โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ 

ภาพหน้าปกโดย วิศรุต แสนคำ

ใต้ดนภาคอีสานอุดมไปด้วยเกลือหินและแร่โพแทช ภูมิภาคนี้จึงมีการผลิตเกลือมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนปัจจุบัน มีทั้งแบบเกลือพื้นบ้านขนาดเล็ก อาจนำน้ำเค็มมาต้มหรือขูดเอาผงดินเค็มมาหมักน้ำให้ได้น้ำเค็มแล้วนำมาต้ม ทำแบบนี้มานานร่วม 3,000 ปี ปัจจุบันก็ยังเห็นอยู่ทั่วไปในอีสาน 

ต่อมา หลังการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสำรวจพบว่า น้ำบาดาลใต้ดินอีสานมีความเค็ม การต้มและตากเกลือจากน้ำเกลือใต้ดินจึงได้รับการพัฒนา และทำให้มีการย้ายฐานการผลิตเกลือจากทะเลอ่าวไทยมาเป็นการผลิตเกลือทั่วอีสาน

ในอีสานยังมีการผลิตเกลือแบบเหมืองละลายเกลือ (solution mining) ของบริษัทเกลือพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา โดยนำน้ำจืดลงไปละลายเกลือหินในชั้นเกลือลึกราว 200-270 เมตร ได้น้ำเค็มส่งไปยังหม้อเคี่ยวให้ได้น้ำเกลือเข้มข้นจนตกผลึกเป็นเม็ดเกลือบริสุทธิ์ถึงร้อยละ 99.9 

เกลือเหล่านี้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมเคมี เช่น การผลิตโซดาไฟ ใช้ในอุตสาหกรรมแก้ว พลาสติก สบู่ ผงซักฟอก ผลิตคลอรีน ทำพลาสติกใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลง ผลิตน้ำประปา ผลิตกรดเกลือ ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กและรถยนต์ บางส่วนนำไปใช้เป็นเกลือบริโภค เป็นต้น 

ใต้ดินอีสานมีเกลือหินราว 18 ล้านล้านตัน (ธวัช จาปะเกษตร, 2528) และกำลังการผลิตเกลืออีสานในปัจจุบันประมาณ 2 ล้านตันต่อปี โดยมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มมากขึ้น 

เมื่อปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินให้บริษัทอาเซียนโปแทชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านตาล ต.บ้านเพชร และ ต.หัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 9,700 ไร่ ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเหมืองและยังมีการขัดค้านของประชาชน 

ขณะที่บริษัทบริษัทคาลิไท จำกัด ได้ประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชเมื่อปี 2558 ในพื้นที่ ต.หนองไทร  ต.หนองบัวตะเกียด ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และได้เริ่มทำเหมืองแร่แล้ว

นอกเหนือจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนกำลังดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อจะพัฒนาเหมืองแร่เกลือและแร่โพแทชใต้ดิน เช่น บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรที่ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ ต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง จ.อุดรธานี 

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีคัดค้านมานานกว่า 17 ปี ซึ่งทำให้บริษัทยังไม่ได้ประทานบัตร ต่อมาชาวบ้านได้ยื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดอุดรธานีขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการประทานบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลพิพากษาให้มีการรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ใหม่

เมื่อปี 2558 เช่นกัน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่เกลือหินและแร่โพแทชให้แก่ 6 บริษัท ได้แก่ จังหวัดสกลนคร 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ โดยบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่ ต.ธาตุ ต.คอนสวรรค์ ต.ศรีวิจัย ต.วานร ต.นาคำ ปัจจุบันเกิดความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ทำให้ยังสำรวจไม่แล้วเสร็จ 

ขณะที่ในจังหวัดนครราชสีมา มีเอกชนที่ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแล้ว 4 ราย ได้แก่ บริษัทสหชาติเศรษฐกิจ จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช ที่ต.ใหม่ อ.โนนสูง ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่เกลือหินและโพแทช ที่ต.จันอัด ต.เมืองปราสาท ต.ลำคอหงส์ ต.ด่านคล้า ต.หลุมข้าว อ.โนนสูง บริษัทโรงปัง ไมนิง จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช ที่ ต.หนองบัวละคร อ.ด่านขุนทด และบริษัทศักดิ์ศรีไทย ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ต.หนองไทร ต.สระพระ อ.ด่านขุนทด รวม 19 แปลง พื้นที่กว่า 190,000 ไร่ และจังหวัดกาฬสินธุ์ 5 แปลงในพื้นที่ประมาณ 56,000 ไร่  

นอกจากนี้ยังพบว่า มีบริษัทเอกชนได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกกว่า 30 ราย ใน 10 จังหวัด รวมทั้งพื้นที่ที่กำลังทำเหมือง กำลังขอสำรวจและกำลังยื่นขอสำรวจทั่วอีสานประมาณ 3.5 ล้านไร่

เกลือและแร่โพแทชคุณภาพเยี่ยม ปริมาณมหาศาลซึ่งดองแผ่นดินอีสานอยู่นั้น ฝ่ายนักอุตสาหกรรมเห็นว่า เป็นขุมทรัพย์ที่สามารถขุดขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมเคมี เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยเคมี ตัวเลขที่เย้ายวนของปริมาณสำรองเกลือหินมีอย่างน้อย 18 ล้านล้านตัน 

แร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลต์ 4 แสนล้านตัน แร่แทชชีไฮไดรต์ 2 แสนล้านตัน และแร่โพแทชชนิดซิลไวต์ 7 พันล้านตัน นั้นดึงดูดผู้ลงทุนเข้ามายื่นคำขอสำรวจและทำเหมืองทั่วภาคอีสาน ประกอบกับรัฐบาลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การผลิตแร่เกลือหินและเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมุ่งหวังให้แร่โพแทชนำไปผลิตปุ๋ยเคมี ส่วนผลพลอยได้ที่สำคัญจากการทำเหมืองแร่โพแทช คือ เกลือมหาศาล  

แม้เกลือและแร่โพแทชจะเย้ายวนเพียงใด แต่แหล่งแร่เหล่านั้นล้วนซ้อนทับอยู่กับเมือง ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของอีสาน หากมีการพัฒนาทำเหมืองแร่โพแทช จะต้องขุดเป็นเหมืองแร่ใต้ดินชอนไซเพื่อสกัดเอาเกลือและแร่โพแทชขึ้นมาบนผิวดินมหาศาล

แรงเคลื่อนไหวคัดค้านของฝ่ายประชาชนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นข้อท้าทายใหญ่หลวงต่อการพัฒนาแหล่งแร่เช่นกัน 

เพราะคนอีสานมีประสบการณ์เดือดร้อนจากความเค็มมายาวนานกว่า 40 ปี เช่น ที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ลุ่มน้ำเสียว จ.มหาสารคาม ลุ่มน้ำสงคราม จ.อุดรธานี จ.บึงกาฬ และจ.สกลนคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม ดินเค็มและแผ่นดินทรุดจากอุตสาหกรรมเกลือขนาดเล็ก

ขณะที่ทุนเหมืองแร่กำลังรุมจ้องเจาะเหมืองเกลือและโพแทชในภาคอีสาน ตัวเลขที่ควรตระหนักก็คือ อีสานกำลังประสบปัญหาภาวะการแพร่กระจายของดินเค็ม โดยพบว่า มีพื้นที่ดินเค็มประมาณ 17.8 ล้านไร่ แบ่งเป็นดินเค็มจัดประมาณ 1.5 ล้านไร่ ดินเค็มปานกลาง 3.7 ล้านไร่ ดินเค็มน้อย 12.6 ล้านไร่ และดินที่มีศักยภาพที่จะเป็นดินเค็มอีกประมาณ 19.4 ล้านไร่ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2540) รวมทั้งหมด 37.2 ล้านไร่ พบกระจายอยู่ทั่วไปในที่ราบลุ่มของแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช สัดส่วนพื้นที่ดินเค็มคิดเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ภาคอีสาน   

ประสบการณ์การทำเหมืองเกลือและเหมืองแร่โพแทชทั่วโลกล้วนตามมาด้วยปัญหาการกระจายของความเค็มในระบบน้ำผิวดิน น้ำใต้ดินและในแผ่นดินอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

การปนเปื้อนความเค็มจากการทำเหมืองแร่โพแทชเกิดจากเกลือที่เป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองและน้ำเค็มที่เกิดจากการแยกแร่โพแทชให้บริสุทธิ์ ที่สำคัญการฟื้นฟูการปนเปื้อนจากความเค็มนั้นยากยิ่งนัก อีกทั้งราคาแสนแพงและใช้เวลานับร้อยปี 

ทุกๆ กิโลกรัมของการแยกแร่โพแทชจะได้น้ำเค็มราว 1-2 ลิตร และมีหางแร่ราว 2 กิโลกรัม ในน้ำเค็มและหางแร่ประกอบด้วยเกลือเป็นส่วนใหญ่และมีโพแทชเล็กน้อย 

หากพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม การทำเหมืองแร่โพแทชจะทำให้เกิดการซึมหรือกระจายตัวของน้ำเค็มจากบริเวณที่ทำเหมืองไปยังที่ดินใกล้เคียงและระบบน้ำใต้ดิน นำไปสู่การเสื่อมสภาพของโครงสร้างดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชและผลผลิตจากพืช

ไม่มีเกลือที่ไหนไม่เค็ม ไม่มีเหมืองเกลือและแร่โพแทชที่ไหนในโลกนี้ที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเค็ม สิ่งที่ต้องพิจารณามากไปกว่าควรอนุญาตให้มีการทำเหมืองเกลือและแร่โพแทชในภาคอีสานจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐและนักลงทุน แต่เป็นเรื่องของคนอีสานทุกคน

image_pdfimage_print