อรนุช ผลภิญโญ เรื่องและภาพ

กรงเทพฯ – หลังตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้เข้าพบตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยและหาทางออกใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของกลุ่ม P-Move 2. กรณีคดีความ 15 คดี และ 3. ความเดือดร้อน 66 กรณี ทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และป่าชายเลน 


วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ (กลาง) ร่วมพูดคุยและสอบถามปัญหากับนิตยา ม่วงกลาง แกนนำชาวบ้านซับหวาย อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ (ซ้าย) และ วิชชุนัย ศิลาศรี แกนนำชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (ขวา)

หลังการพูดุคย วิชชุนัย ศิลาศรี แกนนำชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนพดล พลเสน  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์เป็นประธาน และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีความเดือดร้อนเรื่องที่ดิน 66 กรณี ความเดือดร้อนของชุมชนบ่อแก้วที่ถูกสวนป่าคอนสารทับที่ทำกินเป็น 1 ใน 66 กรณี ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ส่งมอบพื้นที่สวนป่าคอนสาร เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ชาวบ้าน ตามที่ได้มีการพูดคุยกับกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาทีมทำงานยุทธศาสตร์รัฐมนตรีฯ ก่อนหน้านี้

“ตัวแทน ออป. ได้แจ้งในที่ประชุมทราบว่า บอร์ด ออป. เห็นชอบส่งมอบพื้นที่ที่เหมาะสมจำนวน 366 ไร่ ให้กรมป่าไม้เพื่อนำมาจัดสรรแก่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วแล้ว” แกนนำชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วเปิดเผยและว่า “ชาวบ้านยืนยันว่าต้องจัดหาพื้นที่จำนวน 812 ไร่ ตามที่ตกลงไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งที่ประชุมไม่มีข้อโต้แย้ง” 

ตัวแทนกลุ่ม P-Move ร่วมพูดคุยกับหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับความเดือดร้อนของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจำนวน 89 เรื่องนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โดยมีสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นคณะทำงาน

ภายหลังการเจรจาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พบปะพูดคุยกับกลุ่ม P-Moveและลงนามแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยให้มีการรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาทุก 15 วัน 

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิจำนวน 31 คน ถูกบังคับคดีตามคำสั่งศาลฎีกาที่ตัดสินว่า ชาวบ้านบุกรุกที่ดินเขตป่าสงวนภูซำผักหนามจำนวนกว่า 1,500 ไร่ ซึ่งต่อมาได้มีการเจรจากับคณะทำงานยุทธศาสตร์ของกระทรวงทรัพย์ฯ และมีแผนจัดการที่ดิน 830 ไร่ให้กับชุมชน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ที่ดิน 90 ไร่ เป็นโฉนดชุมชน ที่ดิน 60 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะ และที่ดิน 680 ไร่ จัดสรรให้ 131 ครัวเรือน (จะได้สิทธิ์ครัวเรือนละ 5 ไร่)

 

image_pdfimage_print