาลฏีกาได้ เนื่องจากเงื่อนไขการยื่นขอประกันตัวสู้คดีในชั้นฏีกานั้นต้องเป็นคดีที่มีโทษจำคุกและมีอัตราค่าปรับที่สูง

รวมถึงการจะขอสู้คดีในชั้นศาลฏีกานั้นต้องมีเหตุผลที่เข้าเงื่อนไขการสู้คดีในชั้นฏีกา  

อย่างไรก็ตามถึงแม้ทนายความจะคิดว่าการยื่นประกันตัวอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ญาติและทนายความจะขอปรึกษากันก่อนว่าจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ เพราะมีเวลาการยื่นขอประกันตัวภายใน 30 วันหลังคำพิพากษา

“หากยื่น เหตุผลการยื่นฏีกาต้องดี เมื่อศาลรับฎีกา ค่อยพูดคุยเรื่องประกันตัว แต่คิดว่ากว่าศาลกีฏาจะหยิบคดีนี้มาพิจารณาคงใช้เวลานานเกือบปี เพราะคดีนี้โทษต่ำ ซึ่งกบอาจถูกปล่อยตัวแล้ว” ทนายความของจำเลยกล่าว

เท่ากับว่าอิสรภาพขอนักต่อสู้สิทธิที่ดินทำกินหญิงผู้นี้ถูกกักขังไว้ในคุกแล้ว

เก่งกับกบมีลูกชายคนเดียว ปัจจุบันลูกชายกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เก่งบอกว่าลูกชายจะสนิทกับแม่มากกว่าตัวเขา เพราะตัวเขาไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับลูก ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

กบ บทบาทแม่ ภรรยาและลูกสาว

บทบาทความเป็นแม่และความเป็นภรรยาภายในบ้านของกบ สำหรับเก่งไม่เคยบกพร่อง รวมถึงหน้าที่สำคัญในเรื่องบริหารจัดการเงินภายในครอบครัวก็เป็นหน้าที่ที่กบจัดการมันอย่างได้ลงตัว

“กบเขาทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ ดูแลบ้าน ทำอาหาร พูดได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเขาดูแล บางครั้งเขาก็เข้าสวนกับผมนะ” เก่งกล่าว

ส่วนเก่งนั้นเขาเป็นกำลังแรงหลักในการหาเงินเข้าบ้าน ทั้งจากการทำไร่มันสัมปะหลัง และออกไปรับจ้างทั่วไป

“หากไม่มีกบ งานบ้าน ดูแลลูก ออกไปซื้ออาหาร ทำอาหารอาจจะเป็นหน้าที่ผม รายได้ครอบครัวจะลดลงเพราะผมไม่มีเวลาไปทำงานได้อย่างเต็มที่อีกแล้ว” เก่งกล่าว

ฆ่าไก่ให้ลิงกลัว

จำเลยที่กระทำผิดในคดีเดียวกับกบหลายคน รวมถึงญาติพี่น้องที่มาให้กำลังใจ หลังทราบว่ากบถูกตัดสินจำคุก ต่างเกิดคำถามในใจว่า ทำไมศาลเลือกที่จะเรียกให้กบขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิพากษาลำดับแรก ทั้งที่กบมีลำดับในรายชื่อจำเลยอยู่ลำดับที่ 5

“คิดว่าเขาเลือกกบขึ้นฟังคำตัดสินคนแรกเพราะเขาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน เขาเป็นคนหลักในการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยไม่เกรงกลัวอำนาจใด” สนั่น (ผู้ไม่เปิดเผยชื่อจริง) 1 ใน 14 จำเลยในคดีนี้กล่าว

คล้ายกับเก่ง เขาก็เชื่อเช่นกันว่า การที่ศาลตัดสินจำคุกกบคนแรก อาจเพราะเธอเป็นแกนนำเคลื่อนไหวฯ เสมือนเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ฆ่าไก่ให้ลิงกลัว ซึ่งลิงในที่นี้หมายถึงจำเลยที่เหลืออีก 13 คน เพื่อให้หยุดเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินในพื้นที่

บทบาทของกบ หลังจากที่เขาถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินอุทยานฯและป่าไม้ เขาอาสาเป็นผู้นำคนที่ถูกกล่าวหาเช่นเขาเคลื่อนไหวยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ทำกิน

กระทั่ง ช่วงเดือนกรกฏาคมปี 2560 อัยการจังหวัดชัยภูมิได้ยื่นฟ้องต่อกบและชาวบ้าน 2 ตำบล จำนวน 14 ราย รวม 18 คดี (ครอบครัวของกบถูกฟ้องคนละ 2 คดี) และผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดชัยภูมิเพื่อยื่นหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 1,900,000 บาท ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 14 รายในระหว่างการพิจารณาคดี

ทวงคืนผืนป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 หลังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยบังคับใช้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และคำสั่งที่ 66/2557 โดยคำสั่งดังกล่าวได้มอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มในการดำเนินการทวงคืนผืนป่าและปราบปรามผู้บุกรุกป่า

โดยเป้าหมายของนโยบายนี้ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุมผู้บุกรุก หรือผู้ที่ครอบครอง หรือทำให้สภาพป่าเสียหาย

รวมถึงปราบปรามขบวนการตัดไม้ทำลายป่า กิจการแปรรูปไม้ หรือบุคคลที่มีไม้หวงห้ามไว้ครอบครอง

พื้นที่หมู่บ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ หมู่บ้านของกบเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการบุกรุกจับปราบปรามผู้บุกรุกป่าอุทยานฯเพื่อปลูกมันสำปะหลัง

กบ เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยถึงวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่ากับคนในชุมชนนั้น เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่ดินเขตอุทยานฯ ย้ายออกจากพื้นที่

หากชาวบ้านไม่ยินยอมย้ายออก เจ้าหน้าที่อาจฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินอุทยานฯ

สุวิทย์ รัตนะไชยศรี 1 ใน 14 ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นนายทุนบุกรุกที่ดินอุทยานฯ เพื่อปลูกมันสำปะจำนวน 11 ไร่ มีรายได้ต่อปีประมาณ 1 แสนบาท กังวลชะตากรรมของตนอาจไม่ต่างกับกบ ซึ่งต้องถูกตัดสินจำคุกตอนอายุ 61 ปี เขาท้าให้คนที่กล่าวหาเขาว่าเป็นนายทุน มีเงินจำนวนมากมาดูสภาพบ้านและชีวิตของเขากับครอบครัว ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

ในกรณีของกบนั้น เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบหลายสิบนายแวะมาหาแม่เธอ ช่วงที่เธอไม่อยู่บ้านและขอให้แม่ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงย้ายออกจากที่ดิน

ด้วยความกลัว แม่ของเธอจึงลงชื่อในเอกสารข้อตกลงเพื่อคืนที่ดินทั้งหมดกว่า 10 ไร่ ที่เป็นของทั้งครอบครัวม่วงกลางให้เจ้าหน้าที่

เท่ากับว่าที่ดินทำกินที่เป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวไม่มีอีกแล้ว

เมื่อกบทราบเรื่องนี้ เธอจึงเคลื่อนไหวร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมการถูกเจ้าหน้าที่รัฐขมขู่ ให้ลงชื่อในเอกสารยินยอมย้ายออกจากที่ดิน

ดอน ม่วงกลาง อายุ 60 ปี พ่อของกบยอมรับว่า หากลูกสาวทั้ง 3 คนและภรรยาถูกตัดสินว่าผิด ข้อหาบุกรุกป่าอุทยานฯ และต้องเข้าคุกพร้อมกันทั้งหมดนานหลายเดือน ถือว่าความทรงจำที่ไม่ดีในชีวิตของเขาในฐานะผู้เป็นพ่อและสามี ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

หลังจากนั้นไม่นาน ครอบครัวม่วงกลาง ซึ่งประกอบด้วย กบ น้องอีกสองคนและแม่ รวมถึงชาวบ้านในหมู่บ้านอีกหลาย 10 คน ถูกอัยการสั่งฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่อุทยานฯ

วรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เคยกล่าวกับบีบีซีไทยว่า เหตุผลที่ฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะชาวบ้านทั้ง 14 รายไม่ยอมออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่มีการลงชื่อยินยอมคืนพื้นที่แล้ว

ภาคประชาชนและนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิที่ดินทำกินตั้งคำถามต่อคำสั่งและกฎหมายนี้ว่า เป็นกฎหมายทำให้กับคนเดือดร้อน เพราะเป็นการกีดกันชาวบ้านผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ในป่าโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ออกจากพื้นที่ป่าและทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ทั้งที่บางคนอยู่ในพื้นที่นั้นก่อนการประกาศกฎหมายอุทยานฯ

รวมถึงกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินคดีกับขบวนการลักลอบตัดไม้ที่มีนายทุนใหญ่ซึ่งอยู่เบื้องหลังการบุกรุกที่ดินในเขตป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม

“กฏหมายทวงคืนผืนป่า เท่าที่เห็นมีแต่ทวงคืนจากคนจน แต่ขณะเดียวกันรัฐก็เอาป่าไปประเคนให้กับนายทุน เช่น ทำสถานที่ท่องเที่ยว ทำเหมืองแร่ ทำเขื่อนทีละหลายพันไร่” ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคามกล่าว

“นั่นไม่ได้หมายความว่าป่าไม้เมื่ออยู่ในมือของรัฐแล้วจะเพิ่มขึ้นได้” ไชยณรงค์กล่าว

ที่ดินคือทุกสิ่ง

สำหรับ อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ผู้ศึกษากระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินอีสาน ที่ดินถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในชีวิตของคนทุกคน เพราะที่ดินเป็นได้ทั้งที่อาศัยและที่ทำกิน

เขากล่าวว่า สำหรับประชาชนที่อยู่ป่า ที่ดินเสมือนเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับพวกเขา นอกจากนี้ที่ดินจะเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของคนจนได้

“ที่ดินสามารถนำไปทำธุรกรรมทางการเงินได้ เพราะหากชาวบ้านต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เช่นเมื่อเจ็บป่วย พวกเขาสามารถเอาที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาใช้ได้”  

ถ้าไม่มีที่ดินทำกินเท่ากับว่าวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันกลับ พวกเขาอาจต้องย้ายเข้ามาในเมือง หาที่พักชั่วคราว วิถีชีวิตที่เคยทำกินในที่ดินและป่าต้องเปลี่ยนไปทำงานรับจ้าง หรือทำงานทักษะต่ำ รวมถึงเผชิญความกดดันและบังคับอาจหมดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เป็นไป

“ไม่ใช่จะไล่คนออก รัฐควรจัดการกับปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินให้ประชาชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เพื่อความมั่นคงในชีวิตของพวกเขา” อลงกรณ์กล่าว

แยกคนออกจากป่าอนุรักษ์ป่าได้จริงหรือ

แนวคิดการอนุรักษ์ป่าของรัฐไทย สำหรับอลงกรณ์แล้วยังเป็นแนวคิดที่ต้องการแยกคนออกจากป่า โดยให้ป่าเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์เท่านั้น

ตั้งแต่หลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา รัฐเชื่อมาในวิธีคิดการอนุรักษ์ป่าที่ว่า คนที่อยู่ในป่าจะทำลายป่า  โดยไม่เคยคิดเลยว่าพวกเขาเหล่านั้นอาจมีส่วนในการดูแลรักษาป่า เพระป่าเป็นเสมือนแห่งอาหารและแหล่งรายได้ของพวกเขา อลงกรณ์กล่าว

“พวกเขาอาจปลูกพืชหมุนเวียน การดูแลรักษาระบบนิเวศ แหล่งน้ำ คนในป่าอาจดูแลรักษาป่าได้ดีกว่าคนข้างนอกหรือเจ้าหน้าที่ัรัฐ” อลงกรณ์กล่าว “เชื่อว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ เพราะเขาพึ่งพากัน”

เขากล่าวอีกว่า วิธีการอนุรักษ์ป่าหรือเพิ่มพื้นที่ควรจะเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในป่ามีส่วนร่วมในการเสนอวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูในระดับนโยบายและกฎหมาย เช่น การลดภาษีครัวเรือนที่มีต้นไม้ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เสมือนเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ออกมาตรการดูแลรักษาป่าร่วมกับหน่วยงานรัฐส่วนกลาง เป็นต้น

น้องสาวของกบร้องไห้สะอึกสะอื้นหลังจากคุยกับพี่สาวผ่านห้องขัง ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

คนข้างหลังทุกข์ทรมานไม่ต่างกับคนถูกคุมขัง

สำหรับไชยณรงค์ เขาเห็นว่าความทุกข์ทรมานของผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่านี้ไม่ได้ตกอยู่กับคนที่ถูกจับเข้าคุกเข้านั้น คนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้องของเขายังไม่รับความทุกข์ทรมานโดยเฉพาะด้านจิตใจเช่นกัน อย่างเช่นตัวอย่างของพ่อกบ ถ้าหากลูกสาวทั้ง 3 คนและภรรยา ถูกตัดสินจำคุก ความทุกข์ทรมานทางจิตใจอาจกระทบต่อชายวัย 60 ปีอย่างแน่นอน

เขากล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันเป็นห่วงโซ่เชื่อมต่อกัน บางคนนึกไม่ถึงว่า การจับชาวบ้านคนหนึ่งติดคุกข้อหาป่าไม้ที่ดินลูกไม่มีใครดูแล บางพื้นที่ชาวบ้านที่เป็นหัวหน้าครอบครัว คนหารายได้หลักถูกจับ ครอบครัวแทบแตกสลาย ลูกไม่มีเงินเรียนหนังสือ ลูกไม่มีใครดูแล พ่อแม่ที่แก่เฒ่าไม่มีใครดูแล

ไชยณรงค์กล่าว การจัดการทรัพยากร อนุรักษ์ป่าแบบนี้มันให้คนเป็นชายขอบ คนจน ยิ่งกลายเป็นคนชายขอบและคนจนมากกว่ายิ่งขึ้น มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น

“รัฐไทยมีแต่คิดทวงคืนผืนป่าได้กี่ล้านไร่” ไชยณรงค์กล่าว “แต่ไม่เคยดูว่าตัวเลขคนได้รับผลกระทบจากนโยบายมีกี่ล้านคน”

หมายเหตุ* นอกจากคดีบุกรุกที่ดินอุทยานฯ กบและจำเลยทั้งหมดยังถูกฟ้องร้องว่าบุกรุกป่าฯ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายป่าไม้ ปี 2507 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกกบ 8 เดือน กับจำเลยคนอื่น ๆ ไปแล้วก่อนหน้านี้ จากนั้นมีการยื่นประกันตัวกบออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และศาลจะนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ 

image_pdfimage_print